รูปโรค นามโรค

เราส่วนใหญ่ มักดิ้นรนแสวงหาการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดวิ่งนิ่งเฉยได้ เพราะเข้าใจว่า การวิ่งแบบนักกีฬาจะพาเข้าสู่เส้นชัยได้ นั้นคือแนวคิดหลักของคนที่ยังอยู่ในวิสัยของโลกียชนทั่วไป แต่ยังมีคนอีกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเคยดำเนินชีวิตแบบคนกลุ่มแรกมาแล้ว เกิดจิตสำนึกจากเดิมว่า การวิ่งวุ่นแสวงหาตามโลกแห่งวัตถุกาม และกิเลสกามนั้น ก่อให้เกิดความเร่าร้อน เหน็ดเหนื่อย กดดัน หนักหน่วงถ่วงทับต่อชีวิตจิตใจมากขึ้นเร่ือยๆ ในที่เขาเหล่านั้นเริ่มทนไม่ไหว เพราะเห็นความไร้แก่นสาร และเป้าหมายชีวิตที่ว่างเปล่า จึงเริ่มมองหาทิศทางใหม่ให้แก่ชีวิต เขาเหล่านั้นเริ่มมารวมตัวกันในเส้นทางธรรม อันเป็นทางแห่งโลกุตตระ เป็นเส้นทางที่ ทุกคนเห็นด้วยกันว่า เดินแล้ว รูสึกปลอดภัย ปลอดโปร่ง ผ่อนคลาย ไร้การแข่งขันต่อสู้กับคนภายนอก เพียงหันกลับมาสู้กับความไม่รู้ของตนเอง และรู้สึกถึงความสงบสุข แช่มชื่นขึ้นบ้าง เมื่อได้พบกับจิตที่รู้จักหยุดนิ่งในบางครั้งบางคราว เริ่มได้รู้เห็นการทำงานของจิต เริ่มได้เห็นพลังแห่งความตื่นรู้ ที่สามารถสัมผัสมันได้ในบางคราว เริ่มรู้วิธีฝึกฝนใจตนเองให้อ่อนยอม และเยือกเย็นได้อย่างเต็มใจในบางครั้ง ซึ่งเราไม่เคยทำมาก่อน เพียงแค่นี้ เราก็เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์บ้างแล้ว และมีแรงใจที่จะมุ่งหน้าเดินต่อไปอย่างไม่ย่อท้อ เพราะอย่างน้อย ก็มีเพื่อนร่วมทาง คอยให้กำลังใจแก่กันและกัน และหวังว่าสักวันหนึ่ง เราเดินผ่านทะลุใต้ขุนเขาแห่งอวิชชา โดยผ่านทะลุออกไปปลายอุโมงค์อีกด้านหนึ่งจนได้

ต่อไปมาดูว่า รูปโรคนามโรค ในวิธีการแบบเคลื่อนไหวนี้ ควรเข้าใจตามภาษานิยมว่าอย่างไร? เพราะเรื่องรูปโรคนามโรคในภาษาหลวงพ่อเทียน เป็นภาษาที่สั้นกระทักรัดชัดเจน แต่สำหรับคนยุคใหม่ รุ่นปัจจุบันอาจจะไม่คุ้นเคยกับสำนวนภาษาของท่านอาจจะไม่เข้าใจ จึงขอขยายความให้เห็นรายละเอียดที่มากขึ้น แต่ไม่ได้ขัดแย้ง หรือดัดแปลงจากความหมายเดิมมากนัก

รูปนามโรคโรค

ที่สัมผัสได้ง่ายๆเป็นอย่างไร?

รูปโรคนามโรค ตามปกติจะมาคู่กับรูปทุกข์ นามทุกข์เสมอ ตามภาษาปริยัติ เรียกว่าทุกขเวทนา ซึ่งมี ๓ ลักษณะคือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และ อทุกขมสุขเวทนา ถ้าเมื่อใด เรารู้สึกว่าไม่สบายกาย จะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม เรียกว่า “ทุกขเวทนา หรืออาพาธ” ซึ่งเกิดจากสมุฏฐานต่างๆ ในที่นี้จะนำมากล่าวสัก ๒ อย่างโดยย่อๆคือ

๑. รูปโรค นามโรค ที่เกิดโดยสภาวะ ซึ่งเกิดจากกฎของไตรลักษณ์ ที่เกิดมาพร้อมกับกาย กับใจโดยตรง เช่นเรานั่งในท่าเดียวนานๆ จะรู้สึกไม่สบายในส่วนต่างๆของร่างกาย อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทำงานของกฏอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งมันต้องทำงานตามหน้าที่ของมันตลอดเวลา คือการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงของธาตุสี่คือ ดิน น้ำ ลม ไฟการ เช่นการไหลเวียนของเลือดลมเป็นต้น การทำงานของอนิจจัง ก็นำให้เกิดซึ่งทุกขัง คือความรู้สึกไม่สบายกาย ไม่สบายใจ แต่ทุกข์เกิดขึ้นแล้ว มันก็ตั้งอยู่ไม่ได้ มันต้องดับไป เป็นอนัตตา คือความรู้สึกไม่สบายกายใจนั้น ก็ไม่อาจทนอยู่นานได้ ทุกข์เก่าดับไป ทุกข์ใหม่ก็เกิดมาแทนที่ใหม่ มันก็เป็นของมันอยู่อย่างนี้ จนกว่าจะจากมันไป

ดังนั้น การทำงานของไตรลักษณ์ จึงเป็นเหตุให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บชนิดต่างๆ เราก็ทนได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ต้องหาทางบำบัด เยียวยา รักษาไปเรื่อยๆ รูปโรคชนิดนี้ จึงไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ หมอก็รักษาไม่ได้ เพราะหมอเองก็เป็นโรคนี้ด้วยเหมือนกัน หมอนั่งนานๆ ก็ปวดเมื่อย เหมือนคนทั่วไปสำหรับคนไม่มีการฝึกฝนสติสัมปชัญญะตามหลักสติปัฏฐานสี่ แม้สรรพสัตว์อื่นๆ ที่ไม่ใช่มนุษย์ มันก็สามารถบำบัดทุกข์ชนิดนี้ได้ โดยเปลี่ยนแปลงอิริยาบถท่าทาง ท่าที ด้วยการเคลื่อนไหวไปเรื่อยๆตามอำนาจของความเคยชินหรือสัญชาตญาณ แต่ก็บำบัดทุกข์ได้ทางกายทางเดียว แต่สำหรับคนที่ ได้ศึกษาและฝึกฝนการใช้สติปัฏฐานสี่อย่างถูกต้อง ก็สามารถเข้าไปบำบัดทุกขเวทนาทางกายอย่างมีสติสัมปชัญญะทุกครั้ง และสามารถเปลี่ยนแปลงทุกขเทนา ให้เป็นตัวปัญญาขึ้นมาแทนได้ ทุกครั้งที่มีความตั้งใจก่อนการเปลี่ยนอิริยาบถ เขาผู้นั้น ก็สามารถบำบัดทุกข์ได้ถึงสองทางเลยทีเดียว คือบำบัดทุกข์ได้ทั้งกายและใจด้วย

ส่วนนามโรค เป็นโรค ที่เกิดโดยสภาวะ ที่รับมาจากการบำบัดรูปทุกข์โดยความไม่มีสติสัมปชัญญะ คือบำบัดทุกข์ตามความเคยชิน จิตก็สั่งสมความไม่รู้สึกตัว หรืออวิชชามากขึ้นเรื่อยๆ จนสัญชาตญาณแบบนี้มีกำลังแรงขึ้น และเร็วขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เราไม่สามารถจะรู้เท่าทันอำนาจความเคยชินนี้ได้ ในที่สุด เราก็ตกเป็นทาสของความเคยชิน และยอมแพ้อวิชชา ตัณหาอย่างง่ายดาย แต่มีบางคน ที่ไม่ยอมแพ้ ไม่ยอมจำนน ให้ทุกข์เข้าครอบงำโดยง่ายฝ่ายเดียว ก็หาทางแก้ไข จนได้มาพบกับหลักคำสอนเรื่องสติปัฏฐานสี่ของพระพุทธองค์ และลงมือปฏิบัติตามหลักของอินทรีย์พละทั้งห้าประการตามที่ได้กล่าวมาในบทก่อนๆคำสอนของพระพุทธองค์ ได้ชี้ให้เรา รู้จักบำบัดรูปโรค นามโรคโดยใช้หลักของสติสมาธิปัญญาโดยตรง ในการเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนอิริยาบถน้อยใหญ่ทุกครั้ง ที่มีการเคลื่อนไหว และทำไปเรื่อยๆ อย่างรู้สึกตัว แต่ทำแบบจริงจัง ตั้งใจ ต่อเนื่อง และถูกต้องเป็นหลักสำคัญ ถ้าไม่เป็นไปกติกาอันนี้ ก็ยากที่รู้เท่าทันอำนาจสัญชาตญาณ

Link : https://www.facebook.com/groups/khonphian/permalink/662795180438417/