เปลี่ยนอิริยาบถแบบมีสติ

มีทุกข์ซ่อนอยู่ในทุกอิริยาบถ

ในความเห็นของคนทั่วไป ชีวิตมีทั้งทุกข์และสุขคละเคล้ากันไป
แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงเห็นเช่นนั้น
ทรงเห็นมีแต่ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น
มีแต่ทุกข์เท่านั้นตั้งอยู่ และมีแต่ทุกข์เท่านั้นดับไป
นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิด นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับ
พระองค์ทรงเห็นความจริงว่ากายและใจเรานี้เป็นทุกข์ล้วน ๆ
ความสุขที่ปุถุชนรู้สึกคือความทุกข์ที่ลดน้อยลงไปเท่านั้นเอง

ความทุกข์ที่เราเห็นได้ง่าย ๆ ในชีวิตประจำวันของเรา ก็คือ อิริยาบถ

ไม่มีใครยืน เดิน นั่ง นอน
ในอิริยาบถเดียวได้ตลอดทั้งวัน
ในชั่วเวลาหนึ่งเราอาจคิดว่า
ท่านั่งนี้เป็นท่าที่สบายที่สุด
 
แต่ถ้าต้องนั่งนาน ๆ โดยไม่ลุกเลย
ความทุกข์ย่อมเกิดขึ้นแน่ ๆ
 
เมื่อได้เปลี่ยนอิริยาบถ
เราจะรู้สึกมีความสุขสบายขึ้น
แต่อิริยาบถนั้นอยู่ได้ไม่นาน
เราก็ต้องเปลี่ยนอิริยาบถอีก
 
นี่คือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า
ความสุขที่เรารู้สึกนั้น
แท้จริงแล้วมิได้มี
มีแต่ทุกข์น้อยลงเท่านั้นเอง
 
วันหนึ่ง ๆ เราบำบัดทุกข์
ด้วยการเปลี่ยนอิริยาบถ
เป็นร้อยเป็นพันครั้งโดยไม่รู้สึกตัว
เป็นการเปลี่ยนอิริยาบถโดยสัญชาตญาณ
 
พระพุทธเจ้าทรงเห็นประโยชน์
จากการเปลี่ยนอิริยาบถ
ว่าสามารถแปลงให้เป็นปัญญาญาณได้
โดยให้มีสติเข้าไปรู้
ให้เห็นทุกข์ที่ซ่อนอยู่อิริยาบถต่าง ๆ
ว่ามันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาอย่างไร
การเห็นเช่นนี้คือการเห็นไตรลักษณ์
 
ให้เราหมั่นเอากายเป็นที่ตั้งแห่งสติ
เมื่อดูกายบ่อย ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่
จะเกิดจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิขึ้น
ทำให้มองเห็นจิตเคลื่อนไหวได้
โดยอัตโนมัติ
 
เมื่อเห็นกายเห็นจิตชัดเจน
จะเห็นธรรมะ
คือเห็นชีวิตมีแต่ความทุกข์
เหมือนที่พระพุทธเจ้าเห็น
 
เมื่อเห็นทุกข์ ก็ต้องแก้ทุกข์ที่สาเหตุ
เพื่อให้ทุกข์ดับ ด้วยวิธีการที่เป็นสัมมาสติ
นี่คือการรู้แจ้งอริยสัจจ์นั่นเอง

 

ทนแบบเก็บกด หรือทนแบบใช้ปัญญา

ความอดทนหรือการยับยั้งใจมี ๒ แบบ
คือทนแบบเก็บกด
ด้วยอำนาจของมานะทิฏฐิ
ยืนหยัดเพื่อเอาชนะตนเองและผู้อื่น
ในทางผิดๆ

ก่อให้เกิดอาการเก็บกด
บีบคั้นกายและใจของตนเอง
ให้ได้รับความลำบาก

ถ้าทำไปนานๆ
ก็มีผลให้ทรมานร่างกาย
และเบียดเบียนตนเองประเภทสุดโต่ง
เป็นที่มาของลัทธิอัตตกิลมถานุโยค
คือทนแบบทำตนให้ลำบากเดือดร้อน
ทนแบบนี้ไม่ได้ใช้ปัญญา

การปฏิบัติวิปัสสนา
เป็นการอดทนแบบใช้ปัญญา
คือทนต่อการบีบคั้นของอารมณ์
ที่เป็นฝ่ายของบาปและอกุศล

ไม่ตอบสนองต่อการครอบงำ
ของนิวรณ์ธรรมชนิดต่างๆ
เช่น ทนต่อความอยาก
หรือความใคร่ในกามารมณ์
ที่กระตุ้นรุมเร้าให้เผลอเพลิน
ในอารมณ์ที่น่ายินดีและพอใจ เป็นต้น

แต่ผู้มีสติ จะทนเฝ้าดูอาการกวัดแกว่ง
ดิ้นรนของจิตอย่างต่อเนื่อง
จนกว่ามันจะสงบเป็นปกติ

และใช้ปัญญาตรวจสอบดูว่า
อารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร
และตั้งอยู่อย่างไร

ถ้าเราเปลี่ยนไปแล้ว
อาการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร

การเข้าไปลำดับดูอาการ
ขั้นตอนเหล่านี้ตามลำดับ
เรียกว่าการใช้ปัญญา
มีเหตุมีผลในตัวของมัน
อันไหนเราทนได้ก็ทนไป
อันไหนทนไม่ได้ก็เปลี่ยนแปลง
อย่างมีสติสัมปชัญญะ

การเข้าไปรู้เหตุผลกระบวนการ
ขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
เรียกว่า การใช้โลกุตตรปัญญา

และเมื่อโลกุตตรปัญญาถูกใช้บ่อยเข้าๆ
ก็จะเกิดเป็นญาณปัญญา
คือเกิดความชำนิชำนาญ
เกิดความคล่องแคล่วว่องไว
ในการตัดสินใจ
ในการแก้ปัญหาแต่ละอย่าง
ได้ราบรื่นและสงบเย็น

รู้รูปนามภายในสามวัน

ก่อนการเปลี่ยนอิริยาบถแต่ละครั้ง
ให้เฝ้าดู สังเกต เห็นทุกขเวทนา
ที่มันเกิดขึ้น
จากน้อยไปหามากตามลำดับ
 
และเมื่อเราปรับเปลี่ยน
ก็ให้เห็นทุกขเวทนาที่มันคลายไป
ศึกษาให้ละเอียด
เห็นการเปลี่ยนแปลงของเวทนา
 
ตามสังเกตอย่างนี้
จนมีสติเข้มแข็ง แก่กล้า
จะรู้รูปนามภายใน 3 วัน
 
รู้รูปนาม คือ เห็นกาย เห็นใจชัด
ประคับประคอง ความรู้สึกตัว
สัมผัสกับการเคลื่อนไหวของกาย
ได้ชัดเจนมากกว่าเดิม
ต่อเนื่องมากกว่าเดิม
นานมากกว่าเดิม
 
เห็นการเข้าการออกของความคิด
และอารมณ์ได้ชัด
 
นี่คือสัญญาณของการเห็นอารมณ์รูปนาม
บางคนเกิดปีติ น้ำหูน้ำตาไหล
อารมณ์นี้เป็นอารมณ์เบื้องต้น
ต้องดูแล เอาใจใส่ พอกพูน
 
เพราะอารมณ์นี้ยังไหลกลับไป
เหมือนเดิมได้อยู่
บางคนก็อาจเป็นวิปัสสนูก็มี
 
และหากคนใดมีอารมณ์รูปนามไม่นาน
มุ่งมั่น ทำความเพียรต่อ
เข้าเก็บอารมณ์ 10 วัน 20 วัน
ก็สามารถทะลุไปอารมณ์ปรมัตถ์ได้เลย
 
เหมือนกับไข่ไก่ เมื่อมีการฟักตัวแล้ว
อย่างไรก็ต้องออกมาเป็นตัว
เป็นหลักธรรมชาติ
เป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติ

พระพุทธยานันทภิกขุ