หนังสือ ภาวนาให้เป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ

 

 

 

หนังสือ ภาวนาให้เป็นสุข พ้นทุกข์ด้วยสติ โดย พระพุทธยานันทภิกขุ (หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท)

รวบรวมธรรมะจากหนังสือเล่มนี้ เรียบเรียงใหม่โดยคุณวัฒนา พิมพ์บึง ที่ได้โพสต์ในเฟซ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, Dynamic Meditation (นาโนแห่งมหาสติ), Mindfulness Club (นาโนแห่งมหาสติ)… ซึ่งจะมีการเพิ่มเติมข้อมูลในหน้านี้อยู่เสมอ

……………………………………………………

….หลักปฎิบัติสติกับชีวิตจริง…

“…การเจริญกรรมฐานแบบเคลื่อนไหว ต้องการให้ผู้ปฎิบัติ
สามารถนำไปประยุกต์
ใช้กับชีวิตประจำวันให้ได้
เเละมีชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่น
อย่างมีความสงบสุข

ให้ทำใจไว้เสมอว่า
การทำงานคือ…การเจริญสติ
ภาวนาตัวจริง…”

……………………………………………

รู้น้อยๆแต่รู้นานๆ

“…ให้เราสนใจปฎิบัติกันให้ได้ ให้เราศึกษากันแค่ตามดูกายกับใจ ดูรูปดูนามเท่านั้น มันไม่ใช่เรื่องอยากเลยจริงๆ

แต่คนทุกวันนี้ก็แปลกนะ เขาบอกว่า “รู้แค่นี้มันจะเพียงพออะไร รู้แค่นี้ก็โง่เท่านั้นเเหละ”

เขากลัวโง่แต่ไม่กลัวทุกข์ ความจริงแล้วเรายิ่งกลัวตัวเองโง่ ยิ่งโง่หนักเข้าไปอีก

ไม่ต้องกลัวโง่หรอก ที่คุณรู้เยอะๆนั้นมันมันทำให้คุณโง่ ถูกอวิชชาท่วมทับมาแล้วเท่าไร

แต่รู้น้อยๆคือรู้กายรู้ใจ ด้วยสติปัญญา รู้ไปเรื่อยๆและรู้นานๆ จิตก็พร้อมที่จะเกิดปัญญา

ความเฉลียวฉลาดก็เกิดขึ้นเองเพราะจิตที่ไม่แบกภาระมาก ใจที่ไม่แบกความคิด มันจะโล่งโปร่ง เบา สบาย

ต่างกับใจที่หนักอึ้งไปด้วยความรู้ความจำมันจะหนักใจโดยไม่รู้ตัว…”

……………………………………………

ธรรมวิจัยต่างจากธรรมวิจารณ์

“…ธรรมวิจัยต่างจากธรรมวิจารณ์อย่างไร เรื่องนี้ละเอียดอ่อน ยากที่จะแยกกันชัดเจน

แต่มีข้อสังเกตง่ายๆคือ ถ้าอารมณ์ธรรมวิจัยเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นการตามรู้เฉยๆชัดๆในรูปนามจะตามมา

เพื่อค่อยทำหน้าที่รู้ไตรลักษณ์เช่นเดียวกันกับธรรมวิจารณ์ จิตจะไม่ได้เข้าไปในอารมณ์นั้นๆ

เเต่จิตทำหน้าที่เป็นผู้รู้เฉยๆ จะไม่เข้าไปเป็นอารมณ์ที่กำลังปรุงแต่ง

และจะหวลกลับมาตั้งอยู่กับรูปนาม แบบแนบสนิท อย่างไม่ลังเลสังสัย

ซึ่งตรงข้ามกับอารมณ์ที่เป็นธรรมวิจารณ์ ที่มักจะหลุดจากรูปนามบ่อยๆ

เเม้จะได้สติกลับมา สติก็จะอยู่กับรูปนามหลวมๆไม่เเนบสนิท

เพราะมัวไปสนุกสนานกับการปรุงแต่งในปุญญภิสังขาร หรือธรรมมภิสังขารนั่นเอง…”

……………………………………………

“…การที่เราไม่มีสติไปเห็นรายละเอียดของความรู้สึกนึกคิดได้ชัดเจน

เพราะญาณปัญญาของเรายังไม่มีพลังสูงพอที่จะเห็นได้หรือจูนกันไม่ติด

เมื่อใดญาณปัญญามีพลังแก่กล้าเพียงพอ จึงจะสามารถเห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ของสังขารธรรมทั้งหลาย

และญาณทัศนะนั้นต้องเกิดขึ้นด้วยวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น
ไม่ใช่ไปเห็นด้วยโลกิยปัญญาหรือการนึกคิดพิจารณา ด้วยจินตญาณทั่วไป…”

…………………………………………..

“…ถ้าเรามีสติที่ฝึกมาดีแล้ว ตัวรู้ก็จะทำหน้าที่ตามรู้ไปเรื่อยๆ ทันตอนไหน อวิชชาก็จะดับตอนนั้น

ถ้าสติเข้มแข็งแล้วมันจะตามรู้อย่างละเอียดยิบเลย
เวลาแห่งการตามรู้ตามเห็นผ่านไปแต่ละเดือนแต่ละปี

จิตของเราจะเกิดทักษะ มีความชำนิชำนาญในการตามรู้ทุกข์ได้ทันกาลขึ้นเรื่อยๆ

แต่ถ้าขาดสติบ่อยๆความเผลอคิดก็ถูกสั่งสมมามากขึ้นเรื่อยๆเหมือนกัน

วันเวลามันจะผ่านไปเนิ่นนานขนาดไหน ความเคยชินความไม่เเยบคาย เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ ก็จะเพิ่มพูลกำลังมากขึ้น…”

…………………………………………

• ความรู้สึกตัว ปกติที่ทุกคนสามารถรู้จักโดยไม่ยากเลย
เพียงแต่ตั้งจิตไว้กับความรู้สึกแบบนี้ไปให้นานๆ

• และนานที่สุดเท่าที่จะนานได้
และให้รู้สัมผัสชัดๆ พยายามตามรู้การเคลื่อนไหวของทุกส่วนของร่างกาย เเละจิตใจไปเรื่อยๆ ประเดี๋ยวก็จะรู้ขึ้นมาเอง

• ที่สำคัญให้เห็นและเข้าใจชัดๆว่า ความรู้สึกตัวที่กำลังสัมผัสนี้คือ รูปกับนาม หรือกายกับใจ

• ความรู้สึกตัวแบบนี้คือ ตัวสภาวธรรมที่เกิดมาพร้อมกับชีวิตเรา

• ก็เพราะมันอยู่กับเราตั้งแต่เกิดนี่เเหละ เราจึงมองไม่เห็นความสำคัญของมัน น้อยคนนักที่จะให้ความสำคัญ และสนใจที่จะรู้…

………………………………………….

“…เราไม่ต้องรอใคร
ไม่ต้องห่วงใครทั้งนั้น ต้องลงมือทันที ถ้าเราต้องการมีชีวิตรอด
จากภัยทั้งปวง

เเต่สำหรับคนบ้างคน
ที่ยินยอมพร้อมตาย ไม่ว่าจะเกิด
อะไรขึ้น ยังไม่ขวนขวาย
ที่จะหาที่พึ่งใดๆให้เเก่ตน

ก็ปล่อยให้เป็นไปตามกรรม
ของเขา เพราะถึงแม้โลกนี้
จะประสบภัยพิบัติหรือไม่ก็ตาม

คนที่ประมาท ขาดที่พึ่งทางใจ
ก็วิบัติอยู่แล้ว ทุกวันเวลา…”

…………………………………………

“…คนในปัจจุบันนี้เขากลัวโง่
เเต่ไม่กลัวทุกข์
ความจริงเเล้ว เรายิ่งกลัวตัวเองโง่
มันยิ่งโง่หนักเข้าไปอีก

ไม่ต้องกลัวโง่หรอก
ที่คุณรู้เยอะๆนั้นมันทำให้คุณโง่
ถูกอวิชาท่วมทับกันมาเท่าไร

แต่รู้น้อยหรือรู้กาย รู้ใจ
ด้วยสติด้วยปัญญา รู้ไปเรื่อยๆ
และรู้นานๆ จิตก็พร้อมที่จะเกิดปัญญา

ความเฉลียวฉลาดก็เกิดขึ้นเอง
เพราะจิตที่ไม่แบกภาระ
ใจที่ไม่เเบกความคิด

มันจะโล่ง โปร่ง เบา สบาย
เเต่ใจที่หนักอึ้งไปด้วยความรู้ความจำ มันจะหนักใจโดยไม่รู้ตัว...”

…………………………………..

“…จิตมีหน้าที่คิด
คิดไปตามหน้าที่ของจิต
สติมีหน้าที่รู้ ก็ตามรู้ไปเรื่อยๆ

เพียงแต่ตามรู้
อย่าไปเผลอสติเด็ดขาด
ถ้าเผลอนิดเดียว จิตจะแฉลบ
เข้าไปในความคิดทันที

ให้กลับมารู้สึกตัวให้ชัดไว้เสมอ
เมื่อสติรู้เห็นความคิด
มันจะรับรู้เฉยๆ
เเล้วสลัดความคิดออกไป…”

……………………………….

การเฝ้าดูเวทนาเหตุให้เกิดปัญญา

“…การฝึกฝนก็มีความหมายเพียงการเฝ้าดูและพิจารณาการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องเท่านั้น

เมื่อมีอุปสรรคหรือนิวรณ์ตัวใดเกิดขึ้น ก็คอยบำบัดเเก้ไขไปเรื่อยๆ โดยไม่ต้องตั้งความหวังว่า จะรู้อะไรมากกว่านี้

เพียงรู้ตัวรู้ใจไปเรื่อยๆก็พอ เมื่อถึงเวลา อะไรจะเกิดให้รู้อีกก็เฝ้าดูไปเฉยๆ

รักษาอาการเฝ้าดูไว้อย่าเข้มแข็งแล้วจะหายสงสัยในเรื่องชีวิตจิตใจของตนเองไปเรื่อยๆ

เเละเมื่อหายสงสัยในชีวิตของตนเองก็จะหมดสงสัยในชีวิตของคนอื่นด้วย

เพราะชีวิตของสัตว์ทั้งหลายมีโครงสร้างขั้นฟื้นฐานคือ ธาตุ๔ขันธ์๕ไม่แตกต่างกัน

เมื่อรู้หนึ่งก็คือรู้ทั้งหมด แต่รู้ให้ถูกต้องตามหลักของสัมมาทิฏฐิเท่านั้น

ถ้าผิดไปจากหลักนี้ก็ไม่รับรองว่า จะรู้หนึ่งคือทั้งหมด หรือรู้ทั้งหมดคือหนึ่งหรือไม่?

นี้คือเส้นทางที่จะนำไปสู่การสิ้นทุกข์เพราะสิ้นสงสัยแล้ว…”

ภาวนาเป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ/พระพุทธยานันทภิกขุ(น.๔๓)

…………………………………………..

“…ตามหลักธรรมบอกว่า พระพุทธภาวะ มีอยู่แล้วในตัวคนทุกคน แต่เราไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ รู้ ตื่น เบิกบานมาก่อน จึงไม่สามารถทำให้ตัว พุทธจิตเกิดได้ตลอดเวลา

ทำไมเราจึงไม่รู้สึกตื่นรู้ หรือเบิกบานได้ตลอดเวลา ทำให้ต้องรู้สึกเศร้า บางครั้งก็หัวเราะ บ้างครั้งก็เศร้า ทั้งๆที่รู้ตื่นเบิกบานมีอยู่เเล้ว ทำไมไม่ใช้ให้ตลอดเวลา

ก็เพราะเรายังไม่ได้ฝึกตัวรู้ ตัวตื่น ตัวเบิกบานให้เข้มแข็ง ไม่ได้ฝึกตัวรู้ที่ถูกต้อง เเต่เรากับตัวรู้ รู้เเบบหลับๆหลงๆ

เหมือนเมล็ดข้าวเปลือก บางคนก็เอาไปปลูกเป็นข้าวใช้เป็นอาหาร บางคนก็เอาไปเลี้ยงสัตว์ ต่างกันออกไป

ทุกคนมีตัวพุทธภาวะ อยู่ในใจเหมือนเม็ดข้าวที่สมบูรณ์ สามารถเพาะงอกออกทุกเม็ด แต่จะมีใครบ้างที่สนใจทำให้งอกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ….”

……………………………….

“…สิ่งที่เรียกว่าความสุข อีกมุมหนึ่งก็คือความทุกข์นั่นเอง
ในแง่ของวิปัสสนาปัญญาแล้ว

สุขกับทุกข์มีค่าเท่ากัน ล้วนเเต่เป็นปัจจัยให้เกิด จิตปรุงแต่งตามเวทนาทั้งนั้น

ดังนั้น จึงอยากให้ปฎิบัติด้วยความเข้าใจ อย่าใช้ความคิดในทางเปรียบเทียบ

แต่ให้มองลงไปในความรู้สึกจริงๆ
ในขณะนั้น ถ้ามองด้วยอาการนึกคิด การสร้างนิมิตรของกาลเวลาจะเกิดขึ้นทันที

ความคิดก็คือผลของความรู้สึกในอดีตเเละอนาคตมาบวกกัน แต่ปัจจุบันเป็นความจริง

เช่น รู้สึกปวดขา รู้สึกสบายหรือไม่สบาย ไม่ได้ใช้ความคิด แต่เป็นสภาวะปัจจุบันที่สัมผัสได้ทันที

โดยไม่ต้องผ่านความคิด เปรียบเทียบเรียกว่า ปัจจุบันธรรม…”

……………………………….

•จิตก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกับกระจก ซึ่งจะสะท้อนภาพของรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความคิด และอารมณ์ ที่ปรากฎเฉพาะหน้าเเละกระทบในขณะหนึ่งๆเท่านั้น

• คนที่ไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ฝึกฝน ให้รู้จักความจริงในเรื่องธรรมชาติ ของอายตนะภายใน และอายตนะภายนอกมาก่อน

• จึงไปสำคัญมั่นหมายความคิดหรือปรากฎกราณ์ที่เกิดขึ้นแต่ละครั้งว่า เป็นเรา เป็นตัวตนของเราภาษาปริยัติเรียกความคิดที่ปรากฎว่า นามรูป(สังขารจิต)เเละเรียกความรู้สึกตัวว่า รูปนาม(จิตวิญญาณ)

• เพราะฉะนั้นความรู้สึกตัวจึงเปรียบเสมือนตัวกระจก ส่วนความคิดและอารมณ์ต่างๆที่มากระทบกับใจ ที่ใจรับผ่านเข้ามาเป็น รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่สัมผัสเข้ามา ก็เหมือนคนเดินมาส่องดูกระจกนั่นเอง…

……………………………………….

“…สมัยที่เรายังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม เราไม่เห็นไม่รู้จักตนเองตามความเป็นจริง ภายในใจเราเต็มไปด้วยสักกายทิฎฐิ มีทิฏฐิมานะถือตัวตนสูง

สัญญาณที่เบ่งบอกว่า เราได้ดวงตาเห็นธรรมที่ถูกต้องคือ
ได้สัมมาทิฏฐิ สามารถลดความอวดดื้อถือดี ทั้งภายนอกภายในได้อย่างสิ้นเชิง

สามารถยอมรับฟังทุกคนได้ และเกิดหูตาสว่าง และรู้จักว่าใครเป็นผู้รู้แจ้งเห็นจริง ใครเป็นเพียงผู้รู้จำรู้จัก

จะได้ไม่ถูกหลอกให้เดินหลงทางอีก เพราะรู้จักครูที่จะถาม และรู้จักทางที่จะเดินได้ด้วยตนเอง…

……………………………………

“…ความรู้สึกตัวที่ต้องคอยกำหนด กับความรู้สึกตัวที่เป็นเอง

ถ้าเปรียบให้เห็นเป็นรูปธรรมชัดๆ ก็เหมือนขวดน้ำที่ถือไว้ด้วยมือ กับน้ำที่เราดื่มเข้าไป เป็นแบบนั้นจริงๆ

ความรู้สึกที่ต้องคอยตามกำหนดเหมือนจะใช่ แต่ก็ไม่ใช่ เป็นความรู้สึกลอยๆ

ถ้ามีความคิดหรืออารมณ์อื่นมากระทบหรือเกี่ยวข้อง ก็จะลืมความรู้สึกตัว แบบที่คอยกำหนดทันที แล้วก็หลุดไปอยู่กับความคิด… “

……………………………………

“…สมัยที่เรายังเป็นเด็กตัวเล็กๆ บางครั้งเราถูกยั่วยุให้โกรธ เกลียด เครียด ขุ่น แต่เราไม่เคยจดจำหรือใส่ใจ ความรู้สึกแบบนั้นก็ตั้งอยู่ได้ไม่นาน

แต่เมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เวลาโกรธก็โกรธนาน เวลาเกลียดก็เกลียดแรง เวลาโลภก็โลภมาก

เพราะเหตุไรจึงเป็นเช่นนั้น เราเคยฉุกคิดกันบ้างไหม ?

สมัยเด็กๆ จิตของเรามีแต่พลังของความรู้สึกตัวล้วนๆ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความคิด

แต่ยังไม่ได้รับการอบรมให้รู้ว่า “ความรู้สึกตัว ตัวนี้เเหละมันคือชีวิตของเรา “

และก็ไม่มีใครที่จะมาเน้นย้ำให้เห็นว่า ความรู้สึกตัวชนิดนี้ มันมีความสำคัญมากมายเพียงไร…”

ภาวนาเป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ / พระมหาดิเรก พุทธยานันโท ( คำว่า”จิตเดิมเเท้” คือความรู้สึกเดิมๆ หน้าที่๓๕ )

………………………………………….

“…เมื่อนักปฎิบัติรู้เห็นที่ไปที่มา ของสังขารทั้วปวง เห็นที่เกิดที่ดับและความชั่ว ทั้งบุญและบาป นรกสวรรค์ สุขเเละทุกข์

ท่านก็จะหายสงสัย สังขารธรรมทั้งหลายล้วนแต่อาศัย เป็นเหตุปัจจัย ให้เกิดเเก่กันและกัน

เมื่อเข้าไปรู้เห็นสังขารธรรมเหล่านั้น ตามความเป็นจริงเเล้ว ก็เกิดนิพพิทาญาณ คือ เกิดความเบื่อหน่ายคลายจาง ในสังขารธรรมทั้งหลายว่า

เป็นเหตุเป็นที่มาของความทุกข์ ความเดือดร้อนทั้งปวง จึงปล่อยวาง สลัดทิ้ง ไม่อาลัยอาวรณ์มันต่อไป

จากนั้นสังขารธรรม อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ทั้งปวง ก็ไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้อีกต่อไป อาสวะธรรมทั้งหลาย ก็ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่เกิดอีกต่อไป…”

ภาวนาเป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ/ พระมหาดิเรก พุทธยานันโท (การรู้จักปรมัตถ์คือรู้วิธีทำลายอาสาวะให้สิ้น หน้าที่๖๒)

………………………………………….

••การแปลงสมถะให้เป็นวิปัสสนา••

“…การเเปลงความสงบจิตให้เป็นความรู้จิต สมมติว่าเรานั่งภาวนาไปนานๆ

จิตเริ่มสงบและสงบไปนานๆ จะรู้สึกชอบและติดใจในความสงบนั้น

และพยายามทำความสงบนั้นให้คงที่ หรือลึกลงไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นองค์ฌานระดับต่างๆ นี่เรียกว่ากระบวนการทางสมถะ

ถ้าผู้ปฎิบัติมีภูมิจิตเป็นวิปัสสนาก็จะไม่หลงพอใจในอาการของความสงบสุขอันนั้น

เพราะรู้ว่า ความสงบก็เป็นของไม่เที่ยง แปรปรวนไปตามกฎของไตรลักษณ์

จึงเริ่มสังเกตศึกษาอาการของจิตที่สงบ และความไม่สงบที่เกิดสลับกันไปมา

จนเห็นเหตุของความสงบและไม่สงบ และเข้าใจ เกิดปัญญาญาณรู้เห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริง

เเล้วเริ่มปล่อยว่างอารมณ์ทั้งที่สงบและไม่สงบนั้นได้ และฝึกทำเช่นนั้นจนชำนิชำนาญ

นี้เรียกว่า วิธีแปลงสมถะให้เป็นวิปัสสนาได้สำเร็จ…”

ภาวนาให้เป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ/หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท /หน้า๑๐๐

………………………………………

“…การทำงานด้วยสติช่วยการปฎิบัติได้เยอะ แต่ขอให้รู้สึกตัวกับงานจริงๆเท่านั้น จะทำงานสนุกไม่เครียด ไม่หนัก อารมณ์ก็ไม่เสีย

เพราะรู้จักวางความคิด จับงานอะไรมาทำแล้วก็วาง จิตไม่ได้แบกสิ่งต่างๆ ที่ผ่านเข้ามา

แต่สมัยที่ยังไม่ได้ฝึกฝนเรื่องสติ พอจับงานอะไรจิตก็ยึดเอางานนั้นไว้เพราะยังมีอุปาทาน

แต่พอมารู้และเข้าใจเรื่องความรู้สึกตัวทั่วพร้อม เมื่อรับรู้อะไรไว้ พอเสร็จธุระหน้าที่แล้วก็ปล่อยวางทันที

มีหน้าที่อะไรก็ทำไป พอทำเสร็จจิตก็ปล่อยวาง ให้ฝึกทำงานแบบนี้

คนที่ยิ่งสัมผัสธรรมะได้มากเท่าไร ยิ่งทำงานได้มากเท่านั้น
เพราะไม่หนักใจ

เเต่คนที่ยังไม่ฝึกฝนเรื่องนี้ จะทำงานหนักกันทุกคน แม้จะทำงานเบาๆ ก็ปรากฎว่าเป็นงานที่หนักมาก

เพราะทำด้วยจิตแบกรับและยึดถือเอาไว้ งานจึงหนัก มีตัวตนในการทำงานจึงเครียด…”

ภาวนาให้เป็นสุข พ้นทุกข์ด้วยสติ / พระมหาดิเรก พุทธยานันโท (ใจหนักเพราะยึด ใจเบาเพราะวาง หน้าที่๑๒๙)

………………………………………….

“…เมื่อมีสติคือเกิดความรู้เนื้อรู้ตัวที่ถูกต้องเมื่อใด สามารถรู้เท่าทันเวทนาทางกาย และรู้เท่าทันจิต ไม่ให้มีการปรุงแต่งหรือดำริอารมณ์ใดๆ

จิตก็จะเป็นวิสังขารทันที วิสังขารจิตเป็นเหตุให้ทุกข์ดับ จิตจึงไปเหนือสมมุติ

พระบรมศาสดาจึงบัญญัติสมมุติขึ้นใหม่ว่า ” บรมสุข ” เช่นบทบาลีว่า นิพพานัง ปรมัง สุขัง

หรือที่มาในคาถาปฐมพุทธอุทานว่า ” วิสังขารคตัง จิตตัง ตัณหานัง ขยะมัชฌคา ” แปลว่า “จิตของเราได้ถึงเล้ว ซึ่งสภาพอะไรปรุงแต่งไม่ได้(คือถึงซึ่งความสิ้นไปแห่งตัณหา คือนิพพาน)

ดังนั้น การมีสติข้ามพ้นจิตปรุงแต่งได้ ก็เหมือนข้ามน้ำที่ต้นธาร มันทั้งง่ายและตื้น

เพราะสติตามรู้กายใจไปรื่อยๆ สักวันก็จะสามารถข้ามมหาสมุทร แห่งกิเลสทั้งสี่ ไปได้อย่างปลอดภัย…”

ภาวนาเป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ/ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท (การเจริญสติเเบบเคลื่อนไหว ทำให้ข้ามห้วงน้ำทั้งสี่ได้ หน้าที่๒๐๒)

………………………………..

“…เราคิดว่าเราได้ แต่ในทางวิปัสสนาที่ถูกต้องไม่มีการได้การเสีย ตามความอยากของเรา

ความรู้สึกที่เรารับรู้อยู่ มิใช่ความรู้สึกของการได้มาหรือเสียอะไรไป แต่เป็นธรรมชาติของการรู้ที่มีอยู่แล้ว

เพียงแต่ไปเพิ่มจำนวนและเวลาของการรู้นั้นให้บริสุทธิ์ และรับรู้อาการให้ยาวนานขึ้นเท่านั้นเอง

ถ้าดำรงค์จิตให้รู้สึกอยู่ในปัจจุบันนานๆเราจะสามารถรู้เห็นอาการของความพอใจเเละไม่พอใจ

ผู้ปฎิบัติก็แค่มีหน้าที่เฝ้าดู ตามรู้อาการเหล่านั้นไปเรื่อยๆ

แล้วจะได้รู้ได้เห็น อาการที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่าไร และดับไปอย่างไร…”

ภาวนาให้เป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ/ พระพุทธบานันทภิกขุ (วิธีสอบอารมณ์ตนเอง หน้าที่ ๒๑๔)

………………………………………

…ข้อดีและข้อเสียของการเรียนปริยัติ…

“…การเรียนรู้ในหลักปริยัติ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย
ข้อดีคือ ทำให้รู้สิ่งที่มันเกิดว่า สาเหตุมันมาจากอะไร

รู้แล้วมันสงสัย พอสงสัย ใจก็ปล่อยวางในเหตุนั้นๆได้โดยง่าย ทุกข์ก็จะไม่เพิ่ม
อันนี้เป็นข้อดีของหลักปริยัติ

ส่วนข้อเสียก็คือ การทำความเข้าใจหรือการให้ข้อมูลในหลักปริยัติมากเกินจำเป็น

ทำให้รู้ความจริงล่าช้า เข้าไปติดกับดักความคิดได้ง่าย หมกมุ่นวุ่นวายอยู่กับความคิด

แล้วไม่เลิกคิด จึงเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์…”

ภาวนาให้เป็นสุข พ้นทุกข์ด้วยสติ / พระมหาดิเรก พุทธยานันโท (น.๒๕๓)

……………………………………….

“…การปฎิบัติแบบเคลื่อนไหวต้องเหลือตัวสติไว้ตัวเดียวคือ ตัวรู้เอาไว้ ทำอะไรก็ตามให้รู้

อาตมาพอมาทำเรื่องนี้ แล้วไปเห็นคนอื่นที่เขาทำอะไรด้วยความไม่รู้ ก็อดที่จะสงสารไม่ได้

เพราะคนไหนมีสติ ขาดสติ มันจะเห็นหมด และเราก็รู้ว่า ทำแบบนี้ขาดสติ ทำเเบบนี้มีสติ ก็หาเหตุทำให้เขาได้เจริญสติกันเรื่อยๆและส่งเสริมให้ได้สติที่มั่นคงขึ้น

ดังนั้น จึงอยากจะให้ศึกษาเรื่องนี้โดยแยบคาย เรามีศรัทธายังไม่เข้มแข็ง ก็ต้องทำให้เข็มแข็ง

เพราะเมื่อศรัทธาเข้มแข็งแล้ว จะทำให้เกิดความรัก ความพอใจในธรรมได้ง่าย และมีใจรักที่จะศึกษา

แต่สำหรับคนใหม่ ที่ศรัทธายังไม่เข้มแข็งก็ยังเข้าใจอะไรไม่ได้ ก็ทนไปก่อนก็แล้วกัน

ใช้ขันติความอดทนเข้าช่วยไว้ก่อน พออดทนทำไปบ่อยๆเข้า มันจะต้องมีผลบ้าง

อย่างน้อยก็มีผลคือ เกิดความเบาสบาย โปร่ง โล่ง ได้ในบางขณะ ผลการปฏิบัติเล็กๆน้อยๆเหล่านี้ จะคอยกระตุ้นให้เกิดศรัทธาเพิ่มมากขึ้น

ทำไปก็จะรู้จักแก้ปัญหาต่างๆไปเรื่อยๆ ทำความเข้าใจบ่อยๆความทุกข์ก็จะค่อยๆลดลงเบาลงไปเรื่อย…”

ภาวนาเป็นสุข พ้นทุกข์ด้วยสติ/ พระพุทธยานันทภิกขุ (การปฏิบัติต่อคนภายนอกก็เหมือนปฎิบัติกับกายกับใจของเราเอง หน้า๒๙๒ )

……………………………………….

#ทำใจให้เหมือนนักบวช แต่ไม่จำเป็นต้องบวช

“…ผู้ใดพอใจในการใช้ชีวิตตามวิถีธรรม ก็ต้องหันมาสนใจทำวิปัสสนาให้มากขึ้นคือ

เรียนรู้การทำเรื่องมากให้เป็นเรื่องน้อยทำเรื่องน้อยให้เป็นเรื่องจริง

แต่วิถีโลกมักเป็นการทำเรื่องน้อยให้เป็นเรื่องมาก ทำเรื่องมากให้เป็นเรื่องใหญ่ หรือทำสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องให้เป็นเรื่อง

เพราะวิสัยของโลกีย์วิสัย เขารู้จักความจริงเพียงด้านเดียวคือ ด้านสมมติสัจจะ หรือความจริงที่เท็จเทียม คือความจริงพลาสติก

แต่ความจริงที่เป็นแก่นสารเรียกว่า ” ปรมัตถสัจจะ” คือความจริงแท้ ความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลง

ถ้าเป็นวัตถุก็เป็นของแท้ ธาตุแท้ไม่ปลอมปน ไม่เคลือบย้อมนั่นเอง มันจะคงทนถาวร…”

ภาวนาเป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ / พระพุทธยานันทภิกขุ(น.๒๖๒/๓)

…………………………………………

“…เมื่อรูปมันพิกลพิการ ให้เห็นตลอดเวลา แล้วเราจะไปยินดีมีสุขกับการอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวจนมีลูกมีหลานมากมายได้อย่างไร

ทุกข์เกิดมากมายมหาศาลเพราะเราไม่มีตาปัญญาที่จะมองเห็นทุกข์เท่านั้นเอง

เจ้าชายสิทธัตถะพอมีโอรสองค์แรก ท่านก็มองเห็นทุกข์ทันที แล้วท่านก็หนีเลย

แต่พวกเราบางคนได้ลูกคนหนึ่งก็ยังไม่รู้สึก ลูกสองก็ยังไม่รู้สึก ลูกสามก็ยังไม่รู้สึก ลูกสี่คนก็ยังไม่รู้สึก

ทุกข์ท่วมหัวก็ยังมองไม่เห็น แต่กว่าจะรู้สึกก็สายเสียแล้ว ก็เลยตามเลยไป ก็ตายแล้วตายอีกไม่รู้จบ…”

ภาวนาเป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ / พระมหาดิเรก พุทธยานันโท (ไม่เห็นทุกข์ จึงตายเเล้วตายอีก หน้าที่๒๖๔ )

…………………………..

ชีวิตนี้จะสุดสวย ด้วยหนึ่งสมองสองสติปัญญาของเรา…

การที่เราได้พบวิถีทางที่ทำให้สามารถเลือกทางเดินชีวิตด้วยตัวเองได้

มันเป็นเรื่องวิเศษเเละสนุกจริงๆ ชีวิตจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่าเบื่อ เรื่องสุขเรื่องทุกข์มันก็ไม่มีความหมายแล้ว

สุขทุกข์มันกลับกลายมาเป็นพาหนะนำทางที่แสนวิเศษ

ดังนั้น ชีวิตที่มีสัมมาสติ มันจึงไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย หรือเรื่องซับซ้อนอีกต่อไป

มันกลับเป็นเรื่องเล็กมากๆ เรียกว่าชีวิตสุดสวย ด้วยหนึ่งสมองสองสติปัญญาของเราเอง

เป็นธรรมดาว่า สิ่งดีเลิศที่สุดของชีวิต คงไม่ได้มาง่ายๆอย่างที่คิดไว้

ตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ในธัมมะปหังสนสูตรว่า

” การบรรลุธรรมอันเลิศ ด้วยการกระทำอันเลิศ ย่อมมีได้แล แต่การบรรลุธรรมอันเลิศ ด้วยการกระทำอันเลว ย่อมมีไม่ได้แล “….

ภาวนาเป็นสุข พ้นทุกข์ด้วยสติ / หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท(น.๒๗๙)

…………………………………….

“…เราควรต้ังจิตอธิษฐานอย่างเด็ดเดี่ยวว่า ตราบใดที่เรายังไม่ได้ทำวิปัสสนาอย่างถูกต้องจนได้ดวงตาเห็นธรรม เราจะไม่ยอมตายโดยเด็ดขาด

หลวงพ่อจึงตั้งอายุตัวเองไว้เยอะหน่อย ตั้งไว้ถึงสองร้อยปี เกรงว่าเวลาที่เหลือนี้จะไม่พอ เพื่อการเรียนรู้การดับกิเลสอาสวะให้ได้ทั้งหมด

ถ้าถึงสองร้อยปี เกินกว่านั้นก็ไม่เอา ต่ำกว่านั้นก็ไม่เอา

บางคนสังสัยว่าทำไมหลวงพ่อต้องฝืนสังขารล่ะ ก็บอกว่า ไม่ได้ฝืนหรอก เพราะที่ตั้งไว้แบบนั้น เพื่อเป็นอุบายบอกตัวเองว่า

“เราต้องรักษาสติไว้กับรูปให้ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ และกับนามร้อยเปอร์เซ็นต์ “

รวมแล้วเท่ากับสองร้อยเปอร์เซ็นต์ เท่ากับสองร้อยปีนั่นเอง ความจริงมันอาจตายวันนี้พรุ่งนี้ก็ได้

แต่ขณะนี้อาตมามีอายุครบสองร้อยปีทุกๆวันคือ มีสติครบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทั้งรูปทั้งนามนั้นเอง

ส่วนเรื่องของร่างกายภายนอกมันก็เป็นไปแล้วแต่เหตุปัจจัย บังคับบัญชามันไม่ได้ เป็นไปตามกฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาตลอดเวลา

แต่ขณะนี้ขอให้เรามีความรู้สึกตัวในรูปร้อยเปอร์เซ็นต์ ในนามร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่บางครั้งมันก็ยังขาดๆยังเกินๆอยู่ก็ต้องทำเรื่อยไป จนกว่ามันจะคงที่ถาวรนั่นแหละ…”

ภาวนาเป็นสุข พ้นทุกข์ด้วยสติ / หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธนันโท (การปฏิบัติต่อตนภายนอกก็เหมือนปฎิบัติกับกายกับใจของเราเอง หน้าที่๒๙๐ )

……………………………………

“…ประการสำคัญก็คือ ต้องขยันแก้ไข ขยันเปลี่ยนหาอุบายสร้างความเพียร

และขยันแก้ไขนิวรณธรรมบ่อยๆ เมื่อขยันแก้ไขขยันรู้สึกตัว ขยันปรับเปลี่ยนวิธีการเหล่านี้ไปเรื่อยๆ

จนจิตใจเกิดความพอดี ตามหลักมัชฌิมาปฏิปทาคือ เราไม่ต้องหวังสุขเกินไป ไม่ต้องกลัวทุกข์เกินไป

แต่ถ้าไม่ขยันปรับเปลี่ยนอุบายในการทำ ใจก็อาจจะไหลไปสู่กระแสของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาได้ง่าย

จิตเราอาจหันเหหนีไปพึ่งความคิดเข้ามาทดแทนความรู้สึก ยิ่งทำให้หนีห่างกายห่างใจ ก็ยิ่งสร้างทุกข์เพิ่ม…

ภาวนาเป็นสุข พ้นทุกข์ด้วยสติ / พระมหาดิเรก พุทธยานันโท(น.๒๙๓)

………………………………………..

“…เราไม่ต้องหนีความคิด เผชิญ รับรู้ แก้ไข ปรับปรุง กลับมาสู่ความรู้สึกตัว กลับมาสู่จิตเดิม กลับมาอยู่ฐานกายเสมอไม่ปล่อยใจไปอยู่ฐานอดีต ฐานอนาคต พยายามอยู่ฐานปัจจุบันให้นานที่สุด ถ้าเราดำรงชีวิตอยู่ในฐานปัจจุบันได้อย่างเข้าใจ
ดวงตาธรรมของเราก็เปิดแล้ว

ให้อยู่กับปัจจุบันอย่างเต็มใจและพอใจ แต่ถ้าอยู่กับปัจจุบันอย่างเก็บกด ขมขื่น และบังคับคั้นใจตนเอง อันนี้อันตราย

ต้องอยู่ด้วยความรักความเข้าใจตนเอง มีสติมองเห็นสิ่งที่มันกำลังเกิดเฉพาะหน้า

แต่ถ้าจิตเราจะวิ่งไปอดีตบ้างอนาคนบ้าง ก็ให้มีสติตามรู้มันไป มันจะวิ่งกลับมาที่กายกับใจเหมือนเดิม…”

ภาวนาเป็นสุข พ้นทุกข์ด้วยสติ / พระมหาดิเรก พุทธยานันโท (น.๒๙๔)

…………………………………..

“…การไปเที่ยวชมสถานที่ใดๆนั้น ทำให้เกิดธรรมปีติเเละได้รับความร่าเริง๒ประการคือได้ธรรมะหรรษา กับวัตถุหรรษาด้วยดังนั้นถ้าเราไปที่ไหน ก็ขอให้ได้สติปัญญากลับมาด้วย

ความจริงเเล้วทุกแห่งที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย สัมผัสได้นั้น เป็นภาพของจริงแต่เราเอามาคิดปรุงแต่งภายใน มันเลยกลายเป็นของเท็จ หรือของเทียมทันทีภาพที่เราเห็นทางตาคือของจริง มีมิติครบ เราจงเห็นความสำคัญของตาที่มองเห็น วันหนึ่งถ้าตาบอดก็จะมองไม่เห็นภาพเหล่านี้หูที่เราได้ยินไม่ว่ามิติไหนก็ตาม แต่เราไม่เคยเห็นความสัมคัญของการได้ยินเลย หากวันไหนเราเกิดหูหนวกเราจะเสียดายเนื่องจากเราไม่เคยสนใจเสียงของเราเลย สนใจแต่การปรุงเเต่งสิ่งรอบข้างนอกตัวทางด้านจิตใจที่นึกคิดก็นัยเดียวกันคือ เราไม่สนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแต่เรากลับสนใจสิ่งที่เป็นอดีต เอาอดีตมาคิด มันจึงเป็นเหตุของทุกข์ทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้อยู่ในปัจจุบันขณะ ด้วยการอยู่กับของจริงการไปอยู่กับอดีต อนาคต ก็คือการอยู่กับของเทียม ถือว่าเป็นสมมติไม่ใช่ปรมัตถ์การทำความรู้สึกตัวมากๆ ตลอดเวลาก็คือ การรู้มากๆ จะรู้อะไรก็รู้ทั้งนั้น…

“ภาวนาเป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ / หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท (ปริศนาปลาในตู้โชว์ หน้าที่๓๐๒)

…………………………………………………..

“…การที่เราไปอ่านคำสอนของครูบาอาจารย์นั้น ถ้าอ่านไม่เป็นก็จะตีความหมายไปอีกอย่างเมื่อไรก็ตามที่มีคนฉลาดไปศึกษาปฎิบัติและซักถามกับครูบาอาจารย์แล้วท่านผู้รู้จริงก็จะบอกขุมทรัพย์ลายแทง ซึ่งหมายถึงอริยทรัพย์ฉันใด

การปฎิบัติธรรมเราต้องมีครูบาอาจารย์หรือผู้รู้มาสอน ฉันนั้นเมื่อชีวิตของเรามีเวลาเหลือน้อยก็จงใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หากเป็นนักปฎิบัติธรรมแล้ว
ไม่ยอมแปลงความอยากให้เป็นความรู้มันก็เสียเวลาดังนั้น การที่เราจะขยับเยื้อนเคลื่อนตัวไปที่ไหนก็แล้วแต่ ต้องเอาประโยชน์จากมันให้ได้ชีวิตเป็นของมีค่า แต่เราใช้ไปโดยที่ไม่ได้ธรรมะสาระกลับคืนมา มันเสียของมีค่า เสียประโยชน์ฉะนั้น อย่าลืมหาประโยชน์จากการเคลื่อนไหวของตนเองให้ได้ในชีวิตประจำวันของเรา มันมีให้เก็บเกี่ยวตลอดเวลา เพียงแต่คุณจะทำหรือไม่ทำเท่านั้นเอง…”ภาวนาให้เป็นสุขพ้นทุกข์ด้วยสติ / พระมหาดิเรก พุทธยานันโท (น.๓๐๖)………………………………….

Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ (goo.gl/Nyk2ap),
พลิกใจให้ตื่นรู้ (goo.gl/rPzyfo),เซนสยาม (goo.gl/heEHDK),
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท (goo.gl/QDxgyj),
Dynamic Meditation (นาโนแห่งมหาสติ) goo.gl/zZTixP