เวทนานุปัสสนา ตอนที่ ๑

ถ้าเปรียบกายเหมือนแก้วน้ำร้อน

ถ้าเปรียบกายเหมือนแก้วน้ำร้อน ใจคือมือที่เอื้อมไปจับแก้วน้ำร้อนนั้น เวทนาคือความรู้สึกที่จับแก้วน้ำร้อนด้วยมือเปล่า ย่อมต้องโดนความร้อนลวกจนแสบพอง แต่ถ้าเรามีผ้าหรือฉนวนมาห่อหุ้มแก้ว ความร้อนจากแก้วน้ำร้อน ก็จะไม่สามารถส่งผ่านไปยังมือได้ ความรู้สึกตัวที่เป็นเวทนาทางกายเรียกว่ารูปนาม เช่น เวลาเรานั่งนานๆ ถ้าหากว่าสติเราไม่เข้มแข็งพอ ความหนักความหน่วง ความปวดความเมื่อยที่ขาที่แขนที่ข้อต่างๆ ทุกขเวทนาทางกายนั้นย่อมไหลซึมสู่จิต กลายเป็นทุกขเวทนาทางใจ รู้สึกหงุดหงิด รำคาญ เบื่อ ซึม เซ็ง แล้วก็ปรุงแต่งอะไรต่ออะไร ก่อให้เกิดนามรูปแล้ว เพราะฉะนั้น รูปนามคือ ความรู้สึกตัว มันจะแปรเป็นนามรูปคือ ความคิดได้ ต่อเมื่อเราขาดสติในการกำหนดรู้เวทนาอย่างต่อเนื่อง
การเจริญสติหรือความรู้สึกตัวนี้ เราจึงเอาตัวเวทนาเป็นอารมณ์ จึงจะเป็นวิปัสสนา

เวทนาเป็นสะพาน

เชื่อมระหว่างรูปกับนามในขันธ์ ๕ ในส่วนนามก็คือสัญญา สังขาร วิญญาณ เราจึงเอาเวทนามาเป็นเครื่องมือพัฒนาตัวรู้ เวทนาเป็นได้ทั้งรูปและนาม ถ้าเมื่อไรมันเกี่ยวข้องกับธาตุ ๔ เวทนานั้นเป็นรูป ถ้าเมื่อไรเกี่ยวข้องกับสัญญา สังขาร วิญญาณ เวทนานั้นเป็นนาม เวทนาจึงมี ๒ แบบ คือ เวทนาทางกาย และเวทนาทางจิต เราจึงจับเอาเวทนานี่แหละ มาเป็นเครื่องมือในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บ ความปวด
ความเคร่ง ตึง ง่วง เมื่อย อึดอัด เย็น ร้อน สบาย ไม่สบาย พอใจ ไม่พอใจ ฯลฯ