รวมบทความเกี่ยวกับนามรูป

นามรูป : ต้นทางแห่งภพชาติและความทุกข์

 

รูปนามคือภาชนะของกายใจ

รูปนามเปรียบเสมือนภาชนะของเรา คือภาชนะใจ ภาชนะกาย มันมักจะแปดเปื้อนด้วยทุกขเวทนาต่างๆ อยู่เสมอ เวทนาต่างๆ เข้ามากระทบทั้งกายและจิต ก็เป็นเหมือนมลทิน ฝุ่นผง ที่พัดเข้ามาจับต้องอยู่ตลอดเวลา ก็ต้องคอยปรับเปลี่ยนบำบัด ขัดเกลาชำระล้างเอามลทินทุกข์นั้นๆ ออกไปอย่างต่อเนื่อง ความรู้สึกเจ็บ ปวด เมื่อย เคล็ด คันฯลฯ จะรู้สึกมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มแข็ง หรืออ่อนแอของอินทรีย์แต่ละคนไป คนที่เข้มแข็ง ทุกขเวทนาก็เกิดช้าหน่อย คนที่อินทรีย์อ่อนแอ ก็เกิดไวหน่อย เพราะมันเป็นสังขารโดยกำเนิด ซึ่งต้องตกอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ทั้งหมดไม่มียกเว้น

ทุกขเวทนากับสุขเวทนา จึงเป็นมลทินที่ไหลลื่นเข้ามาสู่กายใจไม่รู้จักหยุดหย่อน เวลาอยู่ในอิริยาบถใดนานๆ ทุกขเวทนาต้องเกิด เป็นมลทินฝ่ายลบ เราก็ต้องหาทางบำบัดขัดเกลามันออกไป และเมื่อได้สุขเวทนากลับเข้ามา ก็เป็นมลทินฝ่ายบวกยึดเราต่อไปอีก เวทนามันมีตลอดเวลา มลทินเหล่านี้เรียกตามปริยัติเรียกว่า อภิชฌาและโทมนัส คือความพอใจ และความไม่พอใจนั้นเอง เราสามารถรู้เท่าทันมลทินทางกายเวทนาเหล่านี้ และรู้จักวิธีบำบัดขัดเกลาเอามลทินทางจิตออกได้ ด้วยกำลังวิปัสสนาญาณ

 

อทุกขมสุขเวทนา ยังไม่ใช่อุเบกขา

อารมณ์หลักๆ ของรูปนาม เมื่อทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมชัดเจนดีแล้ว เราก็จะเห็นเวทนาทั้งลบและบวกได้โดยง่าย เราสามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับมันได้ถูกต้อง และแปรสภาพของเวทนาให้เป็นประโยชน์ทางวิปัสสนาได้ ความรู้สึกเฉยๆ มาจากเวทนาก็มี มาจากอุเบกขาก็มี ที่มาจากเวทนาเรียกว่า อทุกขมสุขเวทนา คือความรู้สึกที่ยังไม่แน่ว่า เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เช่นเราพึ่งเปลี่ยนอิริยาบถใหม่ๆ ยังไม่แน่ว่าความรู้สึกทางกายขณะนั้น มันเป็นสุขหรือทุกข์ พอนั่งไปได้สัก 10 นาที 20 นาที ความรู้สึกเริ่มหนักหน่วงและเข้มข้นมากขึ้น จนเรารู้สึกว่าทุกขเวทนาเกิดแล้ว แต่สุขเวทนามันปรากฏตัวนิดเดียว พอหลุดจากนั้นไปไม่กี่นาที ทุกขเวทนามันก็เริ่มหนักหน่วงขึ้นอีก

อทุกขมสุขเวทนา มันเสมือนเป็นภาวะเฉยๆ เช่นกัน แต่มิใช่อุเบกขา แต่ความรู้สึกที่เป็นอุเบกขา คือภาวะจิตที่รู้เท่าทันความจริงของเวทนา และไม่ถูกเวทนาทุกอย่างครอบงำ แต่สามารถจัดการกับเวทนาได้ตามต้องการ ไม่ถูกเวทนาเบียดเบียน เป็นภาวะที่รู้เท่าทันจิตอันเกิดจากองค์ธรรมแล้ววางเฉยเวทนานั้นๆได้ หรือรู้มันซื่อๆ เฉยๆ ได้ ซึ่งมันคนละเรื่องกับอทุขมสุขเวทนาทีเดียว

 

 

นามรูปเปรียบเสมือนเงา

เรามาพูดถึงสถานะของนามรูปให้เห็นกันชัดๆ อุปมาต่อไปนี้อาจจะช่วยให้เห็นภาพของรูปนามและนามรูปได้ชัดขึ้นได้ คือรูปนามเปรียบเสมือนวัตถุชิ้นหนึ่ง นามรูปเปรียบเสมือนเงาคือจิตสังขาร นามล้วนๆ เปรียบเสมือนแสงสว่างจากดวงไฟ คือสติปัญญาญาณ ไม่ใช่ทั้งรูปนามและนามรูป พอนึกภาพออกหรือยัง เพราะฉะนั้น นามรูปมันเป็นจึงเป็นเพียงรูปของปรากฏการณ์ จากการที่รูปนามและสติไม่มาอยู่ตรงแนวเดียวกัน เสมือนวัตถุกับแสงสว่างไม่ตรงกันเท่านั้นเอง หรืออีกนัยหนึ่ง นามรูป ก็คือรูปที่เกิดจากอาการของนามคือจิตนั้นเอง ดังได้ให้อุปมาแต่ต้นแล้วว่า รูปเสมือนเป็นวัตถุ นามเสมือนเป็นแสงสว่าง นามรูปเสมือนเป็นเงา วัตถุทั้ง ๓ เกี่ยวของกันฉันใด ภาวะของรูปนาม นามรูป และสติ ก็สัมพันธ์กันฉันนั้น
นามรูปคือตัวจิตสังขาร หรือตัวความคิด แต่รูปนามคือความรู้สึกเวทนา แต่สติ เป็นตัวรู้สึกรู้เฉยๆ มันคือ ปรมัตถสภาวะ แต่จิตกับเจตสิกนั้น เป็นได้ทั้งรูปนาม นามรูป และนามล้วนๆ ผู้ไม่มีปริยัติอาจงงนิดหน่อย

 

นามรูปเป็นรูปที่ไม่จริง

รูปและนามเป็นปรมัตถ์ แต่นามรูปมันเป็นเพียงสมมุติ เพราะมันเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัยของรูปและนาม มันจึงเป็นเพียงปรากฏการณ์ของรูปและนามเท่านั้น ไม่ใช่รูปที่มีอยู่จริง กลับไปทบทวนทำความเข้าใจเรื่องเงากับแสงและวัตถุอีกครั้ง แล้วจะเห็นความจริงของเรื่องนี้ได้ชัดเจนที่สุด ดังนั้น นามรูปมันเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จึงเรียกมันว่า สังขารจิต คือเหตุเกิดทุกข์ตัวจริง คนที่ไม่ได้ฝึกจิตให้รู้เรื่องวิปัสสนา ก็พึ่งพาอาศัยแต่นามรูป ไม่ได้คิดพึ่งพาอาศัยรูปนาม เขาจึงประสบความทุกข์ของสังขารมากที่สุด เพราะนามรูป มันตกอยู่ภายใต้การสั่งงานของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลา จึงเอาเป็นที่พึ่งไม่ได้ เหมือนกับเราข้ามน้ำลึกโดยที่ไม่มีเรือ หรือเดินทางฝ่าความมืดโดยไม่มีไฟสว่าง เราก็มีแต่ทุกข์กับทุกข์ หรือตายกับตายเท่านั้นเอง

 

นามรูปเหมือนมหาสมุทรทั้ง ๔

ที่คุณพากันเป็นทุกข์กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ คุณไม่ต้องไปแปลกใจหรอก มันเป็นธรรมดาที่เป็นไปตามกฎของมัน แต่วันไหนคุณไม่อยากเป็นทุกข์แล้วคิดจะออกมันนั้นสิ ถือว่าคุณมีโอกาสจะหาทางออกจากมันได้ แต่เพียงแต่คิดไว้เฉยๆ ก็ไม่มีประโยชน์และความหมายใดๆ แถมจะสร้างจิตนาการขึ้นมาให้รกสมองรกจิตเปล่าๆ ท่านผู้รู้ทั้งหลาย จึงเปรียบนามรูป เหมือนทะเลมหาสมุทรทั้งสี่ ได้แก่

กาโมฆะ มหาสมุทรแห่งกาม

มหาสมุทรแห่งกามเรียกว่า กาโมฆะ ห้วงน้ำคือกาม คือความคิดปรุงแต่งเรื่องความอยากความใคร่ชนิดต่างๆ มันไหลรื่นครุ่นคิดอยู่ในจิตในใจแทบตลอดเวลา

ทิฏโฐฆะ มหาสมุทรแห่งความเห็นผิด

มหาสมุทรคือทิฐิ เรียกว่า ทิฏโฐฆะ คือห้วงน้ำแห่งความคิดปรุงแต่งเห็นผิดในเรื่องราวต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม ที่คนทั่วไปชอบคิดค้นหาเรื่องมาคุยมาถกเถียงกันได้ทั้งวันทั้งปี ทั้งชาติเลยละ

ภโวฆะ มหาสมุทรแห่งความพอใจไม่พอใจ

มหาสมุทรคือภพ เรียกว่าภโวฆะ คือคิดปรุงแต่งแล้วไม่สะใจ และโง่เขลาพอที่ไปยึดเอาเงาแห่งความคิดหรือนามรูปนั้นๆว่าเป็นความคิดเห็นของตนกูตัวตนของกู ใครจะมาคัดค้านไม่ได้ ไม่เห็นด้วยไม่ได้ กูไม่ยอมลูกเดียว มันก็จะรู้สึกไม่พอใจ รู้สึกโกรธเกลียดเคียดขุ่นกันเป็นเรื่องเป็นราวเลยทีเดียว เราเป็นเช่นนั้นกันบ้างหรือเปล่าในบางเวลา ถ้าเป็น ก็ให้รู้ว่า เราได้ตกน้ำไปลอยคอ จมผุดจมว่ายสำลักน้ำแห่งทิฐิอันโง่เง่าของตนเองเข้าไปแล้ว น่าสมเพชตัวเองไหมละ?

อวิชโชฆะ มหาสมุทรแห่งความไม่รู้

มหาสมุทรแห่งอวิชชา เรียกว่า อวิชโชฆะ ไอ้นี่คือต้นธารน้ำพุแห่งมหาสมุทรทั้งสามนั้นเลยทีเดียว ที่เรารู้จักกันดีว่า ห้วงอารมณ์แห่งความไม่รู้สึกตัว ไม่รู้เท่าทัน ไม่เฉลียวใจ ไม่ได้สติ ไม่มีปัญญา โง่เขลาหลงลืม งี่เง่าอะไรทำนองนั้น ฯลฯ ในตระกูลนี้แหละ ใครมีสมมุติทางนี้มาก ก็สรรหามาตั้งชื่อให้สะใจก็แล้วกัน

 

กรอบแห่งทุกข์

คนทั้งหลายที่ไม่ได้เรียนรู้และปฏิบัติวิปัสสนาอย่างถูกต้อง จิตก็จะนึกคิดปรุงแต่งวนเวียนหาแต่เรื่องสุขเรื่องทุกข์ ไม่สามารถมองผ่านออกไปจากกรอบนี้ได้เลย และเป็นไปไม่ได้เลย ผู้ที่ได้วิปัสสนาญาณ จะเปิดทางออกของจิตไปนอกกรอบนี้ได้ ผู้ที่จะสัมผัสความไม่ทุกข์ที่แท้จริงได้ คือผู้เข้าใจวิปัสสนาแล้วเท่านั้น นอกนั้นสัมผัสได้เหมือนกันแต่เป็นลักษณะชั่วคราว แต่ก็สัมผัสแบบโมหะมากกว่า

ผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนาจะสัมผัสความไม่ทุกข์ได้ถาวรแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับระดับของภูมิธรรม คนไหนเข้าสู่กระแสพระโสดาบันไม่ทุกข์ 25 % ถ้าเข้าสู่กระแสสกิทาคามีไม่ทุกข์ 50% ถ้าเข้าสู่กระแสอนาคามี ไม่ทุกข์ 75% คนไหนเข้าสู่กระแสพระอรหันต์แล้วก็ไม่ทุกข์ 100%

 

ธรรมนิยาม เป็นไปตามกฎธรรมชาติ

รูปนามคือกายสังขาร

กายหรือรูปทั้งหลายทั้งปวง มันเป็นไปตามกฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเกิดที่ไหน กฎทั้ง ๓ อย่างนี้ต้องติดตามไปปฏิบัติหน้าของมันที่นั่น กฎธรรมชาติอันอมตะนี้ เรียกว่า ธรรมนิยาม เป็นกฎตายตัวของสิ่งที่เป็นสังขารทั้งหมดทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น สังขารอย่างหยาบ สังขารอย่างกลาง สังขารอย่างละเอียดก็ตาม

นามรูปคือจิตสังขาร

ความคิดปรุงแต่งเป็นจิตสังขาร หรือนามรูปนั้นเอง ส่วนกายสังขาร คือรูปนาม ถ้ามีสติปัญญาเข้าไปรู้เท่าทันอยู่มันเป็นประจำ สังขารเหล่านี้ก็ถูกเปลี่ยนเป็นอารมณ์ปรมัตถ์ไปทันที แต่ถ้าไม่มีปัญญาเข้าไปรู้เท่าทันมัน ทั้งรูปนามหรือนามรูปทั้งปวงนั้น ก็ยังเป็นสังขารเหมือนเดิม คือลื่นไหลไปตามกฎของไตรลักษณ์ คือแปรปรวน กายไม่สบาย ใจไม่สงบ อยากอะไรต่ออะไรไปเรื่อยๆ แล้วก็เปลี่ยนเรื่องเก่าไปหาเรื่องใหม่เรื่อยๆ

รูปนามและนามรูป เปลี่ยนเป็นปรมัตถ์ได้

ด้วยอาศัยสัมมาสัมโพธิญาณ คือการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เราจึงได้อาศัยความรู้ของท่านที่สืบสานกันมาจนถึงรุ่นเรา ก็เกือบ ๓,๐๐๐ ปีแล้ว เมื่อเราได้มีโอกาสมาเรียนรู้ตรงนี้และวันนี้ เราก็สามารถเปลี่ยนรูปนามและนามรูป คือกายสังขาร และจิตสังขารให้เป็นปรมัตถ์ได้สำเร็จ เราจึงได้สำนึกถึงบุญคุณของท่าน หรือกราบไว้พระรัตนตรัยอยู่ทุกเช้าทุกเย็น ไม่เคยหลงลืมและศรัทธาท่านอย่างไม่เสื่อมคลาย (ขยันทำวัตรเช้า เย็นไงละ อย่าลืมเลยทีเดียว )

วิสังขารจิตเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ

เมื่อมีสติ คือเกิดความรู้เนื้อรู้ตัวที่ถูกต้องเมื่อใด สามารถรู้เท่าทันเวทนาทางกาย และรู้เท่าทันจิต ใจไม่มีการปรุงแต่งหรือดำริอารมณ์ใดๆ จิตก็เป็นวิสังขารทันที วิสังขารจิต มันเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ จิตจึงไปเหนือสมมุติ ท่านจึงบัญญัติคำสมมุติขึ้นใหม่ว่า บรมสุข เช่นบทบาลีว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง หรือที่มาในคาถาปฐมพุทธอุทานว่า “วิสังขารคตัง จิตตัง ตัณหานัง ขยะมัชฌคา” แปลว่า จิตของเราได้ถึงแล้วซึ่งสภาพอะไรปรุงแต่งไม่ได้ (คือถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา คือถึงนิพพาน)

สังสารวัฏเกิดดับสลับกับนิพพาน

วิสังขารจิต หมายถึงความรู้สึกระลึกได้ เห็นตัวเองชัดเจน แต่เมื่อหลงคิดปรุงแต่ง สังขารจิตก็เกิดใหม่ได้อีก ดังนั้น สังสารวัฏกับนิพพาน จึงเกิดดับสลับปรับเปลี่ยนกันไปเรื่อยๆ เช่นนี้ไม่ขาดสาย สังขารจิตเกิดทุกข์ก็เกิด นิพพานจิตเกิดทุกข์ก็ดับเท่านั้นเอง แต่เนื่องจากเรายังไม่เข้าใจเรื่องสังขาร และวิสังขารอย่างแจ่มแจ้ง เราก็ยังงุนงงสงสัยเป็นธรรมดา

 

อารมณ์รูปนาม

คือประตูสู่ปัจจุบัน

ในเบื้องต้น ให้เรียนรู้การการเจริญสติ จนเห็นรูปนามให้ชัดๆ เพื่อให้หายสงสัยรูปนามในระดับที่เราสามารถพิสูจน์เห็นเองได้เสียก่อน ถ้าไม่สงสัยในความรู้สึกตัวเมื่อใด สติแบบนั้นก็เป็นสติในรูปนามแน่นอน เป็นประตูให้จิตกลับมาเข้าสู่กระแสของความรู้สึกตัวในปัจจุบันได้เร็วขึ้น
เบื้องต้นอาจจะเรียนรู้รูปนามแบบสัญญาไปก่อน ถ้าเราขยันรู้ตัวไปเรื่อยๆ ไม่ขี้เกียจหรือท้อถอยเบื่อหน่ายเสียก่อน ก็มีโอกาสประจักษ์แจ้งรู้รูปนามด้วยตนเองก็ไม่ยากเลย

 

รูปนามแบบสัญญา รู้ทันกายแต่ไม่ทันจิต

แต่ถ้ายังสงสัยอยู่ ก็เพียรทนทำ และทำทนไปเรื่อยๆ รูปนามที่จำโดยสัญญา มันก็มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ เพราะความเร็วของสติในระดับสัญญา มันอาจยังไม่รู้เท่าทันจิต แต่สติในระดับนี้ สามารถรู้เท่าทันกายได้ ก็ควรพอใจแค่นี้ไปก่อน พอเพียรทำไปเรื่อยๆ สติในกายก็ค่อยพัฒนาสัญญาที่เคยติดในรูป ก็จะค่อยๆแปรสภาพเป็นปัญญาญาณมากขึ้น ยังจดจำเรื่องการเคี่ยวน้ำกะทิ ให้เป็นน้ำมันอยู่หรือเปล่า ถ้าเข้าใจรูปธรรมอันนั้น ก็จะเข้าใจความจริงเรื่องนี้ได้ไม่ยากอะไรเลย ประการสำคัญต้องทำความเพียรคือการเคี่ยวสติกับการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น เบื้องต้องอาศัยการรู้รูปนามแบบสัญญาจดจำอาการไปก่อน ถ้านักปฏิบัติคนไหนไม่ชัดเจนเห็นแจ้งอารมณ์รูปนามตั้งแต่ต้น การปฏิบัติแบบนี้ จะมีปัญหาไปตลอด เพราะรูปนามเป็นต้นตอ และพื้นฐานที่สำคัญสำหรับคนเริ่มต้นใหม่ในวิธีนี้

 

รูปนามแบบปัญญา พาให้เกิดปีติ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า รูปนามแบบไหนเป็นสัญญา แบบไหนเป็นปัญญา ข้อสังเกตง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าช่วงใดที่ทำความเพียรแบบต่อเนื่อง ครั้งละหลายชั่วโมง จังหวะใดจังหวะหนึ่ง มันเกิดความรู้สึกโล่ง โปร่ง เบาสบาย จนน้ำหูน้ำตาไหลอย่างหาสาเหตุไม่ได้ หรือเกิดความคิดย้อนหวนทวนกลับไปในอดีต ที่เราจำไม่ได้แล้ว ไม่ว่าสมัยไหนก็ตาม ภาพอดีตนั้นมันชัดเจนเป็นพิเศษ เสมือนเราดูทีวีชนิดที่สว่างติดตาจนจำเหตุการณ์อันนั้นได้ไม่เคยลืม และเกิดอาการปีตีอย่างรุนแรงขึ้นกับตัวเองแล้วหลังจากนั้น ก็เกิดมโนธรรมสำนึกอะไรบางอย่างขึ้นชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เช่นเห็นอดีตชาติของตนเอง ที่เราเคยทำกรรมอะไรแบบชั่วๆมาก่อน มันจะประกฎให้เห็นชัดเจน จนเราไม่กล้าทำมันอีกต่อไป นี้คือสัญญาณหนึ่งของการรู้รูปนามแบบปัญญาญาณ หลังจากนั้น มันโปร่งมันเบาสบาย เสมือนเราได้กินยาดีแล้วหายป่วยนั้นแหละ อาการนี้ เรียกว่าเกิดปีติเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่สุด ก่อนที่อารมณ์ปฏิบัติ จะดำเนินมาถึงจุดนี้ การปรารภความเพียรแบบต่อเนื่อง เป็นองค์ประที่สำคัญ เรียกว่า จิตของผู้ปฏิบัติได้ดำเนินตามหลักของสติปัฏฐานสี่อย่างถูกต้อง องค์ธรรมตัวอื่นๆก็เกิดขึ้นเองตามลำดับ

 

ระวังหลุมพราง ธรรมวิจารณ์

ในช่วงเชื่อมต่อ หลังจากอาการปีตีแบบนี้เกิดขึ้น ต้องระวังตัวอุปสรรคขั้นต่อมาอย่างมาก เพราะนักปฏิบัติใหม่มักจะมาสะดุดหยุดความก้าวหน้าลงตรงนี้ เพราะขาดประสบการณ์ นั้นคือจิตจะวิ่งไปสู่อารมณ์การปรุงแต่งธรรมะ ที่เรียกว่า ธัมมะวิตก ธรรมวิจารณ์ หรือธัมมะสัญญา และธัมมะตัณหา อารมณ์แบบนี้ จะชักจูงให้เรารู้สึกสนุกไปกับความคิดปรุงแต่งในธรรมารมณ์ จะทำให้ลืมตัวรู้สึกที่ชัดเจน โดยเฉพาะ นักปฏิบัติที่เคยปฏิบัติทำสมถะมานาน จิตจะตกไปสู่หลุมพรางเดิมๆ คือหลงไปพิจารณา หรือนึกคิดตรึงตรองในอารมณ์ไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตติดแช่อยู่ในอารมณ์ธรรมวิจารณ์ เราก็หลงไปว่าเป็นธัมมวิจัย

 

ธัมมวิจัย ไม่เข้าไปในอารมณ์

ธัมมวิจัยนั้น ต่างจากธรรมวิจารณ์อย่างยากที่จะแยกกันชัดเจน แต่ก็มีข้อสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าอารมณ์ธัมมวิจัยเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นการตามรู้เฉยๆ ชัดๆ ในรูปนามมันจะตามมา มันทำหน้าที่รู้ไตรลักษณ์เหมือนกันกับธรรมวิจารณ์ แต่จิตมันไม่ได้เข้าไปในอารมณ์นั้นๆ แต่จิตทำหน้าที่เป็นผู้รู้เฉยๆ เท่านั้น มันไม่เข้าไปเป็นอารมณ์ที่กำลังปรุงแต่ง และจิตจะกลับมาตั้งอยู่กับรูปนามอย่างแนบสนิทแบบไม่ลังเลสงสัย ซึ่งตรงข้ามกับอารมณ์ที่เป็นธรรมวิจารณ์ มักจะหลุดจากรูปนามบ่อยๆ ถึงได้สติกลับมา สติก็อยู่กับรูปนามแบบหลวมๆ และไม่แนบสนิท เพราะไปติดสนุกกับการปรุงแต่งในปุญญาภิสังขารหรือธรรมมาภิสังขารนั่นเอง นี่คือข้อสังเกต แล้วท่านเป็นแบบไหน ให้สังเกตตามนี้ก็แล้วกัน

 

ธัมมวิจัย มีที่มาจากสติสัมโพชฌงค์

ธัมมวิจัยเป็นองค์ธรรมสำคัญลำดับที่ ๒ รองจากสติสัมโภชฌงค์ ที่ว่าต่างจากธรรมวิจารณ์ตรงกันข้ามก็คือว่า ธรรมวิจารณ์ (จิตปรุงแต่งในปุญญาภิสังขาร) เป็นเหตุเกิดทุกข์หรือเป็นสมุทัยสัจ แต่ธัมมวิจัย (สติตามรู้จิตกำลังปรุงแต่ง) เป็นเหตุดับทุกข์หรือเป็นนิโรธสัจ แต่นักปฏิบัติที่มีอินทรีย์ยังอ่อนหรือคนใหม่ จะตามรู้ธรรมวิจารณ์ได้ยาก ต้องอาศัยการฝึกฝนมากๆ และเกิดประสบการณ์ในอาการเช่นนี้บ่อยๆ สติจึงเข้มแข็งขึ้นเอง แต่สำหรับคนมีอินทรีย์เข้มแข็ง จะมีความแยบคายมากกว่า และตามรู้ ตามดูอาการของเวทนาที่เกิดขึ้นในอิริยาบถต่างๆ ทีละนิดๆ ด้วยสติปัญญา จนชำนิชำนาญ เพราะสติที่เป็นองค์ของสัมโพชฌงค์นั้น จะเฝ้าติดตามดูความเข้มข้นของทุกขเวทนา ที่คอยบีบคั้นกายและจิตอยู่ตลอดเวลาเรียกว่า ธัมมวิจยะ คนที่มีประสบการณ์สูงจะมีความแยบคายมากกว่า บางคนแยบคายน้อยก็ต้องใช้เวลาหน่อย

 

สติ มีที่มาจากการเคลื่อนไหวมือ

เพราะฉะนั้น การสร้างจังหวะมือจึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติได้ง่าย ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็ปรากฏชัดได้ง่าย แต่นักปฏิบัติใหม่บางคนชอบอิดเอื้อน ต่อรองกับการสร้างจังหวะ ก็ขอบกว่า ก้าวหน้าได้ยากในวิธีการนี้ อย่างไรๆ ก็ทนทำ ทำทนไปก่อน อย่าไปคิดเอาเหตุเอาผลอะไรมากนักกับสูตรสำเร็จ เพราะสูตรสำเร็จก็บอกแล้วว่า มันอยู่นอกเหตุเหนือผลไงละ?

บางคนบอกว่า ทำจังหวะมือไปนานๆแล้ว เกิดอาการง่วงเหงาค่อนข้างไวมาก และรุนแรงหนักหน่วงเสียด้วย นั้นมันเป็นสัญญาณที่ดีว่า เราปฏิบัติถูกทางแล้ว ถ้าผิดทางมันจะไม่ยอมง่วงเอาเลย เราต้องค้นหาสาเหตุให้ได้ แล้วแก้ไขมันไปหลายๆรูปแบบ อย่ายอมง่วงไปตามมัน และขณะเดียวกัน ก็ไม่เลิกละความพยายามแก้ไข จนมันหายง่วงให้ได้ ถ้าเราไม่คิดต่อสู้ และแก้ไขให้ตก มันก็เข้าทางของมารที่มันตามราวีเราจนถึงที่สุด โดยเฉพาะวิธีมารรบกวนเยอะมาก เพราะเป็นทางพุทธะที่แท้ไงละ?

 

ความง่วงมีที่มา ต้องหาให้เจอ

การแก้ไขความง่วง มิใช่แก้ครั้งเดียวจบ ต้องขยันแก้ไปเรื่อยๆ จนมันยอมแพ้เรา หรือถ้ามันง่วงแบบเรื้อรังจริงๆ ต้องหันมาดูสาเหตุอย่างจริงจังว่ามันเกิดจากอะไรกันแน่ในสาเหตุเหล่านี้

๑. ขณะปฏิบัติ เราเผลอหลับตาบ่อยๆหรือเปล่า เพราะความเคยชินที่ติดอารมณ์สมถะ

๒. เราอาจจะตื่นเช้าเกินไปหรือเปล่า? เพราะนักที่ได้อารมณ์ใหม่ๆ นอนหลับกลางคืนไม่ค่อยสนิท เพราะปีติเกิดบ่อยๆ และนาน

๓. อาจมีโรคประจำตัวบางอย่างที่ต้องใช้ยาช่วยระงับ หรืออาจจะรับประทานรักษาโรคบางอย่าง แล้วมีผลต่อการกดระบบประสาม ทำให้ง่วง

๔. เมาอาหาร หรือทานอาหารบางอย่างที่ ย่อยยาก เช่นข้าวเหนียวเป็นต้น

๕. หลังทานอาหารใหม่ๆ อย่าเพิ่งนั่งปฏิบัติ ให้เดินจงกรมจนกว่าอาหารจะย่อยหมด ค่อยนั่งสร้างจังหวะมือ

ให้ค้นหาสาเหตุให้พบ แล้วพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นอยู่เสมอ ก็จะแก้นิวรณ์ได้โดยไม่ยากเลย

 

จิตเดิมแท้เหมือนจิตของเด็ก

จิตเดิมแท้ของเราทุกคน มันไม่มีนิวรณ์ใดๆ ครอบงำมาก่อน มันใสสะอาดบริสุทธิ์ เหมือนจิตของเด็ก เรียกว่าประภัสสรจิต ตามที่ท่านกล่าวไว้ในบทบาลีว่า “ปภัสระมิทัง จิตตัง อาคันตุเกเสหิ อุปกิลิตถัง” จิตเดิมแท้ มันผ่องใสสะอาด เมื่อถูกความคิดปรุงแต่งเข้ามารบกวนแล้ว จิตนั้นจึงเศร้าหมองไป จิตเดิมแท้ มันดำรงอยู่ก่อนหน้านี้ ทุกคนมีสภาพจิตอย่างนี้เสมอเหมือนกัน แต่คนที่รู้จักจิตแบบนนี้ดีแล้ว ย่อมหาวิธีดำรงจิตแบบนี้ไว้ได้นานกว่าคนที่ไม่รู้ และคนที่รู้จิตนี้ ก็คือผู้ที่ได้ผ่านการปฏิบัติภาวนามาแล้วเท่านั้น คนที่รู้จักทำวิปัสสนา ย่อมรักษาจิตชนิดนี้ได้ดีกว่าคนรู้เพียงสมถะภาวนา และสามารถพัฒนาให้ดำรงอยู่ได้ยาวนาน และสามารถนำจิตแบบนี้มาประยุกต์ใช้งานให้เกิดประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างกว้างขวาง และมีประสิทธิภาพมากกว่าคนธรรมดาหลายเท่าทีเดียว

 

กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ ช่วยค้นหาจิตเดิมแท้

การพัฒนาจิตเดิมแท้ให้เติบโต ต้องอาศัยกัลยาณมิตรผู้รู้จริง คอยช่วยแนะนำเท่านั้น จึงจะเกิดได้ องค์ประกอบที่จะทำให้สมบูรณ์ต้องประกอบด้วยหลัก ๒ ประการคือ

๑.กัลยาณมิตรได้แก่ครูบาอาจารย์ หรือเพื่อนปฏิบัติ ที่มีประสบการณ์มาก่อนเรา ช่วยชี้นำเราได้

๒.โยนิโสมนสิการ คือการใช้สติปัญญาของเราเอง ถ้าครูบาอาจารย์กัลยาณมิตร บอกวิธีการถูกหมดทุกอย่าง แต่ถ้าสติปัญญาของเรายังไม่ได้รับการฝึกฝนให้ถูกต้อง ก็หลงทางทำถูกบ้างผิดบ้าง ผลการปฏิบัติ ก็ล่าช้าไปเรื่อยๆ

 

ปัญญา ๓

เราต้องมีความเพียรขยันพัฒนาสติปัญญาที่เป็นโลกุตระ เพราะปัญญาระดับนี้สามารถพัฒนาไปได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งต่างกับสติปัญญาทางโลก หรือโลกียปัญญา คือต้องอาศัยขอบข่ายหลายประการ เช่น

๑.สชาติกปัญญาคือ ปัญญาที่ได้รับถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษ ติดตัวมาแต่กำเนิดหรือปัญญาที่มากับกรรมพันธุ์

๒.ปริหาริกปัญญา คือนำปัญญาที่ได้รับมาพัฒนาบริหารด้วยระบบทางการศึกษาระดับต่างๆ เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สุตมะยะปัญญา และจินตามะยะปัญญา

๓. นิระปะกะปัญญา คือปัญญาที่เกิดจากการภาวนา เรียกอีกอย่างว่า ภาวนามะยะปัญญา เป็นปัญญา ที่ทำให้เกิดโลกุตตรธรรมได้ง่าย ซึ่งอาศัยการพัฒนาจิตตามหลักของอริยมรรค ๘ โดยเฉพาะ

การเจริญสติปัฏฐานสี่แบบเคลื่อนไหวเป็นเส้นทางที่ลัดและตรง โดยไม่ต้องไปเสียเวลาเรียนหลักปริยัติให้ครบถ้วนก่อน เพียงแต่ศึกษาจากกัลยาณมิตรผู้รู้จริงมาบอกแล้วทำตาม ก็ปฏิบัติได้เลยไม่ผิดพลาด แต่ผู้ที่มีหลักปริยัติมากเสียอีก ที่ทำให้เนิ่นช้า เสียเวลา เพราะมัวแต่จะสงสัยในสิ่งที่ตนเองได้เล่าเรียนมา คิดถึงแต่เรื่องถูกกับผิดเรื่อยไป หรือคิดคำนวณถึงแต่เรื่องเหตุกับผลอย่างไม่รู้จักปล่อยวาง เป็นความรู้ที่แบบเคลือบแคลงสงสัยตลอดเวลา ไม่อาจจะทุ่มเทอย่างจริงจังได้

 

มีกัลยาณมิตรที่แท้จริง ต้องไม่ทิ้งโยนิโสมนสิการ

อาศัยกัลยาณมิตร จะช่วยให้เราเดินทางลัดได้อย่างปลอดภัย แต่เบื้องต้น เราพิสูจน์กัลยาณมิตรให้ถูกต้อง ให้เข้าใจชัดเจนก่อน หลักง่ายๆ ก็คือกัลยาณมิตรที่แท้จริงนั้น จะสามารถตอบข้อสงสัยที่เราชักถามได้ทุกอย่าง เกี่ยวกับการดับเหตุแห่งทุกข์ในทุกๆ ประเด็น และเป็นแบบอย่างที่ดีงามและถูกต้องให้เราได้เสมอ และที่สำคัญกัลยาณมิตรที่ถูกต้อง มักจะชี้นำให้เราได้พบกับกัลยาณสหายอีกมากมาย ไม่จำกัดขอบเขตในการแสวงหาความรู้และประสบการณ์ที่ถูกต้อง และจะนำเราไปพบกับกัลยาณสัมปะวังกะตา คือได้พบกับสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อความก้าวหน้าในการภาวนา

องค์ประกอบที่ ๒ คือโยนิโสมนสิการ ได้แก่ความแยบคาย ตรงนี้เราจะต้องลงมือพิสูจน์ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญาของตนเอง จนกว่าจะเข้าใจรูปนามให้ชัดตามความจริง ผลของการได้พบกับกัลยาณมิตรที่ถูกต้องนั้น จะต้องทำให้เราเกิดแรงจูงใจอย่างสูงที่จะทำตามองค์คุณของการภาวนาทั้งห้าประการนี้จนประสบผลสำเร็จระดับใดระดับหนึ่งจนได้

 

โยนิโสมนสิการผู้รู้จริง

โยนิโสมนสิการ มิใช่เรื่องต้องอาศัยคำอธิบายจากผู้อื่น แต่เป็นเรื่องที่ต้องลงมือทำด้วยตนเอง ผลจะออกมาอย่างไรนั้น เป็นเครื่องพิสูจน์ระดับสติปัญญาของเราเอง เราจะไปโทษกัลยาณมิตรทั้งหมดไม่ได้ สติปัญญาของเราเองต้องเป็นองค์ประกอบสำคัญไม่แพ้กับหลักของกัลยาณมิตร เชิญท่านผู้กล้าหาญหาทางพิสูจน์กันต่อไป เพราะสิ่งที่ดีที่สุด มิใช่เกิดขึ้นง่ายๆ ต้องอาศัยความเพียรที่จริงจัง ตั้งใจ ต่อเนื่อง และถูกต้องเท่านั้น จึงจะประสบผลสำเร็จที่สมบูรณและครบถ้วนได้ ขอให้ทุกท่านผู้แสวงหาธรรมด้วยใจที่บริสุทธิ์ จงประสบผลสำเร็จด้วยเทอญ.