ปฐมาจารย์เซน แห่งประเทศสยาม ตอนที่ ๑

คำไขกุญแจ คำแก้ประตูใจ

การทำอะไรตามๆ กัน และการพูดการคิดอะไรตามๆ กันไปตามกระแสโลกนิยม แต่ในโลกของธรรมนิยมแล้ว อาจจะไม่ใช่ทั้งหมด แต่ควรจะเป็นว่า “ทำในสิ่งที่ควรทำพูดในสิ่งควรพูด และคิดในสิ่งที่ควรคิด” มากกว่าการทำอะไรตามๆกัน ทั้งๆที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง หรือไม่เหมาะกับกาลเทศะ

คนไทยเราโดยธาตุแท้และดั้งเดิม เป็นชนชาติที่มีพรสวรรค์ในการประยุกต์ และปรับปรุงตนเองให้เหมาะสม กับสถานการณ์อย่างยอดเยี่ยม และบุคลิกในส่วนนี้นี่เองที่ทำให้ คนสยามประเทศของเรามีพรสวรรค์เป็นเลิศ ในการสร้างสรรค์และดัดแปลงสภาพแวดล้อมต่างๆ ให้ทันสมัยอยู่เสมอ หรือเรียกว่า “อมตะ” คงจะไม่ผิด ดังนั้นเมืองไทยของเราลือเลื่องเฟื่องฟูไปด้วยศิลปวัฒนธรรมอันดีงามและสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปกรรมแขนงต่างๆ เช่น วรรณกรรม สถาปัตยกรรม ตลอดถึงศาสนกรรม เป็นต้น  เราจึงปฏิสธไม่ได้สำหรับพรสวรรค์ในการสร้างผลงานอันหลากหลายเหล่านี้ ชนชาติสยามของเราได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนา จนกลายมาเป็นมรดกทางวัฒนธรรมของเราจนทุกวันนี้

หนังสือเล่มนี้อยากจะบอกว่า แม้แต่เรื่องพุทธศาสนาอันเป็นเรื่องของนามธรรม คนสยามเราก็สามารถปรับปรุงแก้ไข ให้เข้ากับชนชาติของตนเองได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน เช่น เมื่อเรารับเอาพุทธศาสนาแบบเถรวาทเข้ามาสู่สยามประเทศเป็นเวลานานกว่ายี่สิบศตวรรษแล้ว แต่เราก็สามารถปรับปรุงพุทธศาสนาแบบเถรวาทใช้ได้ดีกว่า ประเทศสยามของเราได้ให้กำเนิดพระอริยเจ้า หรือผู้บรรลุธรรมมากมาย มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นั้นเป็นหลักฐานยืนยันว่าเราสืบทอดพุทธศาสนาได้ตรงตามเจตนารมณ์ของพระศาสดา มากกว่าประเทศผู้กำเนิดศาสนาเสียอีก

แม้ว่าสยามประเทศไม่ได้รับเอาพุทธศาสนาแบบมหายานเข้ามาโดยตรงเหมือนกันเช่น จีน เกาหลี ญี่ปุ่น เป็นต้น แต่วิถีของคนสยามก็เป็นวิถีแห่งพุทธมหายานได้อย่างกลมกลืน ถึงแม้ไม่ได้ประกาศตนเองว่าเป็นมหายาน ไม่ว่าท่านเหล่านั้นจะเป็นนักบวชหรือคฤหัสถ์ก็ตาม แต่ก็ยังไม่ชัดเจนในแง่พิธีกรรมและรูปแบบที่ถือว่าเป็นมหายานหรือเซ็น(ต่อไปขอใช้คำว่า เซ็น แทนคำว่า มหายาน)

จนลุถึงปีพุทธศักราช 2500 อันเป็นปีที่ประเทศพุทธศาสนาทั่วโลกได้จัดงานเฉลิมฉลอง 25 พุทธศตวรรษ (เราเชื่อกันว่าพุทธศาสนาของพระสมณโคตมพุธะ จะมีอายุได้เพียง 5000 ปีเท่านั้น ซึ่งว่ากันโดยสมมติ แต่ไม่ได้ถูกต้องโดยหลักของปรมัตถ์ เพราะว่าพุทธศาสนาไม่มีอายุ เป็นอกาลิกธรรม เป็นธรรมที่อยู่เหนืออายุหรือกาลเวลา: ผู้เขียน) ในปีนั้นแผ่นดินสยามได้ให้กำเนิดปฐมาจารย์เซ็นอย่างเป็นทางการ ท่านผู้นั้นคือท่านอุบาสกพัน อินทผิว หรือหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ในเวลาต่อมา

แท้ที่จริงแล้วการใช้ชีวิตแบบวิถีแห่งเซ็นได้ปรากฏเป็นคำสอนหรือรูปแบบที่ชัดเจนเป็นทางการ และก่อนหน้านี้ก็มีนักปราชญ์เป็นคำสอนหรือรูปแบบที่ชัดเจนเป็นทางการ และก่อนหน้านี้ก็มีนักปราชญ์ผู้รู้หลายท่าน เช่น พุทธทาสภิกขุ เป็นต้น ได้นำเสนอบทความ ข้อเขียน งานแปลจากสำนักเซ็นที่เป็นต้นแบบอย่างจีนและญี่ปุ่น นำออกมาสู่สายตาพุทธศาสนิกชนแห่งสยามอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ได้มีการตอบรับอย่างกว้างขวาง จะแพร่ขยายอยู่ในกลุ่มผู้นิยมศึกษาพุทธศาสนามหายานเพียงบางกลุ่มเท่านั้นเพราะยังถือเป็นเรื่องแปลกแยกสำหรับสังคมพุทธแบบเถรวาทในสยามด้วยซ้ำและไม่ได้แผ่ขยายออกไปเป็นขบวนการประชาชน

หลังจากหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ได้ปรากฏตัวในสังคมพุทธเถรวาทปี 2502 เป็นต้นมา ปรากฏว่าการเผยแพร่วิธีการและคำสอนของท่าน มีนัยยะที่แตกต่างไปจากพุทธแบบเถรวาทอย่างมาก จะเห็นได้จากตัวอย่างเหล่านี้ ขอแยกให้เห็นเป็นเรื่องๆไป

1.พิธีกรรมทางศาสนา: ไม่นิยมจุดธูปเทียน หรือดอกไม้บูชาพระรัตนตรัย เมื่อมีงานมงคลหรืออวมงคล ถ้าเจ้าภาพไม่ใช่นักปฏิบัติแบบนี้มาก่อน ก็อนุโลมตามเจ้าภาพ กิจวัตรทำวัตรสวดมนต์ ถ้าเป็นรูปแบบของหลวงพ่อเทียนแท้ๆ จะไม่ยุ่งกับสิ่งเหล่านี้ ถือว่า การปฏิบัติบูชา เป็นการบูชาอย่างสูงสุด

2.ไม่นิยมการสาธยายสวดมนต์แบบงมงาย ถ้ามีก็สวดแปลทุกครั้ง และนำเอาบทสวดที่เป็นคำสอนหลักๆของพระพุทธองค์มาสวดแปล มากกว่าเอาบาลีที่พระอรรถกถาจารย์ชั้นหลังๆแต่งขึ้นมาสวดกัน แบบที่ทำกันโดยทั่วไป

3.ไม่นิยมทำพิธีกรรมแบบยืดยาว ฟั่นเฝือเสียเวลา แต่ทำพิธีกรรมพอเตรียมใจให้พร้อมเพื่อการฟังธรรมเท่านั้น ไม่มีความหมายอื่น

4.ไม่นิยมแสดงธรรมเพื่อการยกย่องลัทธิพิธีกรรม หรือส่งเสริมการสร้างบุญบารมีแบบงมงาย หรือปลุกเล้าในคนหลงในบุญกุศลเพื่อแสวงลาภสักการะ หรือแสดงธรรมแบบชาดกนิทานสวรรค์นรกมาหลอกล่อให้คนหลงกลัวด้วยอำนาจอวิชชา

5.นิยมการเจริญสติแบบตื่นตัวมากกว่านั่งสมาธิหลับตา ไม่นิยมบริกรรมภาวนาทุกรูปแบบ ไม่นิยมการอธิษฐาน การอ้อนวอนต่อเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทุกรูปแบบ

6.ไม่นิยมประกอบเดรัจฉานวิชาทุกชนิด หรือไม่ส่งเสริมพิธีกรรมทางไสยาศาสตร์ต่างๆ ที่ไร้เหตุผลและงมงาย ตลอดถึงการปลุกเสกเลขยันต์ ไม่นิยมการออกรูปเหรียญเคารพ และวัตถุมงคลแบบต่างๆ ที่ถือว่าขลังศักดิ์สิทธิ์ ไม่นิยมเล่นคาถา อาคมทุกรูปแบบ หรือการทำนายทายทัก อันเป็นเครือข่ายเดรัจฉานวิชา

7.ไม่นิยมในการแสวงลาภสักการะ สมณศักดิ์ หรือเสียงสรรเสริญจากผู้อื่น ไม่นิยมวิ่งเต้นแสวงหายศตำแหน่ง เพื่อมีอำนาจในการปกครองที่ไม่ได้มาโดยธรรม

8.ไม่ส่งเสริมอบายมุขทุกชนิด เช่น การบอกใบ้ ให้หวยเล่นหวย การพนันทุกรูปแบบ ละเว้นสิ่งเสพติดให้โทษทุกรูปแบบ ละเว้นการเรี่ยไรบอกบุญทุกรูปแบบ ที่นิยมทำกันในทำเนียมของเถรวาท

อันนี้เป็นหลักย่อๆที่แตกต่างไปจากรูปแบบพุทธเถรวาทที่มีในสยามประเทศนี้โดยสิ้นเชิง แต่จะเน้นศึกษาพุทธรรมอย่างตรงไปตรงมา ไม่เน้นการศึกษาเล่าเรียนปริยัติเกินจำเป็นและเสียเวลา เน้นการเจริญสติปัฏฐานแบบเคลื่อนไหว เป็นหลักชัยของชีวิต

นิยมวิถีชีวิตที่สงบ สันโดษ มักน้อย ไม่นิยมการสั่งสมรูปแบบ ไม่เห่อเหิมทะเยอทะยานตามวิสัยโลกิยะ รักธรรมชาติ ให้หลักการครองชีวิตด้วยเมตตาและปัญญา ถ้าเป็นนักบวชก็ไม่ยึดติดสถานที่ พร้อมที่จะจาริกไปเผยแพร่เรื่องราวของการเจริญสติแบบนี้ได้ทุกหนทุกแห่งในโลก โดยไม่เกรงกลัวต่อภัยอันตราย และความทุกข์ยากลำบากที่จะเกิดขึ้นแต่อย่างใด

ด้วยค่านิยมและวิถีชีวิตเช่นนี้ ผู้เขียนจึงกล้ากล่าวได้ว่า หลวงพ่อเทียน ได้นำวิถีชีวิตแบบนี้มาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ที่ผู้เขียนเองไม่เคยสัมผัสที่ไหนมาก่อน เมื่อตนเองได้ดำเนินชีวิตนักบวชตามทางสายนี้นานกว่าสามสิบปี จึงมั่นใจได้ว่า เป็นวิถีชีวิตที่เป็นพุทธแท้ ถ้าจะสมมติเรียกกันว่า เซ็น ตามสมัยนิยมก็คงไม่ผิด เพราะผู้เขียนเองได้เคยคลุกคลีและคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบเซ็นมาบ้าง ทั้งเซ็นแบบตะวันตกและตะวันออกทั้งเคยอ่านและแปลหนังสือตามหลักของเซ็นมาบ้าง ก็เห็นว่าเป็นหลักอันเดียวกัน

ดังนั้น การนำเสนอประสบการณ์เล็กๆน้อยๆ ของผู้เขียน ก็เพื่อยืนยันว่า หลวงพ่อเทียน เป็นองค์ปฐมแห่งเซ็นประเทศสยามได้อย่างเต็มใจ ส่วนใครจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ก็ไม่ว่ากัน เพราะทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเห็นต่างได้ แต่ขอให้เราได้มีโอกาสเปิดเผยเส้นทางปฏิบัติอีกทางหนึ่ง อันเป็นทางออกให้แก่ชาวพุทธในสยามประเทศนี้ ให้ได้มีทางเลือกที่ดีกว่า ประเสริฐกว่าและสัมผัสสัมพันธ์กับชีวิตจริงได้ลึกกว่าเท่านั้น

หลักการหลวงพ่อเทียนที่เป็นหลักกรรมฐานแบบซื่อๆตรงๆมุ่งสู่สาระแห่งการรู้จัก รู้แจ้ง รู้จริงในตนเองเป็นหลัก ได้แผ่ขยายออกไปสู่ประชาชนคนธรรมได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว แต่ในหมู่กลุ่มของคนรู้ ผู้ดีทั้งหลาย ผู้ยังยึดติดในหลักแห่งเหตุผลแบบสมมติ วิธีการหลวงพ่อเทียนจึงก้าวไปอย่างอืดอาดมาก เพราะคนกลุ่มนี้เคยยึดติดมากับทำเนียมของเถรวาทแบบเดิม ยากที่จะสลัดได้เด็ดขาด เพราะได้กลายเป็นอาสวธรรมอย่างเหนียวแน่นที่สุด เพราะมีสมมติภาษาที่ทันสมัยและมีเทคนิคในการถ่ายทอดสูง ถึงแม้จะได้สัมผัสธรรมะแบบนี้เพียงเล็กน้อย แต่ก็ช่วยเผยแพร่ได้มากกว่าคนธรรมดา

ดังนั้น จึงขออนุโมทนาสาธุในกุศลเจตนาของคุณประไพศิริและคณะ ที่ได้ขวนขวายจัดพิมพ์หนังสือชุดนี้ เพื่อการเผยแพร่และทำความเข้าใจเรื่องคำสอนของหลวงพ่อเทียนในมิตินี้ แม้กลุ่มอื่นจะไม่เห็นด้วย ก็เป็นเรื่องของทิฐิของแต่ละคน เราต้องเคารพและฟังกันได้ เพราะหลักการของหลวงพ่อเทียน ก็เปรียบเสมือนต้นไม้สมุนไพรต้นหนึ่ง ที่ผู้เจ็บป่วยต้องการยารักษาโรค จะเก็บเอาส่วนไหนของต้นไม้ก็ได้ ที่เอามาปรุงยาแม้รสชาติของต้นไม้แต่ละส่วนจะแตกต่างกันไป มันก็มาจากต้นเดียวกันจะให้เปลือกของต้นไม้หวานเหมือนลูก หรือใบจะหอมเหมือนดอกของมันย่อมเป็นไม่ได้ฉันนั้น ความต่างของความคิดเห็นในกลุ่มศิษย์ของหลวงพ่อก็ฉันนั้น และผู้ที่รู้จริงในหลักการของท่านจะไม่มีวันขัดแย้งกับใครเป็นเด็ดขาด ฉะนั้นจึงมั่นใจได้ว่า การนำเสนอของผู้เขียนแต่เล่มนั้นเป็นหลักการส่วนตัวที่เกิดจากประสบการณ์ที่ดำเนินตามวิธีการนี้ ถ้ามีอะไรผิดพลาดก็ขอให้ชี้แนะและตักเตือน จะนำไปปรับปรุงแก้ไขเพื่อประโยชน์และความสุขของมหาชน และเพื่อเอื้อเอ็นดูแก่เทวดาและมนุษย์ เพื่อให้เข้าถึงซึ่งมรรคผลนิพพาน อันเป็นอุดมการณ์สูงสุดของชาวพุทธทุกคนด้วยเทอญ

หลวงพ่อเทียน

ผู้ให้กำเนิดพุทธแบบเซนในประเทศสยาม

ในเบื้องต้นต้องเข้าใจให้ถูกต้องก่อนว่า

วิธีการกรรมฐานแบบของหลวงพ่อเทียน
เป็นวิปัสสนาแบบเซนสยาม
หรือแบบเถรวาท
 
มิใช่เซนแบบจีน เกาหลี ญี่ปุ่น
หรือทิเบตแบบมหายาน
ถ้าเป็นสมถะก็เป็นสมถะแบบพุทธแท้
มิใช่พุทธเทียมหรือพราหมณ์
 
สมถะกรรมฐานในเอเชียของเรา
ยังเป็นพราหมณ์อยู่
ถึงเก้าสิบเปอร์เซ็นต์ทีเดียว
 
สมถะแบบพุทธแท้
หมายถึงการตามรู้อาการของกาย
ว่าเป็นแค่รูปแค่นามเท่านั้น
ไม่ต้องไปพิจารณาอะไร
ไปมากกว่านั้น
ไม่ต้องไปเพ่งอะไรพิเศษ
 
วิปัสสนาแบบเซนสยาม
ท่านสอนให้ตามรู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน
ตามรู้ใจอยู่ในปกติเท่านั้นเอง
 
ความรู้สึกอะไรเกิดขึ้นในกายในใจ
ก็ให้ตามรู้เท่านั้นเอง
ไม่ต้องไปกำหนดจดจ้องอะไร
ให้ลำบากเลย
 
วิธีการสมถะแบบทั่วไป
ต้องกำหนดรู้ ต้องเข้าฌาน
ทำเวลานั้นเวลานี้
อาศัยรูปนั้นรูปนี้เป็นนิมิตเป็นอารมณ์
 
ก็ว่ากันไปตามรูปแบบสมถะสำนักนั้นๆ
แต่ไม่ใช่สมถะเคลื่อนไหวแบบนี้
 
วิธีการแบบหลวงพ่อเทียน
ไม่ได้เน้นการเข้าฌานแบบพราหมณ์
คือทำจิตให้สงบตลอดเวลา
บังคับให้จิตอยู่กับอารมณ์ปัจจุบัน
ให้สงบแบบทื่อๆ
แบบตายด้านทางอารมณ์
ไม่ยอมให้จิตรับรู้อะไร
นอกจากนิมิตกรรมฐาน
แต่วิปัสสนาแบบนี้
สามารถเข้าฌานได้
ออกฌานได้ตลอดเวลา
 
คือ รู้จักวิธีน้อมเอากายกับใจ
มาอยู่ด้วยกันก็เป็นฌานแล้ว
 
ส่วนจะละเอียดมากละเอียดน้อย
ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ
 
คนไหนละเอียดมากก็เข้าฌานขั้นสูง
คนไหนละเอียดน้อยหน่อย
ก็เข้าฌานขั้นต่ำลงมา
 
นี่เขาเรียกว่า เซน

จริงจัง ตั้งใจ เข้าใจ ไม่รู้ไม่มี

ปรมาจารย์ตั๊กม้อ
หรือท่านปรมาจารย์โพธิธรรม
ได้นำวิถีแบบนี้
ไปเผยแพร่ในประเทศจีน
หลังพระพุทธเจ้าปรินิพพาน
เพียงหกร้อยปีเท่านั้น
 
ส่วนรายละเอียดต่างๆ
ไปหาอ่านได้ในหนังสือเซ็นโดยทั่วไป
และที่ผู้เขียนได้แปลไว้เล่มหนึ่ง
ชื่อ “โพธิธรรมคำสอน
ของปรมาจารย์ตั๊กม้อ”
ซึ่งพิมพ์จำหน่ายและเผยแพร่
ที่วัดป่าโสมพนัส
โดยหลวงตาสุริยา มหาปัญโญ
จังหวัดสกลนคร
 
ท่านพระโพธิธรรม หรือ ตั๊กม้อ
ท่านก็ใช้วิถีแบบเคลื่อนไหวเหมือนกัน
ต่างกันก็แต่รูปแบบลีลา
ของการเคลื่อนไหวเท่านั้นเอง
 
รูปแบบวิปัสสนาการเคลื่อนไหว
ของท่านโพธิธรรม ได้ถูกประยุกต์
เป็นวิถีแห่งศิลปะการออกกำลังกาย
ชนิดต่างๆ อย่างหลากหลาย
ในยุคปัจจุบัน
เช่น ไทเก็ก โยคะ กังฟู ชี่กง
 
ตลอดจนกำลังภายในชนิดต่างๆ
ที่เจริญอยู่ในจีน
จนกลายเป็นมรดก
ทางศิลปวัฒนธรรม
อันล้ำค่าส่วนหนึ่งของจีนไปแล้ว
 
และกำลังขยายผลออกไป
ทางโลกตะวันตก
และอีกหลายๆประเทศทั่วโลก
นั่นคือ อิทธิพลของพุทธศาสนา
แบบเซนทั้งนั้น
 
วิธีการเคลื่อนไหว
แบบหลวงพ่อเทียนก็เช่นกัน
ผู้เขียนกล้าเอาหัวเป็นประกันได้เลยว่า
ใครมีความจริงจัง ตั้งใจ ในการปฏิบัติ
และถ้าทำอย่างเข้าใจแล้ว
เรื่องที่จะไม่รู้ เป็นไม่มี มันต้องรู้
เพราะเป็นกฎตายตัว
ของกฎธรรมชาติ
 
แต่จะรู้ช้ารู้เร็วเท่านั้นเอง
ขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ความเข้าใจ
และความจริงใจ
สามปัจจัยนี้บวกกันแล้ว
ต้องรู้แน่นอน

พระพุทธยานันทภิกขุ

วัดป่าพุทธยานันทาราม

04-24-2010

Las Vegas

Nevada 89156 USA