กระจกเงาเจ้าเล่ห์

กระจกเงาเจ้าเล่ห์

อวิชชา เหมือนกระจก
ตัณหา เหมือนความกว้างของกระจก
อุปาทาน เหมือนสารปรอท
ที่ฉาบอยู่ด้านหลังของกระจก
กรรม เหมือนมนุษย์
และสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ที่เดินเข้าไปใช้กระจก

มนุษย์มีทั้งได้เปรียบ
และเสียเปรียบในการใช้กระจก
เพราะสามารถพัฒนาตนเอง
ให้อยู่เหนือสัญชาตญาณได้

ส่วนมนุษย์ที่ยังอยู่ภายใต้
การครอบงำของสัญชาตญาณ
แต่มีวิญญาณสูงกว่าสัตว์
ยังมีปัญญา สามารถรู้ว่านี่คือกระจก

แต่คนที่พัฒนาตนเองด้วยสัมมาทิฐิ
ก็เกิดรู้ว่าควรจะใช้กระจก
ในงานอะไรได้บ้าง
และจะไม่ใช้กระจกในการหลอกตนเอง
เพื่อความสวยงาม

แต่คนที่ยังไม่เกิดวิปัสสนาปัญญา
ก็จะใช้หลอกตนเอง
ใช้ตกแต่งร่างกายของตนใ
ห้เกิดความสวยงาม เท่ หล่อ เป็นต้น

แต่จะใช้ประโยชน์อย่างอื่น
เช่นใช้เพื่อรักษาความปลอดภัย
ของร่างกาย ชีวิต และทรัพย์สิน เป็นต้น

แต่สัตว์เดรัจฉาน
มีระดับจิตวิญญาณต่ำ
และค่อนข้างต่ำกว่ามนุษย์
จึงไม่มีความสามารถมากพอ
ที่จะรู้เท่าทันการหลอกลวง
ของวัตถุภายนอกได้

 

จิตเป็นเสมือนกระจก

ธรรมชาติของจิตวิญญาณก็เหมือนกับกระจก
จิตทำหน้าที่เป็นตัวกระจก
ความคิดก็เป็นเหมือนแขก ที่แวะเวียนมส่องกระจก คนส่องจะสนใจที่กระจก หรือสนใจที่ใบหน้าตัวเองที่อยู่ในกระจกกันเท่านั้น
ฉันใด เราให้ความ สนใจความคิดกันมากกว่าสนใจความรู้สึกตัว
จิตจึงเป็นกระจก มันเป็นเพียงเครื่องมือที่สะท้อนความคิดที่มากระทบแต่ละครั้งเท่านั้นเอง

จิตก็ทำหน้าเช่นเดียวกันกับกระจก ซึ่งจะสะท้อนภาพของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด และอารมณ์ที่มาปรากฏเฉพาะหน้า และกระทบในขณะหนึ่งๆ เท่านั้น

คนที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฝึกฝนให้รู้จักความจริงในเรื่องธรรมชาติของอายตนะภายใน และอายตนะภายนอกมาก่อน จึงไปสำคัญมั่นหมายความคิดหรือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา ภาษาปริยัติเรียกความคิดที่ปรากฏว่า นามรูป (สังขารจิต) และเรียกความรู้สึกตัวว่า รูปนาม (จิตวิญญาณ)

เพราะฉะนั้น ความรู้สึกตัวจึงเป็นเสมือนตัวกระจก ส่วนความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่มาปรากฏกับใจ ที่ใจรับผ่านเข้ามาเป็นรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่สัมผัสเข้ามา ก็เหมือนคนเดินมาส่องดูกระจกนั้นเอง

ดังนั้น สัจธรรมด้านปรมัตถ์ ถ้าเข้าใจตามรูปธรรมที่ยกมานี้ จึงไม่ใช่เรื่อง ยากเกินไปที่จะเข้าใจเลย แต่เพราะไม่สนใจจะศึกษาให้รู้จักธรรมชาติด้านนี้ จึงหลงเข้าใจผิดคิดว่าปรากฏที่ในกระจกแห่งจิต นั้นเป็นตัวตนของเราจริงๆ

ความจริงก็คือปฏิกิริยาสะท้อนกลับของนามรูปที่เกิดขึ้นเฉพาะเวลานั้นเท่านั้น
…ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมคือจิตเดิมแท้….

ดังนั้น อย่าไปสงสัยให้เสียเวลาเลย ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่สัมผัสได้แบบซื่อๆ ตรงๆ นี่แหละ คือพุทธจิตหรือจิตเดิมแท้ ที่มีติดตัวมาแต่เกิด

เป็นสภาวธรรมพื้นฐานของชีวิตทุกตัวตน เป็นจุดเริ่มต้น และเป็นจุดสุดท้าย ที่เกิดและดับสลับกันไปทุกขณะ

หน้าที่ของเราผู้ปฏิบัติ ก็คือพยายามตามรู้ เฝ้าดูความรู้สึกตัวนี้ไปเรื่อยๆ และพยายามตามดูอาการของจิต และความคิดให้ชัดเจนอยู่เสมอว่า มันไม่ใช่สิ่งเดียวกัน

ความคิดมันมาแล้วก็ไป
แต่จิตวิญญาณมันต้องอยู่ที่เดิมตลอดเวลา เสมือนกระจกตั้งอยู่กับที่ แต่คนส่องมาใช้แล้วก็จากไป

… เพราะฉะนั้น ให้เก็บรักษาความรู้สึกตัวทั่วพร้อมให้สะอาดชัดเจนไว้เสมอ

…อย่าปล่อยให้ความคิดสกปรกบางเรื่องตกค้างในจิตนานเกินไป….

เหมือนคนส่องกระเกเรบางคน แต่งหน้าแล้วลืมทำความสะอาดกระในบางคราว ที่เศษเครื่องสำอางกระเด็นมาเปรอะเปื้อน เพราะความเผลอเรอ…

 

คนตาย (ใจ) คือคนไม่มีศรัทธา

 

ตามภาษาทางโลกเรียกว่า
เป็นการพัฒนาสายพันธุ์ต่างๆ
เดี๋ยวนี้เค้ายังพัฒนาไปไกล
มีพืช GMO มีการทำให้ไร้เมล็ด
 
แต่ตัวปัญญาญาณ
เรายังพัฒนาไปไม่ถึงไหน
 
หลังจากที่พระพุทธเจ้าค้นพบ
หลักนี้เป็นคนแรก
พระอรหันตสัมมา
และพระอริยเจ้าทั้งหลาย
ก็พัฒนาต่อกันมาถึงเกือบ 3,000 ปี
 
ตกทอดมาถึงพวกเรา
เราก็ยังมีโอกาสได้สัมผัส
ความรู้ชนิดนี้อีก
มันโชคดีขนาดไหน
 
เสียดายคนตายไม่ได้ปฏิบัติ
อย่าว่าแต่คนตายเลย
คนเป็นๆ ที่ไม่มาปฏิบัติก็เยอะแยะ
 
คนตายคือคนไม่มีศรัทธา
ไม่ใช่คนล้มหายตายจาก
“คนตายจิตตายใจ”
 
เขาปฏิบัติกันโครมๆ ไม่เห็นมาดูเลย
แต่พอมีความทุกข์ น้ำหูน้ำตาไหล
ถึงเข้ามาวัด จะช่วยอะไรได้ตอนนั้น
เขาเรียกว่า คนตาย
ตายอะไร ตายใจ
 
ดังนั้นเราอย่าตายใจ
ไปที่ไหนที่มีข่าวเรื่องนี้ปั๊บ
เราต้องเข้าไปศึกษาเรียนรู้ทันที


หายใจสั้น-อายุสั้น หายใจยาว-อายุยาว

 

ขั้นตอนในการพัฒนาตัวรู้
เราจะทำอย่างไรให้เป็นระบบ
พระพุทธเจ้าท่านเซ็ตระบบไว้หมด
อย่างเรื่องภายนอกทางกาย
ท่านเซ็ตไว้ถึง ๖ ระบบ
 
ระบบแรก
ท่านทำลมหายใจเข้า-ออก
ที่เรามีอยู่แล้ว
แต่ละครั้งเรามีเจตนา
สูดลมหายใจยาวๆ สักกี่ครั้ง
ในวันหนึ่งๆ
 
บางครั้งมันต้องหายใจยาว
โดยธรรมชาติของมันเอง
แต่เรากลับหายใจสั้นๆ
 
เพราะอะไร? เพราะลืมมันใช่ไหม?
มัวไปสนใจเรื่องอื่น
จนลืมการดึงลมหายใจเข้า-ออกยาวๆ
 
มันทำให้สุขภาพดี
ต่ออายุตัวเองได้
 
คนที่อายุสั้น ก็คือหายใจสั้น
คนที่อายุยาว ก็คือเค้าหายใจยาว
จะโดยรู้หรือไม่รู้ก็ตาม
 
แต่คนที่ตั้งใจที่จะหายใจยาว
ได้ทั้งสติได้ทั้งสุขภาพด้วย
ก็ยิ่งน้อยเข้าไปอีก
 
นอกจากพวกปฏิบัติอานาปานสติ
แต่พวกอานาปานสติ
เขาก็ไม่ได้มุ่งในแง่สุขภาพ
 
เขาก็นั่งหายใจยาว
ในช่วงที่เขานั่งปฏิบัติ
พอเลิกจากนั้นไป
เขาก็นั่งหายใจสั้นเหมือนเดิม

 

กรรไกรสติ ตัดสายป่านอารมณ์

 

สิ่งที่มากระทบมนุษย์เรา ทำให้เกิดสายป่านของอารมณ์ เริ่มตั้งแต่
1. สุขเวทนา
2. โสมนัสเวทนา
3. อภิชฌา
4. นันทิ
5. ราคะ
6. กามตัณหา
7. ภวตัณหา
8. วิภวตัณหา
9. กามุปาทาน
10. กามาสวะ
ทั้ง 10 ขั้นตอนนี้ สติเราทันตรงไหน ให้ตัดที่จุดนั้นเลย
ความสุขกระทบปุ๊บตัดเลย ไหวไหม พวกเรายังคงยาก
จะทำได้ในผู้ที่มีสติคมเฉียบเลย
พระโสดาบัน จะได้ในระดับตัณหา
พระอานาคามี ตัดได้ ในระดับเวทนา
ผัสสะนี่พระอรหันต์จึงจะทัน กระทบปุ๊บตัดปั๊บเลย หรือไม่กระเทือนเลย
เราปุถุชนทันจุดไหน ไม่ทันแน่นอน
เราจึงต้องมาฝึกกำลังของสติให้เข้มแข็งให้ว่องไว
เพื่อตามทันอารมณ์ในระดับต่างๆ นี้ได้

 

สติที่ดีต้องอยู่กับรูปนาม

 

การที่เรามีสติ สัมปชัญญะ เข้าไปสังเกตความเป็นไปของความรู้สึกต่างๆ ภายในร่างกาย ที่มันก่อให้เกิดตัวเวทนานุปัสสนาขึ้นมา
เวทนา มี ง คือ เวทนาทางกาย กับ เวทนาทางใจ
เรานั่งอยู่แรกๆ จิตมันเฉยๆ ซื่อๆ ยังไม่ได้คิดอะไร
แต่เห็นความรู้สึกกำลังปรากฎ สบายหรือไม่สบาย
หนักตรงไหน เบาตรงไหน ปวด เคล็ดตรงไหน เห็นได้ชัด
อันนี้สัมปชัญญะ ทำหน้าที่สำรวจ เห็นเวทนาทางกายก่อน
สำหรับคนที่ไม่มีการฝึกฝน สติสัมปชัญญะ ในรูปของวิปัสสนา สติสัมปชัญญะนี้ ก็จะไปใส่ใจในเรื่องอื่น เช่น
ตอนนี้ใครกำลังพูด แล้วอะไรกำลังเคลื่อนไหว คนอื่นเป็นอย่างไร
เป็นสติสัมปชัญญะตามสัญชาตญาณ ไม่ใช่วิปัสสนา
สติ สัมปชัญญะ ตามสัญชาตญาณ จะใส่ใจในสิ่งรอบตัว และสิ่งกำลังมากระทบตัว
แต่ สติ สัมปชัญญะ ที่เป็นวิปัสสนา จะใส่ใจในสิ่งที่ปรากฎในตัว
ตัวนี้ต้องแยกให้ชัด เพราะสตินี้ จะทำให้เราเห็นรูปนาม
แต่สติสัญชาตญาณ จะทำให้รู้ว่ารอบๆ ตัว อะไรกำลังเกิดขึ้น

ปัจจุบันของสมถะกับปัจจุบัน
ของวิปัสสนา นั้นต่างกัน

ปัจจุบันของสมถะคือการบังคับจิตให้ นิ่งอยู่ กับปัจจุบัน ไม่ให้ไปรับรู้อะไร คือ การสะกดจิตนั่นเอง ภาษาชาวบ้านเรียกว่า การเก็บกด เป็นลักษณะที่รู้แล้วป้องกัน ไม่ให้จิต มันไหลตาม สะกดมันไว้ ซึ่งนานๆไป ไม่เป็นผลดี ทำให้จิตอ่อน จิตจะเสีย เพราะผิดปกติ หมดพลัง
ผู้ที่ติดสมถะเป็นคนที่มีเมตตาสูง เพราะจิตมันอ่อน ถ้าจิตยังชอบคิดอยู่จิต จะอ่อนไปเรื่อยๆ คนที่ติดสมถะแล้วจะ ไปทำวิปัสสนายาก
ปัจจุบันของวิปัสสนา ต้องต่อสู้กับ อารมณ์ที่มากระทบทุกอย่าง ไม่หลบ ไม่หลีก แต่ไม่ทำตาม
พอเรามาเจริญสติแบบนี้ เราต้องเปิด อินทรีย์ทุกส่วน ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้รับรู้อารมณ์ตามความเป็นจริง ไม่ต้องหลบ ไม่ต้องกด รู้มัน รู้แล้วปล่อย รู้แล้ววาง ไม่ต้องตามไป


หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท
(พระพุทธยานันทภิกขุ)