ตามรอยอาริยะรุ่นที่ ๖ ณ ครุสติสถาน กรุงเทพ ๑๑-๑๗ ส.ค. ๕๙

รายงานการปฏิบัติ

ช่างปั้นหม้อ (รายงาน ๑)

ทุกวันที่ ๑๑ ถึง ๑๗ ของทุกเดือน
ณ สถานปฏิบัติธรรมริมคลอง
ครุสติถาน บนเนื้อที่ประมาณ ๕ ไร่
ได้ถูกดัดแปลง
เป็นโรงงานอุตสาหกรรม
เครื่องปั้นดินเผาขนาดย่อม
ภายใต้การดำเนินงาน
โดยนายช่างปั้นหม้อผู้ชำนาญ
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท

ผู้ปฏิบัติแต่ละท่าน
ต่างพกพาดินเหนียว
มาจากแหล่งพื้นที่ต่างกัน
เนื้อดินมีความแข็ง ความเหนียว
ความละเอียด แตกต่างกันไป

จึงเป็นหน้าที่ของนายช่าง
ที่จะคอยให้คำแนะนำ
และให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด
ก่อนที่เจ้าของดินจะเบื่อหน่าย
และหอบดินกลับบ้านไปเสียก่อน

เพราะเป็นงานที่เหนื่อยยากแสนสาหัส
ไม่สามารถว่าจ้างใคร
ให้มาทำแทนได้
คนไทยส่วนใหญ่
ก็ไม่สนใจที่จะทำงานนี้
แม้แต่ชาวพม่าหรือกัมพูชา
ก็ยังไม่อยากทำ

ขั้นตอนแรกเริ่มต้นขึ้น
ด้วยการทุบดินให้นิ่ม
ถ้าเป็นผู้ใหม่แกะกล่อง
ก็ต้องออกแรงมากหน่อย
อาจจะมีอาการง่วง เหม่อลอย คิดถึงบ้าน
คิดสงสัยว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่

นายช่างได้วางระบบสายพาน
ไว้อย่างเรียบร้อย
ตามขั้นตอนของขบวนการผลิต
โดยแบ่งพนักงานปั้นหม้อ
ออกเป็น ๔ กลุ่ม

กลุ่มแรก ทุบดินเหนียวให้นุ่ม
เปรียบได้กับผู้ปฏิบัติใหม่แกะกล่อง

กลุ่มที่สอง ดินนุ่มแล้ว
นำมาขึ้นแป้นหมุน
เพื่อก่อตัวเป็นภาชนะ
เป็นผู้เคยเข้าปฏิบัติมาแล้ว
ประมาณหนึ่งหรือสองครั้ง

กลุ่มที่สาม แกะสลักลวดลาย
เก็บรายละเอียดบนภาชนะ
ที่ปั้นเป็นรูปทรงแล้ว
เป็นผู้ปฏิบัติเก่าพอสมควร

กลุ่มที่สี่ เข้าเตาอบ
เก็บอารมณ์ สำหรับผู้เก่า
ที่พอรู้รูปนามบ้างแล้ว

ทั้งสี่กลุ่มก็จะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียน
ใช้สถานที่ปฏิบัติงานสลับกันไป
เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซากจำเจ
เช่น ใต้ศาลาริมคลองลมพัดเย็นสบาย
ในห้องโถงติดแอร์ อุโมงค์ซุ้มไทร
หรือในห้องนอนที่ว่างเปล่า

ช่างปั้นหม้อ (รายงาน ๒)

ปกติแล้วเวลาตีสี่
จะเป็นช่วงที่ผู้คนหลับสบายที่สุด
แต่เป็นเวลาที่นายช่างนัดไว
ให้พนักงานปั้นหม้อทุกคน
มารวมกันที่ศาลา
เพื่อบริหาร่างกายแบบทิเบต

การดึงตัวเองออกจากความเคยชินเก่าๆ
ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
จึงต้องมีเบลบอยคอยเดินเคาะระฆัง
ผ่านด้านหน้าอาคารที่พักชายหญิง
ปลุกสติทุกคนให้ตื่นจากภวังค์

ซึ่งเบลบอยผู้นั้นไม่ใช่ใคร
คือหลวงพ่อนั่นเอง
ถ้าใครยังอยากจะนอนต่อ
ก็คงต้องคิดหนักหน่อย

ผู้ใหม่ที่ตั้งใจมาปฏิบัติธรรม
อาจจะนึกสงสัย
เหตุใดจึงเริ่มต้นด้วยการออกกำลังกาย
มันช่างต่างจากการปฏิบัติธรรมทั่วไป
ที่เคยพบเห็นมา

ต่อเมื่อได้เห็นผลของความสดชื่น
อันเกิดขึ้นตามมาในระหว่างวัน
จึงได้หายสงสัย

เพราะการบริหารร่างกายที่ถูกต้อง
จะช่วยเพิ่มออกซิเจน
ที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิง
ในการเผาผลาญวิญญาณธาตุ
ให้กลายเป็นตัวตื่นรู้ได้

หลวงพ่อไม่ได้เน้นความสงบ
แต่ท่านต้องการให้เห็น
ไตรลักษณ์ของรูป
ที่เกิดจากการเคลื่อนไหว
อันจะเป็นก้าวแรกสู่ประตูแห่งสัจจธรรม

หลังจากออกกำลังกายกันแล้ว
จึงได้พักดื่มน้ำอุ่น
และมารวมตัวกันอีกครั้งเพื่อทำวัตรเช้า

ต่อด้วยการฟังธรรมบรรยายสดๆ จากหลวงพ่อ
และเดินจงกรม ก่อนรับประทานอาหารเช้า

อาหารมังสวิรัติ
จากฝีมือแม่ครัวระดับห้าดาว
ทำให้ผู้ปฏิบัติลืมตัวไปชั่วขณะ
หลวงพ่อได้กล่าวเตือน
ให้ระลึกถึงความรู้สึกหนักเบา
ในขณะเคี้ยวอาหาร

ต่อจากนั้นจึงได้แยกย้ายกันกลับที่พัก
และมารวมตัวกันอีกครั้ง
ในเวลาแปดโมงครึ่ง
เพื่อรับมอบงานจากนายช่าง
ว่ากลุ่มไหนจะใช้สถานที่ใด
ในการปฏิบัติงาน

ด้วยเหตุนี้ในแต่ละวัน
ช่วงเช้าและช่วงบ่าย
สถานที่ปฏิบัติงานของแต่ละกลุ่ม
จึงสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเรื่อยๆ
แล้วแต่การมอบหมายงาน
ของนายช่างผู้เชี่ยวชาญ

ช่างปั้นหม้อ (รายงาน ๓)

 
เมื่อถึงเวลานัดหมาย
พนักงานทุกคน
มาตอกบัตรตรงเวลา
 
๘.๓๐ – ๑๗.๐๐ น.
เป็นเวลาเดียวกันกับออฟฟิศไทม์
เพียงแต่วันนี้ไม่ต้องขึ้นรถเมล์
รถตู้ รถไฟฟ้า รถมอเตอร์ไซค์
แท็กซี่ หรือรถส่วนตัว
และไม่มีมลพิษให้ดม
 
นายช่างจึงได้บรีฟงาน
ให้เข้าใจเป้าหมายที่ชัดเจน
เพื่อรักษาคุณภาพ
ตามมาตรฐาน ISO
 
เมื่อได้รับมอบหมายงานเรียบร้อยแล้ว
พนักงานแต่ละแผนก
ก็ได้แยกย้ายกันไปทำงาน
ตามสถานที่ที่กำหนดไว้
 
ทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตา
รับผิดชอบงานของตน
 
ดูภายนอกแม้จะเงียบกริบ
แต่ภายในนั้น
มีเสียงดังอึกทึกครึกโครม
ไม่ต่างจากโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไป
โดยเฉพาะเสียงทุบดิน
ของพนักงานกลุ่มแรก
 
นายช่างจึงต้องคอยดูแล
พนักงานกลุ่มนี้อย่างใกล้ชิด
เพราะถ้าขึ้นแม่แบบได้สำเร็จ
ถูกต้องแต่แรก
สิ่งที่ตามมาก็จะราบรื่น
ไม่ผิดเพี้ยน
 
แต่ถ้าขึ้นดินเหนียวบิดๆ เบี้ยวๆ
พอนำภาชนะไปใช้งาน
สิ่งของก็อาจจะหกหล่นเสียหาย
 
บางทีเนื้อดินยังไม่ทันนุ่ม
หรือชุ่มน้ำมากเกินไป
พอนำไปเผา
ก็อาจจะแตกได้
 
ด้วยเหตุนี้ นายช่างจึงได้กำหนดให้
พื้นที่ใต้ศาลาเป็นสถานที่ทำงาน
ของพนักงานทุบดินเหนียวในวันแรก
เพราะสามารถสอดส่อง
ดูแลการทำงาน
ของพนักงานทุกคน
ได้อย่างใกล้ชิดและทั่วถึง
 
เมื่อใดพนักงานใหม่ทำท่าจะไปไม่รอด
ด้วยความเหนื่อยล้า อ่อนแรง
นายช่างก็จะคอยเพิ่มกำลังใจให้
ด้วยการแนะนำให้ปรับเปลี่ยนท่านั่ง
หรือพาเดินจงกรม
พร้อมกำหนดลมหายใจ เป็นต้น
 
หลวงพ่อสอนลูกศิษย์
ให้รู้จักนั่ง ยืน เดิน นอน
อย่างรู้สึกตัว
ด้วยความรักและความเมตตา
ไม่ต่างจากพ่อแม่ ที่สอนลูกน้อย
ให้รู้จักนั่ง คลาน ยืน เดิน ฉันนั้น

ช่างปั้นหม้อ (รายงาน ๔)

 
ไนฟ์ (knife) เดินทางมาจากระยอง
หนึ่งในสาวโรงงานเครื่องปั้นดินเผา
แผนกทุบดินเหนียวให้นุ่ม
เดิมมีอาชีพกรีดยาง
 
เป็นครั้งแรกที่ไนฟ์ได้รู้จัก
วิธีการสร้างจังหวะ ๑๔ จังหวะ
 
ช่วงเช้าอากาศสดชื่นแจ่มใส
ในบรรยากาศชนบท
ไนฟ์จึงรู้สึกสนุกกับวิธีการนี้
และได้อารมณ์เป็นพิเศษ
 
แต่ในช่วงบ่ายหลังอาหารกลางวัน
ไนฟ์มีอาการคล้ายโดนงูแมวเซากัด
จึงต้องปลุกตัวเองให้ตื่นอยู่เสมอ
ไม่เช่นนั้นอาจหลับไม่ตื่น
 
คมสมชื่อที่แปลว่ามีด
ไนฟ์ย้ายไปยืนสร้างจังหวะ
บนสันเขื่อนริมคลอง
 
เดิมพันด้วยชีวิต
เพราะไนฟ์ว่ายน้ำไม่เป็น
ถึงแม้จะมาจากหัวเมืองชายทะเล
 
ความรู้สึกหวาดเสียว
ได้เข้ามาแทนที่ความง่วง
ไนฟ์ยืนสร้างจังหวะอย่างระมัดระวัง
สลับกับการนั่งบนสันเขื่อน
อย่างได้อารมณ์
 
เสียงเรือหางยาววิ่งมาแต่ไกล
เร็ว แรง ดัง ด้วยกำลังเครื่องยนต์
ขนาดรถบรรทุกสิบล้อ
สไลด์โค้งผ่านหน้าไป
คล้ายจะสอบอารมณ์
 
เห็นสักแต่ว่าเห็น…
ได้ยินสักแต่ว่าได้ยิน…
 
ตามมาด้วยเกลียวคลื่นมหึมา
ดังคลื่นสึนามิซัดชายฝั่ง
 
ไนฟ์สัมผัสได้
ถึงรสชาติกร่อยของน้ำคลอง
มันไม่เค็มเหมือนน้ำทะเลแถวบ้าน
 
ไนฟ์พาร่างที่เปียกชุ่มกลับที่พัก
ดั่งร่างนักรบที่อาบด้วยเลือดของข้าศึก
เธอได้ต่อสู้และมีชัยชนะ
เหนือความง่วงได้อย่างสมศักดิ์ศรี
 
เมื่ออาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้ว
จึงได้กลับมานั่งสร้างจังหวะต่อ
เพื่อรอพบนิวรณ์ คู่ต่อสู้ยกต่อไป
 
ร็อคกี้ยังมีถึงเจ็ดภาค…
ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ
ตราบนั้นย่อมมีนิวรณ์ไม่จบสิ้น
เพียงแต่เราจะอยู่เหนือมัน
ได้อย่างไร?
 
ด้วยเหตุนี้
หลวงพ่อจึงคอยเตือนสติอยู่เสมอ
ไม่ให้จมแช่อยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ
เช่น เดินจงกรมนานๆ
หรือนั่งสร้างจังหวะในท่าเดิมนานๆ
 
แต่ท่านเน้นให้นั่งมากกว่าเดิน
โดยให้ปรับเปลี่ยนท่านั่งบ่อยๆ
โดยเรียงตามลำดับท่านั่ง
เช่น นั่งพับเพียบซ้าย พับเพียบขวา
ขัดสมาธิเท้าซ้ายทับเท้าขวา
เท้าขวาทับเท้าซ้าย นั่งทับส้น
นั่งคุกเข่า ฯลฯ เป็นต้น
 
เพราะการแช่อยู่ในอิริยาบถเดิมนานๆ
จะทำให้เกิดความเพลิน
อันเป็นที่มาของนิวรณ์
 
หรืออาจจะเกิดสมาธิแบบสมถะ
ซึ่งจะไปกดข่มนิวรณ์ไว้
ไม่ให้เผชิญหน้ากับศัตรูตัวจริง
 
ทุกเย็นจะมีการทำวัตรสวดมนต์
และฟังธรรมบรรยายสดๆ จากหลวงพ่อ
ซึ่งแตกต่างจากการฟังในยูทูบ
หรือฟังจากสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ทั่วไป
 
เพราะท่านจะแสดงธรรม
ที่ตรงกับสภาวะปัจจุบันของผู้ปฏิบัติ
ซึ่งผู้ฟังจะรู้ได้เองว่าควรจะแก้ไข
ปรับปรุงตนเองอย่างไร
 
ส่วนจะทำตามคำแนะนำ
ได้มากน้อยเพียงใดนั้น
ขึ้นอยู่กับศรัทธาและความเพียร
ของแต่ละคน
รายงานการปฏิบัติ
ตามรอยอาริยะ ๗
๑๑-๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๙

 

รายงานชุดปฏิบัติการ “ขุดบ่อหาน้ำใส ขุดใจหานิพพาน”

รายงานปฏิบัติบูชา หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ๑๒-๑๓ ก.ย. ๕๘ ณ หอจดหมายเหตุพุทธทาสฯ

รายงานคอร์สโพธิปัญญา ณ ครุสติสถาน ๑๑-๑๗ มีนา ๕๙