จัดหนัก ณ วัดศรีมงคล ประเทศฝรั่งเศส ตอนที่ ๑

บรรยายให้แก่ นักปฏิบัติิเจริญสติคอร์สเข้มเจ็ดวัน

(อาจจะมีตอนที่สามและสี่ตามมา? สำหรับผู้ไม่เคบปฏิบัติอาจจะยากไปหน่อย

ค่อยๆศึกษาไป เดี๋ยวเข้าใจได้)

ตอนที่ ๑

เราได้มาศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน ถือว่าได้ศึกษาวิชาขั้นสูงในพระพุทธศาสนา และถือว่าเป็นเรื่องใหญ่หลวงและสำคัญมากตามทัศนคติของอาตมา จึงให้ความสำคัญเป็นพิเศษ และทำให้รู้จักเป้าหมายสูงสุดของตนเอง ว่าทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร เมื่อวานตอนสอบอารมณ์ให้กับฝรั่งสองสามีภรรยา เขาถามว่า ปฏิบัติแบบนี้จะได้ผลอย่างไร? จึงได้ตอบเขาไปว่า ชาวพุทธส่วนมากเข้าใจว่า ปฏิบัติแบบนี้เพื่อให้ได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน ซึ่งเป็นการเข้าถึงอิสรภาพทางด้านจิตวิญญาณอย่างสูงสุด หรือการเข้าถึง Supreme freedom คือการเข้าถึงสภาวะที่พ้นจากการร้อยรัดมัดแน่นทางจิตวิญญาณ หลุดพ้นจากบ่วงแห่งวัตถุกามและกิเลสกามทั้งหลายก่อนหน้าที่พระพุทธเจ้าจะมาอุบัติเกิด ก็มีผู้แสวงหาการหลุดพ้นแบบนี้มาก่อนแล้ว ไม่ต่ำกว่าพันๆ ปีเหมือนกัน เช่นตามประวัติบอกว่า พระพุทะเจ้าสมัยเมื่อยังไม่ได้บรรลุธรรม เคยได้ไปบำเพ็ญฌานชั้นสูงระดับต่างๆกับครูทั้งสองท่าน คือ อุทกดาบส รามบุตร และอาฬารดาบส กาลามโคตร จนได้บรรลุฌานขั้นสูงสุดในสมัยนั้น ได้รับความสุขสูงสุดของฌานชั้นนั้นๆ แต่ก็ยังไม่สามารถพาตนให้พ้นไปจากทุกข์ได้ เพราะเมื่อสมาธิที่ทำให้จิตนั้นได้ฌานมันเสื่อมลงเมื่อไร จิตก็ต้องกลับมาเวียนว่ายตามเกิดเหมือนเดิม จนกระทั้งว่า พระองค์ได้ใช้ความพยายามของท่านเองค้นคว้าศึกษาต่อ จนบรรลุธรรมได้เอง พระองค์ได้พบความจริงว่า สิ่งที่สูงไปกว่ารูปคือนาม รูปนั้นจะละเอียดสูงสุดปานใด ก็ยังตกอยู่ในอำนาจของสมมุติ และรูปทุกรูป ก็ต้องตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ คือเปลี่ยนแปลงไปตามอำนาจของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ดังนั้น เบื้องต้นนี้ จะทำความเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำนี้ก่อน เพราะถ้าเราเข้าใจในสิ่งที่เรากำลังทำ มันจะปฏิบัติได้อย่างสนุก เพราะรู้จักวิธีเล่น เช่น เด็กๆ ส่วนใหญ่ มันสนุกในการเล่นเกมส์ และเล่นกีฬา เพราะเขาเข้าใจเกมส์ที่เล่น ก็เล่นได้ทั้งวันทั้งคืนเช่นกัน ในฝ่ายนามธรรม ก็เช่นเดียวกัน ถ้าเรารู้จักเล่นกีฬาทางจิตใจ ก็สนุกเหมือนเล่นเกมส์ เช่น ตอนนี้ญาติโยมกำลังนั่งปฏิบัติ พระก็นั่งปฏิบัติเหมือนกัน แต่ในใจของแต่ละคนอาจจะรู้สึกไม่เหมือนกัน ผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติมามากกว่า ก็ทำจิตให้สนุกไปกับการปฏิบัติได้ง่ายกว่า แต่ผู้มาปฏิบัติใหม่ก็ยังทำใจไม่เป็น ก็จะรู้สึกฝืดฝืนในขณะนั่งปฏิบัตินานๆ อาจจะคิดถึงงานอื่นหรือเรื่องอื่นเข้ามาแทน ไม่รู้สึกสนุกในการปฏิบัติ ก็เกิดการขัดแย้งในใจ ความทุกข์ทรมานใจก็ตามมา เพราะในชีวิตจริง เราไม่เคยนั่งนิ่งๆ เป็นเวลานานๆเคยไปทำแต่งานที่เกี่ยวกับวัตถุ สิ่งของ ก็รู้สึกเพลินไปกับสิ่งนอกกาย แต่พอมาทำกับนามธรรม หรือสิ่งที่อยู่ในกายในใจ เลยวางใจยาก หรือวางความรู้สึกไม่เป็น แต่พระผู้มีประสบการณ์ในการทำสมาธิ พอได้โอกาสนั่งนิ่ง ท่านก็เล่นฌาน มีความสุขในสมาธิ แล้วก็เสพติดในฌานได้เช่นกัน เหมือนเด็กติดเกมส์ แต่พระที่ชำนาญในงานวิปัสสนา ท่านก็เล่นกับญาณ หรือวิปัสสนาญาณ ด้วยการวิจัยธรรมต่างๆ ที่กำลังเกิด ขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปตลอดเวลา ยิ่งปฏิบัตินานไป ก็ยิ่งชำนาญในวิปัสสนาญาณมากขึ้น แบบนี้จะเป็นการทำตรงเป้าหมายของพระพุทธศาสนามากที่สุด

นักปฏิบัติที่จิตยังอยู่ในระดับฌาน เล่นไปนานๆ ก็เสื่อม เพราะเป็นธรรมที่ยังเกี่ยวข้องด้วยอารมณ์ที่เป็นรูป ซึ่งจะต้องเปลี่ยนไปตาม กฏของไตรลักษณ์เสมอไป จะเสื่อมช้าหรือไวเท่านั้นเอง แม้แต่พระอนาคามีบางเหล่าก็ยังข้องอยู่กับอารมณ์ ซึ่งต้องได้ไปเกิดในพรหมชั้นสูงอีกครั้งก่อนจะเข้าสู่นิพพาน แต่ผู้เล่นในญาณ จิตจะไม่เสื่อมง่ายๆ วิปัสสนาญาณ ไม่เกี่ยวของด้วยรูป แต่เข้าสู้อารมณ์ปรมัตถ์ล้วนๆ ซึ่งเป็นนามที่อยู่เหนือกฎของไตรลักษณ์

ดังนั้นในเบื้องต้น ผู้ปฏิบัติใหม่ ต้องทำความเข้าใจกันบ่อยๆ เพื่อจะได้ทำใจให้ถูกขณะปฏิบัติ แล้วจึงจะปฏิบัติได้สนุก ถ้าปฏิบัติไปด้วยอารมณ์ที่ฝืดและฝืน กว่าจะผ่านไปได้ ๗ วัน ก็แทบตายทีเดียว เหมือนเราติดคุก แต่ถ้าทำด้วยความเข้าใจมันจะสนุกเพลิดเพลินบางคนก็มาขอปฏิบัติต่ออีก ๗ วันก็มี ดังนั้น เราจะทำใจอย่างไรถึงจะได้อารมณ์อย่างที่ว่ามา ก็ลองศึกษากันดู เบื้องต้น เราจะต้องเริ่มกับสิ่งที่เราสัมผัสได้ง่าย ไม่ลึกลับซับซ้อนเกินไป

เรานั่งร่วมกันทำวัตรปฏิบัติธรรม และตอนนี้กำลังฟังธรรม ก็ผ่านมาหลายชั่วโมงแล้ว ใครรู้สึกตัวอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาแต่ละนาที สังเกตตัวเองกันบ้างไหม? ถ้าผู้ปฏิบัติใหม่ ยังปรับความรู้สึกยังไม่ถูก จะรู้สึกว่า อึดอัดและทรมานกานมากใช่ไหม? เห็นพลิกไปพลิกมากันหลายรอบแล้ว สังเกตกันบ้างไหมว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นกับตัวเอง เบื้องต้น เราต้องฝึกทำใจและเข้ากับอาการเหล่านี้ว่าทำไมจึงรู้สึกอย่างนั้น มันเกิด สลับไปสลับมาตลอดเวลา เคยถามตัวเองบ้างไหมว่า เพราะเหตุไรจึงเป็นอย่างนั้น ตลอดเวลาที่เรายังไม่ได้มาฝึกฝน เราส่วนมากมีชีวิตอยู่กับความเคยชินมาตลอด น้อยคนจะระลึกได้กับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ แต่บางคนที่ฝึกมาจนเคยแล้วก็ทำได้ง่าย เพราะได้สติเกิดไวขึ้น เพราะมีความคุ้ยเคยกับการสังเกตอาการต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปตลอดเวลา

สมมุติว่า เรานั่งอยู่เฉยๆ กับการลุกไปทำงาน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นในกายในใจต่างกันไหม การที่เรารู้จักสังเกตเห็นความแตกต่างในกายและใจตัวเองอยู่เสมอ เราเรียกว่า สติสัมปชัญญะ แต่ถ้า่ทำอะไรไปเรื่อยๆ ทั้งวัน ไม่ฝึกสังเกตเห็นความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้น เรียกว่า ขาดสติสัมปชัญญะ ก็มีแต่ความคิดต่างๆ เกิดขึ้นแทน นั้นแหละคือที่มาของกิเลสตัณหา ดังนั้น ให้สังเกตความรู้สึกต่างๆที่เกิดขึ้นในกายและใจตลอดเวลาว่า มันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างให้อาการเหล่านั้นและอ่านให้ชัดว่า ความรู้สึกสุขเป็นอย่างไร ความรู้สึกทุกข์เป็นอย่างไร และเมื่อใดความรู้สึกต่างๆ เกิดกับกายให้รู้สึกเสมอว่า ร่างกายมันเป็นรูป และความจริงของรูปทุกชนิด มันจะเปลี่ยนแปลงอย่างนี้เสมอ คือเปลี่ยนไปตามกฎไตรลักษณ์เสมอไป ไม่เป็นไปอย่างอื่นเลย ชาวพุทธเราต้องจดจำกฏของธรรมชาติอันนี้ให้ขึ้นใจทีเดียว ท่านเรียกตามบาลีว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชาวพุทธทุกคนต้องจำให้ได้ แต่เราจะเข้าใจได้หรือไม่ว่า ทั้ง ๓ มันทำงานของมันอย่างไร ที่ไหนมีรูป ที่นั้นต้องมีอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ว่ารูปนั้นจะใหญ่หรือเล็ก หยาบละเอียดประณีตปานใดก็ตามตกอยู่ในกฎนี้ทั้งหมด