ภาวนาให้สนุก เป็นสุขกับการเคลื่อนไหว ตอนที่ 2 : ตามล่าหาสติ สุดขอบฟ้า

ตามล่าหาสติ สุดขอบฟ้า : บทเริ่มต้นแก่ผู้ฝึกใหม่

การเจริญสติเคลื่อนไหวมีรูปแบบที่เฉพาะ หรือหลวงพ่อเทียนเรียกว่าสูตรสำเร็จ เป็นทางอริยมรรคตามแบบฉบับของท่าน คือต้องบอกอารมณ์ตามที่เป็นจริงของตัวเอง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายที่แท้จริง ที่เราต้องการ คือความไม่ทุกข์ที่มีอยู่โดยธรรมชาติของจิตทุกดวง

จิตเดิมแท้ สว่างสดใส โดยธรรมชาติแล้ว ในหนึ่งวันจะสว่าง 12 ชั่วโมงในตอนกลางวัน และมืดอีก 12 ชั่วโมงในตอนกลางคืน เพราะพระอาทิตย์ไม่เคยดับ โลกจึงปรากฏมีทั้งความมืดและความสว่างสลับกันไปเรื่อยๆ โลกนี้เป็นทางเดินของแสงสว่างของพระอาทิตย์ ฉันใด ธรรมชาติจิตของคนเราก็เป็นเช่นเดียวกัน ฉันนั้น

จิตเป็นทางผ่านของความมืด คือ อวิชชา และแสงสว่างของวิชชาหรือ สติปัญญา วันไหนที่แสงสว่างแห่งปัญญาเดินผ่าน ใจเราก็เป็นสุข วันไหนแสงสว่างแห่งปัญญาหายไป ความมืดคือ อวิชชาผ่านมา ใจเราก็เป็นทุกข์

แต่ธรรมชาติของจิตเรา ถ้าพัฒนาตามหลักธรรมแห่งสัมมาสัมพุทธะแล้ว ก็สามารถสว่างอย่างถาวรโดยไม่กลับไปมืดอีกต่อไปก็ได้ คือ พัฒนาจิตให้อยู่เหนือสภาวะ ทั้งสว่างและความมืดได้โดยสิ้นเชิง และเห็นว่าแสงสว่างและความมืดมีค่าเท่ากัน

ดังนั้น จิตที่ยังไม่ได้ผ่านขบวนการพัฒนา ด้วยวิปัสสนาปัญญาจึงไม่ใช่ภาวะที่มืดโดยถาวร และไม่ใช่สภาวะที่สว่างโดยถาวร แต่จะมืด หรือสว่างก็ล้วนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยที่ปรุงแต่ง จิตเศร้าหมอง เพราะกิเลส

จึงต้องหาทางสร้างพระอาทิตย์แห่งจิต คือดวงปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงในสัจจธรรม และทำความจริงขั้นโลกุตตระให้ปรากฏเกิดขึ้นให้ได้ เพราะจิตของเราถูกความคิด ปรุงแต่งเป็นที่น่าพอใจ และความคิดปรุงแต่งที่ไม่น่าพอใจ เข้าบดบังครอบงำมานานแสนนาน เราแอบสั่งสมมาทั้งที่รู้และไม่รู้มาตั้งแต่เล็กๆ นั่นคือชั้นบรรยากาศที่ไปบดบังจิตเราตลอด

 

ในคอร์สการปฏิบัติของช่วงเช้า เราจะเริ่มต้นด้วยการทำวัตร สวดมนต์และฟังธรรม เพื่อเป็นหลักทฤษฏีที่จะดำเนินตาม ตอนกลางวันก็ตั้งใจปฏิบัติเต็มที่ ช่วงตอนเย็น ก็เป็นการสอบอารมณ์ ชี้แจงทำความเข้าใจในเรื่องที่เราได้?ทำมาทั้งวัน ช่วงค่ำก็เริ่มทำวัตรสวดมนต์เย็น และสนทนาธรรมไปถึงสามทุ่ม ก็พักผ่อนเป็นอย่างนี้ทุกๆ วันจนกว่าจะจบคอร์สปฏิบัติ

 

—————————

วิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว 14 จังหวะนี้ จะไม่ใช้หลักการบริกรรมใดๆ เข้ามาช่วย เพราะวิธีนี้ไม่ได้ยึดเอาลมหายใจเป็นหลักนิมิตกรรมฐานเพียงอย่างเดียว แต่จะประยุกต์เอาการเคลื่อนไหวของรูปกายทุกส่วนเป็นนิมิต หรือเป็นที่ตั้งของอารมณ์ภาวนา แม้แต่การตามรู้ลมหายใจก็เป็นส่วนหนึ่งในนิมิตเหล่านั้นด้วย แต่ไม่เน้นการกำหนดลมหายใจ หรือบริกรรมด้วยวิธีต่างๆ แต่กลับมาเน้นการตามรู้ที่การยกมือทั้งสองข้าง 14 จังหวะ และเดินจงกรมแบบธรรมชาติแทน

การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวแบบสร้างจังหวะมือ 14 จังหวะนี้ ถ้าทำอย่างถูกต้องแล้ว จะรู้จักตนเองได้ไวมาก และมรรคผลก็ปรากฏชัดเจนกระจ่างใจในตัวเอง มีข้อทักท้วงว่า วิธีการแบบหลวงพ่อเทียนไม่มีในพระไตรปิฎก ความจริงมีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเยอะแยะไปหมด แต่หลวงพ่อเทียน ไม่ได้นำมาแยกแยะให้เห็นตามหลักปริยัติ

 

หลักฐานที่มีบันทึกในพระไตรปิฎกอยู่ในหมวดว่าด้วย กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ในมหาสติปัฏฐานสูตร หมวดที่ 2 ว่าด้วยเรื่องของอิริยาบถสี่ และหมวดที่ 3 ว่าด้วยเรื่องของอิริยาบถย่อย เมื่อนำทั้งสองหมวดมาบวกกันเข้า จึงรวมกันเป็นการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว

อิริยาบถสี่ และอิริยาบถย่อย

อุบายแห่งการเฝ้าดูการเคลื่อนไหว

เฝ้ารู้ใจนึกคิด และเห็นกายเห็นใจตามความเป็นจริง

อิริยาบถสี่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน

การยกมือนี้มีอยู่ในพระไตรปิฎก แต่อ่านไม่พบ หรือถ้าอ่านพบก็ตีความบทพระบาลีไม่แตกเท่านั้นเอง ส่วนหมวดที่ใช้การยกมือสร้างจังหวะนี้ ก็คือ หมวดสัมปชัญญะปัพพะ

สัมปชัญญะปัพพะ 7 : อิริยาบทย่อย ที่ปรับนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน 

1. ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเดินจงกรมทั้งสองแบบ คือ เดินก้าวไปข้างหน้า และการเดินถอยกลับมาข้างหลัง? หรือการเดินกลับไปกลับมา

2. ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการแลดู การเหลียวดู ตามปกติจะมองไปข้างหน้า หรือเหลียวกลับมาหลัง เรามักจะทำด้วยความเคยชิน เมื่อมาเจริญสติสัมปชัญญะแบบนี้แล้ว ต้องตามรู้การเคลื่อนไหวให้ชัดๆ ก่อนที่จะแล ก่อนที่จะเหลียวไปในทิศทางต่างๆ

3. ผู้ปฏิบัติพึงมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการคู้ ในการเหยียดอวัยวะ หลวงพ่อเทียน นำความหมายในบทนี้ มาประดิษฐ์เป็นการยกมือสร้างจังหวะ จึงเป็นที่มาของรูปแบบการยกมือสร้างจังหวะ ๑๔ จังหวะ ซึ่งแทนการคู้ การเหยียดอวัยวะตามธรรมดาๆ เป็นการซอยอิริยาบถในการคู้ การเหยียดให้ละเอียดถี่ขึ้น เพื่อให้เกิดพลังของความถี่ในการระลึกรู้สูงขึ้น จะทำให้ทำได้ต่อเนื่อง ทำได้นานขึ้นเท่านั้น และที่สำคัญที่สุด ก็คือการทำแบบนี้ไม่เอื้อต่อการเกิดนิวรณ์ต่างๆ ได้ง่าย เพราะมีความตื่นรู้ตลอดเวลา

4. สำหรับนักบวชก็ให้มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการทรงสังฆาฏิ นุ่งห่มสบงทรงจีวร อุ้มบาตร ล้างบาตร หรือทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็ให้ตามรู้ตามสังเกตตัวเองไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเป็นคฤหัสถ์ชาวบ้านก็ให้ความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการแต่งตัว สวมใส่เสื้อผ้า การนุ่ง การห่ม การถือ อาบน้ำ ทานข้าว

ซึ่งถ้าไม่ศึกษาและปฏิบัติเรื่องนี้ให้แยบคาย ก็จะนุ่งห่มไปด้วยความเพลิดเพลินเคยชิน? ขาดสติตลอดเวลา? จึงควรจะซักซ้อมฝึกฝนกับตัวเองให้บ่อยๆ จนเกิดเป็นนิสัยใหม่ ในการรู้สึกตัวทั่วพร้อมทุกๆ การเคลื่อนไหว ซึ่งเหมาะสำหรับฆราวาสมากๆ เพราะมีภารกิจให้ทำทั้งวัน

5. ผู้ปฏิบัติพึงมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้ม ตลอดถึงการรับรู้รสชาติ และการกลืนลงไปอย่างละเอียดถี่ถ้วน

6. ผู้ปฏิบัติพึงทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ คือ ถ่ายหนัก ถ่ายเบาเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวทุกๆ การเคลื่อน ท่านไม่ให้พลาด

7. ผู้ปฏิบัติพึงมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการไป การยืน นั่ง หลับ ตื่น หยุด ในการพูด การนิ่ง แม้แต่ในการหยุดก็ให้รู้สึกตัว

ถ้ารักจะก้าวหน้าในการภาวนาแบบนี้ ทุกอิริยาบถต้องซักซ้อม ฝึกใช้ให้คุ้นเคย ถ้าไม่ฝึก

ซักซ้อมใช้บ่อยๆ เราไม่สามารถที่จะสำรอก หรือต่อสู้กับความเคยชินเดิมๆ ของตนเองได้สำเร็จ

ในภาคปฏิบัติไม่จำเป็นต้องรีบร้อน ให้ทำตามลำดับขั้นตอน เฝ้าสังเกตติดตามกิจกรรม

เหล่านี้ให้ถี่ถ้วนมากที่สุด ผลการปฏิบัติก็จะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งรีบร้อน ยิ่งช้า แต่ถ้ายิ่งชัด ก็ยิ่งเห็นผลเร็ว

ใช้การเจริญสติไปประยุกต์ใช้ในกิจวัตรประจำวัน โดยที่ไม่เสียประโยชน์ทั้ง ๒ ทางได้อย่างไร

ประโยชน์ประการแรก ก็คือต้องไปสู่เป้าหมายการกระทำ ให้เท่าทันต่อเหตุการณ์

ประโยชน์ประการที่สอง ในขณะที่ลงมือสนองตอบต่อการกระทำด้วยกาย วาจา และใจที่เป็นไปด้วยความรู้สึกตัวทั่วพร้อม แล้วความผิดพลาดทางกายจะค่อยหายไป และความขัดแย้งเศร้าหมองของจิตจะลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ

การเฝ้าสังเกตศึกษาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ความเคยชินเก่าๆ หมดไปเรื่อยๆ หมั่นฝึกฝนการตามรู้ ตามดู ตามเห็น จนกลายเป็นนิสัย? กลายเป็นเส้นทางของชีวิต? แล้วถึงจะเป็นไปเองอย่างมีระบบระเบียบ เรียกว่า เป็นศีลโดยปรมัตถ์

เฝ้าดูกาย จะเห็นจิตเป็นอย่างไร

เมื่อระลึกรู้อยู่กับกายที่เคลื่อนไหว จะเห็นการเกิด-ดับของรูป และการเกิด-ดับของนาม รูปเกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร ได้เห็นเหตุของนามรูปว่าเกิดขึ้น และดับไปอย่างไร

สรุปว่าเห็นการเกิด-ดับของสรรพสิ่งในโลกนี้มีแค่ หลักๆ สองอย่างคือ รูป กับ นาม

เมื่อเห็นเหตุปัจจัยการเกิดขึ้นของรูปและนามแล้ว เป็นเหตุให้บรรลุถึงญาณที่หนึ่ง ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ย้อนไปเห็นภาพต่างๆ ในอดีตชาติ ได้เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของสรรพสิ่งว่า เป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ทั้งรูปธรรมนามธรรม ไม่มียกเว้น ญาณนี้เป็นเหตุให้ได้ประจักษ์แจ้งถึงเหตุแห่งการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปของรูปและนาม เพราะได้เห็นเหตุและปัจจัยของธรรมทั้งหลาย

เมื่อพระพุทธเจ้า ทรงบรรลุธรรม ปุพเพนิวาสานุสติญาณ

พระองค์ ทรงเปล่งอุทาน ว่า

เมื่อธรรมทั้งหลายปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติผู้มีสติปัญญา

เพียรเพ่งอยู่ เมื่อนั้นความสงสัยทั้งปวงของผู้ปฏิบัติ

ท่านนั้น ย่อมสิ้นไป เพราะได้รู้แจ้งชัดว่า

ธรรมทั้งหลายเกิดแต่เหตุ

หมายความว่า เหตุของธรรมทั้งหลายทั้งปวง ล้วนเกิดจากเหตุ คือ รูปกับนาม หรือ กายกับใจ เพราะกายกับใจ ก็คือแบบจำลองของรูปและนามทั่วสากลจักรวาล ถ้าต้องการจะรู้ความจริงของจักรวาลทั้งหมด ก็ให้รู้จักตัวเองก่อน ถ้ารู้จักตัวเองตามความเป็นจริงไม่ได้ ก็ไม่อาจรู้โลกภายนอกได้

มัชฌิมยาม ได้เห็นประจักษ์แจ้งถึงความจริงที่ลุ่มลึกขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง การรู้แจ้งตรงนี้ทำ

ให้พระองค์ได้บรรลุญาณที่สอง คือ จุตูปปาตญาณ เพราะทรงเห็นแจ้ง ซึ่งการเกิดและการดับไปแห่งสังขารธรรมทั้งหลาย

เมื่อพระพุทธเจ้า ทรงบรรลุธรรม จุตูปปาตญาณ

พระองค์ ทรงเปล่งอุทาน ว่า

เมื่อใด ธรรมทั้งหลายปรากฏแก่ผู้ปฏิบัติที่มีสติปัญญาเพียรเพ่งอยู่

เมื่อนั้นความสงสัยของท่านก็หายไป

เพราะได้รู้ถึงซึ่งการสิ้นไปแห่งปัจจัยทั้งหลาย?

หมายความว่า เมื่อนักปฏิบัติได้รู้แจ้ง ซึ่งความสิ้นไปแห่งปัจจัยของรูปและนามนั้น (หรือกายกับใจ) มาถึงตรงนี้ นักปฏิบัติจะรู้เห็นการเกิดดับของความคิดว่า ความคิดเข้ามาอย่างไร หายไปอย่างไร?

 

เมื่อก่อนที่เราไม่เห็น เพราะความต่อเนื่องของวิปัสสนาญาณไม่เข้มแข็งพอ ตรงนี้เรียกว่า เห็นการเกิด-ดับของความคิด ซึ่งเป็นการเห็นที่ชัดเจน มิใช่เป็นการนึกคิดคาดเดาเอาเอง และในขณะเดียวกัน ก็เห็นอารมณ์ที่ไม่มีเกิดไม่มีดับด้วย คือ เห็นปรมัตถสภาวะปรากฏ ท่านเรียกอีกอย่างว่าวิสังขารธรรม

เหตุ คือ กายกับใจ ปัจจัย คือ สังขารธรรม

การได้ประจักษ์เห็นหลักของสังขารธรรมทั้งหลายว่า เกิดเพราะเหตุปัจจัย หรือ หลักปัจจัยยาการ หลักอิทัปปัจจยะตา หลักปฏิจจสมุปาทา ตามภาษาหลวงพ่อเทียน เรียกว่า เห็นปรมัตถ์ และเห็นการเกิดดับของกิเลสและความคิดปรุงแต่งทั้งหลาย

หลักของอิทัปปัจจยตา เป็นขบวนการเกิดของรูปนาม

ทุกอย่างในจักรวาล ตั้งแต่ประณีตที่สุดจนไปถึงหยาบที่สุด ล้วนตกอยู่ภายใต้ของกฎอันนี้ อาจจะเข้าใจได้ง่ายๆ ถ้านำมาเปรียบเทียบกับกฎของไตรลักษณ์

สำหรับปฏิจจสมุปปาทะ เป็นกฎการเกิดดับของนามรูป

สำหรับ นาม ที่เป็นปรมัตถ์นั้น เป็นอสังขตะธรรม อยู่เหนือการเกิดดับ เหนือไตรลักษณ์ พ้นไปจากกฎของอิทัปปัจจยตา และปฎิจจสมุปปาท

ปัจฉิมยาม จะก็หายสงสัย สังขารธรรมทั้งหลายล้วนแต่อาศัยเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดแก่กันและกัน

เมื่อพระพุทธเจ้า ทรงบรรลุธรรม อาสวะขยญาณ

พระองค์ ทรงเปล่งอุทาน ว่า

เมื่อใดนักปฏิบัติทั้งหลาย ผู้มีสติปัญญาเพียรเพ่งอยู่

เมื่อนั้นผู้ปฏิบัติย่อมกำจัดมาร และเสนามาร ดำรงอยู่ได้

ดุจอาทิตย์กำจัดความมืด ส่องสว่างอยู่ฉันนั้น

หมายความว่า เมื่อนักปฏิบัติรู้เห็นที่ไปที่มาของสังขารทั้งปวง เห็นที่เกิด ที่ดับของความดีและความชั่ว ทั้งบุญและบาป นรกสวรรค์ สุขและทุกข์ เมื่อเข้าไปรู้เห็นสังขารธรรมเหล่านั้น ตามความเป็นจริงแล้ว ก็เกิดนิพพิทาญาณ คือเกิดความเบื่อหน่ายคลายจางในสังขารธรรมทั้งหลายว่า เป็นเหตุเป็นที่มาของความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งปวง จึงปล่อยวาง สลัดทิ้ง ไม่อาลัยอาวรณ์อีกต่อไป จากนั้นสังขารธรรมอันเหตุปัจจัยแห่งทุกข์ทั้งปวง ก็ไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้อีกต่อไป อาสวะธรรมทั้งหลายก็ไม่มีที่ตั้ง ไม่มีที่เกิดอีกต่อไป

ปฐมยาม บรรลุถึง ปุพเพนิวาสานุสติญาณ เห็นเหตุเกิดรูป-นามทั้งหลาย

มัชฌิมยาม เห็นเหตุดับไปของรูปและนาม ได้รู้ประจักษ์

แจ้งการดับไปของรูปและนามทั้งหลายว่า สิ่งทั้งหลายเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง ต้องอาศัยซึ่งกันและกันเกิดเสมอไป คือ หลักอิทัปปัจจยตา หรือของปฏิจจสมุปปาทะ

ปัจฉิมยาม เข้าไปรู้เห็นสังขารธรรมเหล่านั้น ตามความเป็นจริงแล้ว ก็เกิดนิพพิทา

ญาณ คือเกิดความเบื่อหน่ายคลายจางในสังขารธรรม ทั้งหลายว่า เป็นเหตุเป็นที่มาของความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งปวง จึงปล่อยวาง สลัดทิ้ง ไม่อาลัยอาวรณ์อีกต่อไป

ตามคัมภีร์พระไตรปิฎก เมื่อได้บรรลุธรรม ปฐมญาณ พระพุทธได้รู้เห็นเหตุแห่งธรรมทั้งหลาย ทำให้ได้ระลึกรู้ชาติต่างๆ ย้อนหลังไปในอดีต? นับเป็นหลายล้านชาติ ทำให้ท่านระลึกชาติได้ว่า ไปเกิดที่ไหนบ้าง แล้วก็บัญญัติออกมาเป็นชาดก เป็นนิทานต่างๆ ที่พระนำมาเทศน์จนเกิดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีเทศนามหาชาติชาดก ตลอดถึงพิธีกรรมต่างๆ มากมายในเวลาต่อมา นั้นเป็นเพียงเปลือกที่ห่อหุ้มพุทธธรรมเอาไว้ให้พ้นอันตรายเท่านั้นเอง

ตามหลักปรมัตถธรรม ขั้นปฐมญาณ ก็คือเห็นความคิดที่เกิดขึ้นในเรื่องของอดีตบ้าง อนาคตบ้าง เกิดความคิดครั้งหนึ่งก็คือ เกิดขึ้นชาติหนึ่ง ความคิดดับครั้งหนึ่ง ก็ตายไปชาติหนึ่งนั้นเอง แล้ววันหนึ่งๆ เราเกิดเราตายกันแบบนี้สักกี่ครั้ง เราก็นับกันไม่หวาดไม่ไหวอยู่แล้ว แล้วจะไปรอเกิดชาตินั้นชาตินี้ให้ยากทำไม ทำไมไม่ทำให้เรื่องเกิดเรื่องตายเดี๋ยวนี้ ขณะนี้

มัชฌิชยาม ตามคัมภีร์ก็บอก ว่า พระองค์ทรงเห็นการเกิด การตายของสรรพสัตว์ทั้งปวงในสากลจักรวาลว่า แต่ละคนแต่ละตัวตายแล้วไปเกิดที่ไหน และจะไปเกิดเป็นอะไร พระองค์ทรงรู้หมด นั่นคือเรื่องของตำรา แต่ไม่ใช่เรื่องของเรา

มัชฌิชยาม ตามหลักปรมัตถ์ คือพระองค์ได้ประจักษ์แจ้งถึงตัวการ ที่ทำให้มีการเกิด และการดับ ปรากฏ ท่านจึงอุทานอีกครั้งว่า เมื่อเรายังไม่ได้เกิดญาณปัญญา จิตเราได้เวียนว่ายไปในความคิดจิตสังขาร จนนับไม่ได้ เจ้าตัณหา คือความมักได้ใคร่อยาก เจ้าเป็นต้นเหตุตัวการให้เกิดความคิด ความอยากแบบไม่สิ้นสุด บัดนี้ เราเห็นเจ้าแล้ว เจ้าจะมาสร้างเรื่องสร้างภพชาติให้เราคิดอีกไม่ได้ เพราะเรารู้เท่าทันเจ้าแล้ว จิตของเราถึงซึ่งอาการปรุงแต่งไม่ได้แล้ว

ปัจฉิมญาณ ตามหลักคัมภีร์ คือ ญาณที่รู้ว่า อะไรเป็นเหตุเกิดอาสาวะ และดับอาสวะได้อย่างไร

ปัจฉิมญาณ ตามหลักปรมัตถ์ เมื่อเรารู้ว่า อาสวะเกิดเพราะอวิชชา คือการรู้ไม่เท่าทันความจริง ก็พยายามรู้เท่าทันใจตัวเองไปเรื่อยๆ สักวันหนึ่ง มันก็ต้องรู้เท่าทันจนหมดสิ้นให้ได้ ตรงนี้พระพุทธองค์ก็ทรงบรรลุถึง อาสาวักขยะญาณ คือรู้วิธีการกำจัดความเคยชินที่เป็นเหตุให้เผลอคิดเผลอทำ เผลอพูดให้หมดไป พระองค์จะทำให้หมดไปในขณะนั้นเลย หรือทำให้หมดในวันต่อมา หรือเดือนต่อมา ปีต่อมา นี่คือ คาถาชนะพญามาร