กัลยาณมิตรที่แท้จริง

ธรรมวินัยคือกัลยาณมิตรที่แท้จริง

ธรรมคือปัญญา
วินัยคือสติ
ธรรมวินัยคือกัลยาณมิตรที่แท้จริง
พระอริยเจ้าอาศัยสติเป็นวินัย
 
สติปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
เป็นที่พึ่งของมนุษย์
เรามีสติปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
เป็นกัลยาณมิตร
 
สติปัญญาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ
ต้องเอาชนะนิวรณ์ห้าได้
ถ้าเอาชนะไม่ได้
แสดงว่ายังไม่เป็นสัมมาทิฏฐิ
 
เราจึงต้องมาปรับสติปัญญา
ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
 
พระพุทธเจ้าตรัสว่า
คำสอนของท่านคือตัวท่าน
 
เราก็เอาคำสอนของท่าน
เป็นกัลยาณมิตร
แต่คำสอนเป็นตำราพูดไม่ได้
ท่านก็แต่งตั้งพระสงฆ์มาทำหน้าที่
เอาคำสอนขอท่านมาสื่อ
 
พระที่จะเผยแพร่คำสอนของท่าน
ก็ต้องศึกษาให้เข้าใจความจริงก่อน
แล้วถึงจะมาพูดคำสอนของท่าน
ได้ตรงประเด็นที่ท่านสอน
 
ถ้าพระที่ยังไม่เข้าถึงความจริงนั้น
เอาคำสอนของท่านมาสอน
มันก็ผิดตรงที่ขโมยคำสอนมาใช้
ทั้งที่สิ่งนั้นไม่มีในตน
 
ถ้าจะทำหน้าที่แบบไม่มีวิบาก
ต่อคำสอนของท่าน
ก็คือ เข้าถึงคำสอนของท่านเสียก่อน
จนพิสูจน์คำสอนของท่านได้แล้ว
เอามาขยายความ
 
เป็น “เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังฺโฆ”
นับตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป
จนถึงพระอรหันต์
คู่แห่งบุรุษสี่คู่
นับเรียงตัวบุรุษได้แปดบุรุษ
คือโสดาปัตติมรรค โสดาปัตติผล
สกิทาคามีมรรค สกิทาคามีผล
อนาคามีมรรค อนาคามีผล
อรหัตมรรค อรหัตผล

ใครที่จะเป็นกัลยาณมิตรได้บ้าง

โสดาปัตติมรรคบุคคล
ต่างกับโสดาปัตติผลบุคคลอย่างไร?
 
สมมติทางหนึ่งกิโล
คนที่เดินไปถึงหลักกิโล
เรียกว่าบุคคลนั้นเดินได้หนึ่งกิโล
ก็คือโสดาปัตติผล
 
แต่คนที่ยังเดินไม่ถึงหลักกิโล
เรียกว่าโสดาปัตติมรรค
อาจจะเดินได้ ๕๐๐ เมตร
 
คนที่เดินได้กิโลครึ่ง
ก็เป็นสกิทาคามีมรรค
 
พอเดินถึงกิโลที่สอง
ก็เป็นสกิทาคามีผล
 
บุคคลเหล่านี้เรียกว่าเป็นกัลยาณมิตร
ใครก็ได้ในแปดคนนี้
เพราะบุคคลเหล่านี้
ถือว่าเข้าใจคำสอนของท่าน
แม้จะยังไม่หมดก็ตาม
แต่ก็พอจะมองเห็นทาง
 
สมมติทางตรง เราอยู่ตรงนี้
เราก็มองเห็นเสาไฟ
จากหลักกิโลที่สี่ได้
เดินไปได้ไม่ผิดทาง

เส้นทางสู่วิมุตติ

๑. กัลยาณมิตร
ทำให้เกิดสุตมยปัญญา
๒. ศรัทธา
๓. โยนิโสมนสิการ
๔. สติสัมปชัญญะ
๕. อินทรีย์สังวร
(ไม่ตอบสนองสิ่งที่มากระทบ
ทันทีทันใด)
๖. สุจริต๓ (จิตรู้เท่าทันความคิด
เกิดการกรองอกุศลจิต
เป็นมโนสุจริตก่อน
แล้วจึงเป็นวจีสุจริต กายสุจริต)
๗. สติปัฏฐาน๔
๘. โพชฌงค์๗
๙. มรรค๘
๑๐. วิมุตติ
 
ถ้าคนไหนทำแล้วสนุก
ก็แสดงว่าปัญญาเกิด
สุตมยปัญญายังไม่พอ
ต้องมีจินตมยปัญญา
และภาวนามยปัญญาด้วย
 
เมื่อก่อนเราเคยคิดเยอะ
พอปฏิบัติแล้วเห็นความไม่คิด
เกิดภาวนามยปัญญา
เกิดศรัทธา
เกิดโยนิโสมนสิการ
 
เกิดการใคร่ครวญขึ้นมา
สิ่งที่เราเชื่อจริงหรือไม่จริง
อยากจะพิสูจน์
หาเทคนิควิธีการ
 
เกิดสติสัมปชัญญะ
จะลุกจะนั่งช้าลง
เพื่อให้เห็นได้ชัดเจนขึ้น
 
เกิดอินทรีย์สังวร
คอยระวังตาหูจมูกลิ้นกายใจ
ระวังการทำตามความอยาก
 
รู้เฉยๆไม่ตอบสนอง
สิ่งที่มากระทบทันที
แต่ตอบสนองอย่างมีสติ
จะเกิดมากน้อยขึ้นอยู่กับ
กำลังของสติสัมปชัญญะ
 
เมื่ออินทรีย์สังวรมีกำลัง
ก็จะเกิดสุจริต๓
การพูด การคิด (กุศล อกุศล) การทำ
ต้องมีมโนสุจริตก่อน
 
บางคนมีกายสุจริต วจีสุจริต
แต่เสแสร้ง ยังไม่มีมโนสุจริต
เพราะกิเลสละเอียดขึ้น
 
ต่อมาก็เกิดสติปัฏฐาน๔
ถ้าทำถูกต้องก็เกิดโพชฌงค์๗

พระพุทธยานันทภิกขุ