เริ่มต้นสังเกตอย่างไร

เริ่มต้นสังเกตอย่างไร

 

ครูบาอาจารย์ อาจจะไม่ได้ไปคุม
แต่จะทำให้ดู
ไปเป็นเพื่อนในการปฏิบัติ
ขอให้พวกเราตั้งใจปฏิบัติ
ดูอาการที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ละขณะๆ
ว่าเราประกอบด้วยองค์สามของการปฏิบัติไหม
รู้ตัวไหม ตื่นตัวไหม แล้วก็ใจเป็นอย่างไร
เศร้าหมองไหม เบิกบานไหม

ในช่วงทำวัตร ได้สังเกตทั้งพระ ทั้งโยม
ดูเหมือนตกอยู่ในความเพลินอะไรสักอย่าง
อย่างเรานั่งสวดไปนานๆ ก็จะง่วงเหงา หลับ
กิจกรรมการสวดก็ทำให้มันเพลิน มันหลงได้
แทนที่สวดแล้ว มันจะเกิดความตื่นรู้
เบิกบาน ชัดเจน
แต่กลับเป็นการกล่อมให้หลง

ที่หลวงพ่อไปจัดอบรม
ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หลวงพ่อจะเอาพระสูตร
โดยเฉพาะสติปัฎฐานสูตร เป็นบทตั้ง

ในวันแรกก็จะใช้บทกายานุปัสสนาสติ มาสวด
เพราะหนังสือของวัดแพร่แสงเทียน
จะเป็นสวดแปลทั้งหมด
พระสูตรใหญ่ๆ เป็นสติปัฎฐาน
ธัมมจักกัปปวัตนสูตร มาสวด
แล้วเอาความหมายมาอธิบาย

ในแต่ละขณะ เราต้องสื่อกับตัวเองให้ได้
สื่อทางกายก่อน กายานุปัสสนา สื่ออย่างไร
สื่อว่า ขณะนี้ เรานั่งอยู่นี่
นั่งมาเป็นชั่วโมงนานๆ เรารู้สึกอย่างไร
รู้สึกหนัก ปวด เมื่อย ตึง ไหม
ลมหายใจเป็นอย่างไร ลึกไหม
หลัง ไหล่ เอว รู้สึกอย่างไร ลองสำรวจ

ให้ใส่ใจต่อสิ่งที่เกิด ณ ปัจจุบัน
ทีละขณะๆ ให้ชัด
ว่าด้วยหมวดกาย คือ ให้เห็นกายจริงๆ
ไม่ใช่เป็นเพียงคำพูด
โดยเฉพาะพระที่นำเสนอ พระที่ขึ้นมาพูด
ต้องชักจูงเข้าสู่อารมณ์ปฏิบัติ

เพราะวิธีการของหลวงพ่อเทียน
เป็นวิธีการที่ปฏิบัติ ไม่ใช่เป็นวิธีการฟัง
เราต้องสื่อให้ตัวเองให้ได้ในแต่ละขณะๆ
ในขณะนี้ เราตื่นรู้ไหม หรือ สะลืมสะลือ
เช็คตัวเองทีละขณะเลยทีเดียว

วิธีการของหลวงพ่อเทียน
ต้องสื่อกับรูปกับนามของตัวเองให้ได้
ขณะนี้รูปกำลังทำอะไรอยู่ เรียกรูปธรรม
และใจได้รับรู้ต่อความเป็นไปของรูปไหม
เรียกว่า นามธรรม

 

ตั้งใจอย่างไร

 

หลวงพ่อไปจัดอบรมที่ต่างประเทศ
เขาเน้นที่เนื้อหาสาระ การปฏิบัติ
เรื่องสวด เรื่องพิธีกรรม แทบจะไม่มีเลย
การบรรยายยาวๆ ก็ไม่ได้ทำ
ให้ปฏิบัติไปก่อน
แล้วค่อยไปสอบอารมณ์ภายหลัง
ว่าขณะนี้รู้สึกอย่างไร
คุณสื่อกับตัวเองได้ไหม
 
นั่งมา 5 นาที 10 นาที
อาการทางกายเป็นอย่างไรบ้าง
ตรวจสอบดู หายใจลึกพอไหม
เมื่อสักครู่นั่งมา สบายหรือไม่สบาย
ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวอิริยาบถแต่ละอย่าง
จิตของเราก็จะมารวมอยู่กับปัจจุบันชัดไหม
 
ชัดแต่ไม่เพ่ง ไม่ใช่จ้อง ไม่ใช่บังคับ
แต่เป็นการสำรวจและสังเกตุดู
ถ้าเราสำรวจและสังเกตจริงๆ
จิตแทบจะไม่มีโอกาส
ได้มองออกข้างนอกเลย
 
นั่งเป็นร้อยก็เหมือนกับนั่งคนเดียว
เพราะไม่ได้ใส่ใจ
ในชั่วโมงปฏิบัติเราต้องทำอย่างนั้น
 
ในกายเราสำรวจที่กาย
ในส่วนที่ปรากฎเห็นชัด
เช่น อิริยาบถนั่ง มีอะไรบ้างที่เราเห็นชัด
กระพริบตา หายใจลึก ตื้น ชัดไหม
 
มือที่ยกเป็นตัวสื่อ ให้ไปเห็นอาการข้างใน
ไม่ใช่ยกให้ตั้งสติ ตั้งสมาธิ อะไรอยู่
มันเป็นเหมือนการจุดประกาย
เหมือนกับเราขีดไม้ขีด หรือจุดไฟแช็ค
เพื่อจะไปต่อกับตะเกียง หรือเทียนไข
 
 
หน้าที่ของสติ เหมือนหัวไม้ขีด
หรือไฟแช็คที่จุด
พอไปติดที่เทียนไข หรือไส้ตะเกียง
หน้าที่ของไม้ขีด หรือไฟแช็คก็จบ
เป็นหน้าที่ของเทียนไข และตะเกียงต่อไป
ที่จะให้แสงสว่างแก่ดวงตา

 

พระพุทธยานันทภิกขุ