นามรูปเหมือนฟิล์มภาพยนตร์

รู้ไม่ทันรูปนาม กลายเป็นนามรูป

ความรู้สึกตัวที่เราสัมผัสได้
ความสบาย ไม่สบาย
เมื่อเรารู้สึกแล้ว
มันจะไม่เปลี่ยนเป็นตัวนามรูป

ถ้าเรารู้ทันรูปนาม
ก็จะไม่เปลี่ยนเป็นนามรูป
แต่ถ้าเราจับความรู้สึกตัวไม่ทัน
ตัวรูปนามก็จะเปลี่ยนแปลง
เป็นนามรูป

น้ำก็จะไปปนกับน้ำมัน
เพราะมันซึมหากัน
กายก็ไปปนกับใจ
ใจก็ไปปนกับกาย
การที่ปนกันเรียกว่านามรูป

เบื้องต้นให้รู้รูปนาม นามรูปให้ดี
รู้จักกาย รู้จักความคิด
ดูกายเห็นจิต ดูคิดเห็นธรรม

ถ้าเราไม่ดูทั้ง ๒ อย่างให้ชัด
กายกับใจก็รั่วเข้าหากัน
กลายเป็นความรู้ที่เป็นความคิด

นามรูปเหมือนฟิล์มภาพยนตร์

นามรูป คือการสร้างความคิดขึ้นมา
เหมือนฟิล์มภาพยนตร์
ภาพนิ่ง เรียกว่านามรูป
เมื่อภาพเริ่มเคลื่อน
ก็กลายเป็นสังขาร วิญญาณ

ความรู้สึกกาย คือความรู้สึก
เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
ความรู้สึกใจ คือความรู้สึก
สบาย ซื่อๆ เฉยๆ
เป็นความรู้สึกที่ยังไม่มีอะไร

เหมือนจอหนังก็คือจอหนัง
แสงก็คือแสง
ยังไม่มีภาพอะไร
เป็นแสงสว่างขาวๆ เฉยๆ

แต่พอเราเปิดเครื่องฉายภาพยนตร์
ก็เกิดภาพนิ่ง
โดยมีฟิล์มเป็นตัวบันทึก
ตัวอวิชชาตัณหาเริ่มปรากฏ

พอเราเผลอ ภาพนิ่งในฟิล์มก็ปรากฏ
เป็นอวิชชา เกิดนามรูป
พอภาพมันเคลื่อน
ก็กลายเป็นตัณหา

นามรูปนั้นก็ทำหน้าที่ไปเรื่อย
เป็นสังขาร วิญญาณ
อายตนะ ผัสสะ เวทนา…

ลืมกาย ได้นามรูป

ความรู้สึกที่เป็นเวทนาทางกาย
สบาย ไม่สบาย ยังไม่มีปัญหา
แต่ถ้าเราชอบ ไม่ชอบขึ้นมา
ก็เกิดปัญหา
นามรูปก็ปรากฏ

ให้รู้สึกถึงการเคลื่อนไหวของกาย
ระหว่างเคลื่อนไหว
คอยสังเกตความแปรปรวนภายในรูป
รู้สึก เย็น ร้อน อ่อน แข็ง เคร่ง ตึง
มากบ้างน้อยบ้าง
ออกมาเป็นทุกข์
ความไม่สบายทางกาย

หน้าที่ของเราคือดูแลเอาใจใส่
ปรับแก้ไปเรื่อยๆ
รักษาสภาพจิตให้รู้
มันก็จะทำหน้าที่รู้ร่วมกันหมด
เป็นสติสัมปชัญญะ

โดยมีความรู้สึกตัวทั่วพร้อ
เข้าไปแก้ไขอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
ในกาย
ที่ออกมาเป็นเวทนาต่างๆ
ปรับแก้ความไม่สบายออกไป

จิตก็นิ่ง สบาย เบา โปร่ง
ร่างกายก็รู้สึกไม่หนัก ไม่หนืด สบาย
แทนที่จะเป็นตัวนามรูป
ก็เปลี่ยนมาเป็นสติสัมชัญญะ

เพลิน เผลอ เจอนามรูป

ถ้าเรามีสติสัมปชัญญะ
นามรูปก็เกิดไม่ได้
ถ้าเราเผลอไปคิด
ก็เป็นนามรูป
สติสัมปชัญญะก็ขาด

ไม่ต้องไปเพลิน
ถ้าเพลินสบาย
ก็ไม่อยากเปลี่ยนอิริยาบถ
เป็นตัณหา
ถ้าเพลินไม่สบาย
ก็อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ
เป็นวิภวตัณหา

เผลอนิดเดียวก็กลายเป็น
ความพอใจไม่พอใจ
ก่อนที่จะเผลอ
จะเพลินเสียก่อน

เวทนานำพาสู่ปรมัตถ์

 

พระอาริยบุคคลขั้นต้น
ต้องเกิดเวทนาเสียก่อน
ปัญญาถึงจะมาทัน
ถ้าเลยขอบเขตนั้นไป
ก็เป็นตัณหาอุปาทาน
เพราะฉะนั้นจึงได้เน้นตัวเวทนา
 
เวทนาตัวนี้ที่จะไปสู่ตัวปรมัตถ์ได้
ก็คือแปลงเวทนาให้เป็นปัญญา
 
แต่ถ้าเราไม่ทันต่อเวทนา
เลยขอบเขตของเวทนาไป
เป็นตัณหาอุปาทาน
มันก่อให้เกิดความคิด เรียกว่าสังขาร
สังขารตัวนี้ก็สร้างเรื่อง
 
สมมติภาพสไลด์ที่เห็นนี้
เรียกว่านามรูป
เป็นภาพนิ่ง มันไม่เปลี่ยนแปลงเลย
แต่ถ้าเมื่อไหร่ไปกดปุ่มเพลย์
ภาพนี้เคลื่อน ตรงนั้นเป็นสังขาร
 
แต่ถ้าหากเป็นรูปนามล้วนๆ
ภาพนี้ก็ไม่มี นามรูปก็ไม่มี
ความรู้สึกตัวเป็นภาพจอล้วนๆ สีขาว
พอปรากฏภาพนิ่งขึ้นปั๊บ
อันนี้เป็นนามรูปแล้ว
พร้อมที่จะเคลื่อน
พอเคลื่อนก็กลายเป็นสังขาร
 
เรารู้จักว่ารูปนี้คืออะไร
เรื่องที่จะฉายเป็นเรื่องอะไร
เรารู้ เป็นวิญญาณ การรับรู้
 
ตัวภาพที่เป็นสไลด์
เป็นตัวนามรูป
ภาพนี้สวยจังเป็นเวทนา
อยากจะได้ภาพนี้
อยากจะเป็นอย่างภาพนี้บ้าง
เป็นตัณหาอุปาทานไปแล้ว
แล้วขวนขวายที่จะเอาภาพนี้มาให้ได้
ก็เป็นอุปาทาน
 
การขวนขวายจะได้ภาพนี้มา
จิตเราก็ต้องปรุง
เกิดกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมขึ้นมา
ก็เป็นชรามรณะโศกะปริเทวะไปเรื่อยๆ
 
รูปนามจะแปลงเป็นนามรูป
ก็อยู่ที่เวทนา
รูปนามจะแปลงเป็นสังขาร
ก็อยู่ที่เวทนา
รูปนามที่จะแปลงเป็นวิญญาณ
ก็อยู่ที่เวทนา

ปฏิจจสมุปบาทแบบย่อ

นามรูป เกิดขึ้นจากการกระทบ
ตาได้เห็นรูป สร้างภาพขึ้นในใจ
หูกระทบเสียง เกิดนึกขึ้นมาในใจ
จมูกกระทบกลิ่น ลิ้นกระทบรส
กายกระทบสัมผัส
จิตกระทบอารมณ์
เกิดสร้างภาพขึ้นมา
 
นามก็สร้างรูปขึ้นมา
เราเรียกว่า นามรูป
 
รูปทั้งสองฝ่าย
รูปภายใน รูปภายนอก
คืออายตนะภายในภายนอก
กระทบกัน ก็เกิดตัวรูป
คือเกิดภาพขึ้นมา
 
หากนามสร้างรูปขึ้นมาปั๊บ
ถ้าไม่มีตัวปรมัตถ์เข้าไปกั้น
ก็หมายความว่า
รูปก็ต้องสร้างตัวของมันไปเรื่อยๆ
 
จากรูปที่ปรากฏ
ก็จะแตกเป็นเรื่องเป็นราว
เรียกว่า สังขาร ปรุงแต่งไป
 
เกิดการรับรู้ เป็นวิญญาณ
รู้สึกพอใจ ไม่พอใจ
เกิดความอยาก ไม่อยากขึ้นมา
 
เข้มข้นถึงกับบังคับปากพูด
บังคับกายกระทำ
ก็เป็นกายกรรมขึ้นมา
 
เมื่อการกระทำครบสามอย่าง
ตอนแรกเกิดทางจิต
ต่อมาก็เกิดทางกาย ทางวาจา
ก็เกิดเป็นภพเป็นชาติขึ้นมา
 
และภพชาติอันนี้
ก็มาสร้างตัวแก่ และตายไป
ความคิดเก่าตายไป
ความคิดใหม่เกิดขึ้นมา
ก็เป็นโศกะปริเทวะไปตามลำดับ
 
แล้วมีการกระทบใหม่
ก็เริ่มต้นใหม่ อย่างนี้เรื่อยไป

 

พระพุทธยานันทภิกขุ