รูปนามโดยสัญญา-ปัญญา

รูปนามโดยปัญญา แตกต่างจากการรู้โดยสัญญาอย่างไร?

ความรู้สึกตัวในระดับรูปนามมี ๒ ระดับ
ระดับที่ ๑ เรียกว่าระดับ “สัญญา”
ระดับที่ ๒ เรียกว่าระดับ “ปัญญา”

ขณะนี้ เรานั่งมานานแล้ว
รู้สึกปวดตามแข้งขา
บางคนก็สนใจจะระลึกรู้ บางคนก็ไม่ได้สนใจ

รูปนามโดยปัญญาเป็นอย่างไร?

สำหรับคนที่เจริญสติปัฏฐานอย่างถูกต้อง
จะคอยตามระลึกรู้ถึงความรู้สึกไม่สบายในส่วนนั้นๆ
ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และตามดูมันไปเรื่อยๆ
จนมันเป็นระดับที่เข้มขึ้น
เป็นระดับกลาง และหยาบไปตามลำดับ
และตามดูจากหยาบ กลาง ละเอียด
ทบทวนดูเวทนาทั้ง ๓ ขั้นไปเรื่อยๆ
จนกระทั่งร่างกายทนไม่ได้ หรือทนได้ลำบาก
นี้เป็นการดูด้วยสติ
และเมื่อเปลี่ยนอิริยาบถไปท่าใหม่
ก็เริ่มตั้งต้นตามดูไปใหม่เรื่อยๆ
จนเห็นว่าร่างกายนี้เป็นไป
ตามกฏแห่งไตรลักษณ์ตลอดเวลา
ไม่รู้สึกหงุดหงิดรำคาญ
ที่ต้องปรับเปลี่ยนกายตนเองตลอดเวลา
ด้วยการตามดูเช่นนี้ จิตจึงเป็นสมาธิโดยอัตโนมัต
จึงเรียกว่าเข้าใจรูปนามโดยปัญญา

รูปนามโดยสัญญาเป็นอย่างไร?


คนส่วนมาก ที่ยังไม่รู้จักการเจริญสติปัฏฐาน
ก็ยังไม่รู้จักความรู้สึกตัว ไม่ว่าระดับใดก็ตาม
แต่สำหรับคนที่เริ่มเรียนรู้การภาวนา
ก็จะรู้จักความรู้สึกตัวเพียงระดับเดียว
คือรู้จักแต่หยาบเท่านั้น
เพราะยังไม่เข้าใจการตามดูกายดูจิต
จนกว่าจะได้รับการแนะนำการรู้กายรู้ใจ
อย่างถูกต้องจากท่านผู้รู้
และพยายามที่จะศึกษาและทำตา
อย่างจริงจังตั้งใจเท่านั้น
ถึงจะรู้ตัวในระดับกลาง และระดับละเอียดได้
ส่วนใหญ่แยกความรู้สึกตัวยังไม่ออก
เพราะเห็นว่าความรู้สึกตัวเป็นตัวตนอยู่
คือยังเห็นรูปเป็นเรา และเห็นความคิดว่าเป็นเราอยู่

ตรงนี้เรียกว่าเข้าใจรูปนามโดยสัญญา
คือรู้สึกได้ตอนที่มันเป็นทุกข์แล้ว
แต่ไม่เห็นว่า ทุกข์มันเริ่มต้นเกิดขึ้นอย่างไร
ตั้งอยู่อย่างไร และดับอย่างไร
คนที่ตามดูกาย และจิตยังไม่เป็น ก็รู้ได้ยาก
เพราะสติยังอยู่ในระดับสัญญาหรือสัญชาตญาณอยู่

รู้รูปนามแบบสัญญาเหมือนการตำน้ำพริก

ฉะนั้นในเบื้องต้น คนที่ยังไม่เข้าใจ
เรื่องรูปนามโดยปัญญาหรือโดยวิปัสสนา
ก็ขอให้ฝึกทำความเข้าใจ โดยการเจริญสติ
ตามดูสัญญาทางกายไปเรื่อยๆ
จนความรู้แบบสัญญาตัวนี้
เมื่อใช้สติตามดูบ่อยเข้าๆ
มันจะค่อยลึก ค่อยละเอียดมากขึ้นเรื่อยๆ

เหมือนเราตำน้ำพริกหรือโม่แป้ง
ตอนแรกๆมันยังหยาบอยู่
พอตำ หรือหมุนโม่ไปนานเข้าๆ
แป้งก็จะถูกบดละเอียดขึ้นฉันใด
การเฝ้าดูความรู้สึกก็เหมือนกันฉันนั้น

ในช่วงแรกๆ เรากำหนดรู้
เวทนาทางกายแบบหยาบๆ ไปก่อน
เมื่อตามรู้บ่อยเข้าๆ
เราก็เริ่มรู้สึกถึงเวทนากลางๆ
และเริ่มรู้เวทนาละเอียดขึ้นเรื่อยๆ

รูปนามโดยสัญญา
จึงกำหนดได้แค่ความรู้สึกส่วนหยาบๆ
แต่รูปนามโดยปัญญา
กำหนดได้แม้กระทั่ง
เวทนาระดับหยาบ กลาง ละเอียด

ขณะนี้เรานั่งอยู่
เรารู้ได้อย่างไรว่าเรานั่ง
“ความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองมีอยู่”
หรือ “ความรู้สึกที่สัมผัสจริงๆ”

ขณะนี้เรานั่งมาหนึ่งชั่วโม
รู้สึกอย่างไร?
สบายหรือไม่สบาย?
มันเจ็บมันปวดมันหนักใช่มั้ย?

ความรู้สึกที่หนักหรือเบานี
มันเป็นรูปหรือเป็นนาม?

ความปวดนี้เกิดจากกาย
มันก็ควรจะเป็น “รูป”
“นาม” เป็นผู้รู้ ว่ามันปวด

พระพุทธยานันทภิกขุ