อาทิตตปริยายสูตร

sun1

อาทิตตปริยายสูตร

 

 

สมัยต้นพุทธกาล
เมื่อพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ
ทรงเสด็จไปโปรดเจ้าลัทธิ
ที่ใหญ่ที่สุดสมัยนั้น
คือ ลัทธิชฎิลสามพี่น้อง
ได้แก่ อุรุเวลกัสสปะ นทีกัสสปะ
และคยากัสสปะ
มีสาวกบริวารรวมแล้ว ๑,๐๐๓ คน
เป็นลัทธิบูชาไฟจากพญานาค
ซึ่งมีศาสนิกชนนับถือลัทธินี้มากที่สุด
ในสมัยนั้น

พระพุทธองค์ทรงต้องเผชิญกับอุปสรรค
อย่างน่าสะพรึงกลัว
จากวิธีการปกป้องตนเองของชฎิล ๓ พี่น้อง
หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงโปรด
ชฎิลสามพี่น้องได้สำเร็จแล้ว
จึงทรงตรัสธรรมเทศนา
ชื่อ “อาทิตตปริยายสูตร”
(พระสูตรว่าด้วยกำเนิดความร้อน)
ซึ่งมีเนื้อหาเป็นภาษาไทยโดยย่อว่า

sun2

สิ่งทั้งปวงล้วนเป็นของร้อน

ดูก่อนท่านทั้งหลาย
สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้
ล้วนเป็นของร้อน
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
เมื่อกระทบเข้ากับ รูป เสียง
กลิ่น รส สัมผัส อารมณ์
เพราะการสัมผัสของอายตนะทั้ง ๖ นั้น
ขาดสติปัญญาเข้าไปกำหนดรู้
จึงเป็นที่กำเนิดของความร้อน
อันเนื่องจากไฟแห่งราคะ โทสะ โมหะ
เพราะความร้อนของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย
เพราะความร้อนของความโศกเศร้า เป็นต้น

ผลที่ปรากฏออกมา
จึงเป็นความรู้สึกพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง
ล้วนทำให้เกิดความร้อน
แผดเผาใจอยู่ตลอดเวลา

พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนตอนที่ ๒ อีกว่า
ท่านทั้งหลาย สำหรับอริยสงฆ์
ผู้ได้สดับความจริงแล้ว
เข้าใจเห็นแจ้งตามความเป็นจริง
ย่อมเกิดความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด
ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์
ที่มากระทบกับตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
เมื่อเบื่อหน่ายคลายกำหนัด จิตย่อมหลุดพ้น
เพราะไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

เมื่อชฎิลทั้งหมดได้สดับธรรมเทศนา
จนเข้าใจแล้ว
จิตก็หลุดพ้นเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ
พร้อมกันในวันนั้น
นี้คือความย่อของพระสูตรนี้

sun3

สังขารทั้งหลายไม่เป็นแก่นสาร

อะไรทำให้เบื่อหน่าย
ตามหลักทฤษฎีกล่าวเอาไว้ว่า
“เมื่อบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่า
สังขารทั้งหลายทั้งปวง
(กายกับใจ หรือรูปกับนาม)
ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีแก่นสาร
เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่าย
ในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง
นั้นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพาน
อันเป็นธรรมหมดจด”

คนเราส่วนใหญ่
เกิดแต่ความรู้สึกเบื่อหน่าย
แต่ยังไม่ถึงขั้นเหนื่อยหน่าย
จึงไม่อาจปล่อยวางอะไรได้ทั้งหมด
เพราะเบื่อหน่ายเป็นบางคน
แต่ยังหลงรักในบางคน

แต่ถ้ารู้สึกเหนื่อยหน่าย
ซึ่งเป็นอาการของจิต
ที่เกิดสัมมาปัญญา
เพราะเห็นภัยในวัฏฏะสงสาร
แบบรอบด้านครบทุกมิติ
ไม่มีอะไรสงสัย
จะเกิดการปล่อยวางโดยสิ้นเชิง

sun4

เริ่มต้นด้วยการรู้เท่าทันสิ่งกระทบ

เบื้องต้นของการเกิดสัมมาปัญญา (๑)

เริ่มต้นง่ายๆ คือ
กำหนดรู้เท่าทันสิ่งที่มากระทบ
แล้วไม่คิด หรือดำริปรุงแต่งจิต
ไปตามอาการต่างๆ ที่เกิดขึ้น
จากการกระทบของอายตนะทั้ง ๒ ฝ่าย
เพราะสัมมาสติที่ตามรู้เห็นการปรุงแต่ง
จะเป็นเหตุเกิดของสัมมาปัญญาเอง
ตรงนี้ต่างหากที่ต้องสนใจศึกษา

ในโลกของความจริงแล้ว
ความเบื่อหน่ายในรูป เสียง กลิ่น รส
สัมผัส และอารมณ์
มิใช่จู่ๆ จะเกิดขึ้นได้ง่ายๆ
จะต้องมีเหตุที่สมควรให้เบื่อ มันถึงจะเบื่อ

เช่น เมื่อตากระทบรูป
ตามปกติของจิตใจคนทั่วไปก็คือ
พอใจในสิ่งของหรือคนที่เราชอบ
และไม่พอใจในสิ่งของหรือคนที่เราไม่ชอบ
หรือรู้สึกเฉยๆ เมื่อสิ่งนั้นๆ หรือคนๆ นั้น
ไม่เกี่ยวข้องกับตนเองโดยตรง
นี้เป็นสันดานโดยปกติของมนุษย์ทั่วไป

sun5

ก่อนสั่งอาหารเคยสังเกตตัวเองหรือไม่?

เบื้องต้นของการเกิดสัมมาปัญญา (๒)

ตัวอย่างง่ายๆ
วันไหนที่ต้องไปทำธุระนอกบ้าน
ต้องแวะทานอาหารตามร้าน
เราก็สั่งอาหารตามที่เราชอบ
ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกชนิดอาหาร
เราเคยสังเกตใจตัวเองหรือไม่ว่า
เราเอาอะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ
เลือกอาหารชนิดนั้น

ตรงนี้เป็นจุดสำคัญ
ถ้าเป็นคนธรรมดา
ที่ไม่เคยผ่านการทำวิปัสสนามาก่อน
ก็ตัดสินใจเลือกไปตามความชอบ
ความหิว ความอยาก ความอร่อย

มีเงื่อนไขเบื้องหลังของการตัดสินใจมากมาย
แต่เราไม่เคยสังเกตสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้
เพราะความเคยชินใช่ไหม?
นี่คือการขาดสัมมาสติตั้งแต่ต้นเลย

sun6

กามตัณหาเป็นตัวบงการสั่งอาหาร

เบื้องต้นของการเกิดสัมมาปัญญา (๓)

เราเคยยอมรับความจริงกันบ้างไหมว่า
ราคะหรือโลภะ
เป็นตัวบงการอยู่เบื้องหลังอย่างลับๆ
ในการลงมือสั่งอาหารแต่ละมื้อ
อย่าว่าแต่คนไม่ได้ทำวิปัสสนาเลย
แม้แต่คนทำวิปัสสนามาอย่างโชกโชนแล้วก็ตาม
บางครั้งก็ไม่ได้สังเกตอาการของความต้องการ
ทางสัญชาตญาณเหล่านี้สักเท่าไร
เพราะถือเป็นเรื่องธรรมดา

ความหิวเป็นเงื่อนไขสุดท้ายที่ทุกคนชอบอ้าง
และเคยสังเกตบ้างไหมว่า
มีสักกี่ครั้งที่ทานอาหารเพราะความหิวจริงๆ

ความหิวเป็นเงื่อนไขของร่างกาย
ควรสนองตอบอย่างเป็นธรรม
แต่บ่อยครั้งที่มักอ้างว่า
เป็นความต้องการของร่างกาย
ทั้งๆ ที่ร่างกายขณะนั้นไม่ได้เกิดอาการ
เรียกร้องต้องการแม้แต่น้อยว่า ฉันกำลังหิวนะ

แต่ใจคิดไปว่าหิว
(ตั้งแต่แรกอาการทางกายไม่ได้รู้สึกหิวใดๆ เลย)
แล้วปรุงแต่งความหิวทางจิต
กายก็เกิดอุปาทาน อาการหิวก็ตามมา
ความจริงเป็นอย่างนี้เกือบ ๙๙% เลยทีเดียว

ลึกๆ แล้วความอยากคือ กามตัณหา
ที่เป็นตัวบงการอยู่เบื้องหลังโดยตลอด
แต่เมื่อไม่มีสัมมาปัญญา
เราจึงตกเป็นทาสของความอยาก
ได้อย่างง่ายดาย

sun7

ไม่มีตัวตนใดตั้งอยู่ได้แบบโดดๆ ทุกอย่างเกิดเพราะอาศัยกัน

เบื้องต้นของการเกิดสัมมาปัญญา (๔)

ที่เกริ่นมานี้ เป็นตัวอย่างที่ใช้วิเคราะห์
อาทิตตปริยายสูตรแบบประยุกต์
เพราะเป็นต้นตอที่สำคัญของเรื่อง
เมื่อจับประเด็นตรงนี้ได้ชัดๆแล้ว
ก็จะเข้าใจทะลุปรุโปร่งไปถึงประเด็นอื่น

ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้
ส่วนมากจะเป็นหลักของธรรมบูรณาการ
คือ มีส่วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันทั้งหมด
ไม่แยกทำงานแบบโดดเดี่ยว

ตรงกับหลักธรรมที่ว่าด้วยเรื่องอนัตตา
คือ ไม่มีตัวตนใดๆ ที่ตั้งอยู่ได้เองแบบโดดๆ
ทุกอย่างเกิดเพราะอิงอาศัยกัน
ตามหลักของอิทัปปัจจยตา
และทฤษฎีปัจจยาการ

sun8

เมื่ออายตนะภายนอก-ภายในกระทบกัน ย่อมเกิดอาการ ๓ อย่าง

เบื้องต้นของการเกิดสัมมาปัญญา (๕)

จากตัวอย่างข้างต้น เมื่อตากระทบรูป
คือ เห็นเมนูอาหารเรื่องเดียว
ก็สามารถโยงใยไปถึง
อายตนะอื่นๆได้ทั้งหมด

หูกระทบเสียง
(หรือเสียงกระทบหูกันแน่
สังเกตให้ชัดๆอีกทีว่า
อะไรมากระทบอะไรก่อน)

จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส
กายกระทบสัมผัส ใจกระทบอารมณ์
ก็ทำให้เกิดความร้อน ร้อนเพราะอะไร?

ร้อนเพราะไฟคือราคะ
(ความชอบใจ ความกำหนัดรักใคร่
ความหื่นกระหาย ความหิวโหย
ความกระสันอยาก
ความนิยมชมชอบ ความนึกอยาก ฯลฯ)

ร้อนเพราะไฟคือโทสะ
ร้อนเพราะไฟคือโมหะ

ภาษาง่ายๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันก็คือ
ฉันชอบ (ราคะ = พอใจ, ชอบใจ)
ฉันไม่ชอบ (โทสะ = ไม่พอใจ, ไม่ชอบใจ)
ฉันเฉยๆ (โมหะ = ไม่แน่ใจ, ไม่เข้าใจ)

เมื่ออายตนะภายนอกมากระทบ
กับอายตนะภายใน
ก็จะเกิดอาการทางจิตใน ๓ ลักษณะนี้เสมอไป
สำหรับปุถุชนคนธรรมดา

 

sun9

การกระทบของอริยบุคคลไม่ต่างกับปุถุชน แต่อาการต่างกัน

ผัสสะ (๑)

การกระทบ (ผัสสะ)
ก่อให้เกิดความร้อนได้อย่างไร?

ความจริงการกระทบผัสสะทางอายตนะ
ของปุถุชนกับอริยบุคคลไม่ได้แตกต่างกัน
แต่อาการที่กระทบจะแตกต่างกัน
ที่ความถี่-ห่าง หนัก-เบา เร็ว-ช้า
ลึก-ตื้น เป็นต้น
ตรงนี้อยากให้ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมชัดๆ
สัก ๓ ตัวอย่าง
ก่อนที่จะโยงไปถึงเรื่องนามธรรม
มาทดลองด้วยกัน เพื่อพิสูจน์ความจริงร่วมกัน

ประการที่ ๑
ท่านลองเอามือข้างซ้ายมาลูปแขนข้างขวาเบาๆ
ลูบขึ้นลงหลายๆครั้ง ท่านรู้สึกอย่างไร จำเอาไว้
ทีนี้ลองเปลี่ยนจากการลูบเบาๆ
เป็นลูปที่หนักหน่วง รวดเร็ว และรุนแรง
แล้วท่านรู้สึกอย่างไร? จำเอาไว้

ประการที่ ๒
ถ้าคนที่ท่านรัก เอามือมาลูปแขนของท่านเบาๆ
ท่านรู้สึกอย่างไร?
ถ้าลูบด้วยอาการหนักๆ แรงและเร็ว
ท่านรู้สึกอย่างไร?
และถ้าลูบเล่นๆ หนักบ้างเบาบ้าง
ท่านรู้สึกอย่างไร?
จำความรู้สึกที่เกิดกับใจให้ดี

ประการที่ ๓
ถ้ามีคนที่ไม่ถูกชะตา ไม่ชอบหน้า
หรือคนแปลกหน้า
เอื้อมมือมาลูบแขนของท่าน
ในลักษณะอาการเดียวกัน
กับที่ท่านลูบแขนตัวเอง และคนรักทำให้ท่าน
ท่านจะรู้สึกอย่างไร?
โปรดจำอาการทั้งสามให้ดี

sun10

การกระทบทั้ง ๓ ลักษณะ ทำให้จิตผิดปกติ

ผัสสะ (๒)

วิเคราะห์ผลลัพธ์

ความรู้สึกทั้ง ๓ อาการ
แตกต่างกันตรงไหน
เป็นบุคคลคนเดียวกัน
แต่ฝ่ามือของคนที่มากระทบต่างกัน
เราผู้ถูกกระทบรู้สึกต่างกันแน่นอน
ตามสามัญสำนึกของปุถุชน
ก็บอกได้ง่ายๆ ว่า

เมื่อเราทำกับตัวเราเอง
ผลออกมายังไม่แน่ใจว่า
พอใจหรือไม่พอใจ

แต่ถ้าคนที่เรารักมาทำเช่นนั้น
ต้องรู้สึกชอบใจแน่นอน

แต่ในกรณีสุดท้าย
นอกจากเราจะไม่ชอบแล้ว
อาจจะเกิดเรื่องใหญ่แน่นอน

ถามว่าการลูบคลำจากคนทั้ง ๓
ทำให้จิตเราปกติหรือผิดปกติหรือไม่
เปรียบเทียบกับการไม่มีใครมาลูบคลำเลย
แน่นอนต้องตอบว่า
ความรู้สึกของเราต้องผิดปกติไปจากเดิม
ส่วนจะผิดปกติทางดีหรือทางร้าย
ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่ง

sun11

ความร้อนเกิดจากจิตที่ผิดปกติจากเดิม

ผัสสะ (๓)

การที่จิตผิดปกติไปจากเดิมนี่เอง
เรียกว่าการกระทบสัมผัสของอายตนะ
จะมีผลออกมาเป็นสุขก็ตาม เป็นทุกข์ก็ตาม
หรือเฉยๆก็ตาม ถือว่าเกิดความร้อนแล้ว

แต่ถ้าการกระทบสัมผัสนี้เกิดขึ้นกับ
บุคคลที่บรรลุธรรม หรืออริยบุคคลแล้ว
มีผลต่างไปจากการกระทบ
แบบปุถุชนโดยสิ้นเชิง

ส่วนอริยบุคคลท่านนั้นๆ
จะปกติมากหรือน้อย
ก็ขึ้นอยู่กับคุณธรรมที่เข้าถึง
ท่านจะใช้คำว่า “สักแต่ว่า”
การถูกต้องสัมผัส ไม่มีผลอะไร
มาทำให้จิตของท่าน
กระเพื่อมหรือผิดปกติไปได้

sun12

ความเย็นคือความร้อน

อาทิตตปริยายสูตร : ภาคปฏิบัติ (๑)

พระพุทธองค์ทรงเริ่มต้นพระสูตรว่า
สิ่งทั้งปวงล้วนเป็นของร้อน ท่านหมายถึง
รูปธรรมและนามธรรมที่เกี่ยวข้องกับรูปทั้งหมด
เพราะสิ่งทั้งปวงล้วนอยู่ภายใต้กฎของ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ กฎไตรลักษณ์
ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความร้อนนั่นเอง

ดังนั้น ที่ใดยังมีรูปเจือปนอยู่
ไม่ว่าจะเป็นรูประดับหยาบ กลาง หรือละเอียดก็ตาม
ล้วนเป็นของร้อน

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้
จึงต้องยอมรับความจริงของกฎสากลข้อนี้
ตามหลักของพุทธศาสนาแล้ว
ท่านก็ไม่ได้บอกให้ไปแสวงหาความเย็น เพื่อมาแก้ความร้อน
ความเย็นมิได้เป็นสภาวะตรงข้ามกับความร้อน
แต่เป็นภาวะเดียวกัน
เพียงปรากฏอยู่คนละขั้วของความจริง
เหมือนเหรียญคนละด้านหรือไม้อันเดียวกัน
แต่มีสองข้างคือหัวและท้ายเท่านั้นเอง

sun13

อริยสัจจ์ ๔ เป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ

อาทิตตปริยายสูตร : ภาคปฏิบัติ (๒)

เมื่อเข้าใจความจริงตามทฤษฎีตรงนี้
เมื่อทุกข์เกิดขึ้น จะมาจากสาเหตุใดก็ตาม
แทนที่จะไปแสวงหาความสุขมาแก้
หรือเมื่อมีความร้อนเกิดขึ้น
ก็ไม่ต้องหาความเย็นมาแก้
เพราะการวิ่งแก้ปัญหาที่เกิดตรงขั้วหนึ่ง
ด้วยการวิ่งไปหาอีกขั้วหนึ่ง
เป็นการแก้ปัญหาแบบชั่วคราว

แต่ในแง่ของสมมติ
ชาวโลกทั่วไปก็ต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้
ไม่ว่าปัญหาภายนอกหรือภายในตัวก็ตาม
ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางกายหรือทางใจก็ตาม
ปัญหาเหล่านั้นก็ไม่เคยจบสิ้น

เมื่อพระพุทธองค์ทรงอุบัติขึ้น
ทรงชี้แนะการแก้ปัญหา
แบบไม่ต้องเกิดปัญหาอีกต่อไป
นั่นคือท่านพบหลักการแก้ปัญหา
แบบองค์รวม หรือแบบบูรณาการ
ท่านทรงค้นพบหลักของอริยสัจสี่
คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค

sun14

สมุทัย ค้นหาที่มาของทุกข์

หลักอริยสัจสี่ (๑)

เมื่อทราบความจริงของความทุกข์
ชัดเจนแล้วว่าเป็นอย่างไร
ก็ต้องหาสาเหตุ เรียกว่า สมุทัย

คือ ค้นคว้าหาที่ไปที่มาของทุกข์
ไม่ว่าทุกข์กายหรือทุกข์ใจก็ตาม
ค้นหาเหตุให้พบว่า
สาเหตุเบื้องต้นคืออะไร
สาเหตุท่ามกลางคืออะไร
และสาเหตุลึกที่สุดคืออะไร

เมื่อค้นพบเหตุแน่นอนแล้วก็ต้องแก้ไข
เยียวยา บำบัด รักษา
ให้หมดไป หายไป ดับไป
หรือกำจัดเหตุของทุกข์

ความรู้ระดับนี้
จึงเป็นผลของการได้ศึกษาค้นคว้า
จนพบเหตุ

sun15

อริยมรรคเป็นหลักแก้ปัญหาสากล

หลักอริยสัจสี่ (๒)

เมื่อค้นพบต้นเหตุของปัญหา
และรู้ว่าเป็นปัญหาที่ต้องแก้
ทิ้งไว้ไม่ได้ ก็หาวิธีแก้
หลักการแก้ปัญหานี้
เรียกว่า มรรค หรืออริยมรรค
ซึ่งเป็นทิศทาง เป็นกระบวนการ
เป็นวิธีการ เป็นเทคนิค
เป็นหลักทฤษฎี
หรือภาษาร่วมสมัย
อาจเรียกว่า เทคโนโลยี

ดังนั้น หลักอริยมรรค
จึงเป็นหลักการสากล
ในการแก้ปัญหาของมนุษยชาติ
ไม่ว่ามนุษย์คนนั้นจะสังกัดอยู่ในศาสนาใด
ลัทธิไหนก็ตาม เขาจะรู้จักหลักธรรม
ของพุทธศาสนาหรือไม่ก็ตาม
ถ้าเขาต้องการแก้ปัญหาทั้งทางกายและใจ
ให้หมดจดสิ้นเชิงทั้งรูปและนาม (ทั้งกายและใจ)
ต้องใช้หลักการแก้ปัญหาแบบนี้เท่านั้น

 

sun16

ความอยากคือความร้อน

นามรูปคือความอยาก
หรือตัณหาทั้ง ๓ ระดับ
(กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา)
เมื่อก่อตัวขึ้นในใจ
ก็ขยายผลออกไปเรื่อยๆ
เหมือนไฟไหม้ป่าฉันใด
ความอยากในใจของมนุษย์ก็ฉันนั้น
ถ้าไม่รู้จักวิธีดับ
ก็ไหม้กายไหม้ใจไปเรื่อยๆ

ดังที่พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า
ความร้อนของรูปธรรม
คือ ความเกิด ความแก่
ความเจ็บ และความตาย

ส่วนความร้อนที่เป็นต้นเหตุ
ให้เกิดความคิดปรุงแต่ง หรือนามรูป
ก็คือ ตัณหา ๓ ประการ

เมื่อเป็นไปในทางที่ผิด
อย่างต่อเนื่องและซ้ำซาก
ก็ก่อให้เกิดผลลบต่อจิตตนเอง
กลายเป็นความเศร้าโศก
พิไรรำพัน บ่นเพ้อ คร่ำครวญ
หงุดหงิด ผิดหวัง หดหู่
เหี่ยวแห้ง ระทมตรมใจ
ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจก็ตามมา

sun17

หนีร้อนไปหาที่ไม่ร้อน หนีเย็นไปหาที่ไม่เย็น

การจะพ้นไปจากความร้อน

ไม่ใช่หนีไปหาความเย็น
หรือหนีจากทุกข์แล้ววิ่งไปหาสุข
เหมือนที่คนทั่วไปนิยมทำกัน

แต่พระพุทธองค์ทรงสอน
ให้หนีร้อนไปหาที่ที่ไม่ร้อน
ที่นั่นไม่จำเป็นต้องเย็นก็ได้

ให้หนีทุกข์ไปหาที่ไม่ทุกข์
ที่นั่นไม่จำเป็นต้องสุขก็ได้

เพราะที่ไม่ร้อนกับที่เย็นนั้นต่างกัน
ที่ไม่ทุกข์กับที่สุขต่างกัน
และสิ่งตรงข้ามคู่อื่นๆ
ก็พึงเข้าใจตามนัยเดียวกันนี้

sun18

แสงสว่างของวิชชา

การเดินทางของชีวิต มีจิตเป็นผู้เดินทาง
กายเป็นเพียงเส้นทางเดินของจิต
ใช้สติ สมาธิ ปัญญา (อริยสัจสี่) เป็นแสงสว่างนำทาง

แต่วิถีชีวิตของปุถุชน ใช้ความคิดเป็นผู้เดินทาง
ใช้อดีต อนาคต เป็นเส้นทางเดิน
และใช้อวิชชา ตัณหา อุปาทาน เป็นแสงสว่างส่องทาง

ถ้าจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพของแสงสว่างที่ส่องนี้ให้ชัดๆ
แสงสว่างของสติ สมาธิ ปัญญา
ก็เหมือนไฟฉายหรือแสงสปอทไลท์

แต่แสงแห่งอวิชชา ตัณหา อุปาทาน
เป็นเสมือนแสงหิ่งห้อย ซึ่งให้แสงสว่างต่างกันมหาศาล

แล้วท่านจะเลือกใช้แสงสว่างแบบไหน
ที่จะช่วยให้การเดินทางสะดวกและปลอดภัย

หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท

Deva Nanda