รวมคำถาม ตั้งแต่ มิย. ๕๙

ธาตุลมไม่ได้มีแต่ที่จมูก

โยม: บ่อยครั้งที่จิตมารู้
ลมละเอียดที่จมูกค่ะ
และบ่อยครั้ง ที่มีอาการ ขนลุกซู่ๆ
 
หลวงพ่อ: ทำไมไม่ทำให้มันรู้ทุกครั้งล่ะ
 
โยม: มันไม่ได้ต่อเนื่อง
จะรู้ตัวที่อื่นๆ และมาที่ลมบ้างค่ะ
 
หลวงพ่อ: เพราะมันไม่รู้ทุกครั้ง
ถึงเป็นอย่างนั้น
 
เธอคิดว่าการเคลื่อนไหวของกาย
ส่วนไหนบ้าง ที่ไม่ได้เกิดจากลม?
 
โยม: ทุกการเคลื่อนไหว
เกิดจากลมใช่ไหมคะ?
 
หลวงพ่อ: การรู้การเคลื่อนไหวกาย
ทั้งหมดนั้นแหละ
คือการรู้ธาตุลมทั้งหมด
 
มิใช่รู้เพียงลมหายใจอย่างเดียว
โยมต้องแยบคายกว่านี้
 
รู้ลมหายใจอย่างเดียว
มันถึงเป็นอารมณ์สมถะ
ปีติมันถึงเกิดบ่อยไง
เข้าใจแล้ว เปลี่ยนซะ
 
โยม: โยมเคลื่อนไหวน้อยใช่ไหมคะ
หลวงพ่อ: เคลื่อนไหวมาก
แต่ตามรู้ได้น้อยไปเท่านั้น

สะเก็ดไฟตกใส่น้ำ

ปุจฉา:

ในที่สุดก็จะเหลือจิตดวงเดียว
ที่ขาวสะอาดใช่ไหมคะ

ดังนั้น ผู้ที่ไปถึงจุดสูงสุด
ของจิตวิญญานแล้ว
ถ้ายังมีชีวิตอยู่ก็ยังมีรูปนาม
มีผัสสะ มีความรู้สึกต่างๆ
ที่เป็นธรรมชาติ รู้เท่าทัน
จึงไม่สะสมกิเลสตัณหาต่อไป
โยมเข้าใจเช่นนี้ถูกไหมเจ้าคะ

วิสัชนา:

ใช่แล้ว แต่ว่าเป้าหมายของเรา
คือความที่เป็นเอง
ไม่ต้องพยายามใดๆ อีกต่อไป

เสมือนสะเก็ดไฟตกใส่น้ำ
มันดับโดยไม่ต้องพยายามไปดับ

แต่ถ้าจิตยังไปไม่ถึงสภาวะนั้น
ก็ยังประมาทไม่ได้นะคุณ
ก็ต้องอดทนใช้ความพยายามไปก่อน

ปล่อยวางแบบมีปัญญา

ปุจฉา:

ท่าทีชาวพุทธควรจะเป็นอย่างไร
ในเมื่อเราถูกสอนให้มีเมตตา ปล่อยวาง
ไม่ยึดมั่นถือมั่น

วิสัชนา:

พระพุทธองค์ท่านทรงสอน
ให้ใช้ปัญญาในทุกๆ เรื่อง
เช่น การปล่อยวาง
ในเรื่องที่ควรปล่อยวาง

ถ้าปล่อยวางแบบไร้ปัญญา
ท่านเรียกว่า ปล่อยทิ้งไง!
ยึดในเรื่องที่ควรยึด
เมตตาในคนที่ควรเมตตา
ช่วยคนที่ควรช่วย
สั่งสอนคนที่ควรสั่งสอน เป็นต้น

ดังนั้น จึงต้องฝึกปัญญา
เพื่อการปล่อยวางที่ถูกต้อง
มิใช่ปล่อยวางแบบไร้ปัญญา

นี้คือความคิดความสับสน
ของชาวพุทธไทย
เช่น ในเรื่องของความเมตตานั้น
ส่วนใหญ่พวกเราเมตตาแบบไร้ปัญญา

ดังนั้น คนดีมีเมตตาถึงได้เป็นทุกข์
เพราะความดีที่ไร้ปัญญาของตัวเองไงละ

จึงต้องหันมาฝึกฝนสติสมาธิให้เข้มแข็ง
เพื่อให้เกิดปัญญา

ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจ

ปุจฉา:

พระพุทธเจ้าบอกว่า
ระลึกถึงความตายตลอดเวลา
ทุกลมหายใจเข้าออก…
หมายถึงอะไร…
อย่างไรครับ… หลวงพ่อ!

วิสัชชนา:

หมายถึงการตามรู้การเกิดดับ(เกิด-ตาย)
ของกายใจหรือรูปนามตลอดเวลา

เพราะการเกิดดับ
มันทำงานตลอดเวลา

เกิดดับทางกายหรือรูป
เรียกว่าการเคลื่อนไหว

ถ้าเกิดดับทางจิตหรือนาม
เรียกว่า ความรู้สึกนึกคิด

สุขทุกข์เป็นอาการ
ที่เกิดทางใจหรือนาม

ปฏิบัติถูกต้องแล้วจะเป็นอย่างไรต่อไป?

ถามเจ้าคะ: คนเจริญสติถูกต้องดีแล้ว ควรมองโลกภายนอก ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเราแต่ละวันอย่างไร?

ตอบ: ถ้าเราปฏิบัติถูกต้อง และไปนานเข้า จะทำให้เราเข้าใจโลกตามความเป็นจริงมากขึ้นเรื่อยๆ และจิตใจของเรา จะอ่อนโยน เกิดความเมตตากรุณามากขึ้น จะให้อภัยกับคนที่คิดเห็นต่างจากเราได้มากขึ้น เห็นอกเห็นใจคนผิดพลาดมากขึ้น จะเกิดสติปัญญาอย่างแหลมคม คิดช่วยเหลือและ แก้ไขเขาทั้งตรงและทางอ้อม ไม่นิ่งดูดายในความผิดพลาดแม้เล็กน้อย ถ้าสิ่งนั้นจะนำไปสู่ความเสียแก่สังคมส่วนกว้าง และส่วนตัวจะมีความใคร่ครวญก่อนพูด ก่อนทำ ก่อนคิดเสมอ นั้นคือเป็นผลของการปฏิบัติโดยแท้ จะทำอะไรตามอารมณ์อยาก ลดน้อยถอยลงไปเรื่อยๆ

เก็บอารมณ์อย่างไร?

ปุจฉา: พระอาจารย์เจ้าคะ
การเก็บอารมณ์เข้มที่วัดนี่ มีขั้นตอนอย่างไรคะท่าน ขอโปรดเมตตาชี้แจง เมื่อท่านมีโอกาสด้วยค่ะ

วิสัชชนา: ตอนนี้กำลังจัดเก็บอารมณ์เข้ม ที่วัดอยู่พอดี อาจจะต้องมี
กฎ ๑๐ ข้อในการเก็บอารมณ์
1. เข้าใจก่อนว่า เก็บอารมณ์ไปเพื่ออะไร ตอบว่า เพื่อพัฒนากำลังของสติ สมาธิ สัมปชัญญะ หรือความตั้งใจตามดู ความรู้สึกตัวทั่วพร้อม ให้เข้มแข็ง ต่อเนื่อง เพราะธรรมสามประการนี้เป็นเหตุให้เกิด สัมมาปัญญา ได้ง่าย
สัมมาปัญญา คือตัวรู้ที่มารู้เท่าทัน ความคิด ได้ทันเหตุการณ์ คือความคิดเกิดแล้ว รู้ทันที มิใช่ว่า ความคิดปรุงแต่ง เกิดตั้งนานแล้ว พึ่งรู้ตัว นี่เรียกว่า ไม่ร้เท่าทัน มิใช่สัมมาปัญญา
2. ต้องมีเวลาให้กับเรื่องนี้ชัดเจน ต้องการกี่วัน หรือกี่ชั่วโมง เพื่อจะได้ไม่ต้องเอาเรื่องอื่นมายุ่งด้วย ลงมือตามดูกายใจให้ต่อเนื่องอย่างเดียว ไม่จำเป็น ไม่พูดไม่คุย กินน้อย นอนน้อย เจริญสติมากๆ
3. ขณะทำความเพียร นั่งทำจังหวะ มากกว่าเดิมจงกรม ขณะทำต้องตามดูอาการของทุกขเวทนา ต่างๆทางกายเป็นหลักถึง 70% อีก 30% ให้ชำเลืองดูอาการของจิตเป็นพักๆ อย่าเพ่งจ้อง แต่สังเกตสบายๆ แต่ไม่ละสายตา จากกายใจเท่านั้นเอง เหมือนแม่ดูแลลูก ไม่บังคับแต่ดูแบบ ไม่ละสายตาเท่านั้นเอง
4. ตามแก้ไขทุกขเวทนาต่างๆ อย่างมีสติตามรู้ เพราะไตรลักษณ์มันทำงานตลอดเวลา อย่าเผลอส่งจิตออกนอกนาน จะทำให้ไม่เห็นการทำงานของไตรลักษณ์ เช่นนั่งสักพัก ตะโพกก็รู้สึกหนักแล้ว เราก็ตามดู จนทำท่าจะนั่งแช่ หรือทนไม่ไหว ก็ตามรู้อาการนั้นๆให้ชัดๆ แล้วขยับปรับทิ้งออกไป ตามแก้ทุกข์ในอิริยาบถ อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
5. ไม่จำเป็น อย่าหลับตา เพราะทันทีที่หลับตาลง จิตจะสร้างนิมิตทางใจขึ้นมาทันที จะป็นภาพคิดหรือเป็นความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ หรือเฉยๆก็ได้ นานเข้าก็จะป็นภาพบางๆปรากฏเรื่อยๆ จนเราลืมตัว จิตที่มีกำลังรู้ไม่พอ ก็จะ เผลอหลุดเข้าไปในความคิดมิติที่ละเอียด แล้วเราก็เสพสุขจากมัน
6. ต้องการเก็บอารมณ์ที่บ้าน ก็ได้ แต่ต้องเป็นคนปฏิบัติที่เจริญสติมาระดับที่เห็นรูปนามได้แล้ว เพราะคนที่ยังไม่เห็นรูปนาม ก็ ยังไม่สามารถแยกรูปแยกนามได้ คือยังแยกความรู้สึกตัวกับความคิดออก จากกันไม่ได้ เมื่ออยู่คนเดียว ก็จะเข้าไปในความคิดโดยไม่รู้สึกตัว เมื่อความคิดเรื่องใดเรื่องหนึ่งเกิดขึ้น ก็เผลอเข้าไปในความคิด จิตยังไม่มีสติหรือนามเป็นที่พึ่ง
ดังนั้น เบื้องต้นต้องแน่ใจก่อนว่า เห็นรูปเห็นนามถูกต้องหรือเปล่า มิฉะนั้น จะถูกความคิดและนิวรณ์ต่างๆ ดึงไปคิดเรื่องราวต่างๆ ก็ไปไม่รอด
ดังนั้น จึง เก็บตัวอยู่คนเดียวไม่ได้ ด้วยเหตุนี้
7. ก่อนเข้าเก็บต้ว ต้องเก็บสื่อต่างๆไว้ให้ห่างตัวเช่นโทรศัพท์มือถือ ทีวี เครืองเล่นหูฟังชนิดต่างๆ
8. ตัดขาดการติดต่อพูดคุยกับคนอื่น หรือปิดวาจา ถ้าจำเป็นก็พูดได้เฉพาะ ที่จำเป็นจริงๆ เพราะการพูดคุยทำให้ สำรวมจิตได้ยาก ฟุ้งซ่านได้ง่าย
9. มีครูอาจารย์สามารถติดต่อได้ ตลอด เวลา เช่นพี่เลี้ยง พระอาจารย์วิปัสสนา ที่รู้จักวิธีแก้อารมณ์ หรือเพื่อนกัลยาณมิตร ผู้มีประสบการณ์ทางวิปัสสนามาก่อน
10. ความสงัดวิเวกเป็นสิ่งจำเป็น หากสถานที่เก็บตัว ไม่เป็นส่วนตัว ไม่สงัดเพียงพอ มีเสียงและผู้คน ไม่สงบอยู่ใกล้ การเก็บตัว ก็ไม่ค่อยได้ผล เพราะจิตเราจะวิ่งออกไป รับอารมณ์ข้างนอกบ่อยทำให้เผลอตัวง่าย ดังนั้น ก่อนเก็บตัว ควรมีการวางแผน ล่วงหน้าไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อจัดหาสภาพ แวดล้อม ให้เอื้อต่อการเข้าเก็บอารมณ์ หาสถานที่ที่เงียบๆให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
ประการสำคัญคือมีกัลยาณมิตร ที่เข้าใจจุดประสงค์ของเรา แล้วคอยเอื้ออำนวยความสะดวกต่างๆ ให้เราได้ทุกเรื่อง ถ้าเราเจอกัลยาณมิตร แบบนั้น ก็ถือว่า โชคดีไป

แช่แบบไม่รู้

ปุจฉา: กราบนมัสการเจ้าค่ะ หนูขอเรียนถามถึงวิธี การแก้อารมณ์ให้ผู้ ปฏิบัติที่ติดอารมณ์ค่ะว่าถ้าเกิดคนคนนั้นแช่อยู่ ในอารมณ์ใดอารมณ์ หนึ่งนาน ๆ จนเกิดความท้อแท้สิ้น หวังในการปฏิบัติเราจะมีวิธีช่วยเขายังไงคะ

วิสัชชนา: แก้ไขด้วยการทำความ เข้าใจการปฏิบัติให้ถูกต้องเสียก่อน ค่อยลงมือปฏิบัติ ถ้าเขาเข้าใจผิด มันก็แก้ปัญหาการ ปฏิบัติไม่เป็น การเจริญสติแบบเคลื่อน ไหว เราสอนให้แก้ปัญหา มิใช่ก่อปัญหา คือไม่ให้แช่อยู่กับ เวทนาต่างๆ ไม่ว่าสุข หรือทุกข์ ต้องบำบัดแก้ไขให้หมดไป
ถ้าทนไม่ได้ ต้องแก้ สถานเดียว คือห้ามแช่แบบไม่รู้ ถ้าเจตนาจะแช่ มันไม่มีปัญหา แต่ที่เป็นปัญหา เพราะแช่แล้วไม่รู้ ก็ทำให้กล้บมารู้สึกด้วยตัวสติสัมปชัญญะ เท่านี้ก็จบ

อาการตื่นรู้ของจิตเป็นอย่างไร?

ปุจฉา:
 
หลวงพ่อคะอาการตื่นรู้ของจิต
เป็นอย่างไรเจ้าคะ
 
วิส้ชนา:
อาการตื่นรู้ของจิต
คือการรับรู้ทุกอย่าง
ที่เข้ามากระทบ
 
จะรู้สึกเท่าทัน
ผ่อนคลายและปล่อยวาง
โดยตัวของมันเอง
 
เหมือนหยดน้ำ
ตกลงบนใบบัวฉันนั้น
 
มันดูนุ่มนวลและอ่อนโยน
แต่มิใช่อ่อนแอหรือหวั่นไหว

หลับตาติดสุข

ปุจฉา: นมัสการเจ้าค่ะ โยมมีปัญหา ชอบปฏิบัติแบบนั่งหลับตา พอดีเลย เวลานั่งขยับมือไปนานๆ รู้สึกอยากหลับตา พอหลับตา ปรากฏว่า รูปที่กำลังขยับ มันชัดเด่นขึ้นมามากเลย เจ้าค่ะ แล้วมันรู้สึกดีมาก ไม่อยากลืมตาเลย ต้องแก้ไขอย่างไรเจ้าคะ

วิสัชชนา: การนั่งสมาธิหลับตา ก็ไม่มีอะไรผิด แต่มันเสี่ยงต่อการ ติดใจสุข ในสมาธิเท่านั้นเอง ถ้าติดสุขในสมาธิแล้ว สติปัญญามันเจริญช้า หรือสติปัญญา ชนิดที่ฆ่ากิเลสได้ มันอ่อนลง และเติบโตช้าไม่ทันการณ์ เหมือนการปลูกต้นพริก ต้นมะเขือหรือผลไม้ชนิดอื่นๆ ไวัในที่ร่ม หรือใต้ต้นไม่ใหญ่ มันไม่แตกดอก ออกลูก ให้เท่านั้นเอง ฉันใด อุปมา การเจริญ สมถภาวนา ก็ฉันนั้น
หรือเหมือนคนติดสุข จะเป็นคนอ่อนแอ หนักไม่เอาเบาไม่สู้

ร้องไห้

ปุจฉา;
 
กราบนมัสการหลวงพ่อเจ้าค่ะ
ช่วงนี้ภาวนาพออาการหนัก เบา
ตามร่างกายชัด
จิตมันพิจารณาเห็นถึงกายไม่มี
มีแต่การรู้ว่ามันเคลื่ิอน มันหยุด
 
มันเหมือนมันกลัวว่าจะสูญเสียกายไป
เสียความเป็นเราไป
เป็นอยู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่าเจ้าค่ะ
 
เป็นจนกระทั่งบอกได้เลยว่า
จะมาแนวเดิม ถึงตัวที่ร้องไห้เจ้าค่ะ
 
วันนี้ขี่จักรยานกลับบ้าน
มันรู้สึกถึงความหนัก
ปวด เมื่อย เป็นแห่งๆ
แต่เหมือนไม่มีร่างกายเจ้าค่ะ
 
เห็นแต่ก้อนความหนักๆ หน่วงๆ เมื่อยๆ
เหมือนสัญญาที่มันจำไว้ว่า
ร่างกายเรามันไม่มี
มันจึงไม่ไปรวมกับเวทนาทางกายเจ้าค่ะ
ความปรุงแต่งจึงไม่เกิด
ทุกข์เลยเกิดขึ้นไม่ได้
เพราะมีแต่ความรู้สึกล้วนๆ
 
ขอความเมตตาช่วยแนะนำ
สั่งสอนลูกด้วย เจ้าค่ะ
 
วิสัชชนา;
 
เคยบอกมาก่อนแล้วว่า
การร้องให้เกิดจาก
การได้อารมณ์ปีติระดับหนึ่ง
 
มันจะเป็นสำหรับ
คนที่เคยทำสมถะมานาน
เรียกว่า ภวาสวะ
 
ถึงเวลามันเกิด ก็ปล่อยให้มันเกิด
เรามีหน้าที่ตามรู้เฉยๆ
ไม่ต้องแช่กับมัน
 
ไม่ยินดีหรือปฏิเสธ
และไม่ให้คุณค่าความหมายกับมัน
 
เมื่อภวาสวะหมดไป
อารมณ์ก็หมดไปด้วยในวันใดวันหนึ่ง
อย่าวิตกกับมันเกินไป
 

ศรัทธาไม่เต็มร้อย ก็ต้องถอยในที่สุด

ปุจฉา; กราบเรียนนมัสการเจ้าค่ะ ปัจจุบันมีการเผยแพร่ ธรรมะในรูปแบบต่างๆ ซึ่งแปรเปลี่ยนไปจากที่ครูบาอาจารย์สอน หากเป็นเช่นนี้จะส่งผล อย่างไรเจ้าคะ?

วิสัชชนา; ในการเจริญสติ สมาธิ ปัญญา “ศรัทธาต้องเต็มร้อย จึงเกิดผลที่ถูกต้อง” บางคนปฏิบัติธรรมมานาน 20-30ปี แต่มีความขัดแย้งแตกแยกจากรูปแบบ ที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนและชี้แนะ ทั้งๆ ที่เราได้ประโยชน์และอานิสงส์จากรูปแบบนี้ เพราะเขาเห็นรูปแบบอย่างอื่น ที่มีสีสัน จึงไปหลงว่าดีกว่า จึงมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป ซึ่งเป็นผลของการที่ไม่เคารพครูบาอาจารย์อย่างจริงใจ พร้อมที่จะเปลี่ยนใจไปทางอื่น จึงส่งผลออกมาเป็นความขัดแย้ง เป็นความไม่ลงตัว

ในการปฏิบัติธรรมไม่สามารถวัดผลความถูกต้องในระยะเวลาแค่หนึ่งปีหรือสองปี แต่ต้องวัดผลกันในระยะยาว 30-50ปี ซึ่งแน่นอนว่าการภาวนา 1-2 ปีและ 30-50ปีนั้นย่อมแสดงผลออกมาแตกต่าง กันเพราะมันเป็นการสั่งสมตามหลัก ธรรมชาติ หากเราภาวนาแบบผิดเพี้ยน เราจะก็สั่งสมสิ่งที่ผิดพลาดผิดเพี้ยนไป ทีละนิด ทีละนิด กว่าจะออกดอกออกผล ออกมาเป็นความผิดเพี้ยนหรือความถูก ต้อง มันต้องอาศัยเวลานาน เรียกว่าเป็นวิบาก
ดังนั้นความผิดพลาด ความบกพร่อง เล็กๆน้อยๆนี้เราไม่ควรประมาท เพราะมันสั่งสมทีละนิดทีละนิด จะทำให้เราแก้ไขยากหากเราไม่แก้ไขตั้งแต่ต้น ยิ่งถ้าพบว่ามันไปผิดเพี้ยน ในตอนปลายแล้วนี้มันแก้ไขไม่ได้เลย เพราะมันสั่งสมความผิดพลาดมานาน ผลมันจึงบิดเบี้ยวไปตามส่วนที่มันขาด สาเหตุเพราะไม่มีความศรัทธาเลื่อมใสเต็มร้อย หมายถึงมีความศรัทธา แต่ศรัทธาไม่เต็มร้อยเท่านั้นเอง
เรื่องนี้อาตมาได้คอยสังเกตศึกษามา ตลอดระยะการปฏิบัติ 20-30 ปี อาตมามีหน้าที่คอยเตือนบอกกล่าว ใครจะทำตาม หรือไม่ทำตามก็เป็นหน้าที่ของเขา อาตมาไปบังคับเขาไม่ได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสติปัญญาและความศรัทธาของเขาด้วย แต่อาตมาก็ต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัด เท่าที่ ทำได้ในการรักษาสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่ถูกต้องที่ครูบาอาจารย์หรือพระพุทธเจ้าท่านได้บัญญัติไว้แล้ว

เราทั้งหลายก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราเป็นต้นแบบเราก็ต้องทำให้มันถูกแบบ แม้ว่าเราจะมีความคิดเห็นแตกต่างไป ก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้รักษารูปแบบที่ถูกต้องเอาไว้ ถ้ารูปแบบนี้ไม่ถูกต้องเขาก็จะไม่ทำกันมาหลายสิบปี พวกเราเพิ่งมาพบกันทีหลัง เราก็อย่าเพิ่งทำอะไรผิดแปลกแตกต่างไป พยายามรักษารูปแบบให้เคร่งครัด

จิตคืออะไร?

ปุจฉา: ถ้ากายไม่มีจิตจะเคลื่อนไหวได้อย่างไร?
จิตทำให้กายเคลื่อนไหวได้
ปราศจาคจิตไม่มีการเคลื่อนไหว
แต่การเคลื่อนไหวไม่ใช่จิต
และจิตไม่ใช่การเคลื่อนไหว
จิตคืออะไรครับ?

วิสัชชนา: โยมจวบ เหมือนจะบอกว่า สายไฟ
เป็นอันเดียวกับกระแสไฟ
แต่ความจริงคือ ไฟฟ้า ไม่ใช่สายทองแดง
และสายลวดก็ไม่ใช่ไฟฟ้า
ฉันใดก็ฉันนั้น
กายเหมือนสายไฟ จิตเหมือนกระแสไฟ
เพราะอาศัยซึ่งกันและกัน จึงเรียกว่า สายไฟฟ้า
การรับรู้ก็เหมือนกระแสไฟ แสงสว่างจากหลอดไฟ จะต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่าง มาประกอบกัน
จึงเกิดขึ้นได้ ฉันใด กายและจิตนี้ก็เช่นกัน ต้องอาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน
เช่น ธาตุ 4 ขันธ์ 5 อายตนะ 12 เป็นต้น
ประกอบกันเข้าอย่างถูกต้อง ตามกฏของธรรมชาติ
จึงเกิดเป็นกาย เป็นจิตได้ จึงเรียกว่า อนัตตา
เพราะไม่มีตัวตนที่แท้จริง
แต่เป็นการประกอบกันขึ้นจากเหตุปัจจัยต่างๆ
จึงเป็นรูปเป็นนามขึ้นมาได้
หวังว่าคงเข้าใจนะ
ให้รู้ซื่อๆ รู้แล้วทิ้งทันที
อย่าเก็บมาปรุงแต่งวิพากย์วิจารณ์ให้เสียเวลา
ไร้สาระเปล่าๆ!!!

เดินแต่ละก้าวไม่เท่ากัน

หลวงพ่อ: ครูจิ ไหนเดินให้หลวงพ่อดูซิ
ก้าวขาขวากับก้าวขา ซ้าย ข้างไหนก้าวสั้น ข้างไหนก้าวยาว
ครูจิ: พอๆกันเจ้าค่ะ เพราะโยมจะปรับสมดุลตลอดเจ้าค่ะ
หลวงพ่อ: เดินให้ดูก่อน ตามธรรมชาตินะ
ครูจิ: (เดินหนึ่งรอบ)เท่ากันเจ้าค่ะ โยมตั้งใจปรับสมดุลตลอดเจ้าค่ะ
หลวงพ่อ:(ครูเอเดินตามมาถ่ายรูป)ครูเอ ล่ะไหนเดินดูซิ เวลาก้าวเดินขาข้างไหนก้าวสั้น ก้าวยาว
ครูเอ:(หัวเราะ แล้วก้าวเดิน)ข้างขวายาวกว่าข้างซ้ายนิดหนึ่งเจ้าค่ะ
หลวงพ่อ:เดินอย่างนี้นะ(เดินให้ดู)
เดินตามธรรมชาตินะ มันจะพอๆกันหรือใกล้เคียงกันใช่ไหม นี่แหละ การปฏิบัติธรรมนะ
ถ้าเข้าใจอย่างนี้นะมันจะง่ายๆ เข้าใจตลอดเลย
ครูจิ: ความสมดุลหรือ มัชฌิมาปฏิปทา ใช่ไหม่ เจ้าคะ
หลวงพ่อ: ใช่่
ธรรมชาติมันมีของมัน อยู่แล้ว แต่เรามัวเพลิน มัวเผลอ ประมาท ลืมใส่ใจ ตามรู้ ตามดูมันเท่า นั้นเอง
ความไม่สบายเท่ากันกับความสบาย ความไม่พอใจ เท่ากันกับความพอใจ ความหนักเท่ากันกับความเบา โอเคนะ ลองสังเกตดู ลองทำดูนะ
แล้วการปฏิบัติจะก้าว หน้า จะรู้จะเห็นอะไร ที่ละเอียดๆขึ้นไปอีกนะ
(แล้วท่านก็เอามือไขว้ หลัง เดินให้ดูอีก สองสาม รอบแล้วเดิน จากไป)

พระพุทธยานันทภิกขุ