รูปนาม ตอนที่ ๒

 

สัมมาทิฏฐิ

เรื่องทิฏฐิเป็นเรื่องละเอียดมาก

เสมือนถูกแต่ไม่ใช่ถูก
เสมือนผิด แต่อาจจะไม่ผิด
แต่เราแยกไม่ออกอันไหนถูกอันไหนผิด
มันก็จะวนไปตามทิฏฐิอาจารย์แต่ละท่าน

ฉะนั้น ทุกคนมาที่นี่
ขอเพียงว่าให้ได้สัมมาทิฏฐิก็พอแล้ว
เพราะสัมมาทิฏฐิในส่วนที่เป็นปรมัตถ์
หรือสภาวธรรม
ไม่ได้หมายถึงการรู้เรื่องทฤษฎีอะไรมากมาย
นั่นเป็นเรื่องพวกนักวิชาการทางศาสนา
เขาจะรู้กัน

สัมมาทิฏฐิสำหรับผู้ปฏิบัติ
ให้รู้กายเป็นกาย รู้ใจเป็นใจ
แค่นี้ก็พอก่อน
แล้วคอยสังเกตความรู้สึกตัว
ให้เห็นกายกับใจ
หรือรูปกับนามให้ชัดๆ เป็นเบื้องต้น

ทุกข์เพราะรูปนามต่างไม่รู้จักกัน

ความจริงกาย ก็คือส่วนหนึ่งของรูป
ไม่ได้ทุกข์
ใจก็เป็นส่วนหนึ่งของนาม
มันก็ไม่ได้ทุกข์มาก่อนเหมือนกัน
ถ้าต่างคนต่างอยู่

แต่ถ้าไม่รู้จักมันให้ชัดๆ
กายก็ทำให้ใจเป็นทุกข์
ใจก็ทำให้กายเป็นทุกข์
เพราะอะไรจึงเป็นเช่นนั้น?
ก็ต่างก็ไม่รู้จักกันไงล่ะ

เราลองมาดูตัวอย่าง
ที่เป็นรูปธรรมต่อไปนี้
เวลาเราแบมือ แล้วกางนิ้วออก
เรียกกันว่านิ้วมือ
เวลากำมือเข้า
เราเรียกว่ากำปั้น

เวลากำมือ
รูปของนิ้วมือหายไป
เวลาแบมือออก
รูปของกำปั้นก็หายไป

 

ความรู้สึกไม่สบาย เกิดที่ใจไม่ใช่ที่มือ

มาดูสมมุติที่ลึกลงไปอีกนิด
เวลากำมือแน่นเข้า
เรารู้สึกสบายหรือไม่สบาย

รู้สึกไม่สบายเหมือนตอนแบใช่ไหม?
เวลาแบออก
ความรู้สึกสบายมาจากไหน?
แล้วเจ้าความไม่สบายหายไปไหน?

ในที่นี้อยากถามว่า
ความรู้สึกสบายหรือไม่สบาย
เกิดจากมือที่มือกำหรือที่มือแบ?
เกิดที่กายหรือเกิดที่ใจ?

 

ทุกข์เพราะคิดว่ามีตัวเรา

 

ทั้งมือกำหรือมือแบ เราเรียกว่ารูป
ถ้ารูปกำมันก็หนัก แต่ถ้ารูปแบมันก็เบา
ก็จะเห็นความจริงว่า
มือก็ยังคงเป็นมือ ใจก็ยังเป็นใจ
แต่ความรู้สึกหนัก และรู้สึกเบาก็จะหายไป

เพราะฉะนั้น ทุกข์ไม่ได้เกิดจากมือ
และก็ไม่ได้เกิดจากใจ
แต่เกิดความรู้ผิดๆ ที่คิดว่ามือเป็นเรา
และเกิดจากความเข้าใจผิด
ที่คิดว่าเรากำมือ เราแบมือ
และรู้สึกว่ามีเราเป็นผู้หนัก ผู้เบา

ดังนั้น ความทุกข์เกิด
เพราะความสำคัญผิดของเราเอง
ที่คิดว่ามีเราเป็นผู้รับรู้อาการนั้นๆ

เพราะฉะนั้น ให้ทำความเข้าใจ
กับตัวอย่างที่กล่าวมาให้ชัดๆ
แล้วจะเข้าใจรูปนามในส่วนอื่นๆ ได้ทั้งหมด

ความรู้สึกหนักเป็นรูป
รู้ว่าหนักเป็นนาม
รูปหายไป นามเกิด

 

ที่ใดมีรูป ที่นั่นมีไตรลักษณ์

จิตของเรา มันคือตัวรู้ที่เป็นกลางๆ
เมื่อความคิดผ่านเข้ามา
แล้วผ่านไป ทุกข์ก็ยังไม่เกิด
เพราะความคิดก็เป็นเพียงรูปชนิดหนึ่ง

แต่เมื่อไรเราเผลอสติ
สำคัญผิดคิดว่าเราเป็นผู้คิ
นามรูปจึงปรากฏตัวทันที

แต่ก็ยังเป็นส่วนหนึ่งของเหตุเกิดทุกข์
ยังไม่ใช่ตัวทุกข์ที่เต็มร้อย
แต่มันจะก่อเกิดนามรูป
อายตนะ ผัสสะ เวทนา
อย่างรวดเร็วดุจสายฟ้าแล่บ

และมันจะเป็นที่ตั้งลงของกฎธรรมชาติ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หรือไตรลักษณ์ในทันที

เพราะขึ้นชื่อว่ารูป
ไม่ว่าหยาบ กลาง ละเอียดขนาดไหน
ก็เป็นที่ตั้งของไตรลักษณ์ได้หมด

แต่กฎไตรลักษณ์จะไม่สามารถ
เข้าถึงนามหรือปรมัตถะสภาวะได้เลย
เพราะไม่มีที่เกาะเกี่ยว
ไม่มีเหตุให้ปรุงแต่งได้

 

ปลดปล่อยรูปออกจากจิต ทุกข์ดับ

ถ้าเราฝึกฝนสติปัญญาอย่างถูกต้อง

ตามหลักของสติปัฏฐาน ๔
ตามเฝ้าดูจิต ปลดปล่อยรูปทุกประเภท
ที่เข้ามาเกาะเกี่ยวเหนี่ยวนำจิต
ให้เหลือแต่ตัวรู้เท่าทัน คือนาม
ทุกข์ก็เกิดไม่ได้

ความรู้ที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
คือการรู้รูปรู้นาม รู้กายรู้ใจ
ตามความเป็นจริง
แล้วไม่ไปยึดกายว่าเป็นเรา
ยึดใจว่าเป็นเรา
เห็นกายก็คือกาย เห็นใจก็คือใจ

ความปรุงแต่งเป็นนามรูป
เราไม่ต้องไปหารายละเอียดมันเลย
แค่ปรุงแต่ง
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ต้องเกิดทันที

ถ้ามีรูปนาม นามรูปก็เกิด
ถ้าเมื่อไรมีนามอย่างเดียว ไม่มีรูป
ทุกข์ก็ดับ
จำคอนเซ็ปต์หลักๆ นี้ไว้แล้วกัน

 

รูปนามโดยปัญญา แตกต่างจากการรู้โดยสัญญาอย่างไร?

ความรู้สึกตัวในระดับรูปนามมี ๒ ระดับ
ระดับที่ ๑ เรียกว่าระดับ “สัญญา”
ระดับที่ ๒ เรียกงฃว่าระดับ “ปัญญา”
ขณะนี้ เรานั่งมานานแล้ว
รู้สึกปวดตามแข้งขา
บางคนก็สนใจจะระลึกรู้ บางคนก็ไม่ได้สนใจ

รูปนามโดยปัญญาเป็นอย่างไร?

สำหรับคนที่เจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง
จะคอยตามระลึกรู้ถึงความรู้สึกไม่สบายในส่วนนั้นๆ
ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และตามดูมันไปเรื่อยๆ
จนมันเป็นระดับที่เข้มขึ้น
เป็นระดับกลาง และหยาบไปตามลำดับ
และตามดูจากหยาบ กลาง ละเอียด
ทบทวนดูเวทนาทั้ง ๓ ขั้นไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งร่างกายทนไม่ได้ หรือทนได้ลำบาก
นี้เป็นการดูด้วยสติ
และเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถไปท่าใหม่
ก็เริ่มตั้งต้นตามดูไปใหม่เรื่อยๆ
จนเห็นว่าร่างกายนี้เป็นไป
ตามกฏแห่งไตรลักษณ์ตลอดเวลา
ไม่รู้สึกหงุดหงิดรำคาญ
ที่ต้องปรับเปลี่ยนกายตนเองตลอดเวลา
ด้วยการตามดูเช่นนี้ จิตจึงเป็นสมาธิโดยอัตโนมัติ
จึงเรียกว่าเข้าใจรูปนามโดยปัญญา

รูปนามโดยสัญญาเป็นอย่างไร?

คนส่วนมาก ที่ยังไม่รู้จักการเจริญสติปัฏฐาน
ก็ยังไม่รู้จักความรู้สึกตัว ไม่ว่าระดับใดก็ตาม
แต่สำหรับคนที่เริ่มเรียนรู้การภาวนา
ก็จะรู้จักความรู้สึกตัวเพียงระดับเดียว
คือรู้จักแต่หยาบเท่านั้น
เพราะยังไม่เข้าใจการตามดูกายดูจิต
จนกว่าจะได้รับการแนะนำการรู้กายรู้ใจ
อย่างถูกต้องจากท่านผู้รู้
และพยายามที่จะศึกษาและทำตาม
อย่างจริงจังตั้งใจเท่านั้น
ถึงจะรู้ตัวในระดับกลาง และระดับละเอียดได้
ส่วนใหญ่แยกความรู้สึกตัวยังไม่ออก
เพราะเห็นว่าความรู้สึกตัวเป็นตัวตนอยู่
คือยังเห็นรูปเป็นเรา และเห็นความคิดว่าเป็นเราอยู่

ตรงนี้เรียกว่าเข้าใจรูปนามโดยสัญญา
คือรู้สึกได้ตอนที่มันเป็นทุกข์แล้ว
แต่ไม่เห็นว่า ทุกข์มันเริ่มต้นเกิดขึ้นอย่างไร
ตั้งอยู่อย่างไร และดับอย่างไร
คนที่ตามดูกาย และจิตยังไม่เป็น ก็รู้ได้ยาก
เพราะสติยังอยู่ในระดับสัญญาหรือสัญชาตญาณอยู่

เริ่มเรียนรู้จากรูปนามโดยสัญญา

ฉะนั้นในเบื้องต้น คนที่ยังไม่เข้าใจ
เรื่องรูปนามโดยปัญญาหรือโดยวิปัสสนา
ก็ขอให้ฝึกทำความเข้าใจ โดยการเจริญสติ
ตามดูสัญญาทางกายไปเรื่อยๆ
จนความรู้แบบสัญญาตัวนี้
เมื่อใช้สติตามดูบ่อยเข้าๆ มันจะค่อยลึก
ค่อยละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ
เหมือนเราตำน้ำพริกหรือโม่แป้ง
ตอนแรกๆมันยังหยาบอยู่
พอตำ หรือหมุนโม่ไปนานเข้าๆ
แป้งก็จะถูกบดละเอียดขึ้นฉันใด
การเฝ้าดูความรู้สึกก็เหมือนกันฉันนั้น

ในช่วงแรกๆ เรากำหนดรู้
เวทนาทางกายแบบหยาบๆ ไปก่อน
เมื่อตามรู้บ่อยเข้าๆ
เราก็เริ่มรู้สึกถึงเวทนากลางๆ
และเริ่มรู้เวทนาละเอียดขึ้นเรื่อยๆ

รูปนามโดยสัญญา
จึงกำหนดได้แค่ความรู้สึกส่วนหยาบๆ
แต่รูปนามโดยปัญญา
กำหนดได้แม้กระทั่งเวทนาระดับหยาบ กลาง ละเอียด

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว
จึงเน้นให้ตามดูควบคู่กันไปทั้งกายและจิต
โดยไม่ขาดช่วง

ความอดทนต่ำ แต่ความหวังสูง

เพราะถ้าเราตั้งหวังจะรู้ธรรม
จะเห็นธรรมตามความเป็นจริงแล้ว
เราจะต้องอดต้องทนเรียนรู้ไปตามลำดับ
อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
จนกว่าปัญญาญาณเราจะแก่กล้า
มันถึงจะรู้ลึกและกว้างไปเรื่อยๆ

ถ้ามีความอดทนต่ำ รีบร้อนอยากที่จะรู้จะเห็นไวๆ
ตามกิเลสตัณหาของตนเอง
เราก็จะรู้แบบผิดๆเพี้ยนๆ ไปเรื่อยๆ
มันรู้เหมือนกัน แต่มันจะผิดเพี้ยนไป
จากความเป็นจริง

เหมือนเราสร้างบ้านด้วยความรีบร้อน
อยากให้เสร็จเร็วๆ
มันอาจเสร็จได้ แต่มันอาจจะไม่มั่นคง
และสวยงามตามรูปแบบที่ควรจะเป็น

ดังนั้น การเจริญสติ ถ้าจะให้มั่นคง ลงลึก
ไม่สั่นคลอน หวั่นไหว เมื่อมีอุปสรรคเข้ามาโจมตี
ก็ต้องขยันมั่นตามรู้ไปเรื่อยๆ
ไม่พัก และไม่เพียรไปทางผิดๆ
ก็จะพบทางที่ถูกไปเรื่อยๆ
จนถึงจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัย

 

ภาษารูปนาม

การเห็นถูกต้องหรือสัมมาทิฏฐิ
ในภาษาของหลวงพ่อเทียนคือ
เห็นว่าทุกสิ่งเป็นเพียงรูปและนาม

แต่ในเบื้องต้น
เราไม่สามารถเห็นแบบนั้นได้
เพราะเรายังไม่รู้จักรูปนาม

การที่เราจะไปเห็นทุกอย่าง
ที่อยู่ข้างหน้าเราเป็นรูปนามได้
เราต้องเห็นตัวเราเอง
เป็นรูปนามให้ได้ก่อน

 

เช่นขณะนี้เรานั่งอยู่

เรารู้ได้อย่างไรว่า เรานั่ง

“ความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองมีอยู่” หรือ

“ความรู้สึกสัมผัสความจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้”

ขณะนี้ เรานั่งมานานประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้ว

รู้สึกอย่างไร ระหว่างรู้สึกสบายและไม่สบาย

มันรู้สึกสบายขึ้นเรื่อยๆ หรือรู้สึกหนักขาขึ้นเรื่อยๆ

ความรู้สึกสบายและไม่สบายทางกาย
เรียกว่า“รูปนาม”

สำหรับความรู้สึกที่เกิดในจิตว่า
เราไม่สบายใจ รู้สึกเบื่อ รู้สึกหงุดหงิด
และปล่อยจิตคิดไปตามอาการของกาย
เรียกว่า “นามรูป”

แต่ถ้ารู้สึกรู้เห็นอาการทางกาย
และจิตไม่เข้าไปเป็นด้วย
แต่ทำหน้าที่เป็นผู้รู้อาการเหล่านั้นเฉยๆ
เรียกว่านามล้วนๆ
หรือสมมุติเรียกว่าสติ สมาธิ ปัญญา ก็ได้

ฉะนั้นถ้ามันเกิดที่กายอย่างเดียว
มันเป็น “รูปนาม”
แต่พอไปเกิดกับใจเรียกว่า“นามรูป”

แต่ตัวผู้รู้ทั้ง ๒ ส่วนนั้น เรียกว่า“นาม”
สติเป็นนาม สมาธิเป็นนาม
ปัญญาเป็นนามล้วนๆ

สติ สมาธิ ปัญญาไม่ใช่รูปนาม
และไม่ใช่นามรูป
แต่ว่ามันเป็นนาม มันเป็นผู้รู้นั่นเอง

 

 

รูปทุกข์ นามทุกข์

ในขณะที่เราปฏิบัติ
เราต้องพยายามเห็นอาการทั้ง ๓ อย่างชัด
คือ รูปนาม นามรูป และนามล้วนๆ
ให้ชัดๆ ไว้เสมอ
ว่าอาการแบบไหนที่เป็นรูปนาม
แบบไหนเป็นนามรูป
และแบบไหนที่เรียกว่านามล้วนๆ
คือสติ สมาธิปัญญานั้นเอง

แต่เราจะไปห้ามไม่ให้เกิด
อาการไม่สบายทางกาย
เช่นปวดขาเป็นต้น ไม่ได้
และห้ามไม่ให้เกิด
อาการจิตคิดปรุงแต่ง
ไม่ให้มันเบื่อมันเซ็งเป็นต้น ก็ห้ามไม่ได้
เพราะมันเป็นไตรลักษณ์
คือมันเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้น
ทุกรูปทุกนาม

อาการของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เกิดกับ “รูปนาม” เรียกว่า “รูปทุกข์”
ถ้าจิตไปทุกข์กับมันด้วยเรียกว่า “นามทุกข์”
นี้เป็นภาษาหลวงพ่อเทียน
อาจจะไม่มีในตำรา

ธรรมดาธรรมชาติเหล่านี้มีอยู่ตลอดเวลา
เราจะรู้ธรรมะ หรือไม่รู้ธรรมะมันก็มี

แต่ถ้าเราเป็นผู้รู้จักเรื่องจริง
ของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
จะทำให้เราได้รู้ได้เห็นว่า อะไรเป็นอะไร
และเราจะเริ่มเรียนรู้สัจจธรรมของรูปของนาม
และสามารถพัฒนากำลังของสติ สมาธิ ปัญญา
ให้รู้เท่าทันการทำงาน
ของกฏไตรลักษณ์ทั้ง ๓ มากขึ้นเรื่อยๆ

 

มีสติเท่านั้น ยังไม่พอ

เวลาทำงาน ตัวรู้ไม่ใช่มีแต่สติ
ในนั้นมีสมาธิ ปัญญา ด้วย

แต่ถ้าหากว่ามีสติอย่างเดีย
เป็นการรู้ในลักษณะเพ่ง ตั้งใจ จดจ้อง
ตั้งใจจะให้มันชัด ให้มันรู้มากๆ
แสดงว่าเป็นสติที่ไม่ถูก
จากสัมมาสติ
มันจะกลายเป็นมิจฉาสติทันที

สัมมาสตินั้นรู้สักแต่ว่ารู
คือรู้ว่ามันเป็นรูปเป็นนามเฉยๆ
แต่ถ้าไปรู้อยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้
อยากไปดัดแปลงตัวรู้
แสดงว่ารู้ไม่เฉยแล้ว

 

ไตรสิกขาคือฉนวนกันความทุกข์

ถ้าเรารู้ว่ารูปเป็นรูปทุกข์ นามทุกข์
รูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
แล้วเราบังคับใช้มันไปเรื่อยๆ
ปวดก็ช่างมัน
เพราะมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ฉันไม่สนใจมัน ไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้
เพราะเปลี่ยนแล้วเดี๋ยวมันก็ปวดอีก
แล้วบังคับให้มันอยู่ในท่าเดิมเรื่อยๆ
ลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง

เพราะลักษณะของรูป
จะต้องเป็นไปตามกฎของมันคือไตรลักษณ์
เราจะบังคับหรือไม่ มันก็ต้องเป็นไปตามนั้น
การที่ให้รูปมันแช่อยู่ในกฎของความจริงนานๆ
มันทนไม่ได้
ถ้าเราไปฝืนด้วยความอยาก
เท่ากับเราไปเบียดเบียนมัน

หน้าที่ของเราคือบำบัดทุกข์ในรูป
ถ้ามันเป็นทุกข์ก็คอยบำบัดมันไปเรื่อยๆ
กฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
มันจะต้องเข้าไปทำงานในรูป
ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว
แต่เรามีทางเลือกให้เราทุกข์ทางเดียว
คือทางรูป ทางกาย
คนที่ไม่ได้ศึกษาวิปัสสนา
เขาจะทุกข์ทั้งกายและใจ

พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบวิธี
ที่ไม่ทำให้ความไม่สบายกายทะลุไปถึงใจ
และความไม่สบายใจทะลุไปถึงกาย
โดยมีฉนวนเข้าไปกัน
ตัวฉนวนนี้เรียกว่าตัวรู้

คือให้รู้ว่านี่คือรูปทุกข์
ถ้าทนได้เราก็ทนไป
ถ้าทนไม่ได้เราก็แก้ไขมันไปเรื่อยๆ
แต่ป้องกันไม่ให้ตัวโรคของรูป
มันระบาดไปถึงนาม
เรามีหน้าที่แค่นั้น
เราต้องมีตัวรู้ที่เกิดจากสติสมาธิปัญญา
เรียกว่าไตรสิกขานั่นเอง

 

รูปธรรม นามธรรม หรือรูปทำ นามทำกันแน่

เมื่อสมัยหลวงพ่อเทียน ยังมีชีวิตอยู่ เวลาแสดงธรรม ส่วนมากท่านจะเน้นการเล่าถึงประสบกาณ์ การรู้ธรรมของท่านบ่อยมาก ไม่ว่าจะสนใจหรือไม่ก็ตาม ท่านบอกเสมอว่า ให้พูดถึงความจริงที่มีอยู่ในตนเองเท่านั้น แม้จะดูซ้ำซากก็ตาม เพราะมันความจริง ดีกว่าพูดกว่าความไม่จริงที่ไม่มีในตนเอง

เช่นเรื่องของรูปนาม รูปธรรม นามธรรม รูปโรค นามโรคเป็นต้น

เรื่องของรูปนาม นำมากล่าวกันบ่อยแล้ว ในที่นี้จะนำเอาเรื่องรูปธรรมนามธรรมมากล่าวตามภาษาของท่านบ้าง

หลวงพ่อเทียนเน้นอย่างจงใจว่า

ความจริงในภาคปฏิบัติ
ต้องใช้คำว่า รูปทำ นามทำ

สำหรับรูปธรรม นามธรรม ท่านบอกว่า
เป็นภาษาที่ถูกต้องตามหลักปริยัติ มันก็ไม่ผิด
แต่คำว่ารูปทำ นามทำ หมายถึง
อาการของรูปที่กำลังทำงานอยู่จริงๆ
ทำหน้าที่ของรูปตลอดเวลา มันทำอะไรบ้าง

เช่นขณะที่เรานั่งอยู่ รูปมันก็ทำงานตลอดเวลา
คือทำหน้าที่ของไตรลักษณ์
มันเปลี่ยนแปลงให้เรารู้เห็นตลอดเวลา
การเปลี่ยนแปลงของมัน
ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบาย
หรือเป็นทุกข์ทางกาย
เกิดดับสลับสับเปลี่ยนกันตลอดเวลา

ผลของมันออกมา ทำให้เราคอยแก้ไข
ปรับเปลี่ยนเอาความไม่สบายนั้นๆ
ออกไปเรื่อยๆ ที่เราเรียกว่า บำบัดทุกข์
และการบำบัดทุกข์
ทำให้เราต้องเคลื่อนไหวตัวเองทุกๆ ระยะ
ไม่เคยหยุดหย่อน

รูปทำหน้าที่หายใจของมันเอง
เราจะไปห้ามมันหยุดก็ไม่ได้
บอกให้มันมากน้อยก็ไม่ได้
มันทำของมันอยู่อย่างนั้น

ลมหายใจและการหมุนเวียนของเลือดในร่างกาย
ทำให้รูปทำงานเรียกรูปทำ
รูปทำงานแล้วทำให้ตาเราเห็นได้
สมมติเลือดเราหยุด เราไม่หายใจ
ตาเราก็ไม่เห็น หูเราก็ไม่ได้ยิน
จมูกก็ไม่ทำหน้าที่ ลิ้นก็ไม่ทำหน้าที่
กายก็ไม่ทำหน้าที่
รูปมันทำงาน ทำให้ตาเห็น หูได้ยิน
เขาเรียกรูปทำ

เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
รูปก็ทำของมัน เป็นรูปทำ
แต่มันยังไม่เป็นรูปธรรม และไม่เคยเบื่อหน่าย
จนการเคลื่อนไหวกาย หรือรูปนาม
เกิดเป็นความเคยชิน
เป็นอัตโนมัติของทุกสัตว์ทุกตัวตน

ดังนั้น เราไม่ต้องสงสัยเลยว่า
การเฝ้าดูกายเคลื่อนไหว
เฝ้าดูใจนึกคิดตามสูตรหลวงพ่อเทียนนั้น
มันก็คือการตามดูเหตุและผลของทุกข์
ทั้งกายและใจ ที่เป็นกระแสขับเคลื่อน
ส่งทอดมาจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นเอง
แล้วมันก็ไปตรงกับหลักของอริยสัจจ์ ๔
อย่างสนิทและกลมกลืน

 

นามทำ ต่างจาก นามธรรม

ทีนี้มาดู เรื่องของนามธรรมกันบ้าง
ท่านบอกว่า นามคือจิตวิญญาณ
หรือตัวรู้สึก
มันก็ทำงานตลอดเวลาเช่นกัน

นามทำก็เหมือนกัน
นามทำงานอะไร
ตาเราเห็นเป็นหน้าที่ของรูปด้วย
และของนามด้วย

ตาทำหน้าที่เห็น
ใจทำหน้าที่รู้จักว่าเป็นอะไร
ถ้าเราลืมตามา จะไม่ให้ใจมันรู้ก็ไม่ได้
นามมันทำงานทางตา
เวลาได้ยินเสียงจะมาบอกว่าอย่าได้ยิน
ว่าเป็นเสียงอะไรก็ไม่ได้
เรียกว่านามมันทำงาน

เวลาอากาศเย็น หนาว ร้อน
จะไปห้ามร่างกายไม่ให้หนาว
ไม่ให้ร้อนก็ไม่ได้
เพราะใจมันไปรู้ว่าเป็นร้อนเป็นหนาว
เรียกนามทำ
แต่ส่วนใหญ่เรามองไม่ค่อยออก
ไม่ค่อยได้เห็นชัดเจนว่าจิตมันทำงานอยู่

หลวงพ่อเทียนท่านแยกว่า
ตอนแรกเป็นรูปทำงานก่อน
ต่อมารูปจะเป็นธรรมะก็ต่อเมื่อ
มีสติ สมาธิ ปัญญา

 

ถ้ามีสติ ก็เป็นรูปธรรม นามธรรม

“รูปทำ” เป็นหน้าที่ของรูป
ตาหูจมูกลิ้นกาย
รูปทำงานร่วมกับนามอย่างไร?

ใจทำหน้าที่ของมัน
เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม
มันทำงานของมันอย่างนั้น
รับรู้ตาหูจมูกลิ้นกาย
เราเรียกว่าวิญญาณรับรู้
ไม่ว่าคนหรือสัตว์มีรูปทำ นามทำ
เหมือนกันหมด

ส่วนรูปทำ มันจะเปลี่ยนเป็นธรรมะเมื่อไร
นามทำ มันจะเปลี่ยนเป็นธรรมะเมื่อไร
ตรงนี้สำคัญ มันจะเป็นธรรมะก็ต่อเมื่อ
รูปทำงาน แล้วเรามีใจเข้าไปรู้ตาม

เช่นเราหายใจ
เมื่อตัวรู้ เข้าไปตามดูลมหายใจ
ขณะหายใจเข้า สติก็ตามรู้
หายใจออก สติก็ตามไปรู้

ทุกส่วนของกายที่เคลื่อนไหว
ด้วยอำนาจของทุกข์
ที่เกิดจากกฏของไตรลักษณ์
สติก็ตามรู้
ตรงนี้ ก็เกิดเป็น
รูปธรรม นามธรรม ขึ้นแล้ว

 

ลุกขึ้นก็รู้ เดินก็รู้ เป็นรูปธรรม นามธรรม

ตัวสติเข้าไปรับรู้การทำงานของกาย
เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา
แต่ไหนแต่ไร เราหายใจตั้งแต่เล็กจนโต
มันก็เป็นเพียงรูปทำ
ขาดสติเข้าไปตามรู้
มันจึงไม่เป็นรูปธรรม

แต่เมื่อเราได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า
ถึงเรื่องเจริญสติปัฏฐาน ๔ แบบต่อเนื่อง
โดยเอาสติ หรือตัวรู้
ไปตามดูลมหายใจเข้า หายใจออก
นามธรรมมันก็เกิด

ดังนั้น ตามหลักปฏิบัติและเข้าใจแบบนี้
กายมันจะเป็นธรรมะเมื่อไรก็พิสูจน์ได้
แต่ถ้าเราจะลุก นั่ง ย่าง เดินเวลาใด
เราก็ลุกไปเลย อันนี้เรียกว่า มีแต่รูปทำ

แต่พอเรามีสติเข้าไปตามรู้
ลุกขึ้นก็รู้ เดินก็รู้
การทำงานของรูป
กลายเป็นรูปธรรม นามธรรมทันที

 

รูปทำเป็นสัญชาตญาณ รูปธรรมเป็นปัญญาญาณ

ดังนั้น คำว่า“รูปทำ”
จึงเป็นเรื่องของรูปทำงาน
ด้วยการบำบัดทุกข์ตามธรรมชาติ
ตามความเคยชิน
หรือทำตามสัญชาตญาณ

แต่ถ้าเป็น “รูปธรรม”
มันเป็นการทำงานของสติสัมปชัญญะ
ตัวรู้สึกที่ตามรู้เห็นบ่อย
จึงถูกเปลี่ยน “ปัญญาญาณ” ขึ้นมา
แทนที่จะเป็นเพียงสัญชาตญาณ

ส่วน “ปัญญาญาณ”
จะเกิดมากน้อยเท่าใด
ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของ
อินทรีย์ ๕ และพละ ๕ อีกทีหนึ่ง

องค์ประกอบที่เปลี่ยนสัญชาตญาณเป็นปัญญาญาณ

๑. ศรัทธา เป็นองค์ประกอบที่จะศึกษาเรียนรู้ให้ดีมากๆ เพราะถ้าเราไม่มีศรัทธา เราก็ไม่อยากไปรู้เรื่องของมัน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง

๒. วิริยะ ต้องมีความเพียร เข้าไปตามรู้การทำงานของกายของใจอย่างต่อเนื่องและจริงใจ

๓. สติ คือมีความตระหนักรู้ในการเห็นแบบมีวิชชา คือเห็นสักว่าเห็น เห็นว่ามันเป็นรูป เห็นว่าสีแสงทำให้เห็นว่าเป็นรูป  ไม่ได้แยกแยะว่าหญิงหรือชาย ดีหรือชั่ว สีนั้นสีนี้ เห็นซื่อๆ ยังไม่มีสมมติ ตรงนี้คือการเห็นที่เป็นธรรมะขึ้นมาแบบใช้สัมปชัญญะในสติปัฏฐาน

๔. สมาธิ คือตั้งใจอย่างมั่นคง ในการที่จะตามรู้ตามเฝ้าดูอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย หรือไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของจิต แต่ทำเป็นหน้าที่การงานของคนที่ไม่ต้องการมีทุกข์อย่างจริงใจ แต่ส่วนมาก เราก็มักคิดไปตามสิ่งที่เราเคยเห็น อันนี้เรียกว่านามมันทำงานโดยอัตโนมัติของมัน เราไม่ได้เข้าไปรับรู้การเห็นนั้น มันจึงเป็นโมหะ คือเห็นแบบไม่รู้ เห็นเป็นคน เป็นผู้หญิงผู้ชาย คนดีคนชั่ว คนถูกคนผิด ไม่ได้สักแต่ว่าเห็น นี้เรียกว่าจิตไม่มีสมาธิ ชอบไหลไปตามสิ่งที่มากระทบต หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ง่าย เพราะสมาธิไม่มั่นคงนั้นเอง ก็ต้องทนทุกข์อย่างช่วยไม่ได้

๕. ปัญญา คือการตามดู ตามรู้จนเห็นกายเห็นใจของตนเองว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่นเห็นว่า ทุกข์เกิดในกาย มันเกิดอย่างไร? ทุกข์กายมันตั้งอยู่อย่างไร และมันหายไปอย่างไร หรือเห็นชัดว่า ทุกข์ใจมันเกิดอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร และดับไปอย่างไร เห็นอย่างชัดๆ และแจ่มแจ้งแก่ใจมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า เกิดปัญญา

 

เห็นธรรม คือรู้เท่าทันการเกิดดับ

แต่การเห็นมี ๒ แบบ
คือเห็นแบบไม่รู้ หรือเห็นแบบอวิชชา
และเห็นแบบรู้ หรือเห็นแบบวิชชา

คือเห็นแบบไม่รู้ เรียกว่าอวิชชาหรือโมหะ
โดยทั่วไป สัตว์ทุกตัวทุกตน
จะต้องเห็นแบบอวิชชา
หรือโมหะมาก่อนทั้งนั้น
เพราะว่าตัวรู้คือสติปัญญาแบบนามธรรม
ยังไม่เกิด

ต่อเมื่อเราได้สดับคำสอนของพระพุทธเจ้า
ว่าเห็นอย่างนี้ทำให้เกิดทุกข์ เกิดกิเลส
เป็นการเห็นแบบที่ทำให้เกิดทุกข์
เรียกว่า “สมมติธรรม”

เห็นแบบรู้ หรือวิชชา คือปัญญา
ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
เช่นเรื่องของการเห็นธรรม
ของท่านอัญญาโกณทัญญะ
เมื่อได้ฟังธัมมจักกัปปวัตนสูตร
จากพระพุทธองค์จบลง
ก็เกิดความเข้าใจขึ้นมาทันทีว่า
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มันต้องดับแน่นอน

ดังนั้นไม่ต้องส่งใจไปคิดตามสิ่งที่เกิดขึ้น
และไม่ต้องส่งใจไปคิดตามสิ่งที่ดับไปแล้ว
เพียงแต่มีสติเฝ้าดู
การเกิดขึ้นและการดับไปของสิ่งๆ นั้น
ก็พอแล้ว

คือเฝ้าดูให้เท่าทัน
การเกิดและการดับไปของสรรพสิ่ง
จนชัดเจนแจ่มแจ้งแก่ใจตลอดเวลา
นี้ถือว่าเป็นการเห็นธรรม
หรือปรมัตถธรรม นั่นเอง

 

ต้องคอยเพิ่มกำลังให้ตัวรู้

ดังนั้น องค์ประกอบทั้ง ๕ ประการ
ที่เรียกว่าอินทรีย์ ๕ พละ ๕
จึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญมาก

เราจะต้องสำรวจตรวจสอบอยู่เสมอว่า
อินทรีย์พละตัวไหนอ่อนแอ
และบกพร่อง
ก็ต้องคอยเพิ่มเติมกำลัง
ให้เข้มแข็งไว้เรื่อยๆ
จนกว่า การปฎิบัติแบบนี้
จะนำไปเห็นอารมณ์ปรมัตถ์
นั้นแหละถึงจะไว้ใจได้

ทีนี้ เรามาดูเรื่องปรมัตถ์อีกต่ออีกสักนิด
ว่าการที่จะเห็นรูปเป็นปรมัตถ์
เราก็ต้องฝึกฝนตัวรู้ให้มากๆ
จนกระทั่งมันเกิดตัวปัญญา
ต้องมีสติและสมาธิเข้ามาประกอบ

เมื่อทำอย่างต่อเนื่องแล้ว
ก็จะเห็นสภาวะได้เข้าใจมากขึ้น
เห็นด้วยสติ สมาธิ ก็เกิดเป็นปัญญา

เมื่อแต่ละตัวเข้าไปทำงาน
อย่างเข้มแข็งก็เรียกว่าพละ
อินทรีย์กับพละเป็นตัวเดียวกัน
เมื่อยังไม่มีกำลังเรียกว่าอินทรีย์
แต่เมื่อเราทำให้มากขึ้น
ก็เป็นพละกำลังขึ้นมา

จนกระทั่ง วิริยพละ
มีกำลังอย่างต่อเนื่องมั่นคง
และเป็นอัตโนมัติเมื่อใดนั้นแหละ
อารมณ์จึงสามารถเจริญเติบโต
ได้อย่างต่อเนื่องและปลอดภัย

 

พระพุทธยานันทภิกขุ