พระธรรมเทศนา การเจริญภาวนาให้ถูกวิธี

หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธนานันโท แสดงธรรมโปรดสาธุชน ที่มาสวดมนต์ทำวัตรเช้า ในวันธรรมสวนะ ที่27 กค.2559 ณ วัดพระธาตุแสงเทียน อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

สัมผัสที่มากระทบเหมือนเข็มตาชั่ง

อธิษฐานแปลว่าความตั้งใจ
บางทีเราทำอะไรโดยที่ไม่ตั้งใจ
ตั้งสัจจะคือตั้งใจนั่นเอง
การตั้งสัจจะเพื่อเป็นการพัฒนาตนเอง
ช่วยให้เราเห็นความก้าวหน้า
ทางจิตวิญญาณ

ความก้าวหน้าในที่นี้หมายถึง
จิตของเราเข้ามาสู่ศูนย์กลาง
ของตัวเองมากขึ้น
ที่มันแกว่งไปในอดีตบ้าง อนาคตบ้าง
เมื่อมีการกระทบครั้งหนึ่งก็แกว่งทีหนึ่ง

เมื่อมีความก้าวหน้าของการปฏิบัติเกิดขึ้น
สัมผัสที่มากระทบเหมือนเข็มของตาชั่ง
มันไม่กระดิกซ้ายขวาขึ้นลงยาวเกินไป
กลับมาสู่ปัจจุบันได้เร็วขึ้น

ปีนี้ได้มีการพัฒนาหลักสูตรเพิ่มเติม
จากการปฏิบัติแบบเคลื่อนไหว
พิจารณาเห็นว่าในอดีตการปฏิบัติของเรา
ที่มีนักปฏิบัติผ่านมาแล้วผ่านไป

บางคนปฏิบัติมาตั้งนาน
แต่ก็มีการหลุดไปเยอะทีเดียว
ก็เลยมาวิเคราะห์ดูเพราะเหตุใด
เขาก็มีศรัทธาและความเพียร
แต่ทำไมถึงหลุด หรือเปลี่ยนไปมากทีเดียว

ก็มาลำดับคำสอนของหลวงพ่อเทียน
ทบทวนคำสอนของพระพุทธเจ้าใหม่
ว่าเราขาดตกบกพร่องตรงไหน
ทำให้ขบวนการฝึกปฏิบัติไม่ได้ผลเท่าที่ควร

มาทบทวนใหม่ตั้งแต่ต้นเหตุว่า
ความทุกข์และปัญหาทุกอย่าง
เริ่มต้นที่อวิชชา

พระพุทธเจ้าและหลวงพ่อเทียนต่างยืนยันว่า
ถ้าทำตามหลักการอันนี้ ต้องมีพัฒนาการใน
สามปี ห้าปี เจ็ดปี เจ็ดวัน หนึ่งวัน ตามลำดับ

แต่ทำไมผู้ปฏิบัติไม่สามารถเข้าถึงผล
ที่ท่านได้ตั้งเป้าไว้ ก็มาลำดับกันใหม่
ทบทวนดูว่าตัวอวิชชา คือความไม่รู้
มันมีขอบข่ายกว้างขวางแค่ไหน

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

รู้คือดับ หลงคือเกิด

ตัวไม่รู้สึกตัว ตัวรู้เท่าไม่ถึงการณ์
ตัวไม่รู้ตามความเป็นจริง ตัวรู้แบบไม่รู้
มาพิจารณาดูว่าคำจำกัดความไหน
ที่ตรงความหมายที่สุด
ตามความเป็นจริงที่เราเป็นอยู่

ทั้งหมดมันไม่ผิด
แต่มันต้องมีระดับของความเข้มข้น
ของความไม่รู้ต่างระดับกันไป

เบื้องต้นคือความไม่รู้เนื้อรู้ตัว
ขณะที่เราเคลื่อนไหว

ความไม่รู้ในระดับโลกียะ
และความไม่รู้ในระดับโลกุตตระ
ความไม่รู้ตัวในระดับมิจฉาสติ
และความไม่รู้ในระดับมิจฉาสมาธิ

มาเทียบดูในระหว่างปริยัติ ปฏิบัติ
มาเรียบเรียงใหม่ว่า ความรู้สึกตัว
เป็นเบื้องต้นในส่วนที่เป็นสัมมาสติ

แต่ส่วนที่เป็นมิจฉาสติคือ
รู้สึกตัวเหมือนกัน แต่รู้สึกออกไปนอกตัว
รู้สึกที่มันวิ่งออกไปจากนอกตัว
เรียกว่าความลืมหลง

นับตั้งแต่ความลืมหลงในระดับรูป
ความลืมหลงในระดับนาม

ความลืมหลงในระดับรูป
เช่น เราลืมนั่นลืมนี่
ลืมข้าวลืมของ ลืมอะไรต่างๆ

ความหลงลืมเป็นสัญชาตญาณของทุกคน
เพราะรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์

มันต้องหมุนตามกฎของไตรลักษณ์
มีจำ มีลืม มีรู้ มีหลง สลับกันไปเรื่อยๆ
ตามกฎของการเกิดดับ

เราไม่สามารถทำให้มันหลงตลอด หรือลืมตลอด
แต่มันจะรู้บ้าง หลงบ้าง
รู้หมายถึงมันดับ หลงหมายถึงเกิด

เหมือนเรานั่ง มันก็ปวดบ้าง หายปวดบ้าง
เมื่อยบ้าง หายเมื่อยบ้าง หนักบ้าง เบาบ้าง
สลับกันไปอย่างนี้เรื่อยๆ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ความรู้สึกตัวชั้นเดียว
เป็นสัญชาตญาณ

เวทนามีสองลักษณะ
ลักษณะที่มันเป็นไปตามกฎไตรลักษณ์
ที่มันเป็นเอง

และตามกฎไตรลักษณ์
ที่เรามีการเปลี่ยนแปลง
ตามกฎของการเปลี่ยนแปลงที่มีเจตนา

เราลงรายละเอียดมากขึ้น
ในเรื่องของรูปว่า
เวลานั่ง ที่มันเปลี่ยนแปลงเองคือ
จากนั่งสบายๆ จากเบา
สักพักหนึ่งก็ต้องเปลี่ยน

ทำไมเราถึงเปลี่ยน
เรารู้สึกตัวหรือไม่ในการเปลี่ยน
เวลาเปลี่ยนรู้สึกตัวทุกครั้งหรือไม่
บางครั้งไม่รู้สึกตัว บางครั้งรู้สึกตัว

เปลี่ยนโดยไม่รู้สึกตัว
รู้สึกว่าเวทนาทางกายมันหนักก็เปลี่ยน
โดยที่ไม่ตั้งใจเจตนา
ว่าจะตามรู้ความหนักที่หายไปอย่างไร
เปลี่ยนแล้วความเบาเกิดขึ้นอย่างไร

ความไม่สบายหายไปอย่างไร
ความสบายเกิดขึ้นได้อย่างไร
เราไม่ได้ตั้งเจตนาแบบนี้ทุกครั้ง
แต่เพียงรู้สึกหนักก็เปลี่ยนเท่านั้น
ลักษณะนี้เรียกว่า รู้สึกตัวชั้นเดียว
เป็นสัญชาตญาณ

ความรู้สึกตัวสองชั้น
เวลามันหนักก็เห็นอาการหนักเพิ่มขึ้น
หลังจากเปลี่ยนไปแล้ว
เห็นอาการเบาเกิดขึ้น

สติระดับนี้เป็นสติของคนที่ได้ฝึกฝนมา
พอสมควรแล้วที่จะตั้งใจ

แต่ไม่ได้หมายความว่า
จะมีเจตนาที่จะดูอย่างนี้ทุกครั้ง
บางครั้งก็เผลอไป

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ตั้งใจรู้เผลออยู่ดี

ขนาดเราฝึกมาแล้ว
ก็ยังมีการรู้เป็นบางครั้ง
เผลอเป็นบางคราวเหมือนกัน
ไม่ใช่ว่าจะรู้ทุกครั้ง

ถ้าเปรียบเทียบกัน
วันหนึ่งที่เราบำบัดทุกขเวทนา
โดยรู้ตัวกับไม่รู้ตัว
หรือตั้งใจกับไม่ตั้งใจ
อันไหนมากกว่า

ไม่รู้ตัวหรือไม่ตั้งใจมากกว่า
แม้เราปฏิบัติมาแล้ว
อันนี้คือกฎของไตรลักษณ์
ที่ฝืนมันไม่ได้เลย
มันจะต้องเป็นอย่างนี้

แม้เราจะตั้งใจที่จะรู้
ตั้งใจที่จะตามดูขนาดไหน
ก็ยังมีการเผลออยู่ดี

ทั้งๆ ที่เราบอกว่าเราปฏิบัติเพื่อไม่เผลอ
อันนี้เป็นกฎของธรรมชาติที่เราไม่อาจฝืนได้
แต่เราตั้งเป้าที่ไม่เผลอ
หมายความว่าให้เรียนรู้เป็นส่วนใหญ่

สมมติว่าในสิบครั้ง ถ้ารู้ห้าครั้ง ไม่รู้ห้าครั้ง
ถือว่าสมดุลแล้ว
ถ้าเราหลงห้าครั้ง รู้ห้าครั้ง เสมอตัว

เพราะมีการเกิด ก็ต้องมีการดับ
รู้หนึ่งครั้ง ไม่รู้หนึ่งครั้ง
สอดคล้องกับการเกิดดับพอดี
รู้หนึ่งครั้ง หลงหนึ่งครั้ง ก็สมดุล

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

หลงเท่าใดรู้เท่านั้นทันที

เรามั่นใจได้อย่างไรว่า
ในสิบครั้ง รู้สักห้าครั้ง ไม่รู้ห้าครั้ง

อาตมาลองมาวิเคราะห์ดู
บางทีมันรู้ตัวเหมือนกัน
แต่รู้แบบมิจฉาสติ รู้แบบไม่รู้
รู้ว่าหนักก็เปลี่ยนปั๊บ

แม้แต่พระปฏิบัติก็ยังเป็นอย่างนั้น
ดูเหมือนสถานการณ์ที่ตามดูอาการหนัก
แล้วเริ่มเปลี่ยนโดยเห็นการหนักเบาปรากฏ

ถ้าตั้งใจดูจริงๆ จะไม่ใช่สถานการณ์จริง
เป็นสถานการณ์จำลอง
ใครตั้งใจรู้อย่างนี้ทุกครั้ง
ก็เป็นการฝึกฝนไป

แต่คนที่ทำจนชำนาญแล้ว
ท่านก็เปลี่ยนเหมือนกัน แต่รู้เร็วขึ้น

คำว่ารู้ชัดไม่จำเป็นต้องช้าเสมอไป
เห็นขบวนการของการเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น
แต่มีเจตนาแฝงอยู่นิดหนึ่ง

รู้ในขณะนั้นเลย แต่มันรู้ได้ไว
ไม่ใช่เปลี่ยนแล้วรู้ตามหลั
ถือว่าเป็นอดีตไปแล้ว ให้รู้ขณะนั้น

เราต้องยอมรับความจริงว่า
มันมีเกิดแล้วต้องมีดับ
ต้นตอของมันแท้ๆ
ต้องมีรู้บ้างหลงบ้าง แต่ขอให้มันสมดุล
หลงเท่าใด ให้รู้เท่านั้นทันที

แต่ถ้าหลงไปสิบครั้ง
จะตั้งใจทำใหม่ ให้รู้ทั้งสิบครั้งเลย
ลักษณะนี้ก็ไม่ใช่ เพราะมันหลงไปแล้ว
เอาคืนไม่ได้ มันคนละส่วนกัน
มันต้องรู้ขณะนั้น แล้วแก้ขณะนั้นเลย

พอรู้ว่าหลงไปแล้วตั้งใหม่
เรียกว่าความสมดุล
ตัวนี้เป็นสาเหตุว่าทำไมเราปฏิบัติแล้ว
ได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

รู้-หลงให้สมดุล

รู้ครั้งหนึ่ง หลงครั้งหนึ่ง ถือว่าได้ผล
แต่ถ้ารู้หนึ่งครั้ง หลงสองครั้ง เริ่มแล้ว
รู้สองครั้ง หลงสี่ห้าครั้ง เริ่มไม่สมดุลแล้ว

ใส่ข้างหนึ่งหนึ่งกิโล
อีกข้างก็ต้องหนึ่งกิโลเหมือนกัน
ตาชั่งก็ไม่เอียง

ใส่ข้างหนึ่งสองกิโล อีกข้างสองกิโล
ตาชั่งก็ไม่เอียงเหมือนกัน

ใส่ข้างหนึ่งสองกิโล อีกข้างสามกิโล
เริ่มเอียงแล้ว

ให้นึกถึงความจริงที่เป็นรูปธรรมอย่างนี้
หลังจากนั้นก็มาเริ่มปรับว่า
สติที่มารู้การเคลื่อนไหวในกายเป็นอย่างไร

หลวงพ่อเทียนท่านเน้นในเรื่องการเคลื่อนไหว
สายอื่นก็เน้นการเคลื่อนไหวเหมือนกัน
แต่เน้นการเคลื่อนไหวในระดับเบาลงไปอีก
เช่นการเคลื่อนไหวลมหายใจ

แต่ในหลักสูตรของพระพุทธเจ้าท่านบอก
ให้รู้การเคลื่อนไหวในกายทั้งหมด มีหกระดับ

หนึ่ง รู้ลม
สอง รู้การเคลื่อนไหวอิริยาบถใหญ่
สาม รู้การเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย
สี่ รู้การเคลื่อนไหวของธาตุ
ห้า รู้การเคลื่อนไหวของอาการสิบสอง
หก รู้อาการเคลื่อนไหวของของเสีย

อากาศร้อนถือเป็นของเสีย
เราต้องการอากาศเย็นเข้ามา
ปวดท้องต้องการถ่ายทอดของเสีย
ถ่ายท้องออกไปก็รู้สึกสบาย

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เคลื่อนไหวให้ผลสองอย่างเสมอ

ลักษณะการเคลื่อนไหว
มันจะให้ผลสองอย่างเสมอ
สบายหรือไม่สบาย สุขหรือทุกข์
และเป็นกลาง

ทุกระดับการเคลื่อนไหว
เราจะไปจับทีละอย่างมันเยอะไป
ให้ครบทั้งอายตนะหก
ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ท่านบัญญัติมาหก
เพื่อให้รู้ทันเท่ากับอายตนะ

แต่ในปฏิบัติการจริงให้เหลือแค่สอง
การเคลื่อนไหวจะมีอาการอย่างน้อยสอง
อย่างมากสาม
สองก็คือสบายและไม่สบาย
สามคือมีเฉยๆ เพิ่มขึ้นมา

เรานั่งอย่างนี้ จะมีอาการแค่สองคือ
หนักหรือเบา และเฉยๆ

จากหกให้ดูแค่สาม
สามก็ยังมากไป ให้ดูแค่สอง
สองนี่ถือว่าที่สุดๆ แล้ว
หนักกับเบา

แต่ถ้าจะดูทั้งสองอย่างให้เหลือหนึ่ง
ก็คือให้ดูเฉยๆ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

จิตนิ่งๆ เฉยๆ เป็นสมถะ

ถ้ารู้เฉยๆ โดยที่ไม่รู้หนักรู้เบา
แต่มันรู้เฉยๆ ได้เหมือนกัน แต่เป็นสมถะ
ไม่ต้องไปรับรู้เรื่องหนัก เรื่องเบา
เรื่องสุข เรื่องทุกข์ เรื่องสบาย ไม่สบาย
ให้รับรู้จิตนิ่งๆ เฉยๆ เป็นสมถะ

ให้รู้ที่มาของเฉยๆ รู้หนัก รู้เบา
รู้สบาย ไม่สบาย แล้วเฝ้าดูเฉยๆ

ถ้ามันหนักเกินไป ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยน
ถ้ามันเบาเกินไป ก็พร้อมที่จะไม่เสพและไม่เพลิน
และปรับเปลี่ยน
ลักษณะนี้เป็นวิปัสสนา

วิปัสสนาจะครบด้วยทั้งสาม
แต่ถ้ามันเหลือสอง เหลือหนึ่งเมื่อใด
ก็เป็นสมถะ เพราะมันโฟกัสและนิ่งเกินไป

เราหลงทำสมถะมากกว่าวิปัสสนา
คือไม่รู้ให้ครบ
ท่านอุตส่าห์ลดจากหกให้เหลือสามแล้ว
เราก็ยังเหลืออยู่หนึ่งอีก

เรื่องหนัก เรื่องเบา เรื่องสบาย ไม่สบาย
มีอยู่เป็นบางคราวหรือมีตลอดเวลา?

ในแง่ของรูปหรือกาย มีตลอดเวลา
เพราะมันเป็นกฎของไตรลักษณ์

กฎของไตรลักษณ์ก็พัฒนามาจาก
กฎของการเกิดดับ
ถ้าไม่มีการเกิดดับ ร่างกายก็อยู่ไม่ได้
มันก็จะตาย มีแต่เกิด ไม่มีดับก็ไม่ได้

เหมือนไฟ ถ้ามีแต่ขั้วบวก ไฟก็ไม่ออก
ถ้ามีแต่ขั้วลบ ไฟก็ไม่ออก
พอครบทั้งสองขั้ว ไฟปรากฏ
อันนี้คือกฎของสากล

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เผลอไปแก้ไขใหม่ได้ทันที

บางครั้งมือมันเกาที่หัวโดยไม่รู้ตัว
ก็มาตั้งใจใหม่แล้วไปใหม่
อันนี้คือแก้ทันที ก็โอเค
เพราะมือมันไปโดยที่ไม่รู้ตัว
เราก็เริ่มไปใหม่ แก้เสีย

แต่ถ้าไปแล้วไปเลย เดี๋ยวค่อยแก้ไขกันไป
แสดงว่าไม่ทันแล้ว ครั้งหน้าก็คือครั้งหน้า
แต่ครั้งนี้ยังไม่ได้แก้ ติดหนี้เอาไว้แล้ว

ถ้าอย่างนั้นเราบวกความรู้สึกตัว
เข้าไปหลายๆ อย่าง เผื่อเหลือเผื่อขาด

นอกจากดูการเคลื่อนไหวของกายแล้ว
ดูการเคลื่อนไหวของลมหายใจ บวกเข้าไป

ดูการเคลื่อนไหวของอิริยาบถสี่ยังไม่พอ
ก็ดูการเคลื่อนไหวของอิริยาบถย่อย
บวกเข้าไปด้วย

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

อาการของธาตุสี่

การเคลื่อนไหวอิริยาบถย่อย
เป็นการเคลื่อนไหวของลมในธาตุสี่
ดิน น้ำ ลม ไฟ

การเคลื่อนไหวร่างกาย เป็นธาตุลม
เรานั่งได้นิ่งๆ ตามต้องการ เป็นธาตุดิน
ร่างกายร้อน อบอ้าว เป็นธาตุไฟ
ร่างกายเย็นสบาย เป็นธาตุน้ำ
ดูอาการของมัน

อาการของธาตุสี่ ย่อเหลือสองคือ
อาการของธาตุน้ำและธาตุดิน
ออกมาเป็นเย็น
อาการของธาตุไฟ ออกมาเป็นร้อน
ธาตุไฟหนัก ธาตุลมเบา

ทั้งสี่ธาตุรวมแล้วเหลือธาตุหนักกับธาตุเบา
ธาตุดินกับธาตุไฟ เป็นธาตุหนัก
ธาตุน้ำกับธาตุลม เป็นธาตุเบา
ออกมาเป็นความรู้สึกสองอย่างคือ
สบายและไม่สบาย

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ปฏิบัติสมถะ แต่เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา

เมื่อเรามาเข้าใจหลักการอันนี้
ทำให้ระมัดระวังมากขึ้น
เฝ้าดูละเอียดมากขึ้น

การที่เรามีสติ
เฝ้าดูอย่างละเอียดและต่อเนื่อง
มันก็เกิดความสมดุล

แต่ถ้าเป็นการเพ่ง
ไม่ให้จิตไปรับรู้ทั้งสองอย่าง
อาการสบายไม่สบาย หนักหรือเบา
ไม่รับรู้ รับรู้แค่จิตนิ่งๆ อย่างเดียว

ตรงนี้กลายเป็นสมถะไปเลย
ซึ่งไม่ใช่ทางของพุทธ
เป็นทางของพราหมณ์

ที่เราพลาดจุดนี้เอง
เราปฏิบัติสมถะ แต่เข้าใจว่าเป็นวิปัสสนา
นี่คือข้อบกพร่องของมัน

ก็ต้องแก้จากตัวสมถะมาเป็นวิปัสสนา
แทนที่จะไปรู้นิ่งๆ
รู้โดยที่ไม่รับรู้ต่ออาการอย่างอื่น
ให้มารับรู้ต่ออาการอย่างอื่น
แล้วก็ปรับ

เราไปรู้อาการสุข อาการทุกข์
อาการสบาย ไม่สบาย
เพื่อปรับนส่วนที่เกินออก ถ้าหนักเกินไป
ถ้าปรับในส่วนที่เกินออกโดยที่ไม่รู้ตัว
ก็กลายเป็นสัญชาตญาณไปอีก

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ชัดเจนและต่อเนื่องด้วยสติสัมปชัญญะ

ถ้าเราตั้งใจปรับอย่างรู้เนื้อรู้ตัว
เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของเวทนา
ก็เกิดเห็นไตรลักษณ์ขึ้นมา

เราจะรู้เรื่องไตรลักษณ์หรือไม่ก็ตาม
แต่เฝ้าดูการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป
ของอาการต่างๆ ที่ปรากฏ
ก็เป็นวิปัสสนา

แต่ถามว่าเรารับรู้อย่างนี้ชัดเจน
และต่อเนื่องหรือไม่?

ไม่ชัดเจนและไม่ต่อเนื่อง
บางครั้งรู้ บางครั้งไม่รู้
ก็ต้องเข้ามาแก้ตัวนี้

การเข้าไปรับรู้ชัดเจนและต่อเนื่อง
ท่านจึงเอาตัวสติสัมปชัญญะ
ในสติปัฏฐาน เข้ามาประกอบ

สติสัมปชัญญะในสติปัฏฐาน
ต่างจากสติสัมปชัญญะทั่วไปอย่างไร?

สติสัมปชัญญะในสติปัฏฐาน
ท่านบอกว่า “อาตาปี สัมปะชาโน สะติมา
วิเนยยะโลเก อะภิชฌาโทมะนัสสัง”

ต้องมีอาตาปี เฝ้าดู สังเกต อย่างต่อเนื่อง
ถ้าสังเกตบ้าง ไม่สังเกตบ้าง
ไม่เป็นอาตาปีแล้ว

สังเกตอย่างต่อเนื่องด้วยลักษณะ
ให้รู้ตัวทั่วพร้อม

รู้ตัวทั่วพร้อมแล้ว
ต้องแก้ไขอาการสองอย่างได้ คือ
อภิชฌาและโทมนัส ชอบและไม่ชอบ
หนักและเบา
ต้องแก้ไขออกไปในส่วนที่มันเกิน

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ทนนั่งนานไม่พลิกเลยเป็นสมถะ

ถ้านั่งไปนานๆ เราเพลิน
รู้สึกร่างกายไม่หนักแต่รู้สึกเพลิน
สบายกายแต่ใจเป็นอภิชฌาไปแล้ว
ทำให้เพลิน ทำให้ติดใจ ไม่อยากเปลี่ยน
เป็นอภิชฌาไปเรียบร้อยแล้ว
อยากจะนั่งไปอย่างนั้นเรื่อยๆ ไม่อยากเปลี่ยน

บางทีเผลอ อยากเปลี่ยนก็เปลี่ยนเลย
ผิดทั้งกายและใจแล้ว มันเป็นสมถะไป
คือเปลี่ยนเลย

จะต้องตามดูว่าจะเปลี่ยนอย่างไร
และเปลี่ยนแล้วเกิดอะไรขึ้น ปรับให้มันสบาย
ท่านไม่ได้ห้ามการเปลี่ยนแปลง

แต่การที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง
เราใช้ความหมายว่าต้องอดทน ต้องอดกลั้น
ต้องอธิษฐานว่าไม่พลิก ไม่เปลี่ยน
เป็นอาการของสมถะทั้งหมดเลย

แต่อาการที่พระพุทธเจ้าอธิษฐานว่า
ฉันจะนั่งอยู่ตรงนี้ แม้เลือดเนื้อเอ็น
จะแตกดับเหือดแห้งไปก็ตาม
ฉันจะไม่ลุกจากที่นี่

แต่ท่านไม่ได้บอกว่าฉันจะไม่เปลี่ยน
ท่านบอกว่าจะไม่ออกจากที่นั่นเท่านั้น
ท่านจะเปลี่ยนอย่างไรเป็นเรื่องของท่านแล้ว

แต่เราไปตีความหมายว่า
นั่งแบบไม่พลิก ไม่ลุกเลย ซึ่งมันก็ผิดแล้ว
เพราะเราไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์

เราก็ไม่เข้าใจความหมายว่า
ท่านบอกว่าท่านไม่ออกจากที่นั่น
แต่ท่านไม่ได้บอกว่า
ท่านจะไม่เปลี่ยนอิริยาบถ

ท่านจะเปลี่ยนอิริยาบถเท่าใดไม่มีใครรู้
ท่านอาจจะนั่งอยู่ตรงนั้นทั้งคืน
แต่ท่านก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ อย่างที่เราเปลี่ยนกัน

ท่านทำสมถะตามอาจารย์อื่นๆ มานานแล้ว
ท่านจะทำอีกทำไม
ท่านเห็นว่าทางที่นั่งโดยไม่พลิกไม่เปลี่ยน
ไม่เคลื่อนไหว ด้วยความอดทน
ท่านทำมาแล้วตามอาจารย์เจ้าลัทธิอื่นๆ
ท่านก็เลยลองมาเปลี่ยนแบบนี้บ้าง

แต่ที่ท่านอธิษฐานคือ
ท่านอธิษฐานว่า ถ้าไม่รู้เรื่องนี้
จะไม่ลุกออกจากที่นี่
แต่ไม่ได้บอกว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงอิริยาบถ
ตรงนี้สงสัยว่าเข้าใจผิดแน่นอนเลย

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ถึงจุดหมายถ้าเข้าใจถูก

ตอนหลังอาตมาก็เลยมาปรับให้มันเป็นจริง
อันไหนที่เราทำแล้วมันไม่ใช่
พระพุทธเจ้าก็บอกว่าท่านเป็นมนุษย์ธรรมดา
ไม่ได้เป็นเทพเจ้าผู้วิเศษ
เรารู้อย่างไรท่านก็รู้อย่างนั้น
ก็สื่อความหมายกันง่ายขึ้น

ไม่ได้เป็นอำนาจของผู้วิเศษหรือเทพเจ้า
แต่เป็นอำนาจของมนุษย์ธรรมดา
มนุษย์ธรรมดาสื่อความหมายได้อย่างไร
ท่านก็สื่อความหมายได้อย่างนั้น

แต่ความเข้าใจจะถูกหรือจะผิด
ตรงนี้ท่านให้ความสำคัญมาก
ท่านใช้คำว่ามิจฉาทิฏฐิ และสัมมาทิฏฐิ
เป็นเรื่องเริ่มต้นที่สุดเลย

เพราะในมรรคแปดเริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิ
สิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นตรงกันข้าม
คือมิจฉาทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐิคือเข้าใจไม่ถูก
สัมมาทิฏฐิคือเข้าใจถูก
เป้าหมายสำคัญอันแรกที่สุด
ต้องมาปรับที่ความเข้าใจ

ไม่ได้ให้เจริญสติเยอะๆ เจริญสมาธิเยอะๆ
แต่ให้ปรับความเข้าใจให้ถูก

เมื่อเข้าใจถูกแล้ว ก็เหมือนเราเดินทาง
ปรับทิศทางถูกต้องแล้ว
จะเดินช้าเดินไว เดินทางด้วยพาหนะอะไร
เป็นเรื่องของเรา

แต่ให้รู้เป้าหมายว่าจะไปไหนแน่นอนที่สุด
จะเดินทางแบบไหนก็ถึงวันยังค่ำ
แต่จะถึงช้าถึงไวแล้วแต่ความต้องการ

ไปกรุงเทพจะให้ถึงภายในหนึ่งชั่วโมงก็ได้
จะไปถึงในห้าวันเจ็ดวันก็ได้
เราชอบแบบไหนก็เลือกแบบนั้น
ประการสำคัญต้องเป้าหมายถูกต้อง
คือสัมมาทิฏฐิ

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

สติปัฏฐานสี่คือ GPS

ท่านจึงยืดหยุ่นเอาไว้ว่า
อย่างช้าที่สุดไม่เกินเจ็ดปี
อย่างเร็วที่สุดไม่เกินหนึ่งวันถึงเจ็ดวัน

ที่เราสวดในสติปัฏฐานสูตร
ท่านยืดหยุ่นเอาไว้ตั้งแต่หนึ่งวันถึงเจ็ดปี
แล้วแต่เราจะไปถึงเมื่อไร

แบบขี้เกียจที่สุด เดินไปเล่นไป
แต่คุณต้องไม่ตายเสียก่อน
และต้องไม่หลงทาง

เดินตามทางรถไฟไปเลย
ไปถึงสามแยกสี่แยกไปไม่ถูก
ก็ไปอีกทางหนึ่งเลย

ไปถึงพิษณุโลก นครสวรรค์ อยุธยา
ทางแยกเยอะแยะเลย
ต้องอาศัยอะไรจึงจะไปทางถูก?

สมมติว่าไปถึงแถวเชียงรากน้อย เชียงรากใหญ่
ทางหนึ่งจะไปอีสาน ทางหนึ่งจะไปหนองคาย
ทางหนึ่งจะไปโคราช ทางหนึ่งจะไปทางเหนือ
ทางหนึ่งจะไปทางใต้
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าทางไหนจะไปกรุงเทพ

สมัยนั้นยังไม่มีจีพีเอส
ต้องอาศัยนายสถานีหรือกัลยาณมิตร

พระพุทธเจ้าท่านเซ็ตจีพีเอสไว้เรียบร้อย
จีพีเอสคือสติปัฏฐานสี่
ถ้าทำตามอย่างถูกต้อง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ดูจิตอย่างเดียวเป็นสมถะ

เมื่อมาปรับหลักสูตร
จะเอาแต่เรื่องจิตอย่างเดียวไม่ได้
เพราะอาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
ที่จิตรับรู้ได้ มาจากกาย
ต้องเริ่มต้นจากกายด้วย

จากนั้นมาอาตมาก็ปรับหลักสูตรมาเรื่อยๆ
ปรับเรื่องการออกกำลังกาย ลมหายใจ
การปรับเปลี่ยนอิริยาบถ การสังเกต
ปรับเรื่องสมถะที่เอื้อต่อวิปัสสนา

สมถะที่ไม่เอื้อต่อวิปัสสนาก็มี
ที่เราแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้
เป็นสมถะที่เอื้อต่อวิปัสสนา
แก้ไขปัญหาทางกาย
หนักเป็นเบา เบาเป็นหนัก
หนาวเป็นร้อน ร้อนเป็นหนาว
มาปรับให้มันพอดี

การปรับให้พอดีทางร่างกาย
เป็นสมถะที่เอื้อต่อวิปัสสนา

แต่การไม่ปรับร่างกาย
ปรับแต่จิตให้นิ่งอย่างเดียว
เป็นสมถะที่ไม่เอื้อต่อวิปัสสนา

พระพุทธยานันทภิกขุ