รู้ซื่อๆ หรือ รู้ซื่อบื้อ

รู้ซื่อๆ หรือ รู้ซื่อบื้อ

ถาม:

รู้สักแบบแต่ว่า นี้คือเห็นเกิด-ดับภายในจิต หรือเปล่าค่ะ
เมื่อก่อนจะมีเสียงสั่งให้ทำนั้นทำนี้ ค่อยกำกับบท ให้พูดให้ทำ แต่เดี่ยวนี้เห็นเกิดแล้วดับลง
ยังงงๆ สักหน่อยว่า ต่อไปจะทำตามอะไร

ตอบ:

มันคงไม่ง่ายขนาดนั้นมังหนู?
รู้แบบสักแต่ว่ารู้ หรือรู้ซื่อๆ กับ
รู้สักแต่ว่ารู้ อีกแบบคือ รู้แบบซื่อบื้อ หรือรู้แบบไม่รู้

การเห็นเกิดดับ คือสติรู้เท่าทัน แล้วไม่ปรุงต่อ
คือเห็นเหตุของการเกิด ว่าเป็นทกข์ แล้วจึงไม่ปรุง

ถ้าเราเดินทางไกล ขณะเดินไปตามทาง

บังเอิญไป เห็นงูกำลังเลื้อยผ่านหน้า ข้ามทางไป

ถ้าเราเห็นงู โดยปกติ เราก็จะยืนดูจนมันเลื้อยผ่านไป

จนเห็นว่าปลอดภัย เราก็เดินทางต่อ

ถ้าจะย้อนถามตนเองว่า เห็นงูผ่านไปแล้ว จะไปไหนต่อ

ก็ตัวใครตัวมันละนะหนู?

ตัวรู้เหมือนไฟฉาย

ถาม:

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ ได้ดูคลิปรูป-นามของหลวงพ่อแล้ว มีคำถามเรื่องคำศัพท์นิดนึงค่ะ หลวงพ่ออธิบายว่า นามล้วนๆ คือตัวรู้ อยากถามว่า ตัวรู้อันนี้คือความหมายเดียวกันกับ จิตเดิมแท้ จิตหนึ่ง จิตประภัสสร ใช่มั๊ยค่ะ ในทางศัพท์ของพระป่าและเซนอ่ะค่ะ รวมทั้ง จิตคือพุทธะที่หลวงปู่ดูลย์ อธิบายใช่มั๊ยค่ะ ขอบคุณคะ

ตอบ:

เรื่องสมมติภาษาจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นอย่างยิ่งสำหรับนักภาวนาสมัยนี้. เพราะสมมติบัญญัติ ถูกนำมาใช้จนฟุ่มเฟือยและฟั่นเฝือเกินไปนะ แต่เมื่อไรเราเห็นความจริงขั้นปรมัตถ์เราจะหายสงสัยเรื่องสมมติบัญญัติทั้หมด

สิ่งที่เข้าใจได้ง่ายๆ แล้วกัน คำว่า ตัวรู้ มันมีสองรู้ รู้ทางกาย เรียกว่าเวทนา รู้ทางจิต เรียกว่า วิญญาณ แต่ตัวรู้ ที่เรียกว่าสติ เป็นตัวรู้เกิดจากเจตนา หรือตั้งใจ ตั้งใจก็มีสองแบบ คือตั้งใจถูกกับผิด ถ้าใจถูก ตัวรู้ก็ถูก ถ้าตั้งใจผิด ตัวรู้ก็ผิดด้วย ดังนั้น ศัพท์บัญญัติ ท่านจึงใช้คำว่า สัมมาสติ กับมิจฉาสติ หรือสัมมาสมาธิ และมิจฉาสมาธิ

ดังนี้น คำว่า ตัวรู้ จึงเป็นกลางๆ ส่วนจะถูกหรือผิด ก็ดูที่การใช้ ถ้าใช้ตัวรู้ กลับเข้ามาดู กาย ดูใจของตนเอง ที่เป็นปัจจุบัน ว่านี้คือ ก้อนรูป มิใช่เรา รู้แบบนี้เรียว่า สัมมาสติ คือรู้ถูก แต่ถ้า ตัวรู้ ไปรู้ข้างในรูปว่าเป็นเราเป็นของเรา ไปรู้รูปภายนอกว่าเป็นเขา เป็นของเขา รู้แบบนี้เรียกว่า มิจฉาสติ คือรู้ผิด เมื่อรู้ถูก จิตก็ไม่ปรุงต่อ แต่ถ้ารู้ผิด จิตก็ปรุงต่อ

ดังนั้น จิตปภัสสร หรือพุทธจิต จิตเดิมแท้ จิตหนึ่ง ก็คือสัมมาสติ นั้นเอง เปรียบเสมือนไฟฉาย ถ้าอยู่ในมือโจร ก็ถูกใช้แบบโจร ถ้าอยู่ในมือตำรวจ ก็ถูกใช้แบบตำรวจ ถ้าตำรวจจับ ก็จับโจร ไม่ได้จับไฟฉาย ถ้าโจรจะฆ่าตำรวจ ก็ฆ่าตำรวจ มิได้ฆ่าไฟฉายแต่อย่างใด เข้าใจยากไปไหม!

เกรงว่าจะติดวิปัสสนู

ถาม:

ช่วงนี้ผมคงติดวิปัสนูกิเลส อยากบอก อยากสอน อยากชวนคน มาปฏิบัติ เห็นบางคนมาร่วมปฏิบัติกับเราก็ดีใจ แต่ผมก็ภูมิธรรมยังน้อย ก็พยายามรู้สึกตัวให้มากไม่ค่อยอธิบายไม่ค่อยสอนใครเอง เดี๋ยวสอนผิดจะเป็นบาปครับ เรื่องนี้ควรจะแก้ไข และป้องกันอย่างไรขอรับ

ตอบ:

ปัญหาเรื่องติดวิปัสสนู ตอนนี้ นักปฏิบัติเจริญสติแบบเร่งรัดตัวเองเกินไป จะเจอปัญหานี้แทบทุกคน เพราะเป็นการเร่งรัดด้วยความอยากรู้ อยากเห็น อยากเป็น อยากมี มันเลยแยกกันไม่ออกว่า อยากแบบไหนเป็นศรัทธา อยากแบบไหนเป็นตัณหา
ดังนั้น เรื่องนี้ครูบาอาจารย์ก็ห้ามยาก บอกยาก เพราะท่านก็เป็นมา แบบนั้น เหมือนกัน มันเป็นขั้นตอน ของพัฒนาการ ของการปฏิบัติแบบนี้ ความจริงอารมณ์วิปัสสนู มองในแง่ดีก็ดี เพราะช่วยให้ทำความเพียรได้มาก ถูกบ้าง ผิดบ้างปนกันไป พอถึงวันหนึ่ง ปัญญาที่ถูกต้อง มันจะเกิดตามมาเอง บางคนก็เกิดปัญญาไว บางคนก็เกิดช้า ในกรณีที่มีครูอาจารย์ พี่เลี้ยงคอยช่วย วิปัสสนูก็จะหมดไว แต่ถ้าแก้เอาเอง ไม่ยอมบอกอาจารย์ ก็จะหายช้า ถ้าคราวเคราะห์ เพราะไม่ค่อยเคารพ ครูอาจารย์มาก่อน ก็อาจมีวิบากกรรม เข้าแทรก ก็อาจจะเพี้ยนไปอีกนาน จนกว่าจะหมดวิบากกรรม วิปัสสนูก็ลงเอง แต่บางรายที่หนักข้อก็คือ มีมิจฉาทิฐิ เข้าแทรก เพราะวิบากเก่ามาก เกิดสำคัญผิดคิดว่า ตนเองเก่งกว่า ครูอาจารย์ พาลดูถูกดูหมิ่นอาจารย์ของตน และคนอื่นๆ ว่ารู้สู้ตนไม่ได้
แบบนี้ จะลงยากมาก เป็นพระก็อาจจะติดวิปลาสไปเลย เรียกว่าเพี้ยน หรือบางรูปก็สึกลาเพศสมณะ ไปเลย
แต่โยมไม่ค่อยเป็นกัน เพราะมีทางระบายมากกว่า
ดังนั้น จะเป็นข้อดีหรือข้อเสียแล้วเหตุปัจจัย ของบุญวิบากหรือกรรมวิบากอีกที
แต่คุณคงไม่เป็น

ติดอารมณ์กังวล

ถาม:

หลวงพ่อขอรับ ผมจะออกจากความเป็นห่วงและกังวลได้อย่างไรขอรับ
ตอนนี้ผมติดอารมณ์ ความห่วงกังวล ผมไม่รู้จะสู้ได้อย่างไรขอรับ?
มันรุนแรงมากขอรับ

ตอบ:

จริงๆแล้ว ความวิตกกังวล มิได้มีอยู่จริง แต่ที่มันมี เพราะเราไม่เห็นตัวเราจริงๆ คือรูปกับนามหรือกายกับใจเท่านั้น เหมือนแสงกับวัตถุ มันเป็นส่วนของใครของมัน แต่พอเอาแสงกับวัตถุมาไว้ใกล้กัน มันจึงเกิดเงามืด แต่พอเอาแสงกับวัตถุมาไว้ตรงกัน พอดี จะไม่เกิดเงา เวลาเที่ยงตรงกลางวัน คุณไปยืนกลางแดด คุณจะไม่เห็นเงาตัวเองปรากฏ แต่พอตะวันคล้อยไปนิดหนึ่ง เงาก็เริ่มปรากฏ ยิ่งตะวันคล้อยมาก เงาก็ปรากฏมากฉันใด เมื่อกายกับใจของคุณ เริ่มคล้อยเคลื่อนออกจากกัน ไปมากเท่าใด ความคิดปรุงแต่งหรือความวิตกกังวลต่างๆ ก็ปรากฏตัวมากขึ้นเท่านั้น
วิธีแก้ คุณก็เจริญสติ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ ขยับกายกับใจมาอยู่ตรงกันให้สำเร็จให้ได้ มิฉะนี้น คุณจะไม่สามารถจัดการ เอาความวิตกกังวล ออกจากใจได้เลย เพราะมันเป็นกฏของธรรมชาติ คุณจะฝืนมันไม่ได้ ลองทดลองเจริญสติใหม่ให้ถูกต้อง แล้วคุณจะเห็นความจริงว่า ความวิตกกังวล เป็นของเกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย มิใช่ตัวตนที่มีอยู่จริง แต่เป็นมายาของแสงและวัตถุ หรือกายกับใจหรือรูปกับนาม ที่ทำปฏิกิริยาต่อกัน ในทางที่ผิดนั้นเอง
คุณคงเข้าใจนะ ถ้าไม่เข้าใจหรือแก้ปัญหายังไม่ตก แสดงว่าคุณยังไม่ได้เจริญสติ หรือเจริญสติมาผิดๆนั่นเอง จึงช่วยอะไรคุณไม่ได้ ลองดูก่อนนะ ถ้าคำตอบไม่ชัดเจนอย่างไร ค่อยเข้ามาถามใหม่
เจริญพร

ภาษาสมมติสื่อความคิด ภาษาปรมัตถ์สื่อความรู้สึก

ถาม:

หลวงพ่อครับ ผมสงสัยว่า สัมปชาโน สวดกันในสติปัฏฐานสูตร ที่แปลว่าให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมกับอนัตตาที่สวดทำวัตรเช้ากันว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตาหรือ ไม่ใช่ตัวตน
ดูมันขัดแย้งกันไหมครับ? เพราะสัมปชาโน ให้รู้สึกตัวตนให้ทั่วพร้อม แต่อีกอัน บอกว่าไม่มีตัวตน ผมฟังแล้วงงๆครับ?

ตอบ

ฟังภาษาสมมติ มันก็จะงงสิลงเบญ? ลองไปฟังภาษาปรมัตถ์ดูบ้าง จะหายงง คือไปฟังใจตัวเองพูด

ลองมาทำความเข้าใจลองดูนะ เผื่อจะเข้าใจได้คำว่า “ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม” ก็บอกแล้วว่า มันไม่มีตัว มันเป็นนามธรรม มันเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน อนัตตา แปลแบบวิปัสสนา ท่านแปลว่า สภาพที่บังคับบัญชาไม่ได้ คือให้เป็นไปอย่างที่ใจเราต้องการไม่ได้ เช่นเราจะให้ร่างกายนี้ ไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตาย ทำไม่ได้ เพราะบังคับไม่ได้ และขณะเดียวกัน จะบังคับให้มันแก่ เจ็บ ตายตามที่เราต้องการก็ไม่ได้ มันเป็นธรรมชาติที่เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย แต่ไม่เป็นไปตามใจใครต้องการ
ตอบแบบนี้ พอเข้าใจได้ไหมลงเบญ? ถ้าไม่เข้าใจ ก็ลองมาพิจารณาอีกเรื่องหนึ่ง เช่น รถยนต์คันนี้ ถ้าไม่มีคนขับ ไม่มีไฟ มันไปเองได้ไหม? หรือมีคนขับ แต่ไม่มีน้ำมัน ขับไปได้ไหม? เห็นไหมว่า มันต้องมีเหตุปัจจัยให้มันไป มิใช่ไปตามความต้องการของเรา เพราะมันไม่มีตัวตนที่แท้จริง มันต้องอาศัยปัจจัยต่างๆมาประกอบกันเข้า
ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่มีศัรทธา ความเพียร และสติ เป็นเหตุเป็นปัจจัย สัมปชัญญะ มันก็เกิดเองไม่ได้ใช่ไหม?
ดังนั้น สัมปชัญญะและอนัตตาจึงเป็นเรื่องเดียวกัน ด้วยประการฉะนี้แลลุงเบญ ทีนี้เข้าหรือไม่เข้าใจ ก็แล้วแต่ปัญญาละนะ!

พระพุทธยานันทภิกขุหลวงพ่อมหาดิเรกพุทธยานันโทDirekSaksithDevaNandaดิเรกศักดิ์สิทธิ์การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวแนวหลวงพ่อเทียนจิตตสุโภBuddhismVipassanaวิปัสสนาศาสนาพุทธพุทธศาสนา

ความสงสัยคือความคิด

ถาม:

ผมสงสัยต่อครับหลวงพ่อ เมื่อทุกสิ่งทุกอย่าง มันไม่มีตัวตน เราจะปฏิบัติบัติธรรมไปทำไม เราจะทำงานไปทำไม เพราะมันไม่มีอะไรต้องทำ เพราะมันไม่มีตัวตน
คำถามแบบนี้ผิดไหมครับ.?

ตอบ

ไหนๆก็ไหนๆละนะลุงเบญ? เมื่อกล้าถาม ก็ต้องกล้าตอบละงานนี้?
คำถามของลุง ฟังเผินๆ ก็น่าคิดนะ แต่ฟังดีๆ มันค้านกันนะ? ค้านกันอย่างไร ลองมาฟัง และตั้งใจฟังให้ดี

ถามย้อนนิดว่า ลุงทำงานมาตลอดชีวิต เพื่ออะไร? เพื่อต้องการมีเงินจับจ่ายใช้สอยใช่ไหม? เพราะเงินไม่มี เราจึงหาเงิน ถ้าเราใช้ชีวิตแบบไม่มีเงินทองทรัพย์สิน เกิดอะไรขึ้น เราเป็นทุกข์ เพราะไม่มีจะกินจะใช้ เราก็ต้องทำงานเพื่อหากิน หาเงิน เราถึงมีที่พึ่ง อุปมานี้ฉันใด
เพราะ ชีวิตเป็นอนัตตา ก็เหมือนเราไม่มีเงิน เราจึงหาธรรม คือทำความเพียร เพี่อให้เกิดมีธรรมะเป็นที่พึ่ง เพราะชีวิตเป็นอนัตตา จึงพึ่งไม่ได้ เราจึงหาตัวตนเป็นที่พึ่งได้ คือตัวตนที่มีธรรมะ ตามพระพุทธองค์ตรัสว่า ” ภิกษุทั้งหลาย เธอจงมีตนเป็นที่พึ่ง คือมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด” คือท่านให้ทำความเพียรมากๆ เพื่อทำตนให้มีธรรมะเป็นที่พึง ตรัสเป็นพุทธภาษิตว่า ” อัตตาหิ อัตตะโน นาโถ โก หิ นาโถ ปโร สิยา” แปลว่า ตนแลเป็นที่พึ่งของตน คนที่ไม่มีธรรมะ จะพึ่งตัวเอง ได้อย่างไร?” ชัดละยัง
ดังนั้น คนที่ต้องการความสะดวกสบาย ก็ต้องทำงาน ถ้าไม่ทำงาน ก็พึ่งตนเองไม่ได้ เพราะยังไม่มีที่พึ่ง เป็นคนอนาถา หรือคนอนัตตา ไม่มีตนเป็นที่พึ่งนั้นเอง

เราได้ยินว่า ธรรมทั้ปวงเป็นอนัตตาก็จริง แต่เราต้องมีตนคือธรรมเป็นที่พึ่ง ดังนั้น เราจึงต้องปฏิบัติธรรม เพื่อเปลี่ยนอนัตตาให้เป็นปัญญา เพราะปัญญาคือตัวตนที่มีธรรมะนั้น ตัวตนที่ไม่มีธรรมะ จึงเรียกว่า อนัตตาไง? เหมือนกระเป๋าที่ไม่มีเงิน หรือแก้ว ที่ไม่มีน้ำ หรือคนที่ไม่มีธรรม มันใช้ไม่ได้ แต่ถ้าเป็นตรงข้าม มันใช้ได้ เข้าใจนะ
จบนะ เข้าใจไม่เข้าใจ ก็ต้องเข้าใจ มิงั้น ลุงก็เป็นลุงอนัตตาละนะ?

โลกาวินาศ

ถาม:

หลังจากได้ชมคลิปเรื่องโลกาวินาส ที่หลวงพ่อส่งมาให้ดู ในใจก็ เกิดความคิดขึ้นมาว่า ถ้าเผชิญกับธรรมชาติยิ่งใหญ่ขนาดนี้ด้วยตนเอง สติที่มีจะช่วยเราได้ขนาดไหน โยมเคยประสบภัยพิบัติน้ำท่วมครั้งที่แล้ว การมีสติก็ทำให้เราจัดการไปทีละเที่ยวๆ แต่ถ้ามาแบบสึนามิ เป็นโยมคงภาวนาตายก่อนตายสถานเดียวเจ้าค่ะ ถ้าต้องตายก็จะได้ตายแบบราบเรียบหน่อย ถ้าเหตุเกิดปัจจุบันทันด่วนแบบนี้ สติเขาจะทำงานเตียมเพื่อเตรียมตัวตายได้ทันหรือไม่เจ้าคะ?

ตอบ:

ธรรมชาติทุกอย่าง มันมีเหตุผลในตัวของมันเอง มันคงไม่เป็นไปอย่างรวดเร็วอย่างที่มันเกิดอุบัติเหตุ แต่มันค่อยสั่งสมเหตุปัจจัย ไปที่ละนิดๆ ตามกฏของไตรลักษณ์ เช่นการเกิดอุบัติเหตุรถชนกัน มิใช่จู่ๆจะชนได้ทุกคัน คันที่เกิดอุบัติเหตุ เพราะคนขับมันเคยประมาทมา จนนับครั้งไม่ถ้วนแล้ว มันจะต้องมีวาระถึงจุดระเบิด ไม่วาระใดก็วาระหนึ่ง แน่นอน รูปแบบที่เกิดก็มิใช่ว่าจะต้องกันเสมอไป มันอาจจะเหยียบใครตายก็ได้ หรือมันอาจจะระเบิดตัวเองก็ได้ ไม่เหมือนกัน นั้นกฏคือแห่งกรรม ทำงานร่วมกับกฏไตรลักษณ์ เหมือนการทำงานของตำรวจและผู้พิพากษา มีความสัมพันธ์กันฉันใดก็ฉันนั้นนะโยม
การเตรียมตัวตาย เราต้องมีการฝึกฝนเป็นประจำวีน ด่อนนอนทุกครั้ง หลวงพ่อ จะฝึกทำมรณานุสติ ก่ว กับอานาปานสติทุกๆคืน การตายต้องมีการเตรียมตัวก่อนเสมอ เพราะไม่อาจรู้ได้ว่า มันจะเกิดขึ้นเมื่อใด อย่าเตรียมแต่การตายอย่างเดียวไม่พอ ต้องเตรียมตัวแก่ และการเจ็บป่วย การพิการด้วย เมื่อถึงเวลานั้น เราแก่เจ็บ ตายคนเดียวอย่างเป็นสุขได้อย่างไร ต้องพิจารณาเป็นประจำเลยทีเดียว

 

 

ความว่างคือไม่มีความคิด ใช่หรือไม่?

ถาม:

ความว่าง หมายถึงเวลารู้สึกตัว แล้วไม่มีความคิด หรือเปล่าคะ?

Is voidness the same as mindfulness that has no thoughts ?

ตอบ

มีความคิด แต่เราเห็นมัน อยู่เหนือมันได้ เพราะมีสติปัญญาดูมันอยู่

Voidness still has thoughts, but we can see and be above them by our wisdom.


ความว่างที่ถูกต้อง ก็คือความรู้สึกตัวที่ถูกต้องนั้นเอง อย่าสับสนกับคำพูด ถ้ารู้สึกตัวไม่ถูกต้อง ก็คือจิตว่างไม่ถูกต้องนั้นเองหนู เมื่อใดเรารู้สึกตัว จิตก็จะว่างทันที

Actually, Right Voidness is Right Mindfulness. At the same time, Wrong Mindfulness is Wrong Voidness. As soon as we have awareness, we have voidness.

ถาม:

ยังอยากได้สุข แต่ไม่เอาทุกข์ ถ้าทุกข์มาก ก็จะละความอยากนั้น แต่ถ้ายังมีหวังอยู่ ก็ยังไม่ทิ้งความอยากนั้น ถูกต้องไหมคะ?

I have desire for happiness, don’t want unhappiness.If it’s too difficult to achieve happiness, I will give up. Unless I have hope. Is it right?…

ถาม:

หลวงพ่อคะ คนจะบรรลุธรรมนี่ ต้องตั้งใจทิ้งความอยากมั้ยคะ หรือ ว่าถ้าปฏิบัติไป แล้วเกิดดับสมดุล ความอยากจะหายไปเอง

To get Enlightenment, do we have to abandon craving by intention, or it will disappear by itself while practicing?

ตอบ:

การบรรลุธรรม ไม่จำเป็นต้องอยาก มันเหมือนธรรมชาติของจิตที่มันไปถึงเอง เหมือนผลไม้ ถ้าไม่หล่น หรือต้นไม้ตายก่อน มันต้องสุกแน่นอน

To get Enlightenment does not require any craving. Our mind can achieve Enlightenment by nature. A fruit will be surely ripe if it does not fall from the tree before, or the tree itself does not fall.

ถาม:

ตัวรู้ที่ไม่ได้เกิดจากสัมมาสติ เช่นอะไรคะ

ตอบ:

สติที่เกิดตามสัญชาตญาณ เป็นสติที่ทำให้จิตคิดปรุงแต่งในทางอกุศลธรรมทั้งปวง ไม่ใช่สัมมาสติ เช่นคนที่ฉลาดวางแผนโกงหรือเอารัดเอาเปรียบคนอื่น หืรอพวกคนมิจฉาชีพ ก็วางแผนฉ้อโกง บางคน ก็มีสติปัญญาดีกว่าเราเสียอีก

ถาม:

เวลาหนูรู้สึกตัว ไม่คิดอะไร มันก็ไม่ทุกข์ ไม่อยาก เหมือนกับว่าเรื่องที่ทำให้เราทุกข์ เรื่องที่เราผูกพัน มันไม่เคยมี หนูเลยคิดว่า แสดงว่าทุกอย่างนี่เกิดจากจิตเราปรุงแต่งเองทั้งหมด และไปยึดมันไว้ เวลาที่เราไม่คิด มันก็สลายไป หนูคิดแบบนี้ถูกมั้ยคะ แต่มันก็กลับไปกลับมานะคะ สภาวะนี้

ตอบ:

ถูกเปะเลยหนู? ความทุกข์ ทั้งหมดเป็นเรื่องของจิตปรุงแต่งอย่างเดียวล้วน ช่วงไหนจิตไม่ปรุง ความทุกข์ก็ไม่มี บ่อยครั้งเราก็สัมผัสจิตรู้ แต่เราไม่เห็นมันเท่านั้นเอง ความจริงแล้วโลกทั้งโลก ไม่เห็นว่ามันจะมีทุกข์อะไรเลยใช่ไหม ที่มันยังกลับไปกลับมา เพราะสติปัญญายังเจริญไม่เต็มร้อยเท่านั้นเอง

ถาม:

ความรัก ความผูกพันระหว่างคน ก็เกิดจากจิตปรุงแต่ง และไปยึดมันไว้ใช่มั้ยคะ
ความรู้สึกตัวนี่ สามารถสลายได้ทุกอย่างเลยนะคะ สลายการปรุงแต่งคือ สลายทุกอย่าง โดยเฉพาะทุกข์เพราะการติดยึด?

ตอบ:

แต่ต้องเป็นตัวรู้ ที่เกิดจากสัมมาสติเท่านั้นนะ

หนูโชคดีและมีบุญมากที่ได้มีโอกาสไปเข้าคอรสกะหลวงพ่อ ทำให้รู้สึกตัวเป็น และได้เดินอยู่บนเส้นทางนับแต่นั้นมา หลังจากเป็นตาบอดคลำหาทางมาพักใหย่

ขอกราบขอบพระคุนหลวงพ่อมากๆค่ะ เพืีอนๆเชินมาถามหลวงพ่อนะคะ คนอื่นก็จะได้ความรู้ด้วยค่ะ

วันนี้ขอลากลับบ้านก่อนค่ะ วันหลังค่อยมาถามใหม่ แต่ตอนนี้ความสงสัยลดลงมากๆแล้วค่ะ

ทำไมถึงต้องเป็นนามรูป

ถาม:

ขอนมัสการสอบถามครับ ทำไม “นามรูป” จึงเรียกว่า “ตัวคิด” ทำไมไม่เรียกว่า “นาม” คือ “ตัวคิด” มันเป็นเรื่องลึกซึ้ง ที่ยากแก่การตามหยั่งรู้ สำหรับปุถุชน ที่่ไม่ผ่านการปฎิบัติ เนื่องจากต้องใช้โยนิโสมนสิการสูง

ตอบ:

เมื่อต้องการใช้เครื่องมือสิ่งใดให้ถูกต้อง ไม่ให้เกิดโทษตามมา ก็ต้องรู้จักศึกษาหาวิธีใช้เครื่องมือชิ้นนั้นให้ชำนาญเสียก่อน จึงจะไม่เกิดโทษ และได้ประโยชน์มหาศาลตามมา ฉันใด ใครก็ตาม ถ้าต้องการจะใช้ความคิดให้เป็นประโยชน์ไม่ให้เกิดโทษ ก็ต้องลงมือศึกษาเรียนรู้ตามหน้าที่ชาวพุทธที่ดี เรามีวัดวาอาราม สถานธรรม อาศรม สำนักปฏิบัติธรรมต่างๆ ไว้เพื่อให้ความรู้เรื่องเหล่านี้แก่คนทั่วไปอยู่แล้ว ดังนั้น เรื่องการศึกษาวิปัสสนา คือการตาม เฝ้าดูการทำงานของชีวิตจิตใจ ถ้าทุกคนใส่ใจเรียนรู้เสียหน่อย ก็มิใช่เรื่องยากเกินไป ถ้าบอกว่าไม่มีเวลา ไม่ถึงเวลา แต่ก็ยังชอบใช้ความคิด ใช้นามรูป ชอบใช้ทั้งที่ยังไม่รู้เรื่องมัน ก็ต้องยอมรับทุกข์ไปก่อนเป็นธรรมดา เหมือนคนชอบใช้เงิน แต่ไม่ชอบหาเงิน ก็ต้องทุกข์เพราะความ ยากจนเป็นเรื่องธรรมดา มากๆเลย

เราต้องใส่สติสัมปชัญญะเข้าไปแทนตัวนามรูป หรือตัวคิด ถ้าเมื่อใดคิด แปลว่า สติสัมปชัญญะไม่เต็ม เมื่อเรารู้เท่าทันมากขึ้น สติสัมปชัญญะก็จะเพิ่มมากขึ้น ถ้ามีเงา แสดงว่าความคิดเริ่มปรากฏ วิธีการที่จะทำไม่ให้มีเงา คือ เอาวัตถุนั้นออกไป

“นามรูป” เหมือน “เงา”

“สติสัมปชัญญะ” เหมือน “แสง”

“วัตถุ” คือ “ตัวคิด”

ความคิดเป็นตัวเกิด สติเป็นตัวดับ ถ้าเกิดเท่าใดดับเท่านั้น กลายเป็นพลังงาน คอมพิวเตอร์เปรียบเสมือนการทำงานของนามรูป และรูปนาม ความรู้สึกตัวเป็นเสมือนตัวโปรแกรมหลักหรือเป็น power ของเครื่อง รูปนาม เหมือนตัว hardware หรือเครื่องคอมที่ติดมากับคอมพิวเตอร์ ส่วนสัญญา สังขาร วิญญาณ ทำหน้าที่สร้าง “นามรูป” เป็น software ซอฟท์แวร์ เป็นตัวทำงานอย่างวิเศษ แต่เมื่อผู้ใช้คอมพิวเตอร์ยังเล่นไม่เก่ง ไม่มีความชำนาญ ใช้ผิดๆ ถูกๆ ก็จะสับสนวุ่นวายมาก บางครั้งถูกไวรัสลงเครื่องก็ยุ่งเหมือนกัน ต้องซื้อโปรแกรมมาลงใหม่ ทั้งต้องลงโปรแกรมป้องกันไวรัสด้วย ซึ่งราคาค่อนข้างแพง ฉันใดก็ฉันนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็จำลองคอมพิวเตอร์ มาจากรูปนาม และนามรูปของตนเองนี้เช่นกัน แต่เขาไม่รู้เรื่องวิปัสสนา เขาก็ทำได้แค่รูปภายนอกเท่านั้น

สติยิ่งใช้ ก็ยิ่งมีมาก สิ่งไหนเป็นเรื่องยาก ที่มนุษย์เข้าใจไม่ได้ พระพุทธเจ้าจะไม่ตรัสสอน ท่านจะสอนในสิ่งที่เราเข้าใจได้ ทำได้ ถ้าเราเห็นสติสัมปชัญญะ เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐ เราก็จะทุ่มเทปฏิบัติให้มาก ทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ จ่ายแล้วก็หมดไป ต้องหาใหม่อยู่เรื่อย แต่อริยทรัพย์ คือ สติสัมปชัญญะ และปัญญา ยิ่งจ่ายยิ่งเกิด ยิ่งใช้ยิ่งงอก ยิ่งใช้สติ ก็ยิ่งเกิดสติ ไม่ใช่ยิ่งหมดสติ ยิ่งใช้สมาธิ ก็ยิ่งเกิดสมาธิ ยิ่งใช้ปัญญา ก็ยิ่งเกิดปัญญา.

โพล่งแบบเซน

ถาม:

หลวงพ่อมีความเห็นเกี่ยวกับนิกายเซนอย่างไรบ้างคะ

หากเราเกิดความตื่นรู้ โดยการตื่นรู้นี้ จะรู้ว่าภายในสงัดนิ่ง แต่ก็รู้ภายนอกเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง และไร้ความคิด
เห็นทุกอย่างเป็นเพียงเช่นนั้นเอง ไม่ได้ให้ค่าอะไร

จะเกิดปัญญาญาณโพล่งเห็นความจริงตัดสังโยชน์ได้มั๊ยคะ หากทำแค่วิธีนี้ซึ่งดูเหมือนไม่ได้ให้สาระสำคัญกับไตรลักษณ์

ตอบ:

ตอนที่ 1.

เมื่อจิตเป็นหรือเข้าถึงปรมัตถ์แล้ว ไตรลักษณ์จะถูกเปลี่ยนเป็นไตรสิกขาโดยอัตโนมัติ ส่วนแปลงไปกี่เปอร์เซ็นต์ ก็ขึ้นอยู่กำลังของศรัทธาและความเพียร ว่าเข้มข้นและต่อเนื่องแค่ไหนเท่านั้นเอง?

ตอนที่ 2.
ไตรลักษณ์ของจริงในส่วนของนามรูป คือการที่สติยังไม่พัฒนาถึงขั้นปรมัตถ์เบื้องสูง เมื่อรูปนามแปรปรวนเป็นทุกขเวทนาหนักๆ จิตจะหวั่นไหวแปรปรวน ปรุงแต่ง เช่น ในการณีเราป่วยหนัก หรืออุบัติเหตุ หรือเกิดเจ็บป่วยด้วยกรณีใดๆ ก็ตาม จิตยังหวั่นไหวอยู่ แต่สติก็ตามรู้เท่าทันอยู่ ไม่อาจจะจัดการระงับทุกขเวทนาทางจิตได้ทันที จนกว่าจะรวบรวมกำลังสติสัมปชัญญะได้แล้ว ถึงจัดการทุกขเวทนานั้นได้ กำลังสติตามรู้เวทนาในขั้นนี้ ก็ยังไม่เด็ดขาดพอ จนกว่าจะพัฒนากำลังการตามรู้ให้ชัดเจน และว่องไวใก้ทันกับเวทนาขั้นละเอียดต่อไปอีกมาก

ตอนที่ 3.
การเห็นไตรลักษณ์ในขั้นที่ 3 นี้ จะเป็นอย่างที่คุณว่า แต่พัฒนาการต่อไปของไตรลักษณ์ทั้งเกิดในรูปนามและนามรูป จะพัฒนาเป็นกำลังของกำลังเวทนาลึกมากขึ้น คือเป็นอาสวะทั้งสาม กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ

(1) กามาสวะ เกิดจากกามราคะซึ่งพัฒนาตัวมาจากนันทิและอภิชฌา จนพัฒนาเป็นกามาสวะในที่สุด ซึ่งเป็มกามราคะขั้นละเอียดตามรู้ได้ยาก
(2) ภวาสวะ เกิดจากโทสะปฏิฆะ ต่อมาพัฒนาตัวมาเป็น พยาปาทะ มานะ อัตตา และพัฒนาลึกละเอียดลงไปเป็น ภวาสวะในที่สุด ซึ่งเป็นกิเลสขั้นละเอียดชั้นที่ 2
(3) อวิชชาสวะ เกิดจากโมหะ ต่มาพัฒนาเป็นทิฐิมานะ เป็น สักกายทิฐิ และมิจฉาทิฐิระดับต่างๆ จนพัฒนามาเป็นอวิชชาสวะในที่สุด และเป็นกิเลสขั้นละเอียดอ่อนที่สุด คือชั้นที่ 3

ตอนที่ 4.
ในวิธีการของหลวงพ่อเทียน ท่านไม่ใส่ใจในรายละอียดในการพัฒนาการของกิเลสเหล่านี้ เหมือนพุทธศาสนาในสายเถรวาททั่วไป แต่ท่านพัฒนาตัวรู้คือสติและวิชชา ขึ้นมาจัดการกับตัวไม่รู้ คืออวิชชา ตัวโคตรของกิเลสเลยทีเดียว เราก็สร้างตัวโคตรตัวรู้ ตือปัญญาญาณ ที่พัฒนามาจากตัวรู้ด้วยกำลังของสติสัมปชัญญะ ให้จริจัง ตั้งใจ ต่อเนื่อง และถูกต้องเท่านั้น จนมีกำลังมากพอ มันก็เข้าไปตัดขั้วของกิเลสและสังโยชน์ทั้งปวงได้เด็ดขาด ทำให้เกิดอาการของจิตที่ตื่นโพลงโล่งแจ้งอย่างเด็ดขาด แล้วความมืดมนของจิตด้วยอำนาจอวิชชา ก็ดับหายวับไปทันที เสมือนเราคลำหาคัดเอาท์ไฟ เมื่อค้นพบ คัดเอาท์ไฟฟ้าในถ้ำมืด แล้วยกขึ้นทันที ไฟในถ้ำก็สว่างพรึบ ความมืดที่คืออวิชชา ตัณหา อุปาทาน กรรมทั้งปวง ก็ดับลงทันทีเหมือน ฉันใดก็ฉันนั้น
เปิ้ล ต่อไป ถ้า จะถามปัญหาละเอียดอย่างนี้ กรุณาโทรทางไลน์ถามดีกว่า หลวงพ่อพิมพ์ได้ช้ามาก กว่าจะตอบเธอให้ครบถ้วนตรงประเด็น และชัดแจ้ง ต้องทำงานมาก ไม่มีเวลา ถ้าไม่ตอบละเอียด เธอต้องสับสนงุนงง ครั้งต่อไปจำไว้นะ

พุทธศาสนาสายเถรวาทเมืองไทยเรา อธิบายไว้ตามตามพระไตรปิฏก จึงออกมาแบบนั้น มันยากเกินกว่าที่คนเป็นฆารวาสทั่วไป ที่ไม่มีปริยัติจะเข้าใจ และปฏิบัติตามอย่างถูกต้องได้ ก็พากันหลงทางเป็นส่วนมาก ขนาดหลวงรู้ปริยัติมามาก ก็ยังหลงทางเลย แล้วฆราวาสชาวบ้านที่ไม่มีเวลา สนใจเรื่องนี้จริงๆ แทบจะหมดสิทธิ์เลย โชคดีที่มีหลวงพ่อเทียนท่านมาเปิดทางสายใหม่ให้ ถึงกระนั้น คนที่มาทางวิธีการหลวงพ่อเทียนแล้ว ก็มีหลงกันอีกเยอะ เพราะขาดความเพียรที่ถูกต้องและแยบคายนั้นเอง เรียกว่า แล้วแต่บุญใครบุญมันก็แล้วกันนะโยม?

Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)