จิตเป็นของเราหรือเปล่า?

จิตเป็นของเราหรือเปล่า

ถาม:

นมัสการพระอาจารย์เจ้าค่ะ. รายงานการปฏิบัติ เจริญสติในชีวิตประจำวัน ตามดูความรู้สึกตัวหรือความคิด อยู่ที่ไหนๆ ใช้วิธีเรียกเอาเลยเจ้าค่ะ รู้ทันบ้างหลุดหายไปเสียมากกว่า ได้ความคิดว่า ทุกๆ การเคลื่อนไหวของจิต ไม่ว่าจะเป็นเพียงความคิด หรือหลุดออกมาเป็นการกระทำ หรือคำพูด ล้วนสะสมส่งผลต่อชีวิตเรา ความคิดบอกว่าเธอรู้แล้วสะสมความรู้สึกตัวทุกๆ ความเคลื่อนไหวซิ แต่ว่าทำไม่ได้ตามที่เขาบอก หลุดไปมากกว่า

มีคำถามเจ้าค่ะ รูปไม่ใช่ของเราคือดินนำ้ลมไฟ เกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลงสลายไปตามเหตุปัจจัย แต่จิตหรือความคิดซึ่งตัวหนึ่งเป็นตัวอวิชชา แต่อีกตัวหนึ่งคือความรู้สึกตัวซึ่งเป็นตัวปัญญา เป็นของเราหรือเปล่าเจ้าคะ


ตอบ:

ท่านก็บอกไว้เสมอๆ จนเราท่องกันได้มิใช่หรือว่า รูปธรรม นามธรรมทุกอย่างเป็นอนัตตา คือเป็นขบวนการแห่งการเกิดขึ้นและดับไป ของเหตุปัจจัยตลอดเวลา ไม่มีแก่นสารถาวรตายตัว แต่เนื่องด้วยโลกุตตรปัญญาของเรา ยังไม่ถูกพัฒนาจนถึงขั้นดีพอ ที่จะเห็นขบวนการเกิดดับของธรรมทั้งปวง แต่เพราะมีอวิชชาเป็นฝ้าบังพุทธจักษุเราไว้ ไม่ให้เห็นทุกสิ่งตามความเป็นจริง เราจึงไปสำคัญมั่นหมายปรากฏการณ์การเกิดดับของเหตุปัจจัยนี้ว่าเป็นอัตตา คือเห็นว่ามีตัวตนที่เที่ยงแท้ถาวร นั่นคือเหตุเกิดทุกข์ทั้งปวงของมนุษย์เรา

ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมสติปัญญาญาณ หรือตัวรู้ จึงมีการรู้บ้างหลงบ้าง เพราะมันเป็นไปเหตุปัจจัยเดิมของมัน เกิดแล้วก็ดับ หรือรู้แล้วก็หลง หรือรู้สึกสักพัก แล้วก็หลุดไป แล้วก็กลับมารู้ใหม่ อย่างนี้เรื่อยไป เพราะแม่แบบของเขาเป็นมาอย่างนั้น

แต่ถ้าผู้ปฏิบัติสามารถรักษาหรือดำรงทรงไว้ซึ่งความสมดุล ระหว่างระยะแห่งการเกิดและดับ ในอัตราส่วนเท่าๆ กัน ให้รู้เท่าทันการเกิดดับทุกๆ ครั้ง คือไม่ให้ระดับการเกิดมากกว่า หรือยาวกว่าดับ หมายความว่า ให้รู้เท่าทันการเกิดและการดับ ในระยะเท่าๆ กัน ไม่มากไม่น้อยไปกว่ากัน แต่ตราบใดที่โลกุตตรปัญญาของเรายังไม่สมบูรณ์ถึงที่สุด เราจะรู้แบบนี้ไม่ได้ เมื่อไรปัญญาโลกุตตรสมบูรณ์แล้ว ภาวะนิพพานก็เต็มรอบสมบูรณ์ เป็นสมุทเฉทวิมุติ และสภาวะปรมัตถปัญญาก็สมบูรณ์

ดังนั้น ท่านจึงแบ่งขั้นตอนการรู้เท่าทันการเกิดและดับ ไว้ถึงสี่ขั้นตอนคือ
1. ผู้รู้เท่าทันการเกิด 25% ขึ้นไป จิตของเขาตั้งอยู่ในภูมิโสดาบัน
2. ผู้รู้เท่าทันการเกิดและดับ 50% ขึ้นไป จิตของเขาตั้งอยู่ในภูมิสกิทาคามี
3. ผู้รู้เท่าทันการเกิดและดับ 80% ขึ้นไป จิตของเขาตั้งอยู่ในภูมิอนาคามี
4. ผู้รู้เท่าทันการเกิดและดับ 100 % จิตของเขาตั้งอยู่ในภูมิอรหันต์

จิตของบุคคลผู้ใด ตั้งอยู่ภูมินี้ จิตก็จะคงที่ ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ติดๆ หลุดๆ อีกต่อไป
จิตประเภทนี้เท่านั้น ที่สามารถอยู่เหนือการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย ที่เรียกว่านอกเหตุ เหนือผล นอกเกิดเหนือตาย
ผู้รู้พึงพิสูจน์ความจริงข้อนี้ ถ้ายัง พิสูจน์ไม่ได้ ก็ยังไม่ควรเชื่อ

 

คนจนสติ

ถาม:

เมื่อเรารู้จักความรู้สึกตัวแล้วต้องหมั่นสะสม และต้องสามารถนำมาใช้ให้ทันเวลาปัจจุบันขณะใช่ไหมเจ้าคะ

ตอบ:

คนรวยจ่ายแล้วเหมือนเขาได้ลงทุน คนจนจ่ายแล้วหมดเลย เพราะจ่ายแบบไม่ใช้สติปัญญานั้นเอง ทุกครั้งเราจะทำอะไร พูดกะใคร คิดอะไร ต้องตั้งสติก่อน นั้นแหละคือการลงทุน ทำ พูด คิดอะไร จะได้สติปัญญาเป็นกำไรตอบแทนทุกครั้ง แต่ถ้าทำ พูด คิดแบบไม่ตั้งสติ ไม่ใช้ปัญญา ก็จะขาดทุกครั้งเหมือนกัน นั้นคือคำตอบว่า ทำไมคนบางคนถึงมีแต่รวยกับรวย แต่บางคน มีแต่จนกับจน

 

ถ้าคิดมากจนเอาไม่อยู่ จะทำอย่างไร?

ถาม:

เราควรจะทำสมถะก่อนวิปัสสนาหรือไม่?

ตอบ:

ทำไปพร้อมๆ กัน ทั้งสมถะและวิปัสสนา คือช่วงไหนปัญหาทางกายเกิด ก็ใช้สมถะแก้ปัญหาทางกาย ช่วงไหนปัญหาจิตเกิด ก็ใช้วิปัสสนาแก้ปัญหาทางจิต ว่าแต่ว่า จะใช้เป็นหรือเปล่า

ยกตัวอย่าง ตอนนี้กำลังแก้ปัญหาให้นักปฏิบัติรายหนึ่งอยู่พอดี คือขณะเดินจงกรมตามปกติไปสักพัก จิตเริ่มหาเรื่องคิดไปเรื่อยๆ พอได้สติรู้ตัว ก็กลับมาดูกายทั่วไป แต่ยังเอาไม่อยู่ ก็เลยบอกเขาว่า ลองหายเข้าช้าๆ ลึกๆ ขณะเดิน หายใจเข้าจนหมดแล้วหยุด หมุนตัวกลับแล้ว เริ่มหายใจออกช้าๆ ยาวๆ แล้วเดินไปเรื่อยจนหมดลมหายใจออก แล้วหยุดกลับตัว เดินจงกรมและทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกัน สังเกตดูจิตว่า ใจสงบปกติหรือยัง ถ้าปกติดีแล้ว ก็กลับมาเดินจงกรมธรรมดา สังเกตกายทั้งหมดไปเรื่อยๆ พอเกิดเรื่องคิดใหม่อีก ก็ทำแบบนั้นอีก ปรากฏว่าได้ผลดีมากๆ เพราะใช้ทั้งสมถะและวิปัสสนามาผสมผสานกัน หนูลองไปทำดูนะ ได้ผลอย่างไรมารายงานด้วย

ว่างแบบสมถะหรือวิปัสสนา

ถาม:

กราบหลวงพ่อครับ
ขอถามเรื่องสุญญตาแปลว่าว่างจากจิต แล้วจิตสงบกับจิตว่าง
ใช่ตัวเดียวกันไหมครับ
ถ้าไม่ใช่แตกต่างกับสุญญตาย่างไร
ครับ ขอบคุณหลวงพ่อที่เมตตาครับ

ตอบ:

จิตว่างเป็นสมถะ ว่างจากจิตเป็นวิปัสสนา

จิตว่างแบบสมถะเรียกว่า เอกัคคะตาจิต

ว่างจากจิต เรียกว่า สุญญตาจิต หรือวิสังขาระจิต

นี่เป็นเรื่องของวิชาการ แต่เป็นภาคปฏิบัติหรือปรมัตถ์ ก็คือ เมื่อมีอารมณ์มากระทบแล้ว มีตัวรู้เข้าไป พยายามปล่อย ถ้าสติแรงแรงพอ สามารถสลัดหรือ ขจัดอารมณ์นั้นออกไปได้ จิตจึงว่าง ว่างแบบนี้ เรียกว่าสมถะ แต่ถ้าอารมณ์มากระทบจิต ตัวรู้ทำหน้าที่รู้ แล้วอารมณ์นั้นหลุดเอง โดยไม่ต้องพยายามใดๆ นี้เป็นวิปัสสนาญาณ เพราะไม่มีสังขารจิตมาปรุงต่อนั้นเอง เข้าใจได้ไหม?

 

 

พระพุทธยานันทภิกขุ