เริ่มต้นด้วยความเข้าใจ ตอนที่ ๓

พระพุทธเจ้าก็คือคนทุกคน

พืชพันธุ์ที่จะทำให้คนเป็นพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่แล้วในคนทุกคนไม่ยกเว้น ไม่ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม พระธรรมนั้นมีอยู่ก่อนแล้ว เมื่อเห็นสิ่งนี้อย่างแท้จริง เราจะอยู่เหนือความเชื่อที่งมงายทั้งหลาย ตัวเราเท่านั้นที่จะนำชีวิตของเราเอง มิใช่ใดอื่น

นี้คือจุดเริ่มต้นของความสิ้นสุดแห่งทุกข์ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนอะไรเลย เพราะมันมีอยู่แล้วทั้งนั้น ขอเพียงว่าให้เรารู้สึกตัวเท่านั้นเอง ความรู้สึกตัวก็มีอยู่แล้ว แท้จริงแล้วนั้น กิเลสมิได้มีอยู่จริง แล้วเราจะไปชนะมันได้อย่างไร สิ่งที่เราต้องทำเพียงอย่างเดียวคือ เราเพียงแต่ดูจิตใจโดยชัดเจน เผชิญหน้ากับความคิดโดยแจ่มชัด เมื่อเราเห็นใจอย่างชัดเจน โมหะก็จะไม่มีอยู่

ธรรมะคือมนุษย์ เมื่อเรารู้ธรรมะ เราก็จะเข้าใจว่า ทุกๆสิ่งนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ทุกๆสิ่งคือสมมุติ นี้คือปัญญาที่เกิดขึ้น

 

ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น

ความรู้สึกตัวเป็นรากเหง้าของบุญ ความไม่รู้เป็นรากเหง้าของบาป การแสวงหาพระพุทธเจ้าก็ตาม แสวงหาพระอรหันต์ก็ตาม แสวงหามรรคผลนิพพานก็ตาม อย่าไปแสวงหาที่ๆมันไม่มี แสวงหาตัวเรานี้ ให้เราทำความรู้สึกตื่นตัวอยู่เสมอ นี่แหละ จะรู้จะเห็น

ความสงบที่แท้จริงจะเกิดขึ้นต่อเมื่อ เราหยุดการแสวงหา ต่อเมื่อเราไม่ต้องวิ่งหาบุคคลอื่นนั้นเรียกว่า ความสงบ ความสงบมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องทำขึ้น เป็นความสงบจาก โทสะ โมหะ โลภะ เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นแก่เรา สติจะมาทันที เนื่องจากสติ สมาธิ ปัญญา อยู่ที่นั่นแล้ว โทสะ โมหะ โลภะ จึงไม่มี ถ้าบุคคลใดไม่เจริญสติ ไม่ได้ทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้น บุคคลนั้นจะไม่มีมัน ทั้งๆที่มันมีอยู่ที่นั่นแล้ว

เพียงแต่เคลื่อนไหวทีละครั้งและรู้ เมื่อเธอไม่รู้ปล่อยมันไป เมื่อรู้ปล่อยมันไป บางครั้งเธอรู้ บางครั้งเธอไม่รู้ มันเป็นเช่นนั้น แต่ให้รู้ การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย คือการเจริญสติ สมาธิคือการตั้งใจ ใช้สติดูจิตใจ ไม่ว่าความคิดอะไรเกิดขึ้น เห็นมันทันที และเราจะรู้ถึงความหลอกลวง รู้ทันเวลา รู้การป้องกัน และรู้การแก้ไข รู้ถึงการเอาชนะความคิดปรุงแต่ง ศีลจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง ไม่ใช่คนดอกที่รักษาศีล แต่ศีลต่างหากที่รักษาคน

 

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้ เราเน้นความรู้สึกตัวทั้งกายและจิตไปพร้อมกัน ไม่เน้นหนักไปทางใดทางหนึ่งมากเกินไป แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกสบายหรือไม่สบาย ก็ให้ตามดูตามรู้แบบสบายๆ ไม่ละเลยการเฝ้าดู เมื่อทุกขเวทนาทางกายเพิ่มมากขึ้น เราพอทนได้ระดับหนึ่งเท่านั้น อย่าฝืนหรือเพ่ง เพราะจิตอาจวิ่งเข้าหาความสงบ แล้วเสพความสงบจนลืมความไม่สบายทางกาย และไม่ต้องการบำบัด จนเรียกว่า เบียดเบียนกาย แต่หลบไปเสพสมาธิภายใน แต่บางครั้งตรงกันข้าม บำบัดกายจนสบายแล้ว จิตเกิดสงบเข้าไปเสพความสงบทางจิตต่ออีก
ดั้งนั้น นักภาวนาเราจะวิ่งกลับไปกลับมาอยู่แค่ ๒ อารมณ์นี้เท่านั้น เรียกว่า นันทิราคะ คือเพลิน จมอยู่ได้ทั้งในเวทนาที่สบายและไม่สบาย แต่ทางที่ถูก เราควรเฝ้าดูการเปลี่ยนแปลงของกาย และดูความแปรปรวนของความปรุงแต่งของจิต ที่เปลี่ยนเป็นสุขบ้างทุกข์บ้างตลอดเวลา หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง ซึ่งถ้าเรามัวเพลินในสุขในทุกข์ที่เป็นผลของความแปรปรวนทางเวทนา เราก็ไม่พบทางสายกลางของอารมณ์บ่อยๆ วิปัสสนาปัญญาก็ไม่เกิดหรือไม่เข้มแข็ง ก็ยังเป็นสมถะอยู่ดี ดังนั้น ให้เริ่มตามรู้รูปนามให้ชัดไว้เสมอ อย่ายุ่งกับความสงบหรือไม่สงบมากนัก แต่ให้เห็นเหตุของมันเสมอ เห็นจนชำนาญ แล้ววิปัสสนาญาณจึงมีโอกาสพัฒนาได้ เท่านี้คงเข้าใจนะ

 

อัตตา หิ อัตตโน นาโถ

คำว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” ยิ่งมีความหมายมากขึ้น เมื่อเราเข้าถึงธรรม ที่ไหนก็ตามที่ทำให้เรารู้สึกถึงความก้าวหน้า เราต้องไปที่นั้นบ่อยๆ เพื่อเราจะได้เข้มแข็งอย่างรวดเร็ว เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเข้มแข็งในทางธรรมที่ถูกต้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับอาตมา เพราะเราเคยเดินทางพลาดมานาน ต่อไปเราน่าจะไม่พลาดอีก เพราะเวลาเดินทางเราเหลือน้อย คงต้องเร่งตรวจสอบตัวเอง อย่างเข้มงวดมากทีเดียว แต่ส่วนหนึ่งที่กำลังตวจสอบตัวเองนั้น มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑.เมื่อความเจ็บและความตายมาถึงเร็วอย่างไม่คาดคิด เราพร้อมหรือยังที่จะน้อมรับมัน?

๒. เมื่อเราต้องถูกโดดเดี่ยว และพลัดพราก จะสามารถยืนยิ้มรับกับความไม่มีอะไรเหลือไว้เลยได้หรือไม่?

๓. ยังฝักใฝ่และหวั่นไหวต่อโลกธรรม ๘ อยู่หรือไม่?

๔. เห็นเส้นทางแห่งมรรคและผลปรากฏอยู่เฉพาะหน้าชัดเจนตลอดเวลาหรือไม่?

๕. อาสวัฏฐานียธรรมยังหลงเหลืออยู่ในสันดานของตนมากน้อยเพียงใด?

นี่คือสัญญาใจที่หลวงพ่อกำลังตรวจสอบตนเองอยู่อย่างเข้มงวดและระมัดระวัง ถ้าลูกคนไหนยังรักพระพุทธเจ้าจริงใจแท้แล้ว
คงไม่ละเลยต่อการตรวจสอบตัวเองอย่างหลวงพ่อเช่นกัน ขอให้มีความสุขในการตรวจสอบตัวเอง