การบำบัดทุกข์ด้วยวิชชา-อวิชชา

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

การบำบัดทุกข์ด้วยวิชชา-อวิชชา

วิชชาหรือความรู้สึกตัว ตรงข้ามกับอวิชชาคือความไม่รู้สึกตัว หรือเราอาจจะเรียกชื่อใหม่แบบเข้าใจกันง่ายๆว่า ตัวรู้ (วิชชา คือผลรวมของ สติ สมาธิ ปัญญา) และตัวหลง (อวิชชา คือผลรวมของ ตัณหา อุปาทาน กรรม)
 
เมื่อรู้สึกตัวอยู่ สติ สมาธิ ปัญญา เบื้องต้นก็ปรากฏตัวโดยอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องไปรู้จักหรือนึกถึงเรื่องของสติ สมาธิ ปัญญาตามตำราแม้แต่นิดเดียว และตรงกันข้าม เมื่อใดเราลืมตัว ตัวหลง (อวิชชาก็ปรากฏ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) ก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติของมัน
 
ตอนแรกตัวรู้หรือวิชชาของเรายังไม่มีกำลังเข้มแข็งพอ เราต้องอาศัยศรัทธาและความพียร เจริญตัวรู้ให้มีกำลังมากขึ้นเรื่อยๆ คือทำบ่อยๆ และทำอย่างเข้าใจ ตัวรู้ก็เริ่มมีความเข้มแข็ง มีความแหลมคม ละเอียดถี่ถ้วนมากขึ้นตามลำดับ
 
เราจะเริ่มรู้และเข้าใจความรู้สึกทางกายได้ชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเริ่มเข้าใจว่า อะไรเป็นความรู้สึกทางกาย อะไรเป็นทางจิต และรู้ชัดขึ้นเรื่อยๆ ว่า จริงๆ แล้วร่างกายนี้ มันมีความรู้สึกสบายแค่ประเดี๋ยวเดียว แค่พลิกไปไม่ถึงนาทีมันก็เริ่มไม่สบายอีกแล้ว มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่เราไม่ค่อยสนใจตามรู้ความจริงของมัน เพราะสติเรายังไม่แก่กล้าพอนั่นเอง
 
เพราะฉะนั้น เราจะสัมผัสความรู้สึกไม่สบายได้ง่ายกว่า หรือที่ตามภาษาตำราว่า “ทุกขเวทนาทางกาย” ที่ทำให้เราต้องปรับเปลี่ยนเคลื่อนไหวพลิกไปมาอยู่ตลอดเวลา ก็เพื่อบำบัดทุกขเวทนาต่างๆ อันเป็นผลงานของกฏอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั่นเอง เราต้องบำบัดอาพาธต่างๆ ตลอดเวลา เช่น เราต้องกิน ต้องดื่ม ต้องเข้าห้องน้ำขับถ่าย ตลอดถึงการเปลี่ยนอริยาบถน้อยใหญ่แทบตลอดเวลา ก็เพื่อบำบัดทุกขเวทนาทางกายและจิตเท่านั้น

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

วิธีการเปลี่ยนอวิชชาให้เป็นวิชชา

การเข้าไปบำบัดทุกขเวทนาต่างๆนั้น เราสามารถเปลี่ยนกำลังของอวิชชาให้เป็นวิชชาได้ ซึ่งเมื่อก่อน สมัยที่เรายังไม่รู้วิธีการเจริญสติที่ถูกต้อง การบำบัดทุกขเวทนาต่างๆ ก็ทำไปด้วยความเคยชินหรือสัญชาตญาณ มันก็ยิ่งเพิ่มกำลังให้กับอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ให้มีกำลังเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อเรารู้จักวิธีเจริญสัมมาสติอย่างถูกต้อง ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมคือวิชชาก็เกิดขึ้น เพราะอาศัยการบำบัดทุกขเวทนาอย่างรู้สึกตัวนั่นเอง ความไม่รู้สึกตัว คืออวิชชาก็เกิดไม่ได้ กระแสแห่งตัณหา อุปาทาน กรรมก็หยุดทำงาน

เมื่อเราได้รู้ความจริงเช่นนี้ เราก็จะต้องขยันหมั่นเพียรสร้างความรู้สึกตัวก่อนจะบำบัดทุกขเวทนาต่างๆ ที่เกิดตลอดเวลา แม้แต่นอนหลับแล้ว บางครั้งเราก็พลิกซ้ายพลิกขวา เราก็สามารถตั้งสติ ตามรู้เวทนาทางกาย ทางจิตได้ ก็รับรู้ได้ ถ้าเรามีศรัทธาที่ต้องการให้วิชชา เกิดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจริงๆ

ดังนั้นการปฏิบัติธรรมที่เป็นต้นเหตุจริงๆ ก็คือการทำให้รู้จักวิธีเพิ่มพูนกำลังของสัมมาสติและสัมมาปัญญา แล้วให้รู้จักใช้สติปัญญามาบำบัดทุกขเวทนาต่างๆ อย่างต่อเนื่องนั้นเอง ทั้งนี้ เพื่อทำให้ความรู้สึกสุข รู้สึกทุกข์ที่มันเข้มข้นเกินไป กลับมาเป็นกลางๆ เพื่อเราจะอยู่กับเวทนาที่พอทนได้สบายเท่านั้น

ถ้าเราสามารถบำบัดเวทนาต่างๆ ให้เป็นกลางอย่างรู้สึกตัว กำลังของไตรลักษณ์ที่มันกำลังปรากฏทางรูป จะไม่เข้าไปทำร้ายนาม ดังนั้น เราจึงมาเจริญวิชชาคือเจริญความรู้สึกตัวให้มาก เพื่อที่เป็นฉนวนป้องกันระหว่างความทุกข์ที่มันเกิดกับรูปที่จะไม่ไหลไปบังคับนาม แล้วโรคที่มันเกิดกับกายมันจะไม่ไหลไปทำร้ายจิต

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ความรู้สึกตัวธรรมดาที่ไม่ธรรมดา

ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม จะมีกำลังมากขนาดไหนขึ้นอยู่กับการปฏิบัติของเรา ถ้าความรู้สึกตัวระดับต้นๆ ก็สามารถตามรู้ทุกขเวทนาระดับหยาบๆได้
(เวทนาระดับหยาบๆ หมายถึง ความรู้สึกเจ็บปวดที่มันเข้ม หรือมากกว่าปกติ ที่เราเริ่มจะทนไม่ได้แล้ว)
 
การตามรู้ทุกขเวทนาที่เกิดทั่วร่างกายได้ชัดเจนมากขึ้นและเตรียมพร้อมที่จะเปลี่ยนอริยาบถไปท่าใหม่ เรียกว่า “สัมปชัญญะ”
 
การตามดูความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่องเรื่อยๆ โดยที่ไม่ละทิ้งการตามรู้นั้น เรียกว่า “สมาธิ”
 
สติที่ตามรู้กาย รู้ใจไปเรื่อยๆนี้แหละ เมื่อพัฒนาตัวไปเรื่อยๆ แล้วถ้ารู้จักวิธีแก้ได้อย่างชัดเจนทุกครั้งที่มันเกิดทั้งรูปทั้งนามเรียกว่า “ปัญญา”
 
เพราะสติที่พัฒนาตัวเป็นปัญญานั้น จะสามารถแยกความทุกข์ทางกาย หรือทางรูปให้ออกจากจิตหรือนามได้
 
ปัญญาที่ตามเข้าไปเห็นจิตที่เป็นภาวะรู้เฉยๆ ชัดๆ เกลี้ยงเกลาจากปรุงแต่ง ไม่นำเอาเวทนาต่างๆที่ได้รับมาจากกาย มาปรุงเป็นเรา เป็นของเราได้ เรียกว่า “ปัญญาญาณ”
 
เพราะปัญญาชนิดนี้ จะสามารถเห็นแจ้งว่า กิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม เกิดขึ้นแก่จิตได้อย่างไร
 
และสามารถเห็นอย่างชัดเจนว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง มานะ ทิฏฐิ อาสวะต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นกับจิตได้อย่างไร สามารถแยกจิตให้ออกจากการปรุงแต่งด้วยอำนาจของอวิชชาได้ เรียกว่า “วิปัสสนาญาณ”

  พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

เริ่มต้นสร้างตัวรู้สึกตัว

เบื้องต้นในวิธีนี้ เราต้องการให้เข้าใจการสร้างความรู้สึกตัวให้ถูกต้องก่อน เพราะเราได้รับทุกข์ภัยจากความไม่รู้สึกตัวมายาวนาน จนนับไม่ได้ว่าเป็นเวลานานเท่าไร
 
ตามภาษาของปริยัติ “ความรู้สึกตัว” เราเรียกว่า “วิชชา” ความไม่รู้สึกตัวเรียกว่า “อวิชชา” ดังนั้น พระพุทธองค์กล่าวว่า “ความไม่รู้” เป็นตัวตันเหตุของความทุกข์ทั้งมวล และเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหลายทั้งปวงด้วย
 
วิธีแก้ก็สามารถทำได้ โดยวิธีทำตรงกันข้ามเสีย คือหันมาสร้างความรู้สึกตัวหรือวิชชาแค่นั้นเอง แต่ “อวิชชา” มันเป็นสัณชาตญาณของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เหตุไรจึงเรียกว่า มันเป็น”สัญชาตญาณ”
 
เพราะอวิชชาทำให้เกิดความหลงลืมตัว ไม่รู้ตัวก่อนการบำบัดทุกขเวทนาทุกครั้ง ดังนั้น อวิชชาก็คือความไม่ตั้งใจ ต้นเหตุของทุกข์จึงเกิดขึ้นตรงนั้นเอง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ความเผลอสติเป็นต้นเหตุของปฏิจจสมุปบาท

ความเผลอสติ ความไม่รู้สึกตัว
เป็นต้นเหตุของการเกิดทุกข์
เป็นสายโซ่ข้อหนึ่งทำหน้าที่เกาะเกี่ยว
กับเหตุปัจจัยอื่นๆ อีกหลายตัว

เช่น เมื่อเราเผลอสติ(อวิชชา)
สังขาร(การปรุงแต่ง)
วิญญาณ(การรับรู้)
นามรูป(ภาพในใจ)
สฬายตนะ(การเชื่อมต่อภาพภายในและภายนอก)
ผัสสะ(การกระทบกันระหว่างภาพทั้งสอง)
เวทนา(การเข้าไปรับรู้ภาพที่มากระทบ)
เกิดขึ้นตามลำดับ

เมื่อภาพเชื่อมต่อกัน
ขบวนการของทุกข์ยังไม่ครบวงจร
หากผู้ที่ฝึกฝนมาดี
มีความชำนาญในการตามรู้
จนถึงขั้นปรมัตถ์แล้ว
โอกาสที่จะเกิดสติ รู้เท่าทัน
และตามเห็นกระบวนการของอวิชชา
เป็นไปได้มาก

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติต้องศึกษา
ทบทวนประสบการณ์ตรงนี้บ่อยๆ
ทุกๆ ครั้งที่ความคิดเกิดขึ้น
อย่าพลาดโอกาสเลยทีเดียว
เพราะตรงนี้อาจกล่าวได้ว่า
เป็นหัวใจของการปฏิบัติวิปัสสนา
ที่สำคัญมากจุดหนึ่ง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

ท่อไอเสียของมนุษย์

ทุกคนมีทุกข์คือความไม่สบายกายเป็นพื้นฐาน เมื่อความรู้สึกไม่สบายกาย ไม่ได้รับการการบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักสติปัฏฐานสี่ มันจึงเปลี่ยนเป็นความรู้สึกไม่สบายใจไปโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ผู้ไม่ได้เรียนรู้เรื่องสติปัฏฐาน จึงไม่มีโอกาสรู้เรื่องวิธีปรับเปลี่ยนทุกขเวทนาที่เกิดโดยสัญชาตญาณให้เป็นปัญญาญาณได้เลย
 
ถ้าจะถามต่อไปว่า “ทุกข์ทางกายนี้เกิดจากอะไร?” ตอบว่า ทุกข์เกิดจากการทนไม่ได้ต่อเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วความทนไม่ได้นี้เกิดจากอะไร?
ทำไมเราจึงทนไม่ได้?
 
เราจะค่อยๆ สืบค้นหาคำตอบตรงนี้ร่วมกันไปเรื่อยๆ ความทุกข์ที่เราทนไม่ได้ เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงใช่ไหม คือการเปลี่ยนแปลงของธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามกฏของไตรลักษณ์ มันต้องหมุนเวียนเปลี่ยนไปตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงก่อให้เกิดความแปรปรวน คือการตั้งอยู่ในสภาพเดิมได้ไม่นาน
 
เหมือนกับรถตอนจอดไว้เฉยๆ มันไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่พอสตาร์ท เครื่องทำงาน ความเปลี่ยนแปลงแปรปรวนก็ปรากฏทันที
 
พวกเราที่ใช้รถกันเป็นประจำย่อมรู้ดีว่า ความแปรปรวนและไอเสียเกิดจากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ การเผาไหม้ก่อให้เกิดพลังงาน จุดเกิดเริ่มจากการสตาร์ทขึ้นด้วยการฉีดน้ำมันเข้าไปในห้องเครื่อง น้ำมันก็เกิดการเผาไหม้ขึ้น พอมันเผาไหม้ ก็ย่อมมีการเกิดขึ้นและดับลงไปอย่างรวดเร็วด้วยความถี่ที่สูงมาก เกิดเป็นแรงระเบิด ขับของเสียออกมา การเกิดดับนั้นเองเป็นพลังงานของเครื่องยนต์ นี่คือตัวอย่างการเกิดดับที่เป็นรูปธรรม ในสภาวะที่เป็นนามธรรม ก็ จะทำงานเป็นลักษณะเดียวกันฉันนั้น

คือมันมีการเกิดขึ้น และการดับลงของธาตุ4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ตามกฏของไตรลักษณ์ตลอดเวลา ด้วยกลไกการทำงานของธรรมชาตสี่ินี้เอง จึงทำให้ธาตุ 4 ดิน น้ำ ลมไฟ ของสรรพสิ่งทั้งปวง มันเกิดการแปรปรวนการเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลเนื่องมาจากการเกิดและการดับนั้นเอง

การเกิดการดับ จึงเปลี่ยนแปลงกลายมาเป็นพลังการทำงานของอนิจจังนั้นเอง เพราะฉะนั้น ทุกขังก็คือความแปรปรวนของพลังงาน ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง หรือการทำงานของอนิจจัง

พระพุทธยานันทภิกขุ หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท Direk Saksith Deva Nanda การเจริญสติแบบเคลื่อนไหว แนวหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

การทำงานของธาตุสี่

กฏของอนิจจังที่เกิดในธาตุสี่ ดินกับน้ำ ลมกับไฟ มันทำงานกันอย่างไร?
 
ธาตุไฟเป็นต้นกำเนิดของธาตุทั้งหลาย เมื่อไฟเกิดขึ้นและดับลงตามกฏอนิจจัง มันทำให้เกิดพลังงานขับออกมาเป็นธาตุลม เมื่อเกิดการผสมผสานระหว่างไฟกับลม จึงทำให้เกิดธาตุน้ำในเวลาต่อมา เมื่อเกิดการแปรปรวนของธาตุน้ำตามกฎของอนิจจัง จึงก่อให้เกิดธาตุดินในที่สุด
 
ธาตุไฟ จึงเป็นตัวต้นกำเนิดของธาตุทั้งมวล ทุกขเวทนาทั้งมวลจึงเกิดขึ้นเพราะธาตุไฟเป็นสาเหตุต้นๆ มันเผาผลาญร่างกาย จึงทำให้เกิดการเจ็บปวด เมื่อเกิดการเจ็บปวดก็มีการบำบัด เราเรียกการบำบัดนี้ว่า การดับทุกข์หรือดับไฟนั้นเอง
 
ดังนั่น ทุกขเวทนา คือความรู้สึกไม่สบายกาย มันจึงถูกบำบัดออกมาตลอดเวลา จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม
 
Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)

พระพุทธยานันทภิกขุ