เส้นทางพัฒนาอารมณ์แบบเคลื่อนไหวมือ

เส้นทางพัฒนาอารมณ์แบบเคลื่อนไหวมือ โดยพระพุทธยานันทภิกขุ

หลวงพ่อได้เห็นความตั้งใจในการพัฒนาตนเองอย่างกระตือรือร้น และต่อเนื่อง ก็น่าเป็นห่วงและอีกทางก็น่าอนุโมทนา เพราะมีเหตุผลที่น่าจะเป็นดังนี้
1. การเจริญสติแบบเก็บอารมณ์เข้ม เป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาสติระดับสูง จำเป็นต้องมีกัลยาณมิตรผู้ชำนาญและแม่นยำเรื่องการให้และการสอบอารมณ์ และเป็นบุคคลที่ผู้ปฏิบัติ ให้ความศรัทธาและไว้วางใจอย่างสนิทใจชนิดไม่เคลือบแคลงสงสัย
2. สถานที่เก็บอารมณ์เข้ม ต้องเอื้อต่อการได้อารมณ์ภาวนาอย่างยิ่งเรียกว่าอาวาสสัปปายะ เอื้อต่อการเกิดกายวิเวก จิตตวิเวก และอุปธิวิเวก( สงัดกาย สงัดจิต และสงัดกิเลสได้ง่ายกว่า )
3. ครูผู้ดูแลอารมณ์ ต้องสามารถรู้วาระตนเองและผู้ปฏิบัติเป็นอย่างดีว่า อะไรควรจะพูด อะไรไม่ควรพูด และควรจะให้อารมณ์และสอบอารมณ์ในเวลาใด

4. ผู้ที่สมควรเข้าเก็บอารมณ์เข้ม ควรมีความเข้าใจพื้นฐานดังต่อไปนี้

4.1 เข้าใจรูปนามเบื้องต้นเป็นอย่างดีแล้ว รูปนามเบื้องต้นคือ สามารถแยกความรู้สึกทางกาย และทางใจออกได้ชัดเจนว่า ส่วนไหนคือรูป ส่วนไหนคือนาม ส่วนไหนคือความคิด
4.2 สามารถแยกลักษณะและอาการของสติที่เป็นสัญชาตญาณ และสติที่เป็นปัญญาญาณได้ชัดเจน
4.3 สามารถเหนี่ยวเอาสติในรูปนามเป็นอารมณ์ได้สม่ำเสมอและต่อเนื่อง
4.4 สามารถรู้จักลักษณะของสติ สัมปชัญญะ สมาธิ และปัญญาว่า มีอาการ และทำหน้าที่แตกต่างกันอย่างไร?

5. ผู้เข้าเก็บอารมณ์ระดับกลาง หรือผู้เข้าใจรูปนามดีแล้ว ต้องการพัฒนาอารมณ์ขั้นต่อไป ควรที่จะเอาอะไรเป็นอารมณ์ มีคุณสมบัติตามข้อที่ 4 ครบถ้วนหรือไม่?

5.1 ผู้เก็บอารมณ์ระดับกลางควรมีสัมปชัญญะหรือเวทนาทั้งกายและจิตเป็นอารมณ์
5.2 สามารถย้อนกลับไปพิจารณาอารมณ์ตามข้อ 4 ให้ชัดเจน และเข้าใจได้ถึงความละเอียดและแตกต่างของความคิดและความรู้สึกตัวได้เพิ่มขึ้นกว่าเดิม
5.3 สามารถแยกแยะความคิดหรือนามรูปทั้งสามระดับได้ชัดเจนคือ ความคิดที่เป็นสติ ความคิดที่เป็นสังขารปรุงแต่ง และความคิดที่เป็นธัมมารมณ์ว่า มันเป็นเหตุให้เกิดกันและกันได้อย่างไร?
5.4 สามารถรู้เท่าทันความคิดปรุงแต่งแล้ว จะสามารถสลัดหรือลดละมันได้ทันทีหรือไม่ ต้องใช้เวลานานเท่าไร และทำได้ทุกครั้งที่ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นหรือไม่?
5.5 ผู้เข้าเก็บอารมณ์ระดับนี้ ต้องรู้จักลักษณะการเกิดของนิวรณ์ห้าเป็นอย่างดีว่า แต่ละตัวมีเหตุเกิดจากอะไร และควรจะแก้และกันได้อย่างไร

6. การเก็บอารมณ์ของนักปฏิบัติระดับสูงหรือ advance ควรจะต้องรู้อะไรบ้าง

การเก็บอารมณ์ของผู้ปฏิบัติในระดับนี้ จะต้องมีเงื่อนไขดังนี้
6.1 ไม่ต้องมีพี่เลี้ยงหรือครูมาดูแลก็ได้ สามารถเก็บอารมณ์ด้วยตนเอง เมื่อไรและที่ใดก็ได้ ไม่สงสัยเรื่องการเกิดนิวรณ์ แม้จะมีนิวรณ์อยู่ แต่จิตไม่ขุ่นมัวกับการเกิดเรื่องนิวรณ์ต่อไป
6.2 เข้าใจการใช้กฏของไตรลักษณ์ และสามารถเปลี่ยนไตรลักษณ์ให้เป็นไตรสิกขาได้ตามต้องการ
6.3 สามารถเข้าใจใช้สมถะและวิปัสสนาให้เป็นเครื่องมือพัฒนาอารมณ์ได้อย่างต่อเนื่อง และเข้าใจด้วยว่า สมถะแบบใดที่เอื้อต่อวิปัสสนา สมถะแบบไหนเป็นอุปสรรคต่อวิปัสสนา
6.4 สามารถประยุกต์หรือน้อมเอารูปธรรมภายนอกมาอบรมนามธรรมภายในได้เสมอ และสามารถนำศีลเข้ามาอบรมกายได้ เอาปัญญาเข้ามาอบรมจิตได้อย่างสม่ำเสมอ
6.5 รู้จักใช้อารมณ์สมมติ และ อารมณ์ปรมัตถ์ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นอย่างสอดคล้องและกลมกลืน ไม่มีความขัดแย้งกับใคร สามารถประยุกต์กุศลและอกุศล เข้ามาขัดเกลาจิตตนเองได้เสมอ จนสามารถละสักกายะทิฐิ วิจิกิจฉา และศีลัพพตปรามาสได้ชิ้นเชิง
นี่คือจบอารมณ์ปรมัตถ์
ส่วนการพัฒนาอารมณ์ขั้นต่อไป จะทำอย่างไร ไม่จำเป็นต้องบอกกันแล้วเพราะผู้ปฏิบัติจะรู้เองว่า จะพัฒนาตนเองอย่างไรต่อไป เพราะถ้าทำมาถึงขั้นนี้อย่างถูกต้องแล้ว ถือเข้าสู่เส้นทางอริยมรรคอย่างถูกต้องแล้ว จะไม่หลงทางอีกต่อไป จนกว่าจะถึงที่สุด เมื่อถึงตอนนั้นแล้ว เราจะรู้ได้ด้วยตัวของเราเองว่า ควรจะเดินอีกนานเท่าไร และควรจะรักษาตัวเองอย่างไรให้ปลอดภัยและสงบสุขที่สุด
ด้วยปราถนาดีเสมอ
หลวงพ่อ