รายงานคอร์สโพธิปัญญา ณ ครุสติสถาน ๑๑-๑๗ มีนา ๕๙

 

 

 

 

 

คอร์สโพธิปัญญา (๑)

 

หลวงพ่อมักปรารภอยู่เสมอว่า
ผู้ปฏิบัติแต่ละท่าน
ต่างละทิ้งหน้าที่การงาน
เดินทางไกลมาจากทั่วทุกสารทิศ
เพื่อมาแสวงหาทางพ้นทุกข์
ท่านจึงทุ่มเทการสอนอย่างเต็มที่

โดยปกติแล้วคอร์สหลวงพ่อ
จะจำกัดจำนวนผู้ปฏิบัติไม่ให้มาก
เปรียบได้กับกรุ๊ปทัวร์
ระดับ VIP individual
เพื่อการดูแลเอาใจใส่
อย่างใกล้ชิดและทั่วถึง

ครุสติสถาน
เป็นสถานที่ไม่ใหญ่โตจนเกินไป
ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย
แนวซุ้มต้นไทรเรียงรายเขียวขจี
เป็นระเบียบเรียบร้อย
แสดงถึงความพากเพียรเอาใจใส่
ดูแลรักษาเป็นอย่างดี

ศาลาปฏิบัติธรรมลมพัดเย็นสบาย
ในบรรยากาศบ้านสวนริมคลอง
ห้องพักส่วนตัวพร้อมห้องน้ำ
ความหรูหราที่เรียบง่าย
ความทันสมัยที่ไร้กาลเวลา
ความงดงามที่ไร้การปรุงแต่ง

เพียงพอแค่หล่อเลี้ยง
ความรู้สึกตัวให้เบิกบาน
ปราศจากความงามส่วนเกิน
ที่จะต่อเติมความคิดฟุ้งซ่าน
และความเพลิดเพลินให้พอกพูน

ดุจผลงานของสถาปนิก
ผู้รู้จักปล่อยวาง
อย่างสูงสุดสู่สามัญ
เพื่อรองรับอารมณ์มหาสติ
อันบังเกิดขึ้นที่นี่เนืองๆ

กัลยาณมิตร พร้อม
สถานที่สัปปายะ พร้อม
แม่ครัวผู้ชาญฉลาด พร้อม
ส่วนที่เหลือคือตัวผู้ปฏิบัติเอง

 

คอร์สโพธิปัญญา (๒)

 
ผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่
ล้วนมีประสบการณ์
เคลื่อนไหวสร้างจังหวะมาแล้ว
จากวัดและสถานปฏิบัติธรรมอื่นๆ
ในสายงานหลวงพ่อเทียน
 
หลายท่านคุ้นหน้าคุ้นตาเป็นอย่างดี
จำได้ว่าเป็นผู้ปฏิบัติแถวหน้า
ที่ติดตามการสอนของหลวงพ่อ
ณ หอจดหมายเหตุทุกครั้งที่ผ่านมา
และเพิ่งจะได้มาเก็บอารมณ์
กับท่านเป็นครั้งแรกที่นี่
 
คุณเพ็ด มานพน้อยชาวสวน
พร้อมกระเป๋าแบ็คแพ็คใบใหญ่
ดั้นด้นเดินทางมาจากจันทบุรี
บทพิสูจน์ศรัทธาอันเปี่ยมล้น
เขายืนรออยู่บนบันไดขั้นแรก
ขององค์ธรรมพละห้าเรียบร้อยแล้ว
 
คุณละม่อม สาวน้อยจากปราจีนบุรี
คุณแจ็ค หนุ่มหล่อจากอังกฤษ
คุณลุงประจวบ พร้อมครอบครัวหรรษา
และผู้ปฏิบัติอื่นๆ รวม ๓๐ รูปนาม
ต่างพกพาทุนเดิมคือพลังงานศรัทธา
ที่ไม่น้อยหน้าไปกว่ากัน
เริ่มต้นแปลงเป็นพลังงานวิริยะ
อย่างไม่รอช้า เพราะเวลามีจำกัด
 
คอร์สนี้ต่างจากคอร์สอื่นๆ ที่ผ่านมา
แทนที่หลวงพ่อจะสอบอารมณ์
ในวันสุดท้ายก่อนกลับบ้าน
 
ท่านให้ผู้ปฏิบัติรายงานอารมณ์
ตั้งแต่เย็นวันแรก
และรายงานอีกเป็นระยะๆ วันเว้นวัน
เพื่อให้ผู้ที่กำลังหลงทาง
ได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนกลยุทธ
ทันท่วงที

คอร์สโพธิปัญญา (๓)

 

วิธีการนี้ไม่ได้ห้ามความคิด
และไม่ได้ให้หลับตา
ผู้ปฏิบัติมีอิสระอย่างเต็มที่
ในการเลือกทางเดินของตนเอง
ว่าจะนั่ง ยืน เดินจงกรม ตรงไหน
เพียงขอให้อยู่ในสายตาหลวงพ่อ
ผู้เป็นเหมือนช่างซ่อมคน

บางคนก็แอบใช้สิทธิ์ในการคิด
จนเกินโควต้า
บางคนก็นอนหลับทับสิทธิ์
คิดอะไรไม่ออก
เพราะความง่วงเข้าครอบงำ

ทุกคนต่างตั้งใจปฏิบัติ
ไม่มีใครบังคับ
ไม่ได้ทำเพื่อแลกเกรด
ไม่มีสิ่งตอบแทนเป็นเงินทอง
ของมีค่าใดๆ

การลืมตาปฏิบัติ
ทำให้เห็นความเป็นไป
ของเพื่อนร่วมชะตากรรมได้เป็นอย่างดี

ต่างคนต่างทำ ไม่มีใครท้อถอย
เป็นกำลังใจซึ่งกันและกัน
ในทุกครั้งที่แอบชำเลืองมอง

แม้หลวงพ่อซึ่งไม่มีความจำเป็นใดๆ
ที่จะต้องสร้างจังหวะและเดินจงกรม
อีกต่อไป
แต่ท่านก็มาร่วมปฏิบัติทั้งวัน
เป็นขวัญและกำลังใจอย่างดีเลิศ

สายลมพัดเย็นสบายคล้ายแกล้ง
ให้ต้องมนต์เหมือนโดนเสียงปี่
เกิดความเบาที่หนักหน่วง
ความง่วงที่โหดร้าย
โจทย์ข้อแรกจากเสนามาร
ถ้าใครสอบผ่านก็จะได้เพิ่มปัญญา
เหมือนนักศึกษาได้เลื่อนชั้น

ความเพลินคือมารดา
ของความง่วง ความคิดฟุ้งซ่าน
และนิวรณ์ทุกชนิด
มันคือศัตรูที่แฝงมาในคราบมิตร
แต่เราไม่เคยเข็ด
และยอมให้มันหลอกอยู่เรื่อย

ด้วยเหตุนี้ ช่วงเช้าวันแรก
หลวงพ่อจึงได้มอบอาวุธคู่กาย
ไว้ฟาดฟันความเพลิน
อันบางเบาเหมือนปุยนุ่น
ให้ขาดกระจุยเป็นฝุ่นผงชั่วพริบตา

ด้วยการปรับเปลี่ยนอิริยาบถอยู่เสมอ
ขณะนั่งสร้างจังหวะ
เช่น คุกเข่า พับเพียบซ้าย-ขวา
ขัดสมาธิ ๓ ท่า ชันเข่า เหยียดขา ฯลฯ

เพียงแต่เราจะยอมตัดใจ
เงื้อมดาบกายสิทธิ์นี้
ฟาดฟันความเพลินอันน่ายินดี
ได้ลงคอหรือไม่

 

 

คอร์สโพธิปัญญา (๔)

 

เราทุกคนล้วนเป็นคนไข้
ของสังสารวัฏ

การเข้าเก็บอารมณ์
คือการมาเรียนรู้วิธีการ
ผ่าตัดจิตใจตัวเอง
ซึ่งตอนนี้หมอกับคนไข้
ยังเป็นคนเดียวกันอยู่

จนกว่าผู้รู้ ซึ่งเป็นหมอตัวจริง
จะแยกตัวเองออกมาจากจิต
หมอก็จะกลายเป็น
คนละคนกับคนไข้

ในช่วงเก็บอารมณ์
เราต้องเก็บโทรศัพท์ไว้กับแม่ครัว
ผู้เปรียบเหมือนนางพยาบาล
เพราะไม่มีคนไข้ผ่าตัดคนใด
ลูบไอโฟนในระหว่างผ่าตัด

และต้องสำรวมระวัง
การเคลื่อนไหวทุกชนิด
ให้เป็นไปอย่างรู้สึกตัว
ไม่ว่าจะอาบน้ำ ทานข้าว หยิบของ ฯลฯ
เพื่อป้องกันไม่ให้ไส้พุงทะลักออกมา

แต่ก่อนที่จะแยกตัวรู้ออกจากจิต
เราต้องแยกกายกับใจให้ได้ก่อน
เพราะถ้ารีบร้อนข้ามขั้นตอน
หมอผ่าตัดอาจลืมกรรไกร
ไว้ในท้องคนไข้ได้

ช่วงสองสามวันแรก
คนไข้อาจมีอาการสลึมสลือ
ง่วงเหงาหาวนอน
เนื่องจากวิสัญญีแพทย์
กำลังดมยาสลบอยู่
ซึ่งถ้ามากเกินไปอาจหลับไม่ตื่น

ในคอร์สนี้แม้จะมีความแตกต่าง
ของนักศึกษาหลายระดับ
เหมือนโรงเรียนในชนบทห่างไกล
ที่มีครูสอนเพียงคนเดียว
รวมทุกชั้นในห้องเรียนเดียวกัน

ด้วยความชำนาญ
ของสุดยอดปรมาจารย์
กัลยาณมิตรผู้รู้จริง
หลวงพ่อสามารถสอน
ให้ทุกคนเข้าใจได้ ในเวลาเดียวกัน
อย่างไม่รู้สึกเบื่อหน่าย

ผู้ปฏิบัติล้วนเป็นผู้มีปัญญา
เมื่อปฏิบัติได้อารมณ์
ก็สามารถซึมซับคำสอนของหลวงพ่อ
เข้าสู่จิตใต้สำนึกได้อย่างอัตโนมัติ

เป็นความเข้าใจที่ไม่ต้องใช้ความคิด
ซึ่งหลวงพ่อไม่ต้องการให้จดเลคเชอร์
เพราะท่านสอนแบบธัมมวิจัย
เป็นความเข้าใจในสภาวะปัจจุบัน
ถ้ามัวแต่จด ก็จะกลายเป็นธรรมวิจารณ์
ซึ่งเป็นเรื่องของอดีต อนาคต

ทุกเช้ามืด ตั้งแต่ที่ตีสาม ถึงตีห้า
ทุกคนมาปฏิบัติรวมกันที่ศาลา
หลวงพ่อให้อิสระในการตื่น

ท่านมักจะสอนเทคนิคใหม่ๆ
มาช่วยเสริมการสร้างจังหวะ ๑๔ จังหวะ
ให้มีพลังมากขึ้น

ในครั้งนี้ท่านสอน
เทคนิคการออกกำลังกายแบบทิเบต
และสมาธิบำบัด SKT
เพื่อช่วยในการปรับธาตุสี่
และสะสมออกซิเจนให้กับร่างกาย

ทั้งนี้ ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ
เมื่อมารวมตัวกัน ก็จะเกิดธาตุใหม่
คือ อากาศธาตุ และวิญญาณธาตุ

ซึ่งอากาศธาตุ ก็คือออกซิเจนนั่นเอง
จะเป็นเชื้อเพลิงให้ธาตุไฟ
ที่จะลุกโพลงขึ้นมา ขณะทำความเพียร
เพื่อเผาผลาญนิวรณ์ห้า
และสันดาปเป็นธาตุรู้ในที่สุด

สังเกตได้ว่าผู้ปฏิบัติ
มีความสดชื่น ตื่นตัว เป็นอย่างดี
ดังคำคมของผู้นำจีนที่ว่า
“แมวสีอะไรไม่สำคัญ
ขอให้มันจับหนูได้ก็พอ”

 

คอร์สโพธิปัญญา (๕)

Well begun is half done.
การเริ่มต้นที่ดี
คือการเทของเก่าทิ้งให้หมด
ให้มาอยู่กับความรู้สึก
หนัก เบา เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ตึง หย่อน ไหว นิ่ง ฯลฯ
ที่เปลี่ยนแปลงไปมาตลอดเวลา

หลวงพ่อเน้นการนั่งสร้างจังหวะ
และปรับเปลี่ยนท่านั่ง ๑๐ ท่า
เมื่อรู้สึกหนักเกินไป
เช่น พับเพียบซ้าย-ขวา ทับส้น
คุกเข่า ขัดสมาธิ เหยียดขา ฯลฯ

ให้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง
ของเวทนาสามระดับ
หยาบ กลาง ละเอียด
ก่อนที่จะเปลี่ยนท่านั่ง
ในระหว่างปรับเปลี่ยน
และหลังจากปรับเปลี่ยนแล้ว

เมื่อชำนาญก็จะเห็นไตรลักษณ์
ของเวทนาทางกาย
อันจะเป็นสะพานทอดไปสู่ใจ

นับเป็นบทเรียนแรก
แห่งการพิสูจน์ศรัทธา
ว่าจะใช่แฟนพันธุ์แท้
ของหลวงพ่อหรือไม่

เพราะการนั่งแช่
หรือเดินจงกรมนานๆ
จะก่อให้เกิดความเพลิน
อันเป็นที่มาของโมหะ
ราคะ และโทสะ

การเก็บอารมณ์ครั้งนี้
หลวงพ่อดูแลอย่างใกล้ชิด
เป็นไปแบบสบายๆ ผ่อนคลาย
อย่างจริงจัง ตั้งใจ และต่อเนื่อง
ไม่มีการบีบบังคับให้เคร่งเครียด
เพราะไม่ใช่สไตล์ท่านอยู่แล้ว

วิธีการสอนของหลวงพ่อ
เปรียบได้กับการสอน
ในระดับปริญญาเอก
ที่นักศึกษาต้องมีระเบียบวินัย
รับผิดชอบตัวเอง
คอยสังเกต ค้นคว้า วิจัย อยู่เสมอ

ช่วงสองสามวันแรกปฏิบัติรวมกัน
ที่ศาลาปฏิบัติธรรม ซึ่งมีสองชั้น
ชั้นล่างเป็นใต้ถุนลมพัดเย็นสบาย
ชั้นบนเป็นห้องโถงติดแอร์
บางส่วนแยกไปปฏิบัติที่ซุ้มไทร
เป็นบางเวลา และกลับมารวมกันที่ศาลา

ในช่วงบ่ายของวันที่สี่
เมื่อผู้ปฏิบัติเริ่มนิ่ง
และจัดการกับนิวรณ์ห้าได้บ้างแล้ว
หลวงพ่อจึงให้แยกเก็บอารมณ์
ในห้องพักส่วนตัว

การออกแบบห้องพัก
เตรียมการไว้แล้วอย่างดี
สำหรับการเก็บอารมณ์โดยเฉพาะ

ที่นอนยางพาราแท้ชนิดพับได้
เก็บคืนไว้ในตู้ไม้สักอัดแบบน็อคดาวน์
ที่สามารถบรรจุเสื้อผ้าและสิ่งของต่างๆ
ได้อย่างหมดจดราบคาบ
ไม่เหลืออะไรให้เกะกะสายตา

ประตูกระจกบานเลื่อนขนาดใหญ่
เปิดออกไปเป็นระเบียงและสนามหญ้า
ซึ่งเป็นทางที่หลวงพ่อใช้เดิน
มาสอบอารมณ์ตามห้องต่างๆ
แบบ Delivery
จึงยากต่อการแอบหลับ
เพราะไม่รู้ว่าหลวงพ่อจะมาเวลาใด

การอยู่คนเดียวในห้องเปล่าๆ
เป็นเวลาสี่ชั่วโมง
โดยไม่มีเครื่องมือสื่อสารใดๆ
ไม่ง่ายนักสำหรับคนเมือง

เหมือนแม่ไก่กำลังฟักไข่
ในบ้านพักตากอากาศริมคลอง
ท่ามกลางความเงียบสงบ
มีเพียงเสียงเรือหางยาว
ช่วยปลุกเร้าให้ตื่นจากภวังค์

อยู่คนเดียวระวังความคิด
อยู่กับมิตรระวังการพูดจา
บางครั้งในห้องที่ว่างเปล่า
กลับอัดแน่นไปด้วยความคิด
จากอดีตและอนาคต
แต่ปัจจุบันนั้นหายไป

ตกเย็นจึงได้ไปรวมกัน
ที่ศาลาเพื่อทำวัตรเย็น
ฟังธรรมและสอบอารมณ์
ดังเช่นทุกวัน

การเก็บอารมณ์ไม่ได้ดำเนินไป
แบบหน้าดำคร่ำเครียด
อย่างที่เราเคยได้ยินกันมา
ว่าต้องขังตัวเองอยู่ในห้องหลายวัน
มีคนคอยส่งข้าวส่งน้ำให้
ถ้าเปรียบเทียบการปรุงอาหาร
เหมือนกับการต้มจับฉ่าย
ที่ต้องเคี่ยวไฟนานๆ

แต่วิธีการของหลวงพ่อ
เป็นการเก็บอารมณ์แบบชาบู ช่าบู
ภาษาอีสานเรียกว่าจิ้มจุ่มแซ่บ
ภาคกลางเรียกว่าลวกจิ้ม

อาหารที่ได้จึง สด สุก ใหม่กว่า
คงคุณค่าอย่างครบถ้วน
และไม่เสี่ยงต่อการติดวิปัสสนู

นับเป็นขั้นตอนเพื่อการบรรลุธรรม
แบบปัญญาวิมุตติอย่างแท้จริง

 

คอร์สโพธิปัญญา (๖)

ช่วงเวลาเจ็ดวัน
แห่งการเจริญสติปัญญา
ผู้ปฏิบัติได้พากเพียร
ฝังชิปแห่งความรู้สึกตัว
ลงบนฝ่ามือทั้งสองข้าง
อย่างตั้งใจ

เพื่อการกลับคืนสู่โลกกว้าง
อย่างรู้สึกตัวทุกครั้ง
ที่เคลื่อนไหวมือ

เปรียบได้กับหนังสารคดี
National Geography
ที่มีการฝังชิปเล็กๆ
ไว้ที่หูหรือขาของสัตว์
ก่อนที่จะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
เพื่อติดตามการเคลื่อนไหว
และการใช้ชีวิตในป่าใหญ่

จะต่างกันตรงที่ว่า
เมื่อสัตว์กลับคืนสู่ป่า
มันก็ยังคงใช้ชีวิต
ตามสัญชาตญาณของมัน
อย่างที่เคยเป็นมา

แต่ผู้ปฏิบัติธรรม
เมื่อกลับคืนสู่บ้านเรือนและที่ทำงาน
หากได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง
ชิปที่มือก็จะแตกตัวเพิ่ม
มาที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
กลายเป็นความรู้สึกตัวทั่วพร้อม

นำมาใช้เปลี่ยนความรู้สึกตัว
แบบสัญชาตญาณ
ให้เป็นความรู้สึกตัว
แบบปัญญาญาณ
วันละเล็ก วันละน้อย
จนกว่าจะสมบูรณ์
ก็จะไม่ทุกข์อีกต่อไป

หลังการผ่าตัดจิตใจผ่านพ้นไปด้วยดี
เพื่อเป็นการเย็บบาดแผลให้ปิดสนิท
ช่วงเช้ามืดของวันสุดท้ายก่อนกลับบ้าน
หลวงพ่อให้ผู้ปฏิบัติแชร์ประสบการณ์
เล่าถึงการนำความรู้สึกตัวที่ได้
ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

คงไม่ได้เป็นการดราม่า
หลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่
เมื่อนึกถึงความเมตตาของหลวงพ่อ
และผลที่ตนเองได้รับ

ทุกสิ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย
ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญ
หลังอาหารเช้าเป็นช่วงเวลาสำคัญ
ที่ผู้ปฏิบัติจะได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า

ที่บริเวณสนามหญ้าเขียวขจีริมคลอง
ด้านข้างศาลาปฏิบัติธรรม
มีผู้ขุดหลุมขนาดย่อมเตรียมไว้
เพื่อรอประดิษฐานหน่อพระศรีมหาโพธิ์
ซึ่งดร.ประภาภ้ทร นิยม
ได้อัญเชิญมาจากประเทศอินเดีย
และจะได้ทำพิธีปลูกลงดิน
ในเช้าวันนี้

หลังรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว
หลวงพ่อจึงได้ให้ทุกคนมารวมกัน
ที่ด้านข้างศาลา บริเวณริมสนามนี้
เป็นครั้งแรกที่ได้ยินหลวงพ่อ
สวดคาถาชยันโตและพาหุง
เพราะปกติท่านจะพาสวดแต่สติปัฏฐานสี่

โดยมีคุณเพ็ด ผู้ปฏิบัติชาวสวนจากจันทบุรี
ซึ่งเป็นผู้มีความสำรวม
มีกิริยามารยาทที่งดงาม
มีความตั้งใจในการปฏิบัติสูง
และมีประสบการณ์ในการปลูกต้นไม้
ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้วาง
หน่อพระศรีมหาโพธิ์
ประดิษฐานลงดิน
ในระหว่างการสวดคาถาอันศักดิ์สิทธิ์

พิธีการผ่านพ้นไปด้วยความเรียบง่าย
และประทับใจอย่างคาดไม่ถึง
ว่าจะได้มีโอกาสเช่นนี้
อันเป็นสัญลักษณ์แสดงว่า
หน่อแห่งพุทธะได้บังเกิดขึ้นที่นี่แล้ว

หลวงพ่อได้กล่าวเตือนสติ
ให้เราขยันรดน้ำหน่อแห่งพุทธะนี้
เมื่อกลับไปบ้าน
ก็ให้ระวังความเคยชิน
อย่าให้มันมากัดกินยอดอ่อนไปเสียก่อน

คอร์สนี้จึงมีชื่อว่า
“คอร์สโพธิปัญญา”
ด้วยประการฉะนี้แล

 

แอดมิน

……………………………………………………..

รายงานการเจริญสติ คอร์สโพธิปัญญา
ดำเนินการสอนโดย Deva Nanda
(หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท,
พระพุทธยานันทภิกขุ)
ณ ครุสติสถาน ๑๑-๑๗ มีนาคม ๒๕๕๙

 

 

 

 

bo6 b04 bo1 bo2 bo3 bo5