สติหลุดไม่เป็นไร ซ่อมได้

ซ่อมสติ

ประเด็นสังเกตถูกผิด:

กราบนมัสการหลวงพ่อค่ะ
หลังจากหลวงพ่อให้คำแนะนำเป็นเวลาผ่านไป 14 วัน หนูปฏิบัติตามในรูปแบบคือเดินจงกรมและเจริญสติสร้างจังหวะ เมื่อเลิกงานแล้วที่ห้องพักวันละ 1 ชม ถึง 1 ชม 30 นาทีทุกวันค่ะ และระหว่างวันกำหนดรู้ที่อริยบถ เคลื่อนไหว รู้การกระพริบตา รู้ที่เท้าขณะที่เดินตรวจงาน หนูรู้สึกจิตอยู่กับกายมากขึ้น ไม่ฟุ้งซ่านคิดไปอดีตและอนาคต ไม่ง่วงเหงา ไม่เบื่อหน่าย วันหนึ่งๆ เวลาผ่านไปรวดเร็วมากค่ะ เบาโล่ง ดูจิตไม่ทุกข์และไม่สุข แม้ได้รับคำชมเชยจากหัวหน้างาน ดูจิตเฉยได้กับหลายสถานะการณ์ และระหว่างวันได้อ่านคำสอนของหลวงพ่อทางเฟซบุคบ้าง ทางไลน์บ้าง มีประโยชน์กับการฝึกจิตดีมากค่ะ เมื่อนำมาใช้กับตัวเอง หนูอยากได้คำแนะนำจากหลวงพ่อว่า หนูปฏิบัติถูกต้องใช่ใหมคะ แล้วต้องเพิ่มเติมอะไรให้จิตได้ก้าวหน้าขึ้นในการปฏิบัติระหว่างวันอีกใหมคะ กราบนมัสการค่ะ

ตอบประเด็นสงสัย:

ความก้าวหน้า หรือถอยหลังขึ้นอยู่กับการใช้สติ สมาธิในแต่ละขณะ ว่าเราใจตั้งใจตามรู้อาการเคลื่อนไหวทั้งทางกายและทางจิตได้ต่อเนื่องยาวนานมากน้อยแค่ไหน เพราะสติตามรู้ของเรา มักจะแผ่วและขาดเสมอ เมื่อเข้าสู่เหตุการณ์ที่คุ้นเคย รึงเร้าดึงดูด เรามักจะเข้าไปอิน หรือเสพความพอใจ และความไม่พอใจได้ง่ายๆ ดังนั้น เราต้องตั้งสติบ่อยๆ ให้รู้ล่วงหน้าเสมอว่า เหตุเช่นนี้เราจะตั้งสติอย่างไร ถึงจะไม่หลุดไปนานเกินไป แต่ในสถานการณ์จำเป็นต้องหลุด ก็ให้รู้ว่าหลุด อย่าหวั่นใจหรือตกใจ แต่ทำใจไว้เสมอว่า เมื่อผ่านสถานการณ์นี้ไปแล้ว เราจะทำคืน หรือซ่อมแซมส่วนที่เสียไป

เหมือนเราไปจ่ายตลาด บางครั้ง เรามีการเตรียมการใช้จ่ายอย่างรัดกุม ว่าจะซื้ออะไร เท่าไร แต่เมื่อไปถึงตลาดจริงๆ ได้ไปเห็นสินค้าใหม่ๆ ที่เกิดความพึงใจเป็นพิเศษ ซึ่งเราไม่ได้ทำรายการไว้ล่วงหน้าว่าจะซื้อสินค้าชิ้นนี้ล่วงหน้า แต่เราต้องซื้อ ซึ่งมันต้องใช้จ่ายเกินงบที่ตั้งไว้ เราก็ต้องกลับมาบวกค่าใช้จ่ายตามหลัง

จากสมมติฐานตรงนี้ จะเห็นได้ว่า เราไม่อาจกำหนดสถานการณ์ล่วงหน้าได้แน่นอนทุกอย่าง เราตั้งใจไว้อย่างหนึ่ง พอถึงเวลา มันกลับเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง เรื่องนี้ฉันใด การเจริญสติก็ฉันนั้น ต้องทำใจเผื่อสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนไว้เสมอ แล้วเราจะเรียนรู้การปล่อยวางได้มากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราจะประมาทน้อยลง เพราะเจริญวิป้สสนานานวัน ยิ่งเห็นกฏไตรลักษณ์ ได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นั่นแหละเป็นเส้นทางที่ถูกต้องของการปฏิบัติ ที่เธอจะเห็นได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องสงสัย ถามใครต่อไป เพราะรู้คำตอบว่า เราเท่าทัน แล้วปล่อยทุกความคิดที่ปรุงแต่งจิต ได้เร็วมากน้อยแค่ไหน เข้าใจตรงกันนะ?

 

กิเลสพาคิด หรือปัญญาพาคิด

ประเด็นสงสัย:

กราบนมัสการค่ะ. เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิดเราเป็นปัญญาหรือกิเลสพาคิดค่ะ. มีสิ่งใดเป็นเครื่องวัดว่าเราควรเชื่อความคิดนั้นค่ะ

ตอบประเด็นสงสัย:

เราก็ต้องสังเกตตนเองว่า เราคิดด้วยสติปัญญาสัมมาทิฐิ เป็นตัวชี้นำ หรือเราคิดตามความโลภ ความโกรธ ความหลง นี่เป็นเกณฑ์เบื้องต้น ง่ายๆก็คือ เรารู้สึกตัวในการคิด หรือคิดด้วยความไม่รู้สึกตัวนั้นเอง ถ้ารู้สึกตัวในขณะคิดว่า สิ่งที่กำลังคิดนี้ เป็นความคิด ที่มีความรัก ความชัง หรือความไม่แน่ใจอยู่เบื้องหลัง หรือไม่รู้ตัวเลยว่า เรากำลังคิดเรื่องอะไร ปล่อยจิตไปเรื่อยเปื่อย แล้วแต่เหตุการณ์ สิ่งแวดล้อมจะพาไป แบบนี้ก็เป็นโมหะ ไร้ปัญญาแน่นอน

 

กลั่นพลังงานไตรลักษณ์ ให้เป็นไตรสิกขา

ประเด็นสงสัย:

ท่านพระอาจารย์คะ กฏของไตรลักษณ์ มีความเกี่ยวข้องกับธาตุ4 ขันธ์5 และอริยสัจจ์ ได้อย่างไร

ตอบประเด็นสงสัย:

เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออกเลยนะ แต่ก็สังเกตไม่ยากเลย ไตรลักษณ์ทำหน้าที่ของธาตุสี่ ก็คือ น้ำก็ไปตามทางของน้ำ ดินลมไฟ มันก็ไปตามทางของมัน ตามกฏของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ตลอดเวลา ถ้าเราไปขวางทางของอนิจจัง ทุกขังก็ต้องเกิด อนัตตาก็ตามมา ถ้าเรามีปัญญา ดัดแปลงกฏของอนิจจังเป็น เหมือนเราเปลี่ยนแปลงทางของน้ำที่ไหลลงต่ำ เปลี่ยนมาให้มันไหลขึ้นสูง เช่นสูบขึ้นไปใช้ทางอื่น ความเป็นอนิจจังของน้ำ ก็เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล ถ้าสามารถเปลี่ยนแปลงความเป็นอนิจจ้งของจิต ให้เป็นสติได้ ก็เกิดสมาธิ และปัญญามหาศาล พระพุทธองค์ทรงค้นพบกฏความเป็นสากลของไตรลักษณ์ เรียกว่า อริยสัจจ์สี่ ก็คือการค้นพบวิธีเปลี่ยนกฏของไตรลักษณ์ให้เป็นไตรสิกขานั้นเอง คือการเแปลงอนิจจัง กลับเป็นสติ แปลงทุกขังให้เป็นสมาธิ และแปลงอนัตตาให้เป็นปัญญานั้นเอง

กราบนมัสการ ขอบพระคุณมากเจ้าค่ะ อริสัจจ์ เปลี่ยนไตรลักษณ์เป็นไตรสิกขา ทำให้สภาวะธรรมที่เกิดขึ้นตลอดเวลาขณะภาวนา ชัดเจน และเป็นครั้งแรกที่เข้าใจลึกซึ้งเพิ่มขึ้น ทำให้คิดถึงข้อความที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสกับพระอานนท์ว่า กัลยาณมิตรคือทั้งหมดของชีวิตประมาณนี้ และหลวงพ่อก็เป็นกัลยาณมิตรที่เป็นที่พึ่งได้จริง ขอน้อมกราบหลวงพ่อ ขอบุญที่โยมได้กระทำด้วยดีแล้ว ได้ตามรักษาให้หลวงพ่อมีสุขภาพแข็งแรง อยู่อบรมคนมืดบอดที่ต้องการแสงแห่งธรรม พาตนให้หลุดพ้นจากกองทุกข์ ไปนานๆนะเจ้าคะ สาธุ สาธุ เจ้าค่ะ

 

คนตรงไปตรงมา จะได้ผลไว

ประเด็นเปิดเผยตนเองตามจริง:

จากที่สังเกตกายใจ โดยเน้น ความพอใจ ไม่พอใจ และเฉยๆ หนูพบว่า ความพอใจ และไม่พอใจ เกิดจากสัญญาเดิม บางทีเกิดขึ้นที่ใจได้เองเลย เหมือนมีเชื้อ แล้วเชื้อนี้ เป็นเหมือนแม่เหล็กดูด เอาสัญญาเดิมขึ้นมาแล้วก็บอกเราว่า “อยาก” ส่วนความเฉยๆ พบว่ามันเกิดจากการทำซ้ำๆ ด้วยความไม่รู้ มันเหมือนก้อนดินที่ถูกปั้นเป็นก้อนๆ ให้ใหญ่ขึ้นตามรอบที่ทำ พอเห็นการเกิดแบบนี้ มันทำให้หนูมีอาการใกล้เคียงกับคำว่าปลง ร่างกายหายใจได้ปลอดโปร่งขึ้น คือข้างบน หมายถึงข้างใน ดูข้างใน ดูกายเคลื่อนไหว ดูจิตเคลื่อนไหว ส่งผลเป็นอารมณ์ เมื่อก่อนหนูก็สงสัยอีกจะให้แสดงออกอย่างไร จะให้หน้านิ่งดี หรือตรงข้ามกับความรู้สึก เช่นโกรธก็ยิ้ม ดีใจก็ทำหน้าเฉยๆ ตอนฟังเทศน์ ท่านบอกวิธีไม่หมด หนูด้อยปัญญา ด้วย (ที่เขียนเพราะตอนอ่านเกิดสัญญาเก่าไม่พอใจ ) เมื่อก่อนทำได้แค่ยิ้มรับ เดี๋ยวนี้พัฒนาขึ้นเป็นตอบ เป็นคำพูด ชี้แจง โดยมีความรู้สึกที่ดีส่งไปด้วย อย่างแบบนี้ถ้าเป็นคนก่อน ก็จะไม่คุยกับหลวงพ่อค่ะเพราะเป็นคนชอบเก็บความรู้สึก ตอนนี้พบว่าการเป็นคนเก็บความรู้สึก ส่งเสริมให้เป็นคนคิดเองเออเอง ก็เลยไม่อยากเป็นคนแบบนั้นแล้ว ก็เลยรายงานสภาพในใจ ความคิดกับหลวงพ่อค่ะ และหนูพบว่าการพูดโกหก ก็เป็นจุดเล็กๆ ที่จะเป็นพื้นฐานสะสม ให้ไม่สามารถเรียนรู้และรับรู้สภาพ และทุกเรื่องตามความเป็นจริงได้ แม้แต่โกหกเพื่อให้ดูดี ก็ด้วยค่ะ

ตอบประเด็น ผลการเปิดเผยตนเองตามความเป็นจริง:

ดีมากหนูการปฏิบัติธรรม จะได้ผลไวเราต้องเป็นคนตรงไปตรงมา เปิดเผย ยอมรับตนเองตามความจริง อย่าเก็บกด ปกปิดซ่อนเร้น เพราะมันจะเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติแบบนี้เป็นอย่ามาก เพราะในโพธิราชกุมารสูตร บอกถึงวิธีการปฏิบัติ ที่ให้ผลไวมาก 5 ประการคือ
1. มีศรัทธาเชื่อมั่นใน คำสอนและวิธีการที่ถูกต้อง
2. ต้องพิสูจน์อย่างจริงจัง อย่าทำเล่นๆ แต่ไม่หวังผล แต่อยากรู้ความจริง
3. ไม่ทรมานกายของ ตนเองโดยไม่จำเป็น แต่ทรมานกิเลสอย่างเต็มที่
4. เป็นคนตรงไปตรงมา เปิดเผยตนเองตามความ เป็นจริง ไม่มีมายาสาไถย หรือเจ้าเล่ห์
5. มีสติสัมปชัญญะ ต่อเนื่องจนสามารถเห็น การ เกิดดับของเองได้

 

พระพุทธยานันทภิกขุ