เหตุเกิดวิชชา

นิโรธปฏิปทาอริยสัจจ์

เหตุเกิดวิชชาและวิมุติเพื่อเห็นตัวเหตุต้น แก้ไขสมุทัยสัจจ์และปรับเปลี่ยนเหตุเกิดทุกข์ให้เป็นเหตุดับทุกข์ 10 ประการ

วิชชา คือ สามารถเจริญโพชฌงค์ 7 ได้มากขึ้น คือ เกิดอาการตื่นรู้ทั้งกายและจิตต่อเนื่องกันยาวนานจนสามารถทำวิปัสสนาเกิดขึ้น ชำระศีล-สมาธิ-ปัญญาที่เคยรับใช้ความคิดปรุงแต่งให้เดินทางโพชฌงค์ 7 ได้

  1. กัลยาณมิตร เป็นเหตุให้เกิดปัญญา 3 ประเภท คือ
    • สุตมยปัญญา
    • จินตามยปัญญา
    • ภาวนามยปัญญา
  2. ศรัทธา เกิดศรัทธาเชื่อมั่น เมื่อได้ยินได้ฟังแล้ว เข้าใจถูกต้อง แล้วตัดสินทำตาม แต่เชื่อมั่นในพื้นฐานตามหลักศรัทธาที่ถูกต้องในสัมมาทิฐิในพุทธธรรม 4 ประการคือ
    • กัมมสัททา = เชื่อกรรมคือ การกระทำของตนที่ประกอบด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง (สัมมาสังกัปปะ)
    • กัมมวิปากสัททา คือ เชื่อมั่นการกระทำที่ตนเองทำอย่างถูกต้องย่อมเกิดผลที่ถูกต้องดีงามแน่นอน
    • กัมมสกตาสัททา คือ เชื่อมั่นว่าผลของกรรมไม่ว่าจะออกมาเป็นดี – หรือชั่ว สุขหรือทุกข์ ตนเองก็ยินยอมพร้อมรับผลที่ตามมาอย่างเข้าใจ
    • ตถาคตะโพธิสัททา คือ เชื่อศรัทธาในความรู้ที่เกิดจากโพธิปัญญาของพระพุทธองค์ที่ตรัสรู้อย่างถูกต้องเป็นสวากขาตธรรมเท่านั้น และเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ผลอกุศลกรรมต่างๆ ด้วยวิปัสสนาญาณได้จากหนักเป็นเบา  จากเบาไปสู่การสิ้นกรรมได้
  3. สติสัมปชัญญะ คือ เกิดการได้คิดเห็นโทษภัยของความเชื่อที่ผิดๆ ที่ตนเองเคยเชื่อและเข้ามาในเรื่องภวของโลกธรรมต่างๆ หันมาปรับปรุงแก้ไขตนเองอย่างเต็มใจ ไม่ดันทุรังเหมือนอดีต
  4. โยนิโสมนสิการ คือ รู้จักใช้สติสัมปชัญญะใคร่ครวญพิจารณาในการกระทำในทางกาย วาจา และใจได้ละเอียดถี่ถ้วนรอบคอบมากขึ้น
  5. อินทรีย์สังวร คือ เกิดการใคร่ครวญพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแยบคาย แล้วย่อมเกิดสติ-ปัญญา ดูแลการกระทบของอยาตนะทั้งภายนอก-ภายใจ รู้จักเลือกรับข้อมูลที่เกิดจากกระทบสัมผัสของอายตนะภายนอก-ภายในได้ถูกต้องตามหลักของสัมมาทิฐิได้มากขึ้น
  6. สุจริต 3  คือ เมื่อรู้เลือกการกระทำได้ถูกต้องมากขึ้น การกระทำ พูด – คิด (กายกรรม) ทางกายที่ทำตามด้วยความคิดความอยาก ด้วยอำนาจของอวิชชา ตลอดถึงวจีกรรมและมโนกรรมเริ่มถูกกลั่นกรองมากขึ้น ตามอำนาจกำลังของสติปัญญาที่มีอยู่
  7. สติปัฏฐาน 4 คือ สนใจ-ใส่ใจในการพัฒนากายและจิตของตนให้ออกมาจากการครอบงำของอวิชชา-ตัณหา-อุปาทาน-กรรม ที่เคยตกเป็นทาสของมันมาโดยตลอด  เริ่มหาวิธีให้เหตุของ
    อุศลกรรมทั้ง 4 ลดลงตามหลักสติปัฏฐาน 4
  8. โพชฌงค์ 7 เมื่อเจริญสติปัฏฐาน 4  อย่างถูกต้องแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงสติ-สัมปชัญญะรดับโลกียกุศลให้เป็นโลกุตรกุศลมากขึ้นตามลำดับ
  9. อริยมรรคมีองค์ 8 เมื่อเจริญสติระดับกายานุปัสสนาสติจนสามารถปล่อยวางและสกัดความคิดปรุงแต่งแบบหยาบได้มากขึ้น  จิตก็ละเอียดประณีตมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนที่เคยวิ่งตามความคิดหรือเข้าไปในความคิด คือ จิตตสังขาร ก็สามารถออกจากจิตตสังขารได้มากขึ้นตามลำดับ
  10. วิมุติ คือ เมื่อวิถีที่ตื่นรู้มีความสมบูรณ์เมื่อใดย่อมเกิดการตัดกระแสแห่งโลกียะจิตได้ขาด เกิดการเปลี่ยนแปลง คือ เกิดปัญญาญาณเห็นวาระจิตของตนเกิด-ดับ จิตเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเด็ดขาด  ส่วนจะเปลี่ยนแปลงทันทีหรือเปลี่ยนแปลงตามลำดับก็ขึ้นอยู่กับกำลังวิปัสสนาญาณของปฏิบัติว่าอุปนิสัยของคนๆนั้นเป็นสมถยานิก หรือวิปัสสนายานิก  คือ การปฏิบัติมาตั้งแต่ต้นเป็นทางแห่งเจโตวิมุติหรือปัญญาวิมุติเป็นวาสนาและเป็นบารมีของบุคคลนั้นว่าเคยสั่งสมกำลังของจิตมาแบบศรัทธาจริต หรือพุทธจริต (ปัญญาจริต หรือ เป็นผู้มีอุปนิสัยมาทางสมถะ หรือ วิปัสสนาเท่านั้น)

หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท