ความรู้สึกตัว ฉนวนกันความทุกข์

น้ำร้อนลวกใจ

ถ้าเปรียบกายเหมือนแก้วน้ำร้อน
ใจคือมือที่เอื้อมไปจับแก้วน้ำร้อนนั้น

เวทนาคือความรู้สึก
ที่จับแก้วน้ำร้อนด้วยมือเปล่า
ย่อมต้องโดนความร้อนลวกจนแสบพอง

แต่ถ้าเรามีผ้าหรือฉนวนมาห่อหุ้มแก้ว
ความร้อนจากแก้วน้ำร้อน
ก็จะไม่สามารถส่งผ่านไปยังมือได้

ความรู้สึกตัวที่เป็นเวทนาทางกาย
เรียกว่ารูปนาม

เช่นเวลาเรานั่งนานๆ
ถ้าหากว่าสติเราไม่เข้มแข็งพอ
ความหนักความหน่วง
ความปวดความเมื่อยที่ขาที่แขน
ที่ข้อต่างๆ

ทุกขเวทนาทางกายนั้น
ย่อมไหลซึมสู่จิต
กลายเป็นทุกขเวทนาทางใจ
รู้สึกหงุดหงิด รำคาญ เบื่อ ซึม เซ็ง

แล้วก็ปรุงแต่งอะไรต่ออะไร
ก่อให้เกิดนามรูปแล้ว

รูปนามคือ ความรู้สึกตัว
มันจะแปรเป็นนามรูป
คือความคิดได้
ต่อเมื่อเราขาดสติ
ในการกำหนดรู้เวทนาอย่างต่อเนื่อง

การเจริญสติหรือความรู้สึกตัวนี้
เราจึงเอาตัวเวทนาเป็นอารมณ

ปัญญา เลนส์ขยายสติ

เราจะรู้ความรู้สึกได้ละเอียด
เมื่อเรามีปัญญา

ปัญญาคือการขยายเลนส์
ของสติสมาธิให้สูงขึ้น

รู้เท่าทันเวทนาละเอียดบ่อย
ปัญญาเกิด

รู้เวทนาระดับกลางบ่อยๆ
สมาธิ สัมปชัญญะเกิด

รู้เวทนาระดับหยาบบ่อยๆ
สติเกิด

ก็เอาสติไปรู้เวทนาระดับหยาบๆ ก่อน
เดี๋ยวเวทนากลางๆ ก็จัดการเป็น

เมื่อจัดการเวทนากลางเป็น
เวทนาละเอียดอันคือสุขเวทนา
ก็จัดการเป็น

สติรู้เวทนาละเอียดได้เป็นบางส่วน

สมมติว่าเวทนาระดับละเอียด ๓ ส่วน
สติรู้ได้ส่วนหนึ่ง
สมาธิรู้ได้อีกส่วนหนึ่ง
ปัญญารู้ได้ทั้งหมด

เราจึงต้องขยายกำลังของสติ

ที่จริงสติกับปัญญาก็ตัวเดียวกัน
เมื่อสติขยายตัวเป็นปัญญาแล้ว
ก็รู้ได้ทั้งหมด

เมื่อใช้คล่องเรียก ญาณปัญญา

เมื่อใช้คล่องทั้งภายนอกภายในชัดเจน
เรียกว่าวิปัสสนาญาณ

เมื่อวิปัสสนาญาณรู้ว่าขณะนี้ใจคิดอะไร
เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ

พระพุทธยานันทภิกขุ

เวทนา สะพานเชื่อมกายและใจ