การเห็นไตรลักษณ์

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ติดอารมณ์ไตรลักษณ์

เมื่อสติกับจิตตามกันทัน
ความปรุงแต่งก็ลดลงเรื่อยๆ
มาถึงจุดนี้ ผู้ปฏิบัติบางท่าน
จะเกิดความรู้สึกเบื่อหน่ายทุกสิ่งทุกอย่าง
อย่างไม่มีเหตุผล
เห็นความทุกข์ของร่างกาย
เบื่อตัวเองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ทำให้นักปฏิบัติไม่รู้เท่าทันอารมณ์นี้
อยากจะหนีไปไกลๆ ไม่อยากพบใคร
อยากอยู่คนเดียวเงียบๆ
การเกิดความเบื่อหน่ายเช่นนี้เรียกว่า”ติดอารมณ์”
(ตามภาษาที่รู้กัน เข้าใจกันในวิธีปฏิบัติแบบนี้)

พระพี่เลี้ยงหรือครูบาอาจารย์
ต้องสังเกตและแก้อารมณ์ให้กับผู้ปฏิบัติ
อาจจะพูดให้ฟัง หรือให้เทคนิคการแก้อารมณ์
ตามแบบฉบับของท่าน

ถ้าอยู่ในสำนักปฏิบัติ
ท่านก็จะให้เข้าเก็บอารมณ์
การที่จิตมาเป็นอารมณ์เช่นนี้
เรียกว่าการปรากฎของอารมณ์ “ไตรลักษณ์”
คือ อาการของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ที่เป็นอาการจริงๆ สัมผัสจริงๆ
ชนิดผู้ปฏิบัติก็ไม่เฉลียวใจว่า
ตนเองเป็นอารมณ์แบบนี้
จนกว่ามันจะผ่านไปแล้ว

ไม่เหมือนกับบางวิธี
การเห็นไตรลักษณ์ต้องน้อมเอา
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาพิจารณา
ซึ่งการทำเช่นนั้น
เป็นการสร้างจิตปรุงแต่งอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า
“ปุญญาภิสังขาร”
คือการปรุงแต่งฝ่ายดี ฝ่ายบุญ

การปรุงแต่งจิตทุกรูปแบบ
ไม่ว่าฝ่ายดี ไม่ดี หรือปรุงแต่งในเรื่อง
ศีล สมาธิ ปัญญา ต้องสลัดทิ้งไปทันที
กำหนดรู้แต่ปัจจุบันก็พอ

เมื่อญาณปัญญามันถึงที่แล้ว
มันจะรู้เรื่องอะไร มันก็รู้ขึ้นเอง
โดยไม่ต้องเสียเวลาปรุงแต่งนึกคิด
เพราะนั่นไม่ใช่ลักษณะของ
ปัญญาญาณตามความเป็นจริง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ให้สังเกตความรู้สึกต่างๆ
ที่เกิดขึ้นในกายและใจตลอดเวลา
ว่ามันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
เราต้องอ่านให้ชัดว่า
ความรู้สึกสุขเป็นอย่างไร
ความรู้สึกทุกข์เป็นอย่างไร

เมื่อใดความรู้สึกต่างๆเกิดกับกาย
ให้รู้สึกเสมอว่า ร่างกายมันเป็นรูป
และความจริงของรูปทุกชนิด
มันจะเปลี่ยนแปลงอย่างนี้เสมอ
คือเปลี่ยนไปตามกฎไตรลักษณ์
ไม่เป็นไปอย่างอื่นเลย

ชาวพุทธเราต้องจดจำ
กฏของธรรมชาติอันนี้ให้ขึ้นใจทีเดียว
ท่านเรียกตามบาลีว่า
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ชาวพุทธทุกคนต้องจำให้ได้
แต่เราจะเข้าใจได้หรือไม่ว่า
กฎทั้งสามมันทำงานของมันอย่างไร

ที่ไหนมีรูป ที่นั้นต้องมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ไม่ว่ารูปนั้นจะใหญ่หรือเล็ก
หยาบ ละเอียด ปราณีต ปานใด

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เหตุเกิดทุกข์ตัวจริง

อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เป็นเบื้องหลังของเหตุเกิดทุกข์
ไตรลักษณ์เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ตัวจริง
ทั้งทางรูปและทางนาม

เหตุเกิดทุกข์ทั้ง ๓ คือ อยาก ยึด เบื่อ
แต่ละวันมันจะวนๆ อยู่แค่ ๓ ตัวนี้

ที่เรามาปฏิบัตินี้ก็เพราะความอยาก
เช่น อยากได้สุข ไม่อยากได้ทุกข์
พอได้สุขตามความอยาก ก็รู้สึกสบาย
แล้วก็ยึดความสบายนั้นไว้นานๆ

เมื่อวานมันสบาย พอวันนี้ไม่สบาย
ก็เลยรู้สึกเบื่อ
วันนี้ไม่สบาย พอรู้สึกสบาย
ก็เข้าไปยึดอีก

ในชั่วโมงต่อไป มันรู้สึกเบื่อ
เบื่อภาวนาที่วัด ก็อยากกลับบ้าน
มันเบื่อแล้ว

ก็คิดไปสารพัด อยาก ยึด เบื่อ อยู่อย่างนี้
อันนี้เขาเรียก สมุทัย
เหตุให้เกิดทุกข์สุขมันเกิด

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

วิญญาณเหตุปัจจัยเกิดดับทุกข์

หากท่านพิจารณาลงลึกไปอีก ท่านก็จะพบว่า
สาเหตุแห่งทุกข์ มีต้นเหตุมาจาก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นตัวตั้ง

เมื่ออายตนะภายนอกมากระทบ
รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์นึกคิด
จับคู่ใครคู่มัน รูปคู่กับตา หูคู่กับเสียง
กลิ่นคู่กับจมูก ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับสัมผัส
ใจคู่กับอารมณ์นึกคิด

เมื่อมันเป็นภาวะคู่ทั้งหมด
กระทบสัมผัสกัน
ใจเราเป็นผู้รับรู้
เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดวิญญาณ

วิญญาณเป็นเหตุปัจจัย
ของการเกิดและการดับทุกข์

วิญญาณ คือ การรับรู้
รู้ผู้หญิง รู้ผู้ชาย รู้พระ รู้เณร
รู้เป็นจักขุ ไม่รู้ เฉยๆ เกิดผัสสะ

พอรู้แล้วไปสัมผัสกระทบที่ใจ
ตอนแรกกระทบที่ตาก่อน
ไม่มีปัญหาอะไร รู้เฉยๆ

พอกระทบที่ใจเกิดเวทนาชอบหรือไม่ชอบ
แล้วเกิดสัญญา สำคัญมั่นหมายว่า เราชอบ

เสียงนี้มันพูดนุ่มดีนะ ไพเราะดีก็ชอบ
พูดแล้วไม่เข้าท่าเลยไม่ชอบ เป็นรูปสัญญา

พอมันชอบ มันเกิดสัญเจตนา คือมันปรุง เริ่มคิด
ทำยังไงจะได้ฟังเสียงนี้เรื่อยๆ ได้ดูรูปนี้เรื่อยๆ
ได้สัมผัสกลิ่นนี้เรื่อยๆ ได้กินเรื่อยๆ

สัญเจตนาวิตก คือ ดำริในเรื่องนั้นบ่อยๆ
คิดหาในเรื่องนั้นบ่อยๆ

แล้วก็วิจารณ์ขวนขวายมองหา เป็นสังขาร

กว่ามันจะจบกระบวนการแค่ลัดนิ้วมือเดียว
แต่ผู้รู้ท่านแยกไว้ ๘ ขณะเลยทีเดียว
ตั้งแต่ ๑. วิญญาณ ๒. ผัสสะ ๓. เวทนา ๔. สัญญา
๕. สัญเจตนา ๖. ตัณหา ๗. วิตก ๘. วิจารณ์

กระบวนการเกิดทุกข์ทั้งหมด
มันเกิดแค่ลัดนิ้วมือเดียวเท่านั้น

จึงขอยกตัวอย่างเหตุเกิดทุกข์
เพียงจักขุวิญญาณทางเดียว
ก็คงพอจะเข้าใจได้ว่า อายตนะอีก ๕ ทาง
ก็มีกระบวนการเกิดและดับแบบเดียวกัน

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เราต้องมีสติในทุกย่างก้าว

เราจะต้องแยบคาย
ทำความเข้าใจให้ละเอียดขึ้น
โดยการมีสติสัมปชัญญะทุกย่างก้าว

เพราะในทุกย่างก้าว
เป็นการทำงานของไตรลักษณ์

เมื่อไตรลักษณ์ทำงานแล้ว
มันย่อเหลือแค่ ๒
คือการเกิดและการดับ
ออกมาในแง่ของรูปธรรมและนามธรรม

ในการปฏิบัติของเราต้องมาตามรู้
ในส่วนที่เป็นรูปธรรมให้ทันเสียก่อน
ไม่เช่นนั้นเราจะไปตามเห็นการเกิดดับ
ในนามธรรมหรือปรมัตถ์ไม่ได้

ยกมือขึ้นลง ลมหายใจเข้าออก
เหลียวซ้ายแลขวา ก้าวซ้ายก้าวขวา ฯลฯ
ให้ตามรู้ทันสิ่งเหล่านี้ไปเรื่อยๆ ก่อน
เพื่อสร้างให้จิตเกิดทักษะ (skillful mind)
ให้เกิดความชำนาญในส่วนที่เป็นรูปธรรม

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

สมุทัยของนามคือความอยาก สมุทัยของรูปคือไตรลักษณ์

ถ้าเรารู้สึกอยากอะไรก็ตาม
ก็ให้ใช้สติกลั่นกรองก่อนว่า
จำเป็นหรือไม่

สมุทัยของนาม คือ ความอยาก
เรียกว่า ตัณหา
สมุทัยของรูป คือ ไตรลักษณ์

แต่ถ้าเราไม่มีสติสัมปชัญญะเป็นตัวกรอง
ความต้องการของรูป
ก็จะมาสร้างความอยาก
ทำให้เกิดความต้องการทางนาม

เช่น สุขเวทนา เกิดจากอนิจจัง
ถ้าเราตามรู้ไม่ทัน
มันก็จะแปรมาเป็นความพอใจ
โสมนัส อวิชชา นันทิ ราคะ ตัณหา…
ก็ตามมาเป็นขบวน

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

จุดสกัดไตรลักษณ์

เวทนาเป็นสะพานเชื่อมต่อ
รูปกับนาม กายกับใจ เข้าด้วยกัน
เราจึงอาศัยเวทนา
สื่อความแปรปรวนต่างๆ ในร่างกาย

ตัวรู้เวทนาเป็นสิ่งสำคัญ
สติสัมปชัญญะที่ถูกต้อง
จะเข้าใจเวทนาได้ลึก
ละเอียดขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเราเข้าใจเวทนาทั้ง ๓ ระดับ
สบาย ไม่สบาย เฉยๆ
จะเป็นตัวแปลงไตรลักษณ์
ให้เป็นไตรสิกขา
ได้ตลอดเวลา

ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะไม่มากพอ
จะไม่สามารถห้ามเวทนา
ไม่ให้ไหลไปสู่จิตได้
เพราะมันเป็นไปตามธรรมชาติ

อากาศข้างนอกร้อนมาก
แต่น้ำแข็งในกระติกไม่ร้อนตาม

ร่างกายร้อนมาก
แต่จิตไม่ทุกข์ไปกับร่างกาย

จิตไม่เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์
เพราะมีสติสัมปชัญญะเป็นตัวกั้น

เราจะสามารถสกัดกั้น
กำลังความแปรปรวนของกายได้เท่าใด
ขึ้นอยู่กับความหนาแน่น
ของสติสัมปชัญญะ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ใจแท้ไม่แปรปรวน

ธรรมชาติของร่างกายคือ
เกิดขึ้น แปรปรวน ดับไป
ถ้าเราไม่เข้าใจธรรมชาตินี้
จิตของเราก็จะแปรปรวนไปด้วย
ไม่มีความสุข เย็น สงบ เท่าใดนัก

จิตก็ยังสับสนวุ่นวาย
แปรปรวนไปตามอาการของเวทนา
ที่เกิดจากดินฟ้าอากาศ

แต่ถ้าเรารู้ความจริง
จิตใจของเราก็ไม่แปรปรวน
ไปตามดินฟ้าอากาศ

เราตั้งใจดูมันเฉยๆ
ไม่เป็นไปกับอาการของเวทนา
ที่เกิดจากไตรลักษณ์ตลอดเวลา

เราจึงมาศึกษาปฏิบัติธรรม
เพื่อที่จะให้ใจของเรา
ไม่แปรปรวนไปตามสิ่งแวดล้อม

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ยิ่งจริงยิ่งชัด

การที่จะเปลี่ยนไตรลักษณ์
ให้เป็นไตรสิกขาได้
ต้องผ่านธัมมวิจยะ คือวิจัยลงไป

วิเคราะห์วิจัยแบบโพชฌงค์
ไม่ใช่การวิเคราะห์วิจัย
แบบหลักของปริยัติ
ที่นึก คิด ตริตรอง ตั้งโจทย์

แต่เป็นการสัมผัสลงไปเท่าที่มี
ตระหนักรู้ความจริงที่ปรากฏ
ในร่างกายเท่าที่มี
ในขณะเดียวกัน จะทำอย่างไรให้มันชัด
ทั้งชัดเฉพาะจุด และชัดทั้งหมดทั่วตัว

ถ้าชัดเฉพาะจุด เรียกว่า สติ
ถ้าชัดทั่วตัว เรียกว่า สัมปชัญญะ
ถ้าชัดข้างใน เข้าใจชัด เรียกว่า ปัญญา

มันจะสัมพันธ์กันทั้ง ๓ ส่วน
ซึ่งลักษณะนี้เราไม่ค่อยแยบคาย
ในการระลึกรู้
เพราะเราอยู่ใต้โมหะ
ใต้อวิชชามายาวนาน
ซึ่งเป็นความเคยชินเก่าๆ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เป้านิ่งของไตรลักษณ์

ถ้าหากว่าเรายังไม่เข้าใจ
เพราะเหตุใดต้องปฏิบัติ
มันจะคิดไปอีกทางหนึ่ง

แต่ถ้าเราคิดในมุมกลับว่า
เรื่องนี้เรายังไม่เคยศึกษามาก่อน
เป็นเรื่องน่าศึกษา

เพราะเหตุใดเขาจึงพูดกันถึงเรื่องนี้
มันดีอย่างไร สะกิดใจขึ้นมา
แล้วคนส่วนใหญ่ทำไมจึงทำไม่ได้
หรือไม่ชอบทำกัน เพราะอะไร

เราก็เริ่มสนใจ เริ่มศึกษา
เริ่มหาวิธีการพิสูจน์
ให้เห็นด้วยตัวเอง
จะไปเชื่อตามคำพูดก็ไม่ได้

ถ้าเราสามารถเห็นสภาวะ
เห็นผลด้วยตัวเอง
เช่น จิตมันคิดไป รู้สึกอย่างนี้
คอยสังเกตไปทีละอย่างๆ

เวลาเรานั่งมันเบื่อ
เรามีวิธีแก้ไขอย่างไร
เราปรับแก้แล้วมันหายไปได้จริงๆ

เริ่มเห็นอานิสงส์
สะสมไปทีละนิด บ่อยเข้าๆ
จิตเราก็เริ่มคุ้นต่อปัจจุบัน
เพราะได้เห็นความเบา ความสบาย

แต่ถ้าเราไม่ขยันปรับ ขยันเปลี่ยน
ไม่รู้จักวิธีปรับเปลี่ยน
มันก็จะทำให้เราแช่
ตกเป็นเป้าการทำลายของไตรลักษณ์
กดดันเราให้ไม่สบาย
เราก็รู้สึกว่าไม่สนุก

เราไม่มีวิธี ไม่เฉลียวใจพอ
จะไปบอกว่ามันไม่ได้ผลไม่ได้
เพราะเราไม่มีการใส่ใจศึกษา

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

 

ดูกายให้ชำนาญ

หลวงพ่อท่านแนะให้มาดูกาย
เพื่อสั่งสมทักษะการดูให้รู้เท่าทัน
จนชำนิชำนาญในส่วนที่เป็นรูปเสียก่อน
เพราะส่วนที่เป็นรูปมันดูง่าย
เห็นง่าย เข้าใจง่าย

ร่างกายปวดแค่พลิกก็หายแล้ว
แต่ปวดใจเพราะแฟนนอกใจ
มันไม่หายง่ายๆ
ปวดเป็นปียังไม่หายเลย
หรือปวดใจเพราะโดนโกงเป็นล้าน
มันไม่หายสักที คิดเมื่อไรมันปวดทุกที
แต่ปวดกายแค่พลิกก็หายแล้ว

พระพุทธเจ้าจึงไม่ทรงถือว่า
ความไม่สบายกายเป็นสมุทัย
ท่านถือว่าเป็นตัวไตรลักษณ์
ที่เป็นกฎของธรรมชาติ แก้ไขได้

การบำบัดแก้ไขทุกขเวทนาทางกาย
เป็นธรรมชาติที่คนและสัตว์มีอยู่
ท่านจึงไม่ถือเป็นสมุทัยสัจจ์

แต่จะเป็นสมุทัยสัจจ์ตรงที่
เราขาดสติสัมปชัญญะ
เข้าไปดูทุกขเวทนาทางกาย
แล้วมันแปรเป็นอภิชชา โทมนัส
ราคะ โทสะ โมหะ
ตรงนี้ต่างหากที่เป็นสมุทัยเข้าไปสู่จิตได้

ความไม่สบายที่เข้าไปสู่จิต เป็นสมุทัย
แต่ความไม่สบายทางกาย ไม่ถือว่าเป็นสมุทัย
ถือว่าเป็นธรรมชาติอันหนึ่ง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

 

เปลี่ยนไตรลักษณ์เป็นไตรสิกขา

การเปลี่ยนจากไตรลักษณ์
เป็นไตรสิกขา
ต้องศึกษาก่อน
ถึงจะเปลี่ยนเป็นศีลสิกขา

พอมาถึงหมวดสมาธิ
ท่านไม่ใช้คำว่า สมาธิสิกขา
ท่านใช้คำว่า จิตสิกขา
ถ้าจะให้จิตเป็นสมาธิที่ถูกต้อง
ต้องศึกษาดูอาการของจิต
เรียกว่า จิตสิกขา

แต่เมื่อมันเผลอคิด เผลอนึก
จินตนาการไปแล้ว
ก็ดูอาการของมันว่าเป็นอย่างไร
แล้วไปศึกษาในส่วนนั้น
เรียกว่า ปัญญาสิกขา

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ความแปรปรวนเป็นทุกข์

การเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปเอง
ตามธรรมชาติ เช่น
การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติธาตุสี่
ตามกฎของไตรลักษณ์
มันทำงานตลอดตั้งแต่เกิดจนตาย
เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม

ถ้าเราไม่ได้ฝึกสติสัมปชัญญะ
เราก็ไม่สามารถนำตัวเปลี่ยนแปลงนี้
ให้เป็นตัวรู้ได้
เราจึงต้องเปลี่ยนแปลงตัวท่ามกลาง
คือความแปรปรวน อย่างมีเจตนา

ความแปรปรวนเป็นผล
จากการปลี่ยนแปลง
เราจึงมีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา
เพื่อบำบัดความแปรปรวนนี้
โดยที่เรายังไม่ทันรู้สึกตัว
เรียกว่า การปรับโดยอำนาจของอวิชชา
หรือสัญชาตญาณ

เมื่อเราไม่รู้เท่าทัน
ความแปรปรวนที่มีตลอดเวลา
การปรับโดยอำนาจของอวิชชา
หรือสัญชาตญาณ
ก็กลายเป็นโมหะ
ไม่ได้เป็นตัวปัญญาหรือวิชชา

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

 

เจตนารับรู้ ดูการเปลี่ยนแปลง

เมื่อรู้ว่าทุกสิ่งต้องเป็นไป
ตามกฎไตรลักษณ์
ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้
ที่ไหนมีรูป กฎไตรลักษณ์ต้องเข้าไป
ปฏิบัติการตลอดเวลา

จะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยน
ตัวแปรปรวนอันเกิดจากรูป
ให้เป็นไปด้วยอำนาจของตัวเจตนา
แทนที่จะเป็นไปเอง

ถ้าเรามีเจตนาเข้าไปรับรู้
ความแปรปรวนที่เกิดขึ้น
มันก็จะกลายเป็นวัตถุดิบ
ที่จะแปรค่าของสติสัมปชัญญะ
ที่เข้าไปตามรู้ ให้เป็นปัญญา

ตัวเจตนาเบื้องต้นก็คือ
ตัวเจตนาต่อการเปลี่ยนแปลง
ที่เราสัมผัสได้
โดยการใช้อุปกรณ์ต่างๆ
เช่น ลมหายใจเข้า ออก
ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลง
โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว

ถ้าเรามีสติเข้าไปตามรู้
ลมหายใจเข้าออก

แล้วเอาสติสัมปชัญญะที่เราได้
จากการตามรู้ลมหายใจเข้าออกนั้น
ไปตามรู้การแปรปรวนในส่วนอื่น
ของร่างกายที่เรามองไม่เห็น
เช่น ความหนัก เบา เย็น ร้อน
อ่อน แข็ง ที่เรียกว่า เวทนา
ก็จะกลายเป็นตัววิชชา
หรือตัวปัญญาขึ้นมาได้

พระพุทธยานันทภิกขุ