ปฐมาจารย์เซน แห่งประเทศสยาม ตอนที่ ๒

บทเรียนการสอนแรก

แบบเซนของหลวงพ่อเทียน

พระพุทธยานันทภิกขุ
บทเรียนการสอนแรก
แบบเซนของหลวงพ่อเทียน
 
ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้พบกับหลวงพ่อเทียน
ที่วัดสวนแก้ว อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
ผู้เขียนได้ถูกชักนำ
โดยอาจารย์โกวิท เขมานันทะ
ให้มาพบกับหลวงพ่อ
 
ด้วยความอยากได้คำตอบ
ในปัญหาที่ตนเองสงสัยมานานว่า
“อารมณ์รูปนามแบบสติปัฏฐานแท้ๆ นั้น
เป็นอย่างไร?”
 
เพราะผู้เขียนเคยไปฝึกกรรมฐาน
กับสำนักอาจารย์ต่างๆ มาหลายสำนัก
แต่ละสำนักจะมีคำถามที่ใช้สอบอารมณ์
เหมือนกันแทบทุกสำนัก
 
คำถามหนึ่งก็คือถามว่า
“ท่านรู้จักรูป รู้จักนาม แล้วยัง?”
 
เมื่อผู้เขียนตอบด้วยคำตอบเดิมทุกครั้งว่า
“รูปก็คือกาย นามก็คือใจ”
ก็เป็นเหมือนเดิมทุกครั้ง
ที่ได้คำตอบยืนยันกลับมาว่า
“มันใช่ แต่มันไม่ถูก”
 
คำตอบกลับมาแบบนี้ มันผูกมัดบีบคั้นจิตใจ
ของผู้เขียนมายาวนาน
จนกระทั่งได้โอกาสมาพบ
หลวงพ่อเทียนในครั้งแรก
ก็ยิงคำถามแบบเดียวกับ
ที่ได้จากอาจารย์กรรมฐานท่านก่อนๆ ว่า
 
“อารมณ์รูปนามแบบวิปัสสนา
เป็นอย่างไรครับ หลวงพ่อ?”
 
แต่คำตอบของท่านแปลกไป
จากอาจารย์วิปัสสนาท่านอื่นๆ มาก
 
คำตอบของท่านก็คือ
ท่านหันไปหยิบเอาขวดน้ำพลาสติก
ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ แล้วยกชูขึ้นมา
แล้วถามผู้เขียนกลับมาว่า
 
“ขวดน้ำนี่ ถ้าผมโยนขวดน้ำนี้ทิ้งไป
โดยไม่ปิดฝา อะไรจะเกิดขึ้น?”
ผู้เขียนก็ตอบว่า
 
“น้ำก็ไหลออกหมดสิครับหลวงพ่อ”
ผู้เขียนก็ตอบแบบซื่อๆ เหมือนกัน
ท่านจึงถามต่อว่า
 
“ถ้าผมปิดฝาขวดแล้วโยนขวดทิ้ง
มันจะเป็นอย่างไร?”
ท่านถามพร้อมกับมองหน้าผู้เขียน
 
“มันก็ไม่ไหลออกไปครับ
น้ำยังอยู่เท่าเดิมครับ”
 
แล้วท่านก็วางขวดไว้
แล้วหันไปถามเรื่องอื่นๆ
ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับขวดอีกเลย
ทำให้ผู้เขียนงงเป็นอย่างมาก

เฉลยปริศนาธรรมฝาขวด

ปฐม๔
การมาพบท่านในครั้งต่อมา
พบท่านที่วัดสนามใน
มีลูกศิษย์ของท่านนิมนต์ย้ายมาอยู่ที่นั่น
ผู้เขียนได้ไปพบท่าน
และมีโอกาสได้คุยกับท่านอีกหลายครั้ง
 
แล้วท่านก็พูด
เหมือนจะเป็นการเฉลยปริศนาธรรม
ที่ผู้เขียนเคยถามในครั้งแรก
ซึ่งผู้เขียนไม่ได้ถามในเรื่องนี้
ในตอนนั้นเลย
ท่านก็ปรารภขึ้นมาเองว่า
 
“รูปนาม มีอยู่แล้วในคนทุกคน
การรู้รูป รู้นามก็มีอยู่แล้ว
แต่เราไม่มีสติเข้าไปรู้จักมัน
มันก็เหมือนไม่มี
 
พอเรามีสติเข้าตามรู้มัน
มันก็เห็นทันที
 
คือรู้กายก็เห็นความรู้สึกของกาย
ที่เราเรียกว่า เวทนา
 
รู้จิตก็เห็นความรู้สึกของจิต
ที่เรียกว่า อารมณ์
 
การที่เรามาเจริญสติให้เข้มแข็ง
ก็เพื่อจะได้ตามรู้มันได้ต่อเนื่องนานๆ
ไม่หลงลืมได้ง่าย
 
เหมือนเราปิดฝาขวดไว้ให้สนิท
เมื่อใดต้องการดื่มก็ดื่มได้
แล้วปิดไว้เหมือนเดิม
 
การรู้สึกตัวอยู่เสมอ
ก็เหมือนเติมน้ำใส่ขวดเรื่อยๆ
เมื่อใดลืมสติ
ก็เหมือนขวดลืมปิดฝา
ล้มลงเมื่อใดน้ำก็ไหลออกหมด
 
น้ำมีอยู่พร้อมแล้วในขวด
แต่เราไม่ได้ปิดฝาเอาไว้
เมื่อมีอะไรไปชนล้มลง
มันก็ไหลออกหมดฉันใด
 
ฝาขวดนี้ก็เป็นเสมือนสติปัญญา
ที่เราเจริญและพัฒนาให้มีมากขึ้น
เมื่อมีอะไรมากระทบสัมผัสกายหรือใจ
ก็ตั้งสติตามรู้มันไปเรื่อยๆ
 
การรู้แบบนี้ เรียกว่า รู้รูป รู้นาม
ถ้าสติไม่เข้มแข็งก็ตามรู้ไปสั้นๆ
รู้ตัวไม่นานก็ลืมตัวอีก
เราจะไม่เลิกล้ม
 
พยายามเจริญสติให้รู้สึกตัวไปเรื่อยๆ
ให้รู้มันเฉยๆ รู้มันซื่อๆ
ไม่ต้องไปคิดพะวงสงสัยอะไรให้ยุ่งยาก
มันเป็นมรรคเป็นผลในตัวของมันเองเสร็จ”

สว่างทั้งตานอกและตาใน

หลังจากได้พบหลวงพ่อเทียนในครั้งแรก ตั้งแต่ปี พ.ศ.2519 จนบัดนี้ (พ.ศ.2553) เป็นเวลา 35 ปี ผู้เขียนไม่เคยไปตั้งคำถามแบบนี้กับอาจารย์ท่านไหนอีกเลย เพราะมันหายสงสัย และผู้เขียนก็ได้สมาทานการปฏิบัติแบบนี้มาโดยตลอด ไม่เคยเปลี่ยนวิธีการอีก เพราะยิ่งทำก็ยิ่งได้คำตอบที่ถูกต้องไปเรื่อยๆ สงสัยอะไรก็มีคำตอบเกิดขึ้นมาเอง โดยไม่ต้องไปคิดเอาเองให้ยุ่งยากปวดหัว และเป็นคำตอบสุดท้ายของทุกๆ คำถาม จึงหายสงสัยเลยว่าทำไมต้องลืมตาทำ เกิดความสว่างทั้งตานอกตาใน จะหลับหรือจะลืมก็ไม่เป็นเรื่องต้องสงสัยอีกต่อไป เพียงแต่รู้สึกว่าถ้าหลับตาในเวลาที่ไม่ควรหลับ รู้สึกว่าทำอะไรก็ไม่สะดวกเท่านั้นเอง ลืมตาทำจะดีกว่า เห็นของจริงทั้งนั้น จะไปหลับตาเห็นภาพลวงของปลอมไปทำไมกัน

ดังนั้น เราจะไปที่ไหน จะทำอะไรก็ต้องลืมตาไว้จะดีกว่า เราต้องรู้จักรักษากายตัวเองให้ปลอดภัยไว้ก่อน เพราะสติทำหน้าที่เป็นผู้รักษาตามพระบาลีว่า รักขมาโน สโต รักเข เมื่อจะรักษาอะไรให้ดี ต้องใช้สติเป็นผู้รักษา ถ้าไม่มีสติ จะรักษาอะไรไม่ได้ จะรักษากายก็ต้องเจริญสติจะรักษาใจก็เจริญสติ เช่นกัน

สติแบ่งเป็นหลายระดับ (ตามหน้าที่)

ปฐม๕
สติเบื้องต้น เราเรียกว่า ศีล
 
สติเบื้องกลาง เราเรียกว่า สมาธิ
 
สติเบื้องสูง เราเรียกว่า ปัญญา
 
สติเบื้องบน เราเรียกว่า ญาณ
 
สติเบื้องลึกลงไป เรียกว่า ญาณทัสสนะ
 
และ สติเบื้องลึกสุด เรียกว่า ญาณทัสสนวิมุตติ
 
แต่ในนามของสติจะเปลี่ยนชื่อไปเรื่อยๆ
บางคนก็บอกว่าหลวงพ่อสอนแต่เรื่องสติ
คุณธรรมพุทธศาสนามีตั้งเยอะแยะ
ทำไมหลวงพ่อไม่นำมาสอนบ้าง
 
ผู้เขียนเคยถามหลวงพ่อเทียนเหมือนกันว่า
“ทำไมเราใช้คำว่า สติ
คำนี้คำเดียวละครับหลวงพ่อ
ธรรมคำสอนมีตั้งแปดหมื่นสี่พันเรื่อง”
 
หลวงพ่อบอกว่า
“พูดเฉพาะสติคำเดียวนี่
ก็ยังปฏิบัติไม่ถูกกันเลยท่านเอ้ย…
แล้วถ้าพูดไปเยอะแยะมากมาย
เหมือนใบไม้ในป่าทั้งนั้นแหละ
แต่ใบไม้ในกำมือนี้
เอาให้ได้เสียก่อนก็แล้วกัน”
 
ผู้เขียนก็เห็นด้วย เพราะเราใช้คำน้อยๆ
จะได้ไม่ลุ่มล่ามฟั่นเฝือ

สติต้องสมดุลกับความคิด

ปฐม๗
ก็เหมือนเกลือ เกลือนิดเดียว
มันก็เค็มเป็นเกลือ
มากมันก็เค็มเป็นเกลือ
แต่ให้เรารู้จักใช้เท่านั้น
เราใส่แกงถ้วยเดียว
จะไปใช้เกลือกำมือหนึ่งก็ไม่ได้
เราต้องรู้ความพอเหมาะพอดีที่จะใช้
ใช้เท่าไรถึงจะพอดี
เราจะหมักปลาร้าสักไหหนึ่ง
จะใช้เกลือหนึ่งกำมือก็ไม่ได้
ก็ใส่ตามจำนวนของวัตถุดิบฉันใด
การรู้จักใช้สื่อภาษาก็ฉันนั้น
คนทุกวันนี้ตกเป็นทาสของสื่อ
ยึดติดที่คำพูด แต่ไม่เห็นความจริง
 
ความคิดและอารมณ์ของเรา
เหมือนวัตถุดิบ
สติเหมือนเกลือ
 
วันหนึ่งๆ เรานึกคิดปรุงแต่งตั้งเยอะ
แต่มีสตินิดเดียวก็ใช้ไม่ได้
ไม่มีความสมดุลกัน
 
เรามีความนึกคิดปรุงแต่งมากเท่าใด
ก็ต้องเจริญสติใส่เข้าไปมากเท่านั้น
เหมือนกันถึงจะสมดุล
 
ถ้าเรามีความคิดปรุงแต่งเยอะแยะ
แต่มีสตินิดเดียว
กำลังสติไม่สมดุลกัน
 
เปรียบกับการหมักปลาร้า
ก็เน่ากันทั้งไหนั่นแหละ
 
จิตของคนทุกวันนี้ถึงได้บูดเน่า
เสียหายกันทั้งปีทั้งชาติไงละ
รู้จักแต่คร่ำครวญว่า เสียใจ
เศร้าใจ ทุกข์ใจ เจ็บใจ ฯลฯ
 
แล้วจะไม่เสียใจ ไม่ทุกข์ใจ
ไม่เจ็บใจได้อย่างไร เป็นเพราะอะไร?
ไปคิดกันเอาเองก็แล้วกัน
ไม่ใช่เรื่องยุ่งยากซ้ำซ้อนเลย

พระพุทธยานันทภิกขุ