สมถะแบบไหนเป็นพุทธ แบบไหนเป็นพราหมณ์

สมถะมีมาก่อนพระพุทธเจ้า

ตามหลักฐานที่เราชาวพุทธได้ทราบจากตำรากล่าวว่า ก่อนที่พระองค์จะได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง พระองค์เคยเข้าไปศึกษาเรียนรู้วิถีทางที่ทำให้พระองค์พ้นทุกข์ ตามสำนักของจารย์ต่างๆเป็นเวลานานถึงหกปี ล่าสุดได้พบกับอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ระดับแนวหน้าสมัยนั้น คืออาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร อาจารย์ทั้งสองท่านนี้ ได้เห็นความตั้งใจของพระสิทธัตถะ ศากยบุตรในสมัยนั้น ก็ตั้งใจฝึกฝนให้จนหมดวิชา พระองค์ก็ตั้งใจฝึกฝน จนหมดความรู้ความสามารถของอาจารย์ทั้งสอง จนจบวิชาสูงสุดของทั้งสองอาจารย์คือ สามารถบรรลุถึงสมาธิระดับสูงสุดคืออาฬารดาบสสอนให้เข้าถึง ฌานสมาบัติขั้นที่เจ็ด ส่วนอาจารย์อุทกดาบส สอนให้เข้าถึงฌานสมาบัติขั้นที่แปด เมื่อถูกถามว่า ระดับที่สูงกว่านี้คืออะไร? อาจารย์ทั้งสองตอบว่า ไม่มีสูงกว่านี้อีกแล้ว แต่พระองค์ก็ไม่ทรงพอพระทัยในความรู้ความสามารถที่ได้บรรลุนั้น เพราะสมาธิขั้นสูงสุดที่ได้มานั้น ยังเสื่อมยังกำเริบได้อยู่ได้อยู่ ถ้าไม่ประคองรักษาอย่างดี เพราะความรู้ที่ได้มานั้น ยังไม่สามารถทำให้พระองค์หายสงสัยในชีวิตของตนเองได้

พระองค์ก็บอกเลิก แล้วอำลาอาจารย์ทั้งสอง แล้วเดินออกเดินทางแสวงหาต่อไป ตามประวัติเล่าว่า พระองค์ทรงหาวิธีด้วยตนเอง หลังจากออกมาจากสำนักทั้งสองอาจารย์ ก็ทดลองบำเพ็ญพรตของนักบวชขั้นสูงสุดสมัยนั้น เรียกว่า “บำเพ็ญทุกกรกริยา” ( รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ ให้ไปหาอ่านและศึกษาตามหนังสือพุทธประวัติ ซึ่งมีอยู่ทั่วไป )

กล่าวโดยสรุปแล้ว พระพุทธองค์ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ในการบำเพ็ญทุกกรกริยา คือทำการทรมานตนเองด้วยวิธีต่างๆ ในที่สุดก็ล้มเลิกวิธีการนั้น แล้วทรงหันมาใช้วิธีที่เรียกว่า “บำเพ็ญเพียรทางจิต” และประสบผลสำเร็จในที่สุด (รายละเอียดเกี่ยวกับการบำเพ็ญเพียรทางจิต คือการทำอย่างไร ก็สามารถหาอ่านได้จากตำราพุทธประวัติมีอยู่โดยทั่วไป ผู้สนใจต้องการรู้เรื่องนี้ ไปหาศึกษารายละเอียดเอาเอง เพราะในที่นี่จะมุ่งเน้นกล่าวถึงรายละเอียด อารมณ์ปฏิบัติแบบเคลื่อนหวเท่านั้น)

จากที่ได้เล่าถึงประวัติการแสวงหาในเบื้องต้นของพุทธองค์ เราจะพบว่าอุบายหรือวิธีทำจิตให้สงบนั้นมีมากมายหลายแบบ แล้วแต่เกจิอาจารย์ท่านใดจะมีความสามารถ ในการผลิตคิดหาเทคนิควิธีการจากประสบการณ์ของตนเอง

แต่การบำเพ็ญเพียรทางจิตนั้น เป็นการทำวิปัสสนาโดยตรง และเป็นวิธีเดียวที่พระพุทธองค์ทรงใช้ในสมัยนั้น ซึ่งไม่มีเกจิอาจารย์อื่นๆ ในสมัยนั้นใช้มาก่อน เพราะเป็นวิธีที่ไม่ต้องใช้อุบายทางกายหรือทางรูป แต่ใช้วิธีบำเพ็ญทางจิตโดยตรง คือ พระพุทธองค์ทรงใช้หลักของสติปัฏฐานสี่ ประกอบด้วยหลักของอริยสัจจ์สี่เข้าด้วยกัน (ผู้พูดเข้าใจว่า หลักของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อาจจะเป็นคำอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมหลักของสติปัฏฐาน และหลักอริยสัจจ์ของพระอรรถกถาจารย์ในชั้นหลังๆ ก็ได้ ขอให้ท่านผู้รู้พิจารณาด้วย เพราะเป็นความเห็นเฉพาะตัวของผู้พูดเท่านั้น)

เพราะเหตุไรที่กล้ากล่าวเช่นนั้น เพราะในภาคปฏิบัติวิปัสสนาจริงๆ แล้ว มันไม่มีอะไรซับซ้อนแม้แต่น้อย แต่พอไปศึกษาในรายละเอียดทางตำราที่กล่าวไว้ทั้งหมดแล้ว สามัญชนคนธรรมดาแทบไม่มีโอกาสได้ศึกษา และสัมผัสธรรมะขั้นปรมัตถ์ของพระพุทธองค์ได้เลย การปฏิบัติวิปัสสนาโดยผ่านการศึกษาทางปริยัติ กลับกลายเป็นเรื่องของเฉพาะกลุ่มเฉพาะคนที่มีการศึกษาปริยัติเท่านั้น คนไม่รู้ปริยัติ ก็ดูเหมือนไม่มีสิทธิ์ที่จะรู้ได้เลย

แต่จากที่ได้เรียนรู้และศึกษาวิธีการหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภมานาน ก็พบว่า การเข้าถึงสภาวธรรมที่เป็นการบำเพ็ญทางจิตนั้น มันไม่ยุ่งยากซับซ้อนอะไรเลย เพียงแต่ได้พบกับกัลยาณมิตรผู้รู้จริง และตั้งใจศึกษาทำตามอย่างถูกต้องทุกขั้นตอนเท่านั้น ก็สัมผัสได้แล้ว ตามประสบการณ์ทำงานเผยแพร่การเจริญสติปัฏฐานสี่แบบหลวงพ่อเทียนของข้าพเจ้า เป็นเวลาไม่น้อยกว่ายี่สิบปี ก็พบว่าชาวบ้านธรรมดาสามัญชน ก็สามารถเข้าถึงธรรมขั้นปรมัตถ์ได้โดยไม่ยากเลย แต่ผู้ที่เข้าถึงยากมาก กลับกลายเป็นคนที่ผ่านการสั่งสมความรู้ปริยัติมามาก และมานานเสียอีกที่ทำได้ยาก เพราะเข้าไปเกี่ยวข้องกับความคิดคาดคะเนมากเกินไป และยากที่จะออกจากความคิดประเภทนั้นได้ด้วย

เพราะหลักปริยัติ ทำให้ปฏิบัติเป็นอุปสรรค เพราะไปสร้างความคิดมาเป็นความรู้ แต่ไม่สามารถสัมผัสความรู้สึกตัวบริสุทธิ์ที่มีอยู่แล้วตลอดเวลา หรือสัมผัสได้แต่ก็ไม่มั่นใจกับความรู้สึกตัวประเภทนี้ ตราบใดที่ยังไม่เข้าใจกับความรู้สึกประเภทนี้ได้ วิปัสสนาก็ยังเป็นเรื่องยากต่อไปเรื่อยๆ

เพราะความรู้สึกตัวบริสุทธิ์ที่ว่านี้ ก็คือกลับมารู้กายรู้ใจตนเองแบบซื่อๆ ตรงๆ ชัดเฉพาะหน้าเท่านั้นเอง แต่จะทำอย่างไรที่จะประคองการรู้เช่นนี้ให้ดำเนินต่อเนื่องไปนานๆ (ผู้พูดจะพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์ทางปริยัติหรือศัพท์บาลี เข้ามาช่วยอธิบาย ในการแนะนำโดยไม่จำเป็น เพราะใช้วิธีนั้นมานานแล้ว ทำให้คนฟังเข้าใจยากและสับสนไปเรื่อยๆ เพราะผู้ฟังส่วนใหญ่ไม่มีพื้นฐานด้านปริยัติมาก่อน ยิ่งใช้มากก็ยิ่งสับสนไปเรื่อยๆ แต่ข้ออ้างของการใช้ศัพท์ปริยัติบ่อยๆ ของผู้เขียนหรือผู้บรรยาย ก็คือเพื่อประหยัดคำศัพท์หรือคำพูด ที่ไม่ต้องใช้มากเกินไป หรือประหยัดเวลาอะไรทำนองนั้น ความจริงการพูดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสาระ คือความเข้าใจถูกต้องของผู้อ่านหรือผู้ฟังเป็นหลัก ถ้าผู้ฟังเข้าใจไม่ถูกต้อง และทำตามแบบผิดๆ การใช้คำพูดหรือคำศัพท์มากหรือน้อยก็ไม่มีประโยชน์อันใดเหมือนกัน)

สมถะมีสองแบบ

คือแบบที่เอื้อให้เกิดวิปัสสนา และสมถะที่ไม่เอื้อต่อวิปัสสนา
 
สมถะที่เอื้อต่อวิปัสสนา คือสมถะแบบพุทธวิธี คือกำหนดเอาความรู้สึกทางกายเป็นนิมิตหมาย หรือกำหนดเอาความรู้สึกจากรูป เช่นความรู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง เคลื่อนไหว เป็นต้น (ความรู้สึกอันเกิดจากรูปทั้งหมดเป็นสมถะแบบพุทธะ ที่เอื้อต่อวิปัสสนา)

สมถะแบบพราหมณ์นั้น กำหนดหมายเอารูปธาตุเป็นอารมณ์ คือรูปอันเกิดจากธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ หรือเอาวัตถุที่เป็นรูปจริงๆ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เป็นที่ตั้งของอารมณ์สมาธิ ดังนั้น สมาธิที่เกิดจากการกำหนดเอารูปธาตุเป็นอารมณ์ จึงเป็นสมาธิที่มีพลังเป็นรูปฌานสี่

แต่สมาธิที่กำหนดเอารูปของอากาศธาตุ (อากาสานัญจายตนะ อากิญจัญญายตนะ) และวิญญาณธาตุ (วิญญาณัญจายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ) เป็นอารมณ์ สมาธิที่ได้ก็เป็นกำลังของอรูปฌานสี่ เพียงแค่สมาธิระดับรูปฌาน ก็สามารถใช้เป็นกำลังของวิปัสสนาได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปถึงขั้นอรูปฌานก็ได้

ดังนั้น กำลังอรูปฌาน จึงเป็นกำลังที่ก่อให้เกิดพลังของมโนมยิทธิ ที่ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ และฤทธิ์เดชและพลังมนต์ขลังชนิดต่างๆ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต่อการปฏิบัติแบบวิปัสสนา ผู้ได้พลังอนุภาพจากฤทธิ์ต่างเหล่านี้ จะใช้ไปในทางสัมมาทิฐิก็ได้ เป็นคุณวิเศษด้านโลกียฌาน ซึ่งไม่ใช่ธรรมวิเศษด้านโลกุตตรฌาน

นักปฏิบัติส่วนใหญ่หลงทางกันตรงนี้มากที่สุด เพราะขาดประสบการณ์และขาดท่านผู้รู้มาชี้นำ จึงเข้าใจผิดคิดว่า การบำเพ็ญสมถะอย่างเดียว จะนำไปสู่วิปัสสนาได้เลย ก็หลงทำสมถะไปจนจิตเข้าถึงอรูปฌานแล้ว และไปเข้าใจว่า อารมณ์อรูปฌานเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาด้วย ก็เลยหลงบำเพ็ญอรูปฌานไปเรื่อยๆ จนจิตไปจมแช่อยู่ในฌานนานเกินไป แต่อวิชชาอาสวะ ยังอยู่ในจิตอย่างเต็มกำลัง ไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่น้อย เพียงแต่สมาธิระดับอรูปฌานถมทับอยู่ เหมือนศิลาทับหญ้านั้นเอง

ผลข้างเคียงของสมถะแบบพราหมณ์

ความจริง การเจริญภาวนาในพุทธศาสนา ผู้มีศรัทธาที่จะปฏิบัติทุกคน ก็ไม่มีคิดหรือเจตนาว่า จะต้องภาวนาแบบพราหมณ์หรือแบบพุทธมาก่อนทั้งนั้น แต่ด้วยศรัทธาในการโน้มน้าวชี้นำของของผู้มีประสบการณ์ที่ได้รับผลปฏิบัติมาก่อน และนำเอาผลที่ตนได้นั้นมาเผยแพร่ มาโฆษณาถึงประโยชน์และอานิสงส์ของการภาวนา

ซึ่งอานิสงส์ดังกล่าวที่นำมาสาธยายนั้น จะจริงหรือไม่จริง ก็ไม่มีการพิสูจน์ แต่เนื่องจากผู้นำมาเผยแพร่ หรือสั่งสอนนั้น พูดได้น่าเชื่อเชื่อถือ ผู้ฟังจึงเกิดศรัทธาเลื่อมใส และอยากปฏิบัติ ประกอบกับคนเหล่านั้น มีความอยากและต้องการที่จะศึกษาเรียนรู้เป็นพื้นฐานอยู่แล้ว จึงตัดสินใจทำตาม

ถ้าผู้ปฏิบัติ โชคดีมีโอกาสได้พบกัลยาณมิตรผู้ชี้นำ ที่รู้แจ้งเห็นจริง มีประสบการณ์ และสามารถชี้นำทางที่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม มีความรับผิดชอบในสิ่งที่ท่านนำมาสั่งสอน คือมีการติดตาม ดูแลเอาใจใส่ จนทำให้ผู้ปฏิบัติตามสามารถพิสูจน์ผลการปฏิบัติ และได้รับผลของปฏิบัติอย่างแท้จริง ตามระดับความสามารถของสติปัญญาของผู้ปฏิบัตินั้นๆ ก็ถือว่า ผู้ปฏิบัติได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง ตามเจตนารมณ์ของพระพุทธศาสนา เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนา และควรได้รับการส่งเสริม และสนับสนุนช่วยกันเผยแพร่ต่อไป

แต่มีไม่น้อยเลย ที่ผู้ปฏิบัติไม่ได้พบกับกัลยาณมิตรที่ถูกต้อง แล้วถูกชักจูงโน้มน้าวให้ปฏิบัติตามอย่างไม่ถูกต้องตามหลักพุทธธรรม และผู้ก็ไม่รับผิดชอบในสิ่งที่ตนเองสอน มีการหวังผลประโยชน์ในการสอน และไม่สามารถพิสูจน์ผลของการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและชัดเจน หรือได้ผลเป็นอย่างอื่น ที่ไม่ตรงกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่กล่าวไว้ในตำรา

กัลยาณมิตรลักษณะเช่นนี้ มีอยู่มากมายทั่วไป และเมื่อมีการสอนแบบผิดๆ และผลลัพธ์ออกมาอย่างผิดๆ ก็ไม่มีองค์กรใดๆ ทางพุทธศาสนา ออกมาทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อง แล้วปล่อยให้มีการอบรมสั่งสอนในทางที่ผิดแผ่กระจายออกไปเรื่อยๆ ไม่มีศีลธรรมและกฎหมายใดๆ มารองรับความถูกผิดนั้นๆ

ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นตามมา ทำให้ประชาชนที่หลงเชื่อ และปฏิบัติตามคำสอนของกัลยาณมิตรท่านนั้น หรือลัทธินั้นๆ เกิดความลุ่มหลงงมงาย และถูกครอบงำทางสติปัญญา ไม่สามารถพิสูจน์รู้ได้ว่า ทางไหนถูก ทางไหนผิด ตามหลักคำสอนของพุทธศาสนา

ต่อมาก็เป็นเหตุให้ผู้นำทางความคิดและคำสอนนั้นๆ ได้คิดแสวงหาประโยชน์ และลาภสักการะในรูปแบบต่างๆ จากสมาชิกที่ลุ่มหลงในความเชื่อแบบนั้นๆ ด้วยการชักนำและโน้มน้าวให้สมาชิกเสียสละ บริจาคข้าวของ เงินทอง ทรัพย์สมบัติส่วนตัวมากมาย ในรูปแบบการให้ทาน ด้วยการโฆษณาชวนเชื่อในรูปแบบทางศาสนา จนเกิดผลเสียหายตามมาอย่างไม่สามารถประเมินเป็นตัวเลขได้ เพราะเป็นการสูญเสียทั้งทางรูปธรรมคือสมบัติภายนอก และสมบัติภายในคือสติปัญญาถูกครอบงำ นำไปใช้ในทางผิด ไม่เกิดการพัฒนาหรือสร้างสรรค์ ความสงบสุขให้แก่สังคมมนุษย์ เกิดการด้อยพัฒนาในการดำเนินชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีงาม เกิดการล้าหลังทางการศึกษา ไม่สามารถนำความสงบสุขที่แท้จริงมาให้สังคม ชุมชนส่วนใหญ่ เกิดการไม่เคารพเชื่อฟังในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ทำให้สังคมเกิดความเห็นแก่ตัว สร้างค่านิยมให้มีการทำทุจจริตผิดกฏหมาย ว่าเป็นความชอบธรรม สนับสนุนการต่อสู้ การทำลายล้างในทุกรูปแบบขยายออกไปอย่างกว้างขวาง ตามลัทธิความเชื่อของเจ้าลัทธินั้นๆ
 
นี่คือผลเสียหายโดยสรุป อันเกิดจากการสอนที่ผิดพลาดทางศีลธรรม อันสืบเนื่องมาจากการสอนสมถะภาวนาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนานั้นเอง

วิปัสสนาที่ถูก ต้องมีสมถะกำกับอยู่เสมอ

และสมถะที่ถูก ก็ต้องมีวิปัสสนากำกับอยู่เสมอ

สัมมาสติมี ๒ ระดับ

๑. สัมมาสติระดับที่ทำให้จิตสงบ เรียกว่าสมถะ
๒. สัมมาสติระดับที่ทำให้จิตสว่าง สะอาด เรียกว่าวิปัสสนา

จิตที่สงบ อาจจะไม่สะอาดและสว่างเสมอไป แต่จิตที่สว่างและสะอาดจะต้องสงบก่อนเสมอ ดังนั้น การฝึกสมถะและวิปัสสนาที่ถูกต้อง จะทำให้เรารู้ว่าจิตที่สะอาดและสว่าง มันสงบอยู่ไปพร้อมๆกัน แต่จิตที่สงบอย่างเดียวไม่แน่ว่ามันจะสะอาดและสว่างไปด้วยหรือไม่ เพราะคำว่า สะอาดและสว่างในที่นี้ หมายถึงความสว่างของสติสัมปชัญญะและปัญญา มิใช่หมายถึงแสงสว่างของจิตอันเกิดจากนิมิตทางสมาธิ ที่กล่าวกันไว้ตามตำรา แต่เป็นแสงสว่างอันเกิดจากความเข้าใจรูปนามตามความเป็นจริง ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนั้นๆ

แต่ในการปฏิบัติวิปัสสนา ต้องมีสมถะร่วมในสัดส่วนที่พอดี หรือสมดุลย์ คือมีวิปัสสนา ๕๐ เปอร์เซ็นต์ สมถะ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าในสัดส่วนของทั้งสมถะวิปัสสนาไม่เท่ากัน เช่นมีวิปัสสนา ๘๐ เปอร์เซ็นต์ สมถะ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ก็ถือว่า มีอารมณ์หนักไปทางวิปัสสนา จิตอาจจะสงบได้ยาก แต่ถ้ามีสมถะ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ อารมณ์จะหนักไปทางสมถะ จิตอาจจะสงบมากเกินไป อาจมีปีติและสมาธินิมิต เข้ารบกวนได้ ผู้ปฏิบัติก็ต้องรู้ตัว และพยายามปรับให้สมดุลย์กัน

เว้นไว้แต่ในกรณีที่ ผู้ปฏิบัติเข้าใจเรื่องนี้แจ่มแจ้งแล้ว ไม่หลงอารมณ์ แต่ต้องการศึกษาในรายละเอียดในอารมณ์ทั้งสมถะและวิปัสสนา ก็สามารถ เน้นหนักไปทางอารมณ์ไหนก็ได้ เพราะจะไม่หลงในอารมณ์ทั้งสมถะและวิปัสสนา

การดึงใจกลับมาอยู่ใกล้ตัว

ผู้ปฏิบัติ ต้องพยายามทำบ่อยๆ ที่เรียกว่าความเพียร แต่อย่าหวังว่า ให้ใจที่กลับมาแล้วให้ตั้งอยู่นานๆ เพราะจิตมันเป็นภาวะการณ์เกิดดับตลอดเวลา แต่การเกิดดับของจิต เราอาจเรียกเป็นภาษาของวิทยาศาสตร์ว่า “ความถี่หรือ Frequency”

พระพุทธยานันทภิกขุ

 

One thought on “สมถะแบบไหนเป็นพุทธ แบบไหนเป็นพราหมณ์

Comments are closed.