เพลินทำให้ง่วง

ถ้าสติเราไม่เข้มแข็งพอก็จะเพลิน

ลักษณะของการปฏิบัติทั่วไป
พอเราปฏิบัติไปได้สักพักหนึ่ง
เราจะรู้สึกเพลิน
 
เพลินจะมาก่อนตัวอื่น
คำว่าเพลินนี้มันเป็นโมหะ
มันเพลินพร้อมที่จะคิดก็ได้
พร้อมที่จะง่วงก็ได้
พร้อมที่จะหงุดหงิดก็ได้
พร้อมที่จะฟุ้งซ่านก็ได้
 
แต่ถ้าเราทำไป
โดยมีสัมปชัญญะกำกับอยู่
ความเพลินจะถูกเปลี่ยน
เป็นตัวสัมปชัญญะ
และเปลี่ยนเป็นปัญญาต่อไป
 
ดังนั้นตัวข้อต่อของฝ่ายอกุศล
จึงมีความเพลินเป็นตัวเชื่อมต่อ
 
แต่ตัวรู้สึกตัวทั่วพร้อม
คือสัมปชัญญะ
เป็นตัวเชื่อมต่อของฝ่ายที่เป็นกุศล
ก่อให้เกิดสมาธิและปัญญาต่อไป
 
ให้เข้าใจ ๒ ตัวนี้ให้ชัด
ภาวะที่เป็นอยู่ขณะนี้
เราเพลินหรือเรารู้ตัวทั่วพร้อม
ต้องรู้ก่อนเลย
 
แต่รู้สึกตัวทั่วพร้อมได้ไม่นาน
มันจะหลงไปเพลินอีก
ก็ให้รีเซทใหม่ รีสตาร์ทใหม่
ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อม
 
ตัวนี้ก็จะแปลงเป็น
สมาธิปัญญาไปเรื่อยๆ
 
แต่ถ้าสติเราไม่เข้มแข็งพอ
เราก็จะเพลินไป
นี่ ตัวนี้คือตัวที่เราพลาด
 
ทำไมเราจึงพลาด
เพราะเราอยู่กับความเพลินมาตลอด
ไม่ใช่ตลอดชีวิต
แต่ตลอดภพชาติกัปกัลป์
เพราะเราเกิดมาก็ด้วยความเพลิน
เพลินในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส

พระพุทธยานันทภิกขุ