สอบอารมณ์ตัวเอง

เป็นกลางระหว่างสงบกับฟุ้งซ่าน

การสอบอารมณ์ หมายถึง
การนำเอาการปฏิบัติมาศึกษา
วิเคราะห์ดูว่ามีอารมณ์อะไรบ้าง
ผ่านเข้ามา
 
ช่วงแรกก็จะมีนิวรณ์เข้ามา
เพราะจิตเราเคยไป
พอเราจับมันมาขังไว้
มันก็วิ่ง ก็ดิ้น ตามความเคยชิน
 
จึงเป็นการสู้กัน
ระหว่างจิตที่มันดิ้นไปหาความเคยชิน
กับการดึงให้มันอยู่กับที่
 
เราต้องประคองจิตให้เป็นกลาง
คือไม่ให้ดิ้นไปหาความฟุ้งซ่าน
ความเคยชิน
และไม่บังคับจิตให้อยู่กับที่
ไปหาความสงบ
 
ต้องฝึกให้มันเชื่อง
ซึ่งเป็นเรื่องยาก
ในการทำให้ลงตัวระหว่างกลางได้
 
ดังนั้นต้องสร้างตัวผู้รู้ขึ้นมา
เพื่อทำให้จิตอยู่ระหว่างกลาง
มีความเป็นกลาง
เพราะจิตมันไม่ยอม
มันจะดิ้นไปหาความเคยชิน
 
พอเราไปบังคับให้อยู่กับที่
ก็ติดสงบไป
หรือไม่ก็อึดอัดขัดเคือง
เหนื่อยในการสู้กับอารมณ์
กับนิวรณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้น
 
เป็นหน้าที่เราต้องศึกษา
เพื่อหาความลงตัว
หรือความเป็นกลาง
 
ศึกษาว่าวันนี้อารมณ์อะไรเข้ามา
ความง่วง ความฟุ้งซ่าน ปวดเมื่อย
ขึ้เกียจ สงบ
ศึกษาเพื่อก้าวผ่านไปให้ได้
ผ่านได้ก็สอบผ่าน
ผ่านไม่ได้ก็สอบตก
บางเรื่องเราก็ต้องสอบหลายครั้ง
 
การเฝ้าดู เฝ้าสังเกต หาทางผ่าน
เรียกว่าการวิจัย
ซึ่งจะต้องมีอาตาปี
คือมีความเพียร สม่ำเสมอ
และต่อเนื่อง

ใช้สติตรวจสอบจิต คือวิธีชำระจิต

ในการปฏิบัติที่ถูกต้อง
ไม่ต้องไปรู้อะไรมากหรอก
เพียงแต่ให้รู้สึกตัวทั่วพร้อม
ให้ชัดๆ ก็เพียงพอแล้ว

ไม่ต้องอยากรู้อยากคิดโดยไม่จำเป็น
ไม่ปล่อยให้จิตคิดอะไรขึ้นมาได้ง่ายๆ
แต่ถ้ามีความคิดผุดขึ้นมา
ก็ต้องเฉลียวใจตรวจสอบทันที
ไม่ปล่อยให้ลอยนวลเหมือนแขกเข้าบ้าน

แต่ละขณะที่มีความคิดเข้ามาในจิต
ทั้งที่เป็นความคิดดี กุศลจิต
และความคิดไม่ดี อกุศลจิต
ก็ต้องตรวจสอบกันก่อน
ไม่ควรอนุญาตให้เข้ามา
คิดเพ่นพ่านโดยไม่จำเป็น
เสมือนปล่อยให้คนแปลกหน้า
เข้ามาเดินเล่นในบ้านโดยไม่ใส่ใจ
อะไรจะเกิดขึ้น อันตรายแน่!

บางครั้งมีอารมณ์และความคิดแรงๆ
เข้ามาโจมตี เข้ามาสู่ใจอย่างตั้งตัวไม่ทัน
เราต้องกระตุ้นความรู้สึกตัวของเรา
ให้ชัดเจนเป็นพิเศษทันที
และดึงจิตกลับมาสู่ฐาน
ของสติปัจจุบันให้ทันกาล

อย่าละเลยหรือประมาทความคิดเป็นอันขาด
ให้พยายามทำความรู้สึกตัวด้วยความมั่นใจ
รู้สึกให้ชัดและรู้สึกให้เบาสบายเสมอ

ความสงบไม่ใช่เป้าหมาย

 

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้
เราเน้นความรู้สึกตัว
ทั้งกายและจิตไปพร้อมกัน
ไม่เน้นหนักไปทางใดทางหนึ่ง
มากเกินไป
 
แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก
สบายหรือไม่สบาย
ก็ให้ตามดูตามรู้แบบสบายๆ
ไม่ละเลยการเฝ้าดู
 
เมื่อทุกขเวทนาทางกายเพิ่มมากขึ้น
เราพอทนได้ระดับหนึ่งเท่านั้น
อย่าฝืนหรือเพ่ง
เพราะจิตอาจวิ่งเข้าหาความสงบ
แล้วเสพความสงบ
จนลืมความไม่สบายทางกาย
และไม่ต้องการบำบัด
จนเรียกว่า เบียดเบียนกาย
แต่หลบไปเสพสมาธิภายใน
 
แต่บางครั้งตรงกันข้าม
บำบัดกายจนสบายแล้ว
จิตเกิดสงบเข้าไปเสพ
ความสงบทางจิตต่ออีก
 
ดังนั้น นักภาวนาเรา
จะวิ่งกลับไปกลับมา
อยู่แค่ ๒ อารมณ์นี้เท่านั้น
 
เรียกว่า นันทิราคะ คือเพลิน
จมอยู่ได้ทั้งในเวทนา
ที่สบายและไม่สบาย
 
แต่ทางที่ถูก เราควรเฝ้าดู
การเปลี่ยนแปลงของกาย
และดูความแปรปรวน
ของความปรุงแต่งของจิต
ที่เปลี่ยนเป็นสุขบ้างทุกข์บ้าง
ตลอดเวลา
หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
 
ถ้าเรามัวเพลินในสุขในทุกข์
ที่เป็นผลของความแปรปรวน
ทางเวทนา
เราก็ไม่พบทางสายกลาง
ของอารมณ์บ่อยๆ
วิปัสสนาปัญญาก็ไม่เกิด
หรือไม่เข้มแข็ง
ก็ยังเป็นสมถะอยู่ดี
 
ดังนั้น ให้เริ่มตามรู้รูปนามให้ชัดไว้เสมอ
อย่ายุ่งกับความสงบหรือไม่สงบมากนัก
แต่ให้เห็นเหตุของมันเสมอ เห็นจนชำนาญ
แล้ววิปัสสนาญาณจึงมีโอกาสพัฒนาได้
พระพุทธยานันทภิกขุ