วิธีปรับธาตุสี่ให้สมดุล

ปฏิบัติธรรม คือ ปรับธาตุสี่ให้สมดุล

ถ้าพูดถึงการปรับธาตุ 4 ให้เหมาะกับฤดูกาล ให้นึกถึงสภาพข้างนอก ถ้าสภาพข้างนอกเย็นให้ปรับอุณหภูมิ ทีนี้องค์ประกอบของความร้อนและความเย็นคืออะไร

องค์ประกอบความเย็นก็มี 2 ตัว คือน้ำกับลม และองค์ประกอบของความร้อนก็มี 2 ตัว คือไฟกับดิน เมื่อเราป้องกันข้างนอกอย่างไร เราก็ป้องกันข้างในอย่างนั้น ธาตุ 4 ของเราก็คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ ในทางกาย เมื่อเป็นฤดูหนาวเราก็เพิ่มอาหารที่เป็นธาตุไฟกับธาตุดินให้แก่ร่างกาย เมื่อถึงฤดูร้อนเราเพิ่มอาหารที่เป็นธาตุน้ำและธาตุลม เป็นต้น (ส่วนอาหารประเภทไหนเป็นธาตุอะไรบ้าง ไปหารายละเอียดเอาเองก็แล้วกัน)

การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกัน คือการปฏิบัติต่อธาตุ 4 ให้เกิดความสมดุล เช่น ถ้ากินข้าวเหนียว ซึ่งเป็นธาตุดิน มันก็ให้ความร้อนและพลังงาน และจะทำให้เรารู้สึกร้อนทางกาย ถ้าเป็นฤดูหนาวก็ช่วยให้เรารู้สึกอบอุ่นขึ้น ถ้าเป็นฤดูร้อนจะทำให้เรารู้สึกร้อนขึ้นกว่าเดิม ทั้งทางกายและจิตด้วยในคนบางคน

 

ใช้สังขารให้เป็นประโยชน์

เราจะเห็นว่า การรักษาความสมดุลพอดีของสังขารนั้น รักษายากมาก ดังนั้น สังขารจึงเป็นทุกข์อย่างยิ่ง ต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิดถึงจะอยู่รอดปลอดภัยได้ เมื่อสังขารของเราได้รับทุกข์ เราจะได้ประโยชน์อะไรจากสังขารบ้าง ถ้ามองในแง่ประโยชน์ทางโลกียะ เราอาจจะได้รับความสนุกสนาน ความเอร็ดอร่อยจากการเสพสุขตามอายตนะทั้งหก คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ แต่เมื่อหมดรสชาติในการเสพสุข ทุกข์ก็เข้ามาแทนที่เหมือนเดิม ดังนั้น เรายังมีชีวิตอยู่ตราบใด ก็ทำหน้าที่บำบัดทุกข์ไปเรื่อยๆ

พระพุทธเจ้าจึงเห็นว่า การบริหารขันธ์นี้เป็นทุกข์อย่างยิ่ง ไม่มีวันจบสิ้นจนกว่าจะจากมันไป ดังนั้น เราต้องเจริญวิปัสสนาเท่านั้น จึงจะได้ประโยชน์ที่แท้จริงจากสังขารทุกข์อันนี้ และการทำวิปัสสนาชนิดที่จะให้เราได้ประโยชน์จากทุกข์นั้นไม่ง่ายนัก แต่ก็มีวิธีอยู่ ถ้าเราตั้งใจอย่างจริงจัง

 

ระลึกชาติแบบวิปัสสนา

 

การปฏิบัติวิปัสสนาแบบที่ทำให้เรารู้สึกระลึกชาติในปัจจุบันได้เท่านั้น จะเป็นวิธีที่เราจะเรียนรู้ทุกข์ได้ไว แต่การระลึกชาติได้แบบสมถะ คือระลึกชาติได้แบบก่อนเกิด หรือหลังตายไป แบบนั้นมีประโยชน์น้อย แต่การระลึกชาติแบบวิปัสสนา เราทุกคนสามารถทำได้ คือการเจริญสติปัญญาให้มากและต่อเนื่องจนสามารถระลึกได้ว่า ตั้งแต่เช้าจรดเย็นของแต่ละวัน เราสามารถรู้สึกระลึกได้ว่า เรามีความสุขมากหรือความทุกข์มาก และให้พยายามระลึกรู้ในชาติปัจจุบันนี้ ว่าชีวิตประจำวันของเราได้รับความสุขหรือความทุกข์ อย่างไหนมากกว่ากัน ดังนั้น การเจริญสติที่ทำให้ระลึกชาติได้แบบนี้บ่อยๆ สามารถจะทำให้เราเกิดความเบื่อหน่ายคลายจางในกายสังขาร และจิตสังขารนี้ได้เร็วขึ้น สามารถจะทำให้เราเกิด “นิพพิทาญาณ” ขึ้นได้ ถ้าเรามีความเข้าใจความจริงขั้นปรมัตถ์มากพอ

ฉะนั้น การตรัสรู้ของพระพุทธองค์จึงเป็นการระลึกชาติแบบวิปัสสนา เป็นการรู้ในสิ่งที่มนุษย์ทุกคนทำได้ ถ้ามีศรัทธาและความเพียรทำตามพระองค์สอนอย่างถูกต้อง เช่น การระลึกถึงปัจจุบันในขณะหนึ่งๆ ก็คือระลึกชาติได้ชาติหนึ่งๆ เช่นกัน แต่จะต่างกันเฉพาะระลึกได้ช่วงสั้นหรือยาว ต่างวัน ต่างเวลากันเท่านั้นเอง แต่เนื้อหามันไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่ขยันระลึกรู้อยู่เรื่อยๆ หรือตามรู้กายรู้ใจแบบไม่ขาดสาย นี่คือการระลึกชาติแบบวิปัสสนา

การระลึกชาติแบบนี้ทำให้เกิดวิปัสสนาญาณได้เร็ว ถ้าหากเราไม่เกิดวิปัสสนาญาณ ก็จะไม่เห็นทุกข์ที่กำลังเกิดขึ้น ไม่เห็นทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว และไม่เห็นทุกข์ที่จะเกิดขึ้นในขณะต่อไป เมื่อไม่เกิดปัญญาเห็นเช่นนี้ ก็เป็นเรื่องยากที่จะเบื่อหน่ายภพชาติที่เป็นทุกข์อยู่ตลอดเวลา เมื่อไม่เห็นทุกข์ตามความเป็นจริง ก็จะไม่รู้สึกเบื่อหน่ายชีวิต และจะติดอยู่กับความหลงเรื่อยไป ฉะนั้น สิ่งที่เราเรียกว่า ความสุข อีกมุมหนึ่งก็คือความทุกข์นั้นเอง ในแง่ของวิปัสสนาปัญญาแล้วสุขกับทุกข์มีค่าเท่ากัน เพราะล้วนแต่เป็นสภาพที่เกิดจากสังขารจิตปรุงแต่งทั้งนั้น ไม่ใช่ความจริงที่เที่ยงแท้ถาวรอะไรเลย

 

พระพุทธยานันทภิกขุ