รูปนาม ตอนที่ ๑

อารมณ์รูปนาม คือประตูสู่ปัจจุบัน

ในเบื้องต้น ให้เรียนรู้การการเจริญสติ จนเห็นรูปนามให้ชัดๆ เพื่อให้หายสงสัยรูปนามในระดับที่เราสามารถพิสูจน์เห็นเองได้เสียก่อน ถ้าไม่สงสัยในความรู้สึกตัวเมื่อใด สติแบบนั้นก็เป็นสติในรูปนามแน่นอน เป็นประตูให้จิตกลับมาเข้าสู่กระแสของความรู้สึกตัวในปัจจุบันได้เร็วขึ้น
เบื้องต้นอาจจะเรียนรู้รูปนามแบบสัญญาไปก่อน ถ้าเราขยันรู้ตัวไปเรื่อยๆ ไม่ขี้เกียจหรือท้อถอยเบื่อหน่ายเสียก่อน ก็มีโอกาสประจักษ์แจ้งรู้รูปนามด้วยตนเองก็ไม่ยากเลย

 

รูปนามแบบสัญญา รู้ทันกายแต่ไม่ทันจิต

แต่ถ้ายังสงสัยอยู่ ก็เพียรทนทำ และทำทนไปเรื่อยๆ รูปนามที่จำโดยสัญญา มันก็มีการแปรปรวนเปลี่ยนแปลงอยู่ เพราะความเร็วของสติในระดับสัญญา มันอาจยังไม่รู้เท่าทันจิต แต่สติในระดับนี้ สามารถรู้เท่าทันกายได้ ก็ควรพอใจแค่นี้ไปก่อน พอเพียรทำไปเรื่อยๆ สติในกายก็ค่อยพัฒนาสัญญาที่เคยติดในรูป ก็จะค่อยๆแปรสภาพเป็นปัญญาญาณมากขึ้น ยังจดจำเรื่องการเคี่ยวน้ำกะทิ ให้เป็นน้ำมันอยู่หรือเปล่า ถ้าเข้าใจรูปธรรมอันนั้น ก็จะเข้าใจความจริงเรื่องนี้ได้ไม่ยากอะไรเลย ประการสำคัญต้องทำความเพียรคือการเคี่ยวสติกับการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น เบื้องต้องอาศัยการรู้รูปนามแบบสัญญาจดจำอาการไปก่อน ถ้านักปฏิบัติคนไหนไม่ชัดเจนเห็นแจ้งอารมณ์รูปนามตั้งแต่ต้น การปฏิบัติแบบนี้ จะมีปัญหาไปตลอด เพราะรูปนามเป็นต้นตอ และพื้นฐานที่สำคัญสำหรับคนเริ่มต้นใหม่ในวิธีนี้

 

รูปนามแบบปัญญา พาให้เกิดปีติ

เราจะรู้ได้อย่างไรว่า รูปนามแบบไหนเป็นสัญญา แบบไหนเป็นปัญญา ข้อสังเกตง่ายๆ ก็คือว่า ถ้าช่วงใดที่ทำความเพียรแบบต่อเนื่อง ครั้งละหลายชั่วโมง จังหวะใดจังหวะหนึ่ง มันเกิดความรู้สึกโล่ง โปร่ง เบาสบาย จนน้ำหูน้ำตาไหลอย่างหาสาเหตุไม่ได้ หรือเกิดความคิดย้อนหวนทวนกลับไปในอดีต ที่เราจำไม่ได้แล้ว ไม่ว่าสมัยไหนก็ตาม ภาพอดีตนั้นมันชัดเจนเป็นพิเศษ เสมือนเราดูทีวีชนิดที่สว่างติดตาจนจำเหตุการณ์อันนั้นได้ไม่เคยลืม และเกิดอาการปีตีอย่างรุนแรงขึ้นกับตัวเองแล้วหลังจากนั้น ก็เกิดมโนธรรมสำนึกอะไรบางอย่างขึ้นชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน เช่นเห็นอดีตชาติของตนเอง ที่เราเคยทำกรรมอะไรแบบชั่วๆมาก่อน มันจะประกฎให้เห็นชัดเจน จนเราไม่กล้าทำมันอีกต่อไป นี้คือสัญญาณหนึ่งของการรู้รูปนามแบบปัญญาญาณ หลังจากนั้น มันโปร่งมันเบาสบาย เสมือนเราได้กินยาดีแล้วหายป่วยนั้นแหละ อาการนี้ เรียกว่าเกิดปีติเป็นสัญญาณเบื้องต้นที่สุด ก่อนที่อารมณ์ปฏิบัติ จะดำเนินมาถึงจุดนี้ การปรารภความเพียรแบบต่อเนื่อง เป็นองค์ประที่สำคัญ เรียกว่า จิตของผู้ปฏิบัติได้ดำเนินตามหลักของสติปัฏฐานสี่อย่างถูกต้อง องค์ธรรมตัวอื่นๆก็เกิดขึ้นเองตามลำดับ

 

ระวังหลุมพราง ธรรมวิจารณ์

ในช่วงเชื่อมต่อ หลังจากอาการปีตีแบบนี้เกิดขึ้น ต้องระวังตัวอุปสรรคขั้นต่อมาอย่างมาก เพราะนักปฏิบัติใหม่มักจะมาสะดุดหยุดความก้าวหน้าลงตรงนี้ เพราะขาดประสบการณ์ นั้นคือจิตจะวิ่งไปสู่อารมณ์การปรุงแต่งธรรมะ ที่เรียกว่า ธัมมะวิตก ธรรมวิจารณ์ หรือธัมมะสัญญา และธัมมะตัณหา อารมณ์แบบนี้ จะชักจูงให้เรารู้สึกสนุกไปกับความคิดปรุงแต่งในธรรมารมณ์ จะทำให้ลืมตัวรู้สึกที่ชัดเจน โดยเฉพาะ นักปฏิบัติที่เคยปฏิบัติทำสมถะมานาน จิตจะตกไปสู่หลุมพรางเดิมๆ คือหลงไปพิจารณา หรือนึกคิดตรึงตรองในอารมณ์ไตรลักษณ์คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตติดแช่อยู่ในอารมณ์ธรรมวิจารณ์ เราก็หลงไปว่าเป็นธัมมวิจัย

 

ธัมมวิจัย ไม่เข้าไปในอารมณ์

ธัมมวิจัยนั้น ต่างจากธรรมวิจารณ์อย่างยากที่จะแยกกันชัดเจน แต่ก็มีข้อสังเกตง่ายๆ คือ ถ้าอารมณ์ธัมมวิจัยเกิดขึ้นขณะใด ขณะนั้นการตามรู้เฉยๆ ชัดๆ ในรูปนามมันจะตามมา มันทำหน้าที่รู้ไตรลักษณ์เหมือนกันกับธรรมวิจารณ์ แต่จิตมันไม่ได้เข้าไปในอารมณ์นั้นๆ แต่จิตทำหน้าที่เป็นผู้รู้เฉยๆ เท่านั้น มันไม่เข้าไปเป็นอารมณ์ที่กำลังปรุงแต่ง และจิตจะกลับมาตั้งอยู่กับรูปนามอย่างแนบสนิทแบบไม่ลังเลสงสัย ซึ่งตรงข้ามกับอารมณ์ที่เป็นธรรมวิจารณ์ มักจะหลุดจากรูปนามบ่อยๆ ถึงได้สติกลับมา สติก็อยู่กับรูปนามแบบหลวมๆ และไม่แนบสนิท เพราะไปติดสนุกกับการปรุงแต่งในปุญญาภิสังขารหรือธรรมมาภิสังขารนั่นเอง นี่คือข้อสังเกต แล้วท่านเป็นแบบไหน ให้สังเกตตามนี้ก็แล้วกัน

 

ธัมมวิจัย มีที่มาจากสติสัมโพชฌงค์

ธัมมวิจัยเป็นองค์ธรรมสำคัญลำดับที่ ๒ รองจากสติสัมโภชฌงค์ ที่ว่าต่างจากธรรมวิจารณ์ตรงกันข้ามก็คือว่า ธรรมวิจารณ์ (จิตปรุงแต่งในปุญญาภิสังขาร) เป็นเหตุเกิดทุกข์หรือเป็นสมุทัยสัจ แต่ธัมมวิจัย (สติตามรู้จิตกำลังปรุงแต่ง) เป็นเหตุดับทุกข์หรือเป็นนิโรธสัจ แต่นักปฏิบัติที่มีอินทรีย์ยังอ่อนหรือคนใหม่ จะตามรู้ธรรมวิจารณ์ได้ยาก ต้องอาศัยการฝึกฝนมากๆ และเกิดประสบการณ์ในอาการเช่นนี้บ่อยๆ สติจึงเข้มแข็งขึ้นเอง แต่สำหรับคนมีอินทรีย์เข้มแข็ง จะมีความแยบคายมากกว่า และตามรู้ ตามดูอาการของเวทนาที่เกิดขึ้นในอิริยาบถต่างๆ ทีละนิดๆ ด้วยสติปัญญา จนชำนิชำนาญ เพราะสติที่เป็นองค์ของสัมโพชฌงค์นั้น จะเฝ้าติดตามดูความเข้มข้นของทุกขเวทนา ที่คอยบีบคั้นกายและจิตอยู่ตลอดเวลาเรียกว่า ธัมมวิจยะ คนที่มีประสบการณ์สูงจะมีความแยบคายมากกว่า บางคนแยบคายน้อยก็ต้องใช้เวลาหน่อย

 

สติ มีที่มาจากการเคลื่อนไหวมือ

เพราะฉะนั้น การสร้างจังหวะมือจึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติได้ง่าย ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมก็ปรากฏชัดได้ง่าย แต่นักปฏิบัติใหม่บางคนชอบอิดเอื้อน ต่อรองกับการสร้างจังหวะ ก็ขอบกว่า ก้าวหน้าได้ยากในวิธีการนี้ อย่างไรๆ ก็ทนทำ ทำทนไปก่อน อย่าไปคิดเอาเหตุเอาผลอะไรมากนักกับสูตรสำเร็จ เพราะสูตรสำเร็จก็บอกแล้วว่า มันอยู่นอกเหตุเหนือผลไงละ?

บางคนบอกว่า ทำจังหวะมือไปนานๆแล้ว เกิดอาการง่วงเหงาค่อนข้างไวมาก และรุนแรงหนักหน่วงเสียด้วย นั้นมันเป็นสัญญาณที่ดีว่า เราปฏิบัติถูกทางแล้ว ถ้าผิดทางมันจะไม่ยอมง่วงเอาเลย เราต้องค้นหาสาเหตุให้ได้ แล้วแก้ไขมันไปหลายๆรูปแบบ อย่ายอมง่วงไปตามมัน และขณะเดียวกัน ก็ไม่เลิกละความพยายามแก้ไข จนมันหายง่วงให้ได้ ถ้าเราไม่คิดต่อสู้ และแก้ไขให้ตก มันก็เข้าทางของมารที่มันตามราวีเราจนถึงที่สุด โดยเฉพาะวิธีมารรบกวนเยอะมาก เพราะเป็นทางพุทธะที่แท้ไงละ?

 

ความง่วงมีที่มา ต้องหาให้เจอ

การแก้ไขความง่วง มิใช่แก้ครั้งเดียวจบ ต้องขยันแก้ไปเรื่อยๆ จนมันยอมแพ้เรา หรือถ้ามันง่วงแบบเรื้อรังจริงๆ ต้องหันมาดูสาเหตุอย่างจริงจังว่ามันเกิดจากอะไรกันแน่ในสาเหตุเหล่านี้

๑. ขณะปฏิบัติ เราเผลอหลับตาบ่อยๆหรือเปล่า เพราะความเคยชินที่ติดอารมณ์สมถะ

๒. เราอาจจะตื่นเช้าเกินไปหรือเปล่า? เพราะนักที่ได้อารมณ์ใหม่ๆ นอนหลับกลางคืนไม่ค่อยสนิท เพราะปีติเกิดบ่อยๆ และนาน

๓. อาจมีโรคประจำตัวบางอย่างที่ต้องใช้ยาช่วยระงับ หรืออาจจะรับประทานรักษาโรคบางอย่าง แล้วมีผลต่อการกดระบบประสาม ทำให้ง่วง

๔. เมาอาหาร หรือทานอาหารบางอย่างที่ ย่อยยาก เช่นข้าวเหนียวเป็นต้น

๕. หลังทานอาหารใหม่ๆ อย่าเพิ่งนั่งปฏิบัติ ให้เดินจงกรมจนกว่าอาหารจะย่อยหมด ค่อยนั่งสร้างจังหวะมือ

ให้ค้นหาสาเหตุให้พบ แล้วพยายามปลุกตัวเองให้ตื่นอยู่เสมอ ก็จะแก้นิวรณ์ได้โดยไม่ยากเลย

 

พระพุทธยานันทภิกขุ