รู้รูปนามนั้นสำคัญไฉน

ช่วงนี้ เรากำลังนำเสนอเรื่องรูปนามในหลายๆมิติ ถ้าเราเข้าใจพื้นฐานของตัวตนของเราเองอย่างถ่องแท้ การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสัจธรรมขั้นสูง จะไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ก็ลองอดทนศึกษากันไปเรื่อยๆ อาจจะเข้าใจอะไรได้ง่ายๆทันทีก็ได้ การเสนอแต่ละตอน อาจจะยาวหน่อยก็ทนอ่านกันให้จบก็แล้วกัน

รูปธรรม นามธรรม

หรือรูปทำ นามทำกันแน่ เมื่อสมัยหลวงพ่อเทียน ยังมีชีวิตอยู่ เวลาแสดงธรรม ส่วนมากท่านจะเน้นการเล่าถึงประสบกาณ์ การรู้ธรรมของท่านบ่อยมาก ไม่ว่าจะสนใจหรือไม่ก็ตาม ท่านบอกเสมอว่า ให้พูดถึงความจริงที่มีอยู่ในตนเองเท่านั้น แม้จะดูซ้ำซากก็ตาม เพราะมันความจริง ดีกว่าพูดกว่าความไม่จริงที่ไม่มีในตนเอง

เช่นเรื่องของรูปนาม รูปธรรม นามธรรม รูปโรค นามโรคเป็นต้น เรื่องของรูปนาม นำมากล่าวกันบ่อยแล้ว ในที่นี้จะนำเอาเรื่องรูปธรรมนามธรรมมากล่าวตามภาษาของท่านบ้าง หลวงพ่อเน้นอย่างจงใจว่า ความจริงในภาคปฏิบัติต้องใช้คำว่า รูปทำ นามทำสำหรับรูปธรรม นามธรรม ท่านบอกว่า เป็นภาษาที่ถูต้องตามหลักปริยัติ มันก็ไม่ผิด แต่คำว่ารูปทำ นามทำ หมายถึง อาการของรูปที่กำลังทำงานอยู่จริงๆ หน้าที่ของรูปตลอดเวลา มันทำอะไรบ้าง เช่นขณะที่เรานั่งอยู่ รูปมันก็ทำงานตลอดเวลา คือทำหน้าที่ของไตรลักษณ์ มันเปลี่ยนแปลงให้เรารู้เห็นตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงของมัน ทำให้เกิดความรู้สึกไม่สบาย หรือเป็นทุกข์ทางกาย เกิดดับสลับสับเปลี่ยนกันตลอดเวลา ผลของมันออกมา ทำให้เราคอยแก้ไขปรับเปลี่ยนเอาความไม่สบายนั้นๆออกไปเรื่อยๆ ที่เราเรียกว่า บำบัดทุกข์ และการบำบัดทุกข์ ทำให้เราต้องเคลื่อนไหวตัวเองทุกๆระยะ ไม่เคยหยุดหย่อน รูปทำหน้าที่หายใจของมันเอง เราจะไปห้ามมันหยุดก็ไม่ได้ บอกให้มันมากน้อยก็ไม่ได้ มันทำของมัน อยู่อย่างนั้น ลมหายใจและการหมุนเวียนของเลือดในร่างกาย ทำให้รูปทำงานเรียกรูปทำ รูปทำงานแล้วทำให้ตาเราเห็นได้ สมมติเลือดเราหยุด เราไม่หายใจ ตาเราก็ไม่เห็น หูเราก็ไม่ได้ยิน จมูกก็ไม่ทำหน้าที่ ลิ้นก็ไม่ทำหน้าที่ กายก็ไม่ทำหน้าที่ รูปมันทำงาน ทำให้ตาเห็น หูได้ยิน เขาเรียกรูปทำ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง รูปก็ทำของมัน เป็นรูปทำ แต่มันยังไม่เป็นรูปธรรม และไม่เคยเบื่อหน่าย จนการเคลื่อนไหวกาย หรือรูปนาม เกิดเป็นความเคยชิน เป็นอัตโนมัติของทุกสัตว์ทุกตัวตน

ดังนั้น เราไม่ต้องสงสัยเลยว่า การเฝ้าดูกายเคลื่อนไหว เฝ้าดูใจนึกคิดตามสูตรหลวงพ่อเทียนนั้น มันก็คือการตามดูเหตุและผลของทุกข์ ทั้งกายและใจ ที่เป็นกระแสขับเคลื่อน ส่งทอดมาจาก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้นเอง แล้วมันก็ไปตรงกับหลักของอริยสัจจ์สี่อย่างสนิทและกลมกลืน ทีนี้มาดู เรื่องของนามธรรมกันบ้าง ท่านบอกว่า นามคือจิตวิญญาณ หรือตัวรู้สึก มันก็ทำงานตลอดเวลาเช่นกัน นามทำก็เหมือนกัน  นามทำงานอะไร ตาเราเห็นเป็นหน้าที่ของรูปด้วย และของนามด้วย ตาทำหน้าที่เห็น ใจทำหน้าที่รู้จักว่าเป็นอะไร ถ้าเราลืมตามา จะไม่ให้ใจมันรู้ก็ไม่ได้ นามมันทำงานทางตา เวลาได้ยินเสียงจะมาบอกว่าอย่าได้ยินว่าเป็นเสียงอะไรก็ไม่ได้ เรียกว่านามมันทำงาน เวลาอากาศเย็น หนาว ร้อน จะไปห้ามร่างกายไม่ให้หนาว ไม่ให้ร้อนก็ไม่ได้ เพราะใจมันไปรู้ว่าเป็นร้อนเป็นหนาว เรียกนามทำ แต่ส่วนใหญ่เรามองไม่ค่อยออก ไม่ค่อยได้เห็นชัดเจนว่าจิตมันทำงานอยู่ หลวงพ่อเทียนท่านแยกว่าตอนแรกเป็นรูปทำงานก่อน ต่อมารูปจะเป็นธรรมะก็ต่อเมื่อมีสติสมาธิ ปัญญา “รูปทำ” เป็นหน้าที่ของรูป ตาหูจมูกลิ้นกายรูปทำงานร่วมกับนามอย่างไร  ใจทำหน้าที่ของมัน เราจะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม มันทำงานของมันอย่างนั้น เราจะรู้หรือไม่รู้มันก็ทำงานของมัน รับรู้ตาหูจมูกลิ้นกาย เราเรียกว่าวิญญาณรับรู้ ไม่ว่าคนหรือสัตว์มีรูปทำ นามทำเหมือนกันหมด ส่วนรูปทำ มันจะเปลี่ยนเป็นธรรมะเมื่อไร นามธรรมมันจะเปลี่ยนเป็นธรรมะเมื่อไร ตรงนี้สำคัญ มันจะเป็นธรรมะก็ต่อเมื่อ รูปทำงาน แล้วเรามีใจเข้าไปรู้ตาม เช่นว่าเราหายใจ เมื่อตัวรู้ เข้าไปตามดูลมหายใจ ขณะหายใจเข้า สติก็ตามรู้ หายใจออกเป็นต้น สติก็ตามไปรู้ทุกส่วนของกายที่เคลื่อนไหวด้วยอำนาจของทุกข์ ที่เกิดจากกฏของไตรลักษณ์ ตรงนี้ ก็เกิดเป็นรูปธรรม นามธรรมขึ้นแล้ว ตัวสติเข้าไปรับรู้การทำงานของกาย เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นมา แต่ไหนแต่ไรเราหายใจตั้งแต่เล็กจนโต มันก็เป็นเพียงรูปทำ แต่ขาดสติเข้าไปตามรู้ มันจึงไม่เป็นรูปธรรม แต่เมื่อเราได้ฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าถึงเรื่องเจริญสติปัฏฐานสี่ แบบต่อเนื่อง โดยเอาสติ หรือตัวรู้ไปตามดูลมหายใจเข้า หายใจออก นามธรรมมันก็เกิด

ดังนั้น ตามหลักปฏิบัติและเข้าใจแบบนี้ กายมันจะเป็นธรรมะเมื่อไรก็พิสูจน์ได้ แต่ถ้าเราจะลุก นั่ง ย่าง เดินเวลาใด เราก็ลุกไปเลย อันนี้เรียกว่า มีแต่รูปทำ แต่พอเรามีสติเข้าไปตามรู้ ลุกขึ้นก็รู้ เดินก็รู้ การทำงานของรูป กลายเป็นรูป นามธรรมทันที 

ดังนั้น คำว่า“รูปทำ” จึงเป็นเรื่องของรูปทำงาน ด้วยการบำบัดทุกข์ตามธรรมชาติ ตามความเคยชินหรือทำตามสัญชาตญาณ แต่ถ้าเป็น “รูปธรรม” มันเป็นการทำงานของสติสัมปชัญญะ ตัวรู้สึกที่ตามรู้เห็นบ่อยๆ จึงถูกเปลี่ยน “ปัญญาญาณ”ขึ้นมา แทนที่จะเป็นเพียงสัญชาตญาณ ส่วน “ปัญญาญาณ” จะเกิดมากน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบของอินทรีย์ห้า และพละห้าอีกทีหนึ่ง

องค์ประกอบที่เปลี่ยนสัญตญาณเป็นปัญญาญาณ

1. ศรัทธา เป็นองค์ประกอบที่จะศึกษาเรียนรู้ให้ดีมากๆ เพราะถ้าเราไม่มีศรัทธา เราก็ไม่อยากไปรู้เรื่องของมัน และต้องทำอย่างต่อเนื่อง 

2. วิริยะ ต้องมีความเพียร เข้าไปตามรู้การทำงานของกายของใจอย่างต่อเนื่องและจริงใจ

3.สติ คือมีความตระหนักรู้ในการเห็นแบบมีวิชชา คือเห็นสักว่าเห็น เห็นว่ามันเป็นรูป เห็นว่าสีแสงทำให้เห็นว่าเป็นรูป ไม่ได้แยกแยะว่าหญิงหรือชาย ดีหรือชั่ว สีนั้นสีนี้ เห็นซื่อๆ ยังไม่มีสมมติ ตรงนี้คือการเห็นที่เป็นธรรมะขึ้นมาแบบใช้สัมปชัญญะในสติปัฏฐาน

4.สมาธิ คือตั้งใจอย่างมั่นคง ในการที่จะตามรู้ตามเฝ้าดูอย่างต่อเนื่อง ไม่รู้สึกเบื่อหน่าย หรือไม่รู้สึกว่าเป็นภาระของจิต แต่ทำเป็นหน้าที่การงานของคนที่ไม่ต้องการมีทุกข์อย่างจริงใจ แต่ส่วนมาก เราก็มักคิดไปตามสิ่งที่เราเคยเห็น อันนี้เรียกว่านามมันทำงานโดยอัตโนมัติของมัน เราไม่ได้เข้าไปรับรู้การเห็นนั้น มันจึงเป็นโมหะ คือเห็นแบบไม่รู้ เห็นเป็นคน เป็นผู้หญิงผู้ชาย คนดีคนชั่ว คนถูกคนผิด ไม่ได้สักแต่ว่าเห็น นี้เรียกว่าจิตไม่มีสมาธิ ชอบไหลไปตามสิ่งที่มากระทบต หู จมูก ลิ้น กาย ใจได้ง่าย เพราะสมาธิไม่มั่นคงนั้นเอง ก็ต้องทนทุกข์อย่างช่วยไม่ได้

5. ปัญญา คือการตามดู ตามรู้จนเห็นกายเห็นใจของตนเองว่า มีความสัมพันธ์กันอย่างไร เช่นเห็นว่า ทุกข์เกิดในกาย มันเกิดอย่างไร? ทุกข์กายมันตั้งอยู่อย่างไร และมันหายไปอย่างไร หรือเห็นชัดว่า ทุกข์ใจมันเกิดอย่างไร ตั้งอยู่อย่างไร และดับไปอย่างไร เห็นอย่างชัดๆ และแจ่มแจ้งแก่ใจมากขึ้นเรื่อยๆ เรียกว่า เกิดปัญญา แต่การเห็นมีสองแบบ คือเห็นมีสองแบบคือเห็นแบบไม่รู้ เห็นแบบอวิชชา และเห็นแบบรู้ คือเห็นแบบวิชชา คือ 5.1 เห็นแบบไม่รู้ เรียกว่าอวิชชาหรือโมหะ โดยทั่วไป สัตว์ทุกตัวทุกตนจะต้องเห็นแบบอวิชชา หรือโมหะมาก่อนทั้งนั้น เพราะว่าตัวรู้คือสติปัญญาแบบนามธรรมยังไม่เกิด ต่อเมื่อเราได้สดับคำสอนของพระพุทธเจ้าว่าเห็นอย่างนี้ทำให้เกิดทุกข์ เกิดกิเลส เป็นการเห็นแบบที่ทำให้เกิดทุกข์เรียกว่า “สมมติธรรม” 5.2 เห็นแบบรู้ หรือวิชชา คือปัญญาดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เช่นเรื่องของการเห็นธรรมของท่านอัญญาโกณทัญญะ เมื่อได้ฟังธัมมจักกัปปวัตนสูตรจากพระพุทธองค์จบลง ก็เกิดความเข้าใจขึ้นมาทันทีว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว มันต้องดับแน่นอน ดังนั้นไม่ต้องส่งใจไปคิดตามสิ่งที่เกิดขึ้น และไม่ต้องส่งใจไปคิดตามสิ่งที่ดับไปแล้ว เพียงแต่มีสติเฝ้าดู การเกิดขึ้นและการดับไปของสิ่งๆนั้น ก็พอแล้ว คือเฝ้าดูให้เท่าทัน การเกิดและการดับไปของสรรพสิ่ง จนชัดเจนแจ่มแจ้งแก่ใจตลอดเวลา นี้ถือว่า เป็นการเห็นธรรม หรือปรมัตถธรรม นั่นเอง

Link : https://www.facebook.com/groups/khonphian/permalink/662187113832557/