กัลยาณมิตร

คนไทยเราส่วนใหญ่ยังนับถือศาสนาคิด

ไม่ได้ถือศาสนาพุทธ ถึงแม้จะบอกตัวเองว่าเป็นพุทธก็ตาม
คือพึ่งแต่ความคิด ถือเอาความคิดเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ
ไม่ได้ถือเอาความรู้เป็นที่พึ่ง มันก็เลยทุกข์
เพราะไปเชื่อแต่ความคิดปรุงแต่ง
แต่ถ้านับถือศาสนาพุทธ จะต้องเอาความรู้จริงเป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ
ถึงจะหมดทุกข์ได้ในชาตินี้แน่นอน

ขอให้ขยันทำไปเรื่อยๆ ไม่ต้องมีเงื่อนไขอะไรมาก
ตามรู้ใจของตนเองเรื่อยไป อย่าปล่อยปละละเลยตัวเอง
ถ้าอยากพ้นทุกข์จริง

แต่ส่วนมากอยากพ้นทุกข์กันแต่ปาก
พอทำเข้าจริงๆแล้วมีข้ออ้าง เงื่อนไขเยอะแยะไปหมด
เลยไม่มีช่องว่างสำหรับวิปัสสนาเอาเลย

เหมือนเราบอกว่าเรารักการมีสุขภาพ
แต่เราไม่เคยเลือกอาหารที่ถูกกับสุขภาพดี
มีแต่เลือกอาหารที่ถูกปาก ถูกกิเลสทั้งนั้น
สุขภาพดีมักขัดแย้งกับการกินอาหารดีเสมอ

 

การภาวนาแบบนี้ไม่จำเป็นต้องหยุดความคิด

แต่พยายามสร้างความรู้สึกตัว
มาแทนที่ความคิดเท่านั้น

ความคิดปรุงแต่งเป็นเสมือนเงามืด
ที่ถูกแสงสว่างสาดส่องเข้าไป
เงามืดก็จะหายไปทันทีฉันใด

ความคิดก็เหมือนกัน
จะดับไปทันทีเมื่อปะทะกับความรู้สึกตัว

เพราะมันเป็นธรรมชาติตรงกันข้าม
ไม่ต้องไปทำอะไรกับความคิด
มันอยากเกิดก็ให้มันเกิด มันอยากดับก็ให้มันดับ
เราต้องเป็นนักสังเกตเรียนรู้
อาการของกายและจิตเสมอ

เมื่อศึกษาสังเกตตัวเองบ่อยๆ
มันเกิดญาณปัญญาขึ้นมาเอง

เพราะกายกับใจเข้ามาอยู่ด้วยกัน
เรียกว่าอารมณ์ปัจจุบัน

ตัวย่างเช่นเราเอาผ้าแห้งมาชุบน้ำ มันจะมีน้ำหนักทันที
พอเอาผ้าไปตากแดด ผ้าจะแห้งและเบาไปเรื่อยๆ
เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อกายกับใจมาอยู่ด้วยกัน
ความรู้สึกจะหนักแน่นเยือกเย็น นั้นคืออาการของปัจจุบัน
พอเอาผ้าไปตากแดด ผ้าก็เริ่มแห้ง

อาการของจิตก็เช่นกัน
เมื่อกระทบอารมณ์ ก็เกิดการปรุงแต่ง
สติปัญญาก็เริ่มเหือดแห้งไป จิตก็ขาดความหนักแน่น
เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงจากตัวอย่างนี้ได้ชัดๆ
นี่คือตัวอย่างการทำงานของกฎอนิจจัง

 

การเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียน

ได้รับการตอบรับจากผู้ปฏิบัติอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว
เพราะเป็นการเข้าสู่จิตโดยตรง
โดยอาศัยการเคลื่อนไหวกายเป็นสื่อนำ
การสร้างจังหวะและเดินจงกรมเป็นเทคนิคที่ง่ายๆไม่ซับซ้อน
การกำหนดรู้ตัวเคลื่อนไหวของมือและเท้า
เป็นเพียงสื่อนำความรู้สึกรู้ตัวทั่วพร้อม
อันเข้าไปสู่จิตอีกทีหนึ่งเท่านั้น

เมื่อจิตได้รับกำลังสัมมาสติอย่างถูกต้องและต่อเนื่อง
กุศลธรรมต่างๆที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วก็เจริญมากขึ้น
สามารถป้องกันอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ไม่ให้เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วก็เริ่มเสื่อมสิ้นไป ตามลำดับความเข้มแข็งของอินทรีย์

ความอยากเป็นได้ทั้งเหตุและผลของอวิชชา

อวิชชาทำให้เกิดตัณหาหรือความอยาก
เพราะเราไม่รู้ เราจึงเกิดความอยาก
แต่ในขณะเดียวกันความอยากก็เป็นเหตุ
เพราะเราอยากเราจึงยึด

พอเรารู้ว่าอวิชชาเป็นเหตุของตัณหา
แต่อะไรเล่าเป็นเหตุของอวิชชา อะไรคือที่สุดของที่สุด

ถ้าไม่เจอกัลยาณมิตร เราก็เป็นอวิชชาอยู่เรื่อย
แต่ถ้าเจอกัลยาณมิตร วิชชาก็เกิดขึ้น
ธรรม ๒ ประการ

๑. กัลยาณมิตร
๒. เมื่อเราเจอครูบาอาจารย์เจอคนดี เจอคนรู้
เจอคนมีประสบการณ์ เราก็ต้องมีโยนิโสมนสิการ
คือมีปัญญาเข้าใจสิ่งที่ท่านนำเสนอ
ถ้าเราไม่มีปัญญา ท่านพูดเท่าไรก็ไม่เข้าใจ
เพราะเราไม่มีโยนิโสมนสิการ

แต่ถ้ารู้จักนำมานึก นำมาคิดพิจารณาในสิ่งที่ท่านพูด
ใช่ ไม่ใช่ จริง ไม่จริง มันก็จะเกิดโยนิโสมนสิการขึ้นมา

เพราะฉะนั้นเหตุของอวิชชาก็คือการไม่ได้พบกัลยาณมิตร
และถ้ามีโยนิโสมนสิการของวิชชา
ก็จะได้พบกัลยาณมิตรทั้งภายนอกและภายใน
เพราะถ้ามีโยนิโสมนสิการแล้ว มันก็ต่อไปเรื่อยๆ

 

หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท