เปิดไฟให้ใจสว่าง

 

การยกมือสร้างจังหวะ

เหมือนเปิดไฟให้ใจสว่าง

 

ตัวสติที่เข้าไปเห็นการทำงาน
ระหว่างตัวรู้สึกภายในกาย
ที่เรียกว่าเวทนา
และตัวรู้สึกภายในใจ
ที่เรียกว่าสติสัมปชัญญะ
มันทำงานเปลี่ยนกันไปอย่างไร
รู้การเปลี่ยนแปลงชัดๆ
เรียกว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
 
ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์
จึงไม่ได้หมายความว่า
เราจะต้องไปนึกคิดพิจารณา
 
แต่ในหลักของปรมัตถ์
หมายถึงการเข้าไปดู ไปเห็น
การทำงานของกาย ของใจ
เขาทำงานกันอยู่อย่างไร
 
การยกมือสร้างจังหวะ
ก็เพื่อเป็นตัวประคับประคององค์ธรรม
ให้มันต่อเนื่อง จะได้เห็นชัดๆ
 
ถ้าเป็นหลักของวัตถุคือ
เราต้องมีแสงสว่างชัดๆ
นักวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บ
เขาจะต้องมีแสงสว่างที่ชัดเป็นพิเศษ
ในการที่จะแยกคัดธาตุต่างๆ
ว่ามันเป็นอย่างไร
 
ถ้าเป็นธัมมวิจย หมายถึง
กายกับใจกำลังทำอะไรกันอยู่
เราเข้าไปดูไปเห็นให้ชัด
 
เรานั่งอยู่อย่างนี้
ความรู้สึกอย่างนี้เกิดขึ้น
เราขยับเปลี่ยนท่านั่ง
ความรู้สึกอย่างนั้นหายไป
 
ตามรู้ ตามดู ให้เกิดความปกติ
ถ้าสบายผิดปกติ ก็ผิดแล้ว
ถ้าไม่สบายผิดปกติ ก็ไม่ใช่
แต่ปรับให้มันสบายที่ปกติที่สุด
 
สติก็จะเปลี่ยนเป็นศีล
ธัมมวิจยก็จะเปลี่ยนเป็นสมาธิทันที
นี่คือองค์ของสัมโพชฌงค์ ๗

 

ชัดต่างกับเพ่ง

คำว่า “ชัด” กับ “เพ่ง” นี้ต่างกัน
คำว่า “ชัด” เหมือนเวลาเราเปิดไฟ
มองเห็นได้ทั่วๆ
 
“เพ่ง” นี่ปิดไฟหมด
แต่หลวงพ่อมีไฟฉาย
หลวงพ่อก็เปิดไฟฉาย
หลวงพ่อก็เห็นคนเดียวเท่านั้นเอง
คนอื่นไม่เห็น
 
“ชัด” เรามองเห็นทั่ว
แต่ “เพ่ง” นี่เห็นเป็นบางจุด
เราอาจจะเห็นเป็นช่องทาง
เราอาจจะไม่รู้ว่าเสาอยู่ข้างหน้า
เพราะเราไม่ได้มองทั่วๆ
 
ฉะนั้นเวลาปฏิบัติ
ถ้าเราตั้งใจเกินไป มันชัดเกินไป
มันหนัก มันเหนื่อย มันเมื่อย
มันเกร็งทั้งร่างกาย
อันนี้ชัดเกินไป เรียกว่า “เพ่ง”
 
ชัดพอดีเรียกว่า “ชัด”
เราก็ปรับให้มันสบายให้มันสมดุล
 
วิธีการของหลวงพ่อเทียน
เป็นวิธีการที่ทำให้สบาย
ทำยังไงก็ได้ให้ต่อเนื่อง
ให้รู้เนื้อรู้ตัว ให้สบาย

แสงสว่างของอวิชชา

การเดินทางของชีวิต มีจิตเป็นผู้เดินทาง
กายเป็นเพียงเส้นทางเดินของจิต
ใช้สติ สมาธิ ปัญญา (อริยสัจสี่) เป็นแสงสว่างนำทาง

แต่วิถีชีวิตของปุถุชน ใช้ความคิดเป็นผู้เดินทาง
ใช้อดีต อนาคต เป็นเส้นทางเดิน
และใช้อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นแสงสว่างส่องทาง

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพของแสงสว่างที่ส่องนี้ให้ชัดๆ
แสงสว่างของสติ สมาธิ ปัญญา
ก็เหมือนไฟฉายหรือแสงสปอทไลท์

แต่แสงแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
เป็นเสมือนแสงหิ่งห้อย ซึ่งให้แสงสว่างต่างกันมหาศาล

แล้วท่านจะเลือกใช้แสงสว่างแบบไหน
ที่จะช่วยให้การเดินทางสะดวกและปลอดภัย

พระพุทธยานันทภิกขุ

คนรู้ธรรมะเหมือนตะเกียง

ในระยะหลังๆ
ที่หลวงพ่อเทียนสุขภาพไม่ค่อยดี
ลูกศิษย์ของท่านเป็นห่วง
เรื่องการสอนธรรมะ
หลังจากที่ท่านจากไปแล้ว
ว่าจะเป็นอย่างไรนั้น ท่านตอบว่า

“เรื่องนี้อย่าเป็นห่วงเลย
ตราบใดที่ยังมีคนอยู่
ก็จะมีคนรู้ธรรมะเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว
เพราะธรรมะไม่ใช่เรื่องผูกขาด
เป็นของส่วนตัว

ธรรมะมีมาก่อนสมัยพุทธกาล
แต่พระพุทธเจ้าเป็นคนแรก
ที่ทรงนำมาสอนและเผยแพร่”

“คนที่รู้ธรรมะนั้นเปรียบได้กับตะเกียง
ที่จุดสว่างขึ้นในที่มืด
คนที่อยู่ใกล้จะเห็นชัดกว่า
คนที่อยู่ไกลก็จะเห็นชัดน้อยลง

สักพักหนึ่งตะเกียงก็จะดับไป
และจะมีการจุดตะเกียง
ให้สว่างขึ้นอีก เป็นครั้งคราว”

หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ