รู้กายใจเพราะรู้เวทนา

การเคลื่อนไหวมีหลายระดับ

การเคลื่อนไหวทางกายที่เห็นด้วยตา
เป็นการเคลื่อนไหวแบบหยาบ
เช่น การเคลื่อนไหวของอิริยาบถหลักๆ
ยืน เดิน นั่ง นอน
และอริยาบถย่อยบางส่วน
เช่น การเคลื่อนไหวของอวัยวะส่วนต่างๆ
การพับตา อ้าปาก หายใจ เป็นต้น
การเคลื่อนไหวที่ไม่สามารถเห็นได้ด้วยตา
เป็นการเคลื่อนไหวแบบกลาง
เช่น การเคลื่อนไหวของทำงานในธาตุ ๔
คือการทำงานของธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
เช่น การย่อยอาหาร
การไหลเวียนของเลือดลม
การเต้นของชีพจร
การเต้นของหัวใจ เป็นต้น
เราเห็นไม่ได้ แต่รู้สึกได้
การทำงานของธาตุไฟและน้ำ
เช่น ความรู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
ด้วยอำนาจของ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
ดินทำให้ยืนได้
ลมทำให้เคลื่อนไหวได้
ไฟทำให้รู้สึกอุ่นได้
น้ำทำให้รู้สึกเย็นสบายได้
 
ความรู้สึกภายในกาย ขั้นละเอียด
เรียกว่าเวทนา
คือความรู้สึกทางกาย
คือความรู้สึกสบายและไม่สบาย
ส่วนใหญ่เรารู้สึกไม่สบาย
 
ความรู้สึกไม่สบาย คือรู้สึกทนได้ยาก
เป็นเวทนาขั้นหยาบ
ความสบายคือความรู้สึกที่ทนได้ง่าย
เป็นเวทนาขั้นกลาง
ความรู้สึกสบายหรือไม่สบายทางกาย
แต่ยังรู้สึกไม่ชัดว่าเป็นสุขหรือทุกข์
เรียกว่ารู้สึกเฉยๆ
เป็นเวทนาทางกายขั้นละเอียด
เพราะสัมผัสไม่ค่อยชัด
จึงเรียกว่า “อุเบกขาเวทนา”
การเจริญกายคตาสติ
ก็เพื่อมาตามรู้เวทนาทางกาย
ทั้งสามระดับนี้ด้วย

ถ้าเวทนาไม่ชัดก็ไปไม่รอด

เราควรศึกษาสังเกตเวทนาให้ชัดๆ
ก็จะโยงไปสู่นามรูป หรือจิตได้ง่าย
ด้วยการสังเกตความสบาย
ไม่สบายของกาย
มันเกิดขึ้น ดับไปอย่างไร
เพื่อเป็นแบบฝึกหัดโยงไปสู่จิต

การศึกษาอารมณ์ในนามรูปคือ
จิตที่มันมีอารมณ์
มันเริ่มต้นจากจุดไหน

เริ่มต้นจากที่เราไม่รู้เท่าทัน
เรียกว่าขาดสติหรืออวิชชา
จึงเกิดนามรูป
ซึ่งเป็นตัวสมุทัยในอริยสัจสี่

แม้ว่ารูปนามจะไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ก็ตาม
แม้ว่าความสบายกาย ความไม่สบายกาย
จะไม่เป็นสมุทัยให้เกิดทุกข์ก็ตาม

แต่การสังเกตความสบายกาย ไม่สบายกาย
ความคลุมเครือของกายให้ชัด
นามรูปก็จะกลายเป็นนาม

เห็นนาม เห็นความสบาย ไม่สบายของจิต
เห็นความพอใจ ไม่พอใจ
เห็นความรู้สึกของจิตได้ชัด

เมื่อเกิดความไม่รู้เท่าทัน
ขาดสติ เผลอ อวิชชาเกิดขึ้นเมื่อใด
อาการของนามรูปก็ปรากฎ
เกิดทุกข์ เกิดสุข
เป็นตัวสมุทัยในอริยสัจสี่ทันที

การศึกษาจะทิ้งอาการ
ที่ปรากฎทางกาย 3 ตัว นี้ไม่ได้
ต้องให้ชัดเจน หากไม่ชัดเจน
ปฏิบัติได้ก้าวสูงถึงขั้นปรมัตถ์ก็ไปไม่รอด
ก็ต้องกลับมาศึกษาใหม่

ดังที่หลายคน ที่รู้ไปไกลแล้ว
ก็ยังเอ๊ะ! ทำไมจึงเป็นอย่างนี้
ทำไมยังลังเลสงสัยอยู่

ก็เพราะไม่ชัดเจนในเวทนา 3 ตัว
ความสบาย ไม่สบาย เฉยๆ
ยังไม่ชัดนี่เอง

พระพุทธยานันทภิกขุ