พระธรรมเทศนา ลำดับอารมณ์รูปนามแบบเคลื่อนไหว

ลำดับอารมณ์รูปนามแบบเคลื่่อนไหว

พระธรรมเทศนาโดย พระพุทธยานันทภิกขุ (หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, Deva Nanda) งานเทียนธรรมรำลึก อาจริยบูชา ๑๐๐ ปีชาตกาล

หลวงพ่อเทียน จิิตตสุโภ ณ เกาะพุทธธรรม วัดทับมิ่งขวัญ จ.เลย ๑๓-๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕

ลำดับอารมณ์รูปนามแบบเคลื่อนไหว

ปัจจุบันการเจริญสติก้าวหน้าได้ช้า เพราะมีสิ่งรุมเร้ามาก ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ เทคโนโลยีต่างๆ ผู้ที่จะเจริญสติภาวนาได้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว จะต้อง 1. มีความรักที่จะทำอยู่ตลอดเวลา เหมือนสมัยที่เรามีความรักกับคนรัก อยากอยู่ด้วยกันตลอดเวลา ยิ่งการรักในธรรม ยิ่งรัก ยิ่งสนิท ยิ่งลึกซึ้ง 2. มีความเพียร คือ มีความเพียรระมัดระวัง สิ่งไหนที่ทำให้เราขาดสติ เผลอเรอ คิด จิตส่งออก ในการเฝ้าดู ระมัดระวังในความเผลอ เมื่อรู้ตัวว่าเผลอต้องดึงกลับมารู้สึกตัวทันที ไม่ได้ให้รู้สึกตัวตลอดเวลา แต่ให้รู้เมื่อหลงก็กลับมารู้ได้ถูก สลับกันไปมา ระหว่างรู้กับหลง เหมือนขั้นบันได เหมือนลมหายใจเข้าออก สลับกันไป ดังนั้นต้องกระตุ้นให้รู้สึกตัว ด้วยการสร้างตัวรู้ให้มีกำลังอยู่เสมอ เพื่อเมื่อหลง จะได้มีกำลังกลับมารู้สึกตัวได้อย่างรวดเร็ว หมั่นสร้างความรู้สึกตัวให้ชัดเจนอยู่เสมอ ระลึกรู้ตัวทั่วพร้อม คอยสำรวจ ตรวจสอบ สังเกต อาการ มี ง่วง เหงา เศร้า ซึม เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหม ความรู้สึกตัวที่ถูกต้อง คือ ต้องรู้สึกในส่วนที่เห็นได้ชัดก่อน เช่นที่มือ เท้า การเคลื่อนไหว อริยาบถใหญ่ ย่อย ส่วนใดชัดในขณะนั้นให้จับตัวนั้นก่อน เพื่อให้รู้สึกชัดๆ ซึ่งการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้ก็คือ การยกมือ หากเดินจงกรม ก็ที่เท้า นอกจากนั้น ก็การนั่ง การยืน การเดิน การนอน การเหยียด การคู้ ให้กำหนดรู้ในทุกอิริยาบถ ตามรู้ ในการเปลี่ยนท่านั่ง การเคลื่อนไหว การยืน การเดิน จนถึงการนอน ขยับแขน ขยับขา หากเราตามดูตลอดเวลา จะทำให้จิตเรานิ่ง เพราะตามรู้อยู่ตลอดเวลา ส่วนใหญ่การนั่ง การยืน การเดิน การนอน เราทำตามสัญชาตญาณ อยากลุกก็ลุก อยากนั่งก็นั่ง พลุบพลับๆ ตามความเจ็บ ความปวด ความเมื่อย แต่เมื่อเรามีสติตามกำหนดรู้ในการนั่ง การยืน การเดิน การนอน เห็นความปวด ความเมื่อย ความอยากเปลี่ยนอิริยาบถ มีการไตร่ตรอง มีการต่อรองกับมัน เมื่อเห็นว่าที่สุดแล้ว จึงค่อยเปลี่ยน อย่างนี้ เรียกว่าไม่ได้เปลี่ยนตามสัญชาตญาณ แต่เปลี่ยนด้วยปัญญาญาณ เปลี่ยนจากอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เปลี่ยนเป็น สติ สมาธิ ปัญญา การเปลี่ยนอิริยาบถแต่ละครั้งให้เฝ้าดู สังเกต เห็นทุกขเวทนาที่มันเกิดขึ้น จากน้อยไปหามากตามลำดับ และเมื่อเราปรับเปลี่ยน ก็ให้เห็นทุกขเวทนาที่มันคลายไป ศึกษาให้ละเอียด เห็นการเปลี่ยนแปลงของเวทนา ตามสังเกตอย่างนี้ จนมีสติเข้มแข็ง แก่กล้า จะรู้รูปนามภายใน 3 วัน รู้รูปนาม คือ เห็นกาย เห็นใจชัด ประคับ ประคอง ความรู้สึกตัว สัมผัสกับการเคลื่อนไหวของกายได้ชัดเจนมากกว่าเดิม ต่อเนื่องมากกว่าเดิม นานมากกว่าเดิม เห็นการเข้าการออกของความคิดและอารมณ์ได้ชัด นี่คือสัญญาณของการเห็นอารมณ์รูปนาม บางคนเกิดปีติ น้ำหูน้ำตาไหล อารมณ์นี้เป็นอารมณ์เบื้องต้น ต้องดูแล เอาใจใส่ พอกพูน เพราะอารมณ์นี้ยังไหลกลับไปเหมือนเดิมได้อยู่ บางคนก็อาจเป็นวิปัสสนูก็มี และหากคนใดมีอารมณ์รูปนามไม่นาน มุ่งมั่น ทำความเพียรต่อ เข้าเก็บอารมณ์ 10 วัน 20 วัน ก็สามารถทะลุไปอารมณ์ปรมัตถ์ได้เลย เหมือนกับไข่ไก่ เมื่อมีการฟักตัวแล้ว อย่างไร ก็ต้องออกมาเป็นตัว เป็นหลักธรรมชาติ เป็นวิวัฒนาการตามธรรมชาติ กระบวนการรูปนาม เข้าสู่ ปรมัตถ์ จะต้องผ่านอารมณ์หลายอารมณ์ เช่น อารมณ์รูปธรรม นามธรรม ฯลฯ มันลึกเข้าไปเรื่อยๆ จะรู้ จะเห็นอะไรๆ ไปเรื่อยๆ เข้าใจ จนหายสงสัย ด้วยตนเอง รู้เอง เห็นเอง ไม่ใช่ด้วยการถาม การได้คำตอบจากครูบาอาจารย์ หรือผู้อื่น สามารถตัดวิจิตกิจฉา ซึ่งเป็นข้อหนึ่งในคุณสมบัติของพระโสดาบัน ในอารมณ์รูปธรรม นามธรรม เห็นกาย เห็นใจ ได้ชัดขึ้น เมื่อก่อนเราเห็นกายใจเป็นอันเดียวกัน ขาเจ็บ เราก็เจ็บ ท้องปวด ใจมันไปปวดด้วย เป็นเราปวด กายกับใจมันพันกัน มันเป็นอันเดียวกัน พอเห็นรูปนาม กายปวด ใจไม่ปวดไปด้วย เริ่มเห็นเป็น 2 อย่าง จึงเรียกว่า รูปธรรม นามธรรม หลวงพ่อเทียนจึงบอกว่า เห็นรูปมันทำงาน เห็นนามมันทำงาน รูปทำงานอยู่ 3 อย่าง เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรียกว่า อนิจจัง มันเจ็บมันปวด มันไม่สบาย เรียกว่า ทุกขัง และความไม่สบายมันแก้ไขได้ มันดับเองได้ เรียกว่า อนัตตา รูปทำงานตามกฎไตรลักษณ์ เป็นรูปทุกข์ หากใจทุกข์ไปด้วย ก็กลายเป็นนามทุกข์ การเห็นรูปนาม คือการเห็นกาย เห็นใจ ทำงาน แยกเป็น ไม่รั่วไหลหากัน แต่ก็ยังแก้ไม่ได้ทุกครั้ง พอเผลอ ก็ยังเป็นทุกข์อีก พอเห็นบ่อยเข้า ก็จะไปเห็นกระบวนการของทุกข์ได้ชัดขึ้น เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือ ไตรลักษณ์ได้มากขึ้น

Direk Saksith
www.buddhayanando.com
f: พระพุทธยานันทภิกขุ, พลิกใจให้ตื่นรู้,
หลวงพ่อมหาดิเรก พุทธยานันโท, เซนสยาม,
Dynamic Meditation (นวัตกรรมแห่งสติ)