ลมหายใจของปรมัตถ์

ลมหายใจของใจ คือสติสัมปชัญญะ

สมมติเหมือนเสื้อผ้า
ใช้บางเวลาบางชุด
แต่ลมหายใจไม่ใช่เสื้อผ้า
ที่จะเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาได้

สมมติใช้บางคราว
เมื่อมีความจำเป็น
แต่ปรมัตถ์จำเป็นต้องใช้
ตลอดเวลา
เหมือนลมหายใจ

ในแง่ของรูปธรรม
ลมหายใจขาดไม่ได้

ในแง่ของนามธรรม
ลมหายใจของใจ
ก็คือสติสัมปชัญญะ

ขาดสติเพียงนิดเดียว
เราอาจจะฆ่ากันตาย
เรียกว่าอารมณ์ชั่ววูบ

สติสัมปชัญญะเป็นตัวพิจารณา
ก่อนตัดสินใจ

เราต้องฝึกให้มาก
เราไม่ได้มาที่นี่เพื่อฝึกสมาธิ
แต่มาฝึกสติสัมปชัญญะ

เมื่อสติสัมปชัญญะเราดี
เราจะจัดการปัญหาต่างๆ ได้
ความสุข ความสงบก็มีมาเอง

แต่ถ้าเรามุ่งหวังความสุขสงบ
แต่ไม่ได้ละต้นเหตุของปัญหา
มันจะสุขสงบยาวนานไม่ได้

สายไฟคือรูป กระแสไฟคือนาม

เรื่องของรูป คือโลกสมมติ
เป็นสิ่งหนึ่ง
เรื่องของนาม คือโลกปรมัตถ์
เป็นอีกสิ่งหนึ่ง
แต่ก็อาศัยซึ่งกันและกัน

เหมือนกับสายไฟและกระแสไฟ
ต่างก็อาศัยกันและกัน
เฉพาะสายไฟ เราสามารถสัมผัสได้
แต่เมื่อปล่อยกระแสไฟผ่านแล้ว
เราไม่สามารถสัมผัสได้

จึงอุปมาสายไฟ
เป็นเสมือนรูป ที่เรียกว่า “สมมติ
และตัวกระแสไฟที่ผ่านไปตามสายไฟ
เป็นเสมือนนาม ที่เรียกว่า “ปรมัตถ์
ต่างก็อาศัยซึ่งกันและกัน

ขั้นตอนการเห็นสมมติ

เมื่อเราพิจารณาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไปเรื่อยๆ
เราจะเห็นอาการของจิต มี 2 ลักษณะ คือ
ลักษณะที่มันเป็นทุกข์ หรือขาดสติ เรียกว่า สมมติ
ลักษณะที่ไม่เป็นทุกข์ หรือมีสติ เรียกว่า ปรมัตถ์
เราจะเห็นสภาวธรรม ทั้งสองนี้ชัดเจนได้อย่างไร

ในอารมณ์สมมติ มันแสดงตัวออกมาเป็นนามรูป
มันปรากฎออกมาเป็นรูปของความคิด
บางครั้งคิดดี บางครั้งคิดไม่ดี
ปรุงแต่งทางดีก็เป็นกุศล เป็นบุญ
ปรุงแต่งในทางที่ไม่ดีก็เป็นอกุศล เป็นบาป
ปรุงแต่งเป็นพอใจ ไม่พอใจ สุข ทุกข์
เหล่านี้เป็นการทำงานของไตรลักษณ์

เมื่อเห็นความคิดปรุงแต่ง ก็เห็นสมมติ
เมื่อเห็นสมมติ สมมติก็ดับ ปรมัตถ์ก็ปรากฏทันที
การเห็นความคิด คือการเห็นที่เกิดของทุกข์
เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ปรากฏ นั่นเอง
และเมื่อเห็นทุกข์ ทุกข์ก็ดับ
มันก็เล่นงานเราไม่ได้
เพราะเราเห็นปรมัตถสัจจะ

นี่คือที่มาของการเห็นสมมติ
ซึ่งแบ่งเป็น 2 กระแส
กระแสสมมติ คือ กระแสแห่งการเกิดทุกข์
และกระแสปรมัตถ์ คือ กระแสแห่งการดับทุกข์

ชื่อคือสมมติ อาการคือปรมัตถ์

การรู้รูปนาม คือ
ผู้ปฏิบัติเริ่มรู้เห็น
เหตุเกิดของสมมติ
หรือเหตุเกิดทุกข์
และรู้ที่มาของปรมัตถ์
หรือรู้วิธีดับทุกข์

สมมติ แปลว่า
“ข้อตกลงร่วมกัน หรือมีมติร่วมกัน”

เช่นเราตกลงกันว่า
ให้เรียกอวัยวะ
ส่วนที่ยื่นออกมาจากลำตัว
ทั้งสองข้างว่า “แขน”

และเรียกอวัยวะ
ส่วนสุดปลายแขนว่า “มือ” เป็นต้น

สมมติทางภาษาภาษาอังกฤษ
เรียกแขนว่า “อาร์ม”
จะไปเรียกอย่างอื่นไม่ได้
มันคือข้อตกลงตามสมมติในสังคมมนุษย์
ให้ใช้เรียกเฉพาะชุมชนนั้นๆ ชาตินั้นๆ

หรือความรู้สึกภายในกาย
เช่น เย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ภายในกายของแต่ละคน
ให้เรียกว่า “เวทนาหรือความรู้สึก”

วัตถุที่เป็นก้อนที่มีรสเค็ม
ถูกสมมติเรียกว่า “เกลือ”
รสของเกลือทุกชาติ
เค็มเหมือนกันหมด

อาการที่รู้สึกเค็ม
เรียกว่า “ปรมัตถ์” หรือนาม
แต่ชื่อของมันแต่ละชาติ
เรียกต่างๆกันไป เรียกว่า “สมมติ”

สมมติจึงเป็นเสมือนเปลือก
ส่วนเนื้อคือความรู้สึกล้วนๆ
เป็น “ปรมัตถ์”

ปรมัตถ์อยู่เหนืออนัตตา

การเกิดทุกข์ ที่ว่ากามตัณหา
ภวตัณหา วิภวตัณหา เป็นสมุทัย
เราจะทำให้สมุทัย เป็นนิโรธ ได้อย่างไร

เมื่อมันเกิดแล้วมันก็ต้องดับ
ถ้ามันเกิดเองดับเอง จะเป็นในส่วนของสมมุติ
แต่ในส่วนที่เป็นมรรค ต้องทำให้เกิดได้ดับได้

ส่วนที่เป็นรูป มันเป็นสมมุติ
มันเกิดของมัน มันก็ดับของมันเอง
มันปวดเดี๋ยวมันก็หายปวดของมันเอง
แต่บางทีกว่ามันจะหายก็นานหน่อย

ทีนี้เราจะทำอย่างไรให้มันหายไวกว่านั้น
นี่ต้องใช้ปัญญาที่เป็นโลกุตตระ
คือเข้าไปแก้ไขการเกิด การดับได้
อยากให้มันเกิดก็ได้ อยากให้มันดับก็ได้

ทุกข์ที่เป็นสมมุติ
มันเกิดมันดับตามเหตุปัจจัยของมัน
เราไปบังคับบัญชาไม่ได้ มันเป็นอนัตตา
แต่ตัวปรมัตถ์มันเหนืออนัตตา
เราเข้าไปเกี่ยวข้องได้

ดังนั้นในการทำอะไรแต่ละอย่าง
พึงเอาตัวสติปัญญาที่ป็นปรมัตถ์
เข้าไปเกี่ยวข้องให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

สมมติเกิด ปรมัตถ์ดับ

ชีวิตประกอบด้วยกายกับใจ
หรือรูปกับนาม

รูปหรือกาย
มีธรรมชาติในการเกิดดับ
ตลอดเวลา

ใจหรือนาม
มีความรู้สึก เช่น ความรู้สึกสบาย
ความรู้สึกไม่สบาย ความรู้สึกเฉยๆ
ซึ่งมีธรรมชาติในการเกิดดับ
ตลอดเวลาเช่นกัน

การเกิดดับทางกาย
มีความสัมพันธ์กับการเกิดดับทางใจ

การเกิดทางรูป เป็นการเกิดของ
ดิน น้ำ ลม ไฟ เรียกว่า รูปนาม

การเกิดทางนาม เป็นการเกิดของ
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
จากความรู้สึกที่ได้รับทาง
หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ
มันจะสร้างความรู้สึก
เรียกว่านามรูป เป็นสมมุติ

การไม่เกิดไม่ดับ เป็นความรู้เฉยๆ
ไม่สร้างรูปขึ้นมา
เรียกว่านาม หรือปรมัตถ์ หรือสัจจะ

วิธีการหลวงพ่อเทียน ใช้ปรมัตถ์เป็นอารมณ์

ในวิธีการของหลวงพ่อเทียน
เราเริ่มต้นด้วย สติ สมาธิ ปัญญา
เราใช้ปรมัตถ์เป็นอารมณ์
 
แต่ถ้าเราเอามือที่เคลื่อนไหว
เป็นอารมณ์
แสดงว่าเราใช้รูปเป็นอารมณ์
อันนี้ไม่ถูกแล้ว
 
เวลาเรานั่งปฏิบัติ
อย่าไปนึกว่ามือเคลื่อนไหว
ให้นึกถึงอาการของการเคลื่อนไหว
เช่น มันมีการหนัก เบา
เร็ว ช้า ไหว นิ่ง
ความรู้สึกในอาการนี้
เป็นตัวปรมัตถ์
 
ลมหายใจเป็นรูป
รูปเป็นสมมติ
ยังอยู่ภายใต้กฎ
อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
 
แต่นามเป็นปรมัตถ์
อยู่เหนืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
 
วิธีการของหลวงพ่อเทียนจึงเร็ว
เพราะเราเอาปรมัตถ์เป็นอารมณ์
ไม่ได้เอารูป
หรือสมมติเป็นอารมณ์

รู้สมมติ ปรมัตถ์

เมื่อก่อนเราติดอยู่แค่สมมติ
ว่าร่างกายนี้เป็นเราเป็นเขา
เป็นหญิงเป็นชาย เป็นรวยเป็นจน
เรามาดูความเป็นจริงของมัน เป็นปรมัตถ์
เรามารู้ร่างกายมีอยู่ เพราะมีความรู้สึกเย็น ร้อน อ่อน แข็ง
ความเป็นตัวตนเป็นสมมติ ก็จะหายไปในขณะนั้น

เห็นเวทนา สัญญา ความจำได้หมายรู้
เห็นสังขารการปรุงแต่งมีบ้างไม่มีบ้าง
เห็นวิญญาณการรับรู้ทางอายตนะทั้งหก
เห็นกายเราเป็นเพียงขันธ์ห้า ที่ทำงานตลอดเวลา
ลักษณะนี้เรียกว่ารู้สมมติปรมัตถ์

จนกระทั่งเราเข้าใจได้ถึงการทำงานของมันแล้ว
จิตเกิดรู้สภาวะเหล่านี้ เป็นเพียงอาการ
จิตเกิดการเฝ้าดูต่อเนื่องมากขึ้น
เรียกว่ารู้รูปนาม เป็นปรมัตถ์
สิ่งแรกที่เราต้องรู้
ในการปฏิบัติเราจึงมาดูตัวปรมัตถ์

หลวงพ่อเทียนจึงเริ่มต้นที่วิปัสสนา
เพราะวิปัสสนานั้นเอาปรมัตถ์เป็นอารมณ์
แต่สมถะ เอารูปเป็นอารมณ์

 

พระพุทธยานันทภิกขุ