เริ่มต้นด้วยความเข้าใจรูปนาม ตอนที่ ๑

 

 

 

 

 

 

re1

เราส่วนใหญ่ มักดิ้นรนแสวงหาการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

ไม่หยุดวิ่งนิ่งเฉยได้ เพราะเข้าใจว่า การวิ่งแบบนักกีฬาจะพาเข้าสู่เส้นชัยได้ นั้นคือแนวคิดหลักของคนที่ยังอยู่ในวิสัยของโลกียชนทั่วไป แต่ยังมีคนอีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยดำเนินชีวิตแบบคนกลุ่มแรกมาแล้ว เกิดจิตสำนึกจากเดิมว่า การวิ่งวุ่นแสวงหาตามโลกแห่งวัตถุกาม และกิเลสกามนั้น ก่อให้เกิดความเร่าร้อน เหน็ดเหนื่อย กดดัน หนักหน่วงถ่วงทับต่อชีวิตจิตใจมากขึ้นเรื่อยๆ ในที่สุดเขาเหล่านั้นเริ่มทนไม่ไหว เพราะเห็นความไร้แก่นสาร และเป้าหมายชีวิตที่ว่างเปล่า จึงเริ่มมองหาทิศทางใหม่ให้แก่ชีวิต เขาเหล่านั้นเริ่มมารวมตัวกันในเส้นทางธรรม อันเป็นทางแห่งโลกุตตระ เป็นเส้นทางที่ ทุกคนเห็นด้วยกันว่า เดินแล้ว รู้สึกปลอดภัย ปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย ไร้การแข่งขันต่อสู้กับคนภายนอก เพียงหันกลับมาสู้กับความไม่รู้ของตนเอง และรู้สึกถึงความสงบสุข แช่มชื่นขึ้นบ้าง เมื่อได้พบกับจิตที่รู้จักหยุดนิ่งในบางครั้งบางคราว เริ่มได้รู้เห็นการทำงานของจิต เริ่มได้เห็นพลังแห่งความตื่นรู้ ที่สามารถสัมผัสมันได้ในบางคราว เริ่มรู้วิธีฝึกฝนใจตนเองให้อ่อนยอม และเยือกเย็นได้อย่างเต็มใจในบางครั้ง ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน เพียงแค่นี้ เราก็เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์บ้างแล้ว และมีแรงใจที่จะมุ่งหน้าเดินต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ เพราะอย่างน้อย ก็มีเพื่อนร่วมทาง คอยให้กำลังใจแก่กันและกัน และหวังว่าสักวันหนึ่ง เราจะเดินผ่านทะลุใต้ขุนเขาแห่งอวิชชา โดยผ่านทะลุออกไปปลายอุโมงค์อีกด้านหนึ่งจนได้

re2

อาการที่ปรากฏเกิดในกายในใจทุกขณะ ต้องได้รับการเอาใจใส่

และถามตัวเองเสมอว่า เพราะเหตุใดอาการเหล่านี้จึงเกิด คอยสังเกตอาการของมันไปเรื่อยๆ ส่วนเรามีหน้าที่ทำอะไรก็ทำไป แต่ก็ไม่ลืมสังเกตกายและใจของตัวเอง เราจะเห็นว่า มันมีความรู้สึกหลักๆ อยู่เพียงสองสามอย่างเท่านั้นคือ สบายบ้าง ไม่สบายบ้าง สนุกบ้างเบื่อบ้าง เฉยๆ บ้าง เกิดดับสลับกันอยู่แบบนี้ตลอดเวลา เฝ้าดูไปดูมาอย่างนี้เรื่อยๆ มันจึงเกิดสติปัญญาขึ้นมา และปัญญาแบบนี้ มันจะพัฒนาเป็นวิปัสสนาญาณ เป็นปัญญาที่อยากจะรู้ที่ไปที่มา ของอาการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างจริงจังและอย่างชัดเจน ก็เริ่มค้นหาความจริงด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่ ตามดูตามรู้เห็นความแตกต่างของอาการต่างๆที่เกิดขึ้นแต่ละขณะๆ เช่น การอยู่เฉยๆ และการลงมือทำงาน มันเกิดความรู้สึกแตกต่างกันอย่างไร ปัญญาแบบนี้ ชอบสังเกตทดลองกับอาการที่เกิดขึ้นจริงๆ มิใช่มานั่งนึก นั่งคิดเอาแบบคนทั่วไป

re3

ปัญญาสิกขา จะเริ่มต้นด้วยการลงมือ

เพียรทำ เพียรสังเกต เพียรเฝ้าดูไปเรื่อยๆ ไม่มีกาลเวลามากำหนดให้ทำ เช่น เราตั้งข้อสังเกตว่า เราทำงานเพลินๆไป ไม่เห็นมีปัญหาอะไร แต่ถ้ามานั่งปฏิบัติกรรมฐาน มันกลับมีอาการฝืดๆฝืนๆอย่างไรชอบกล ร่างกายไม่เคยปวดก็ปวด ความรู้สึกเบื่อก็มีอาการเพิ่มขึ้น เราต้องหาวิธีศึกษาและแก้ไขทันที

เมื่อศึกษาสังเกตตัวเองบ่อยๆ มันจะเกิดญาณปัญญาขึ้นมาเอง เพราะกายกับใจเข้ามาอยู่ด้วยกันเรียกว่า อารมณ์ปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น เราเอาผ้าแห้งมาชุบน้ำ มันจะมีน้ำหนักทันทีพอเอาผ้าไปตากแดด ผ้าจะแห้งและเบาไปเรื่อยๆ เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อกายกับใจมาอยู่ด้วยกัน ความรู้สึกจะหนักแน่นเยือกเย็น นั่นคือ อาการของปัจจุบัน พอเอาผ้าไปตากแดด ผ้าก็เริ่มแห้ง อาการของจิตก็เช่นกัน เมื่อกระทบอารมณ์ ก็เกิดการปรุงแต่ง สติปัญญาก็เริ่มเหือดแห้งไป จิตก็ขาดความหนักแน่น นี่คือตัวอย่างการทำงานของกฎของอนิจจัง

re4

ทีนี้มาดูอาการใกล้ตัวเราเข้าไปอีก

เมื่อเรานั่งลงใหม่ๆ เรารู้สึกสบาย พอนั่งไปนานๆ ความรู้สึกสบายเริ่มหดหายไป ความไม่สบายก็เริ่มเข้ามาแทนที่ แล้วความสบายเมื่อกี้หายไปไหน เราก็เกิดสติขึ้นมาทันทีว่าความสบายหรือไม่สบายต่างก็เป็นไปตามกฎของไตรลักษณ์ ไม่คงที่ มันเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็ดับไปตลอดเวลา นี่เราพูดถึงความรู้สึกที่เป็นรูป

เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงอย่างนี้ อุปาทานก็ทำงานไม่ได้ อกุศลธรรมต่างๆ ก็จืดจางไป จิตสิกขาก็ทำงานไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่มีการเจริญสติปัญญาแบบนี้ ความรู้สึกสบายหรือไม่สบาย มันไม่ใช่หยุดอยู่แค่รูปหรือกาย มันจะไหลเข้าไปสู่จิตด้วย ความไม่สบายกายก็ทำให้ใจรู้สึกไม่สบายไปด้วย มันจะแสดงตัวออกมาในรูปของความรู้สึกหงุดหงิดรำคาญ ซึ่งเรียกว่านามรูป

กฎธรรมของไตรลักษณ์ก็รุกตามเข้าไปถึงจิตอีก เพราะกฎธรรมชาติอันนี้มันทำหน้าที่ของมันตลอดเวลา เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม การเปลี่ยนอิริยาบถต่างๆ เพื่อบำบัดความไม่สบายเหล่านั้นออกไป ถ้าทำไปตามความเคยชินเรียกว่า ทำไปตามความรู้สึกของสัญชาตญาณ แม้เราจะรู้ว่ามันเป็นกฎอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาดีขนาดไหน ปัญญาก็ไม่เกิด เพราะรู้ด้วยความจำ ไม่ได้รู้ด้วยความเห็นแจ้งในอาการเกิดของมัน

ต่อเมื่อเกิดศรัทธาและความเพียร เข้ามาเจริญสติปัญญา ด้วยการตามเห็นตามรู้การเปลี่ยนแปลง หรือเห็นการทำงานของกฎไตรลักษณ์อย่างละเอียดทุกขั้นตอน และเห็นมันอย่างต่อเนื่องและเข้าใจ สติ สมาธิ ปัญญาก็เริ่มทำงาน ปัญญาญาณก็เข้ามาทำงานแทนสัญชาตญาณ การทำงานของสติ สมาธิ ปัญญา แบบนี้ เรียกว่า ดวงตาธรรมเริ่มเกิดแล้ว แล้วฝึกฝนการตามรู้ตามเห็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ วิปัสสนาญาณก็เริ่มเข้มแข็งแก่กล้าไปเรื่อยๆ

re5

พระพุทธองค์ได้ทรงพบว่า กฎไตรลักษณ์ที่เกิดโดยสัญชาตญาณ

สามารถเปลี่ยนแปลงให้เป็นธรรมได้ ด้วยการทำวิปัสสนา เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามกฎไตรลักษณ์ชัดเจน ทั้งรูปทั้งนาม เช่น ดอกไม้ในแจกันนี้ ตอนนี้มันสดชื่น ก็เรียกว่า ดอกไม้สด มันก็ยังน่าดูน่าชมอยู่ ก็เรียกว่า มันเป็นธรรม พอวันต่อๆ ไปมันเหี่ยวแห้งไป ความสดชื่นก็หายไป ความเป็นอนัตตาก็ปรากฎ รูปหรือตัวตนของดอกไม้สดหายไป รูปของดอกไม้เหี่ยวปรากฎ เรียกว่า อนัตตา เพราะรูปนั้นคงอยู่ที่เดิมไม่ได้ ดังนั้น ที่ใดมีอนิจจัง ที่นั้นก็มีทุกขัง อนัตตา ด้วย ที่ใดมีทุกขัง ที่นั้นก็มีอนิจจังและอนัตตาด้วย นี่คือกฎของรูป

ต่อไปมาดูเรื่องของนามบ้าง นามก็มี ๒ ลักษณะ คือ นามที่เปลี่ยนแปลงไปตามกฎไตรลักษณ์ และนามที่ไม่เปลี่ยนไปตามกฎไตรลักษณ์ นามที่ติดอยู่กับขันธ์ห้าเรียกว่ารูปนาม นามที่ติดอยู่กับความไม่รู้เรียกว่านามรูป

นามที่เกิดดับตามธรรมชาติพร้อมกับรูป เราจัดการอะไรมันไม่ได้ แต่นามที่เกิดจากตัวรู้ คือ ธรรมนั้น เราจัดการได้ เช่น เราหลับตาลืมตาด้วยความไม่รู้ เราจัดการอะไรไม่ได้ ก็ไม่เป็นธรรม แต่เมื่อเรามาฝึกสติปัญญาตามดูอาการของกายทั้งหมดจนเข้าใจรูป เราก็เริ่มบังคับคุมการหลับตาลืมได้ตามต้องการ ฉะนั้น การที่เรามีสติปัญญาสามารถจัดการกับกายและใจได้แล้ว แม้จะไม่ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เรียกว่า เราได้ดวงตาเห็นธรรม

re6

เมื่อก่อนเรายืนเดิน นั่ง นอนมาตลอดชีวิต

เราไม่เคยที่จะมาศึกษาเรื่องเหล่านี้อย่างเป็นจริงเป็นจังแบบนี้ แต่ก่อนเมื่อเรารู้สึกปวดเมื่อยเราก็พลิกเปลี่ยนตามความเคยชินไปเรื่อยๆ เราไม่เคยมาเฝ้าดู เอาใจมาจดจ่อต่อเนื่องแบบนี้เลย เมื่อเข้าคอร์สปฏิบัติแบบนี้ หลวงพ่อก็คอยบอกคอยเตือนให้เฝ้าดูอย่างชัดเจน ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ การปฏิบัติเบื้องต้น ถ้าเราสามารถเห็นและเข้าใจอาการของทุกข์เหล่านี้ได้ และปรับเปลี่ยนมันออกไปโดยใจไม่ทุกข์ไปกับมัน เราเรียกว่า เห็นรูป คือเห็นอาการทุกข์ของรูป มิใช่เห็นรูปร่างตัวอันนี้

re7

รูปร่างกายนี้มันคือ ก้อนของธาตุสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ

แต่รูปที่เราเห็นนี้ ท่านหมายเอารูปในขันธ์ห้าคือ รูปที่ประกอบด้วยเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รูปในขันธ์ห้าจะปรากฏตัวออกมาเป็นอาการของไตรลักษณ์ คือ อาการเย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่งตึง เจ็บปวด แสบคันเป็นต้น เรียกว่า รูปขันธ์

ส่วนรูปของธาตุทั้งสี่ เรียกว่า รูปธาตุ การเปลี่ยนแปลงกฎของไตรลักษณ์ในรูปธาตุ เราจัดการอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นกฏของธรรมชาติ แต่การเปลี่ยนแปลงอาการของไตรลักษณ์ในรูปขันธ์ เราจัดการได้ แล้วแต่ว่าจะจัดการด้วยสติแบบสัญชาตญาณ หรือแบบปัญญาญาณ

re8

คนที่ยังไม่ได้สดับและฝึกฝน

ก็เปลี่ยนไปตามความเคยชินด้วยอำนาจของอวิชชา ผลออกมาก็เป็นสมุทัย คือเหตุให้ทุกข์เกิดต่อไป ส่วนผู้ที่ได้สดับและศึกษาด้านวิปัสสนาอย่างถูกต้อง ก็รู้จักวิธีเปลี่ยนสัญชาตญาณให้เป็นสติปัญญาได้ เป็นผลให้เกิดวิชชาและญาณ เป็นเหตุให้เกิดนิโรธ คือทุกข์ดับไป

ตรงนี้ ที่พระพุทธองค์ชี้ลงไปว่า ธรรมนี้เป็นธรรมที่ทำให้คนต่างจากสัตว์ คือการบำบัดทุกข์ด้วยความรู้สึกที่เป็นสัญชาตญาณ แม้แต่สัตว์มันก็ทำได้ เช่น มันรู้สึกหิวมันก็หาอาหารใส่ปากใส่ท้องเองได้ สัตว์รู้สึกต้องการที่พักอาศัย ก็สร้างรวงรังที่อยู่เองได้ เมื่อรู้สึกมีภัยกลัวตาย ก็หนีภัยได้ และรู้สึกอยากในการสืบพันธุ์ มันก็หาของมันเองได้ มนุษย์ก็ไม่ได้ต่างไปจากมัน ถ้ายกธรรมออกเสีย เรากับสัตว์ไม่ต่างกัน แต่คนที่ไม่ฝึกตนให้มีธรรมเลยก็อาจจะแย่กว่าสัตว์ เพราะสัตว์ไม่ได้สร้างความเดือดร้อน และความวิบัติเสียหายให้แก่ตนเองและผู้อื่นได้มากมายเท่ากับมนุษย์ และในบรรดาคนทั้งหลาย ผู้ที่รู้จักฝึกตนให้พ้นจากอำนาจของโลภ โกรธ หลงเท่านั้น ที่เป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐ ซึ่งเหนือกว่าคนและสัตว์อีกหลายเท่าตัว เราจะเป็นมนุษย์ประเภทไหนก็เลือกเอาได้ เพราะอาศัยการฝึกฝนเอาเท่านั้นเอง