รูปนาม ตอนที่ ๓ (รูปโรค นามโรค)

รูปโรค นามโรค

 

รูปทำก่อให้เกิดเป็นรูปธรรม ธรรมะแยกเป็นสมมติกับปรมัตถ์ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว หลวงพ่อเทียนก็ให้รู้ต่อไปว่า รูปโรคนามโรค รูปมันมีโรค เรานั่งอยู่นี่มันเกิดตลอด

รูปโรคนามโรคเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าเวทนา ซึ่งมี ๓ ลักษณะคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนา เมื่อใดมันเป็นทุกขเวทนาขึ้นมามันก็เป็นโรค ทุกขเวทนาเกิดจากโรคทั้งโดยสภาวะและโดยสมุฏฐาน โรคจึงมี ๒ อย่าง

  • โรคโดยสภาวะ เกิดจากไตรลักษณ์ของกายและใจโดยตรง เช่นเมื่อเรานั่งนานมันเป็นทุกข์ อันเกิดจากอนิจจังทุกขัง อนัตตามันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปสู่ตัวโรคคือตัวทุกข์นั่นเอง โรคชนิดนี้ต้องบำบัดเรื่อยๆ ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หมอรักษาไม่ได้ เพราะหมอเองก็เป็นเหมือนกัน หมอนั่งนานๆก็ปวด คนไม่มีสติก็สามารถบำบัดเองได้โดยสัญชาตญาณ แต่คนที่ใช้สติเข้าไปบำบัดก็จะกลายเป็นตัวปัญญาขึ้นมา โรคโดยสภาวะเราบำบัดโดยใช้สติสมาธิปัญญาโดยตรง ในการเปลี่ยนอิริยาบทไปเรื่อยๆอย่างรู้สึกตัว
  • โรคโดยสมุฏฐาน เกิดจาก กรรม จิต อุตุ อาหาร ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกาย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง โรคตับ โรคไต ฯลฯ หมอรักษาได้แต่ไม่หมด ต้องเอาตัวสติปัญญาเข้ามารักษาด้วย

กรรม

เราเดินไม่ระวังเอาหัวแม่เท้าไปเตะหินเข้า เกิดบาดแผล การที่เราเอาเท้าไปเตะหินเป็นกายกรรม แต่ถ้าเราเดินอย่างระมัดระวังเราก็จะไม่ไปเตะหิน กรรมนี้จึงป้องกันได้โดยมีสติเข้าไปรักษา จะเป็นกรรมหนักหรือกรรมเบา ขึ้นอยู่กับมีสติมากหรือน้อย ถ้าขาดสติมากๆ ล้มเต็มที่ก็อาจจะเป็นอัมพฤกษ์อัมพาตได้

จิต

ตาหูจมูกลิ้นกายใจเป็นของร้อน รูปเสียงกลิ่นรสสัมผัสเป็นของร้อน เมื่อจิตของเราไปสัมผัสก็ยิ่งร้อนเข้าไปอีก ถ้าเราสัมผัสไม่ถูก เราก็คิดปรุงแต่งขึ้นมาเป็นความอยาก ความไม่พอใจ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็เป็นของร้อน เมื่อเราเพิ่มความร้อนให้กับจิต และจิตส่งความร้อนสู่กาย กายถูกเผามากเข้า เซลในร่างกายก็ตาย ระบายออกไม่ทัน กลายเป็นมะเร็ง เบาหวาน ความดัน หัวใจ เราก็เอาสติปัญญาเข้าไปแก้ สังเกตร่างกายของเรา สังเกตอารมณ์ที่เราคิด เป็นเรื่องดีหรือไม่ดี ถ้าเป็นเรื่องไม่ดีก็ร้อนแน่ ถ้าปรุงแต่งคิดไปทางเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นเรื่องเย็น จิตเราก็จะเย็น ทุกวันนี้คนจึงตกนรกกันมากเพราะสั่งสมความร้อนที่มาจากจิต ความร้อนคือไฟ เรียกว่าไฟนรก ใครที่มีโรคมากก็ตกนรกมาก โรคทางจิตก็เช่นกัน ใครที่ติดอารมณ์มากๆ จิตไม่เป็นอิสระก็ตกนรกหลายชั้น คนไหนไม่พอใจนานๆก็ไปติดนรกชั้นนั้นนานหน่อย  แต่คนไหนออกจากอารมณ์นั้นได้ จิตใจปลอดโปร่ง ก็ออกมาจากนรกชั้นนั้นได้เร็วขึ้น เราจะออกจากนรกได้ต้องอาศัยสติ สมาธิ ปัญญา ถ้าเราไม่เจริญสติ สมาธิ ปัญญา เราจะออกจากนรกไม่ได้เลย

อุตุ

อุตุไม่ได้แปลว่าอากาศอย่างเดียว แต่หมายถึงพลังงานที่มีอยู่ในร่างกายของเรา ถ้าพลังงานในร่างกายเราอ่อนแอ เรียกว่าภูมิต้านทานต่ำ ธาตุของเราต่ำ ก็ต้องเพิ่มพลังเข้าไป พลังปราณต่างๆก็คือพลังของตัวสมาธินั่นเอง พลังทางรูปได้แก่มีร่างกายดี มีสุขภาพดี มีการออกกำลังกายเป็นประจำ พลังใจดีก็มีการเจริญสติสมาธิเป็นประจำ แต่ถ้าพลังกายพลังจิตเราอ่อนโรคภัยไข้เจ็บก็เกิด โรคที่เกิดจากอุตุจึงต้องแก้ด้วยสติสมาธิปัญญาเหมือนกัน

อาหาร

อาหารที่มีสารเคมี ยาฆ่าแมลง หรืออาหารที่มีส่วนผสมตรงกันข้ามกับธาตุของเรา ก็เป็นเหตุให้เกิดโรคได้ การมีสติ สมาธิ ปัญญาในการรับประทานอาหารก็ช่วยป้องกันรักษาโรคที่เกิดจากอาหารได้เช่นกัน

 

ตอกย้ำไตรลักษณ์สู่ความประจักษ์แจ้ง

ทั้งโรคโดยสภาวะและโรคโดยสมุฏฐาน ถ้ามีสติเข้าไปกำหนดรู้ เรียกว่ารู้รูปโรค นามโรค กลายเป็นรูปธรรม นามธรรม และกลายเป็นตัวปัญญา แต่ถ้าไม่มีสติไปกำหนดรู้ก็แก้ไขได้เหมือนกัน แต่เป็นแบบสัญชาตญาณ ซึ่งเป็นโมหะ แต่ท้ายที่สุดเราก็จะพบว่าโรคทั้งสองนี้มีที่มาเดียวกันคือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเท่านั้น

ตามขั้นตอนของหลวงพ่อเทียนเมื่อเรารู้จักรูปนาม รูปทำ นามทำ รูปโรค นามโรค ก็จะรู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา โดยอัตโนมัติ สิ่งที่ท่านนำมาสอนคือนำเอาตัวสภาวะที่ปรากฏอยู่มาแยกย่อยให้เห็นรายละเอียดของมัน ตัวสังเกตของเราก็ลึกขึ้น

ต้องเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นหมื่นๆ ครั้ง ปัญญาจึงจะเกิด

เมื่อเรารู้สาเหตุแล้ว ก็รู้วิธีแก้โดยการเจริญสติปัฏฐานสี่ เจริญสติ สมาธิ ปัญญา บ่อยๆ ก็จะเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ของรูปนาม เมื่อเห็นบ่อยเข้าก็เกิดปัญญา แต่ถ้าไม่เห็นบ่อยๆ ปัญญาก็ไม่เกิด ต้องเป็นร้อยครั้ง พันครั้ง หมื่นครั้ง แสนครั้ง ปัญญาจึงจะเกิด ก็ต้องดูบ่อยๆ ดูตั้งแต่เช้าจรดเย็น ดูทุกวัน หลวงพ่อเทียนจึงให้เข้าเก็บอารมณ์ เพื่อดูอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เมื่อดูจนสุกงอมก็จะเกิดปัญญาสว่างโพล่งขึ้นมา มันเห็นความจริง เกิดนิพพิทาวิราคะ เกิดความเบื่อหน่ายคลายจางการยึดมั่นถือมั่น

เห็นสิ่งที่ชอบก็เฉยๆ เห็นสิ่งที่ชังก็เฉยๆ

ถ้ายังไม่เกิดปัญญาเราทำเป็นไม่ยึดมั่นถือมั่นเฉยๆ เป็นเพียงสมมติ  แต่ตัวยึดมั่นถือมั่นมันจะหายไปไม่กลับมา ต้องเกิดนิพพิทาญาณ นิพพิทาวิราคะ เกิดความเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เราหลง เหมือนกับเราไปกินของแสลง ทำอย่างไรจึงจะสำรอกออกมาได้ เมื่อมันออกไปแล้วก็โล่งเลย อาการของทุกข์ก็เหมือนกัน ให้มันสำรอกออกมา มันถึงจะเกิดความเหนื่อยหน่าย ต่อมาก็เกิดการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น จิตเราก็เป็นอิสระขึ้น เห็นอะไรก็เฉยๆ ไม่อยากได้ เห็นสิ่งที่ชอบก็เฉยๆ เห็นสิ่งที่ชังก็เฉยๆ เพราะรู้ว่ามันมีพิษ มันก็ไม่สะสมตัวอุปาทาน สิ่งที่ดีทำให้เราเป็นทุกข์เพราะอัตตา สิ่งที่ไม่ดีก็เป็นทุกข์ แต่จะสลัดได้เร็วกว่าเพราะมันเป็นรากที่ลึก

 

พระพุทธยานันทภิกขุ