เรื่องรูปนามเป็นเรื่องจริงที่ซ้ำซาก

ความจริงเป็นเรื่องซ้ำซาก เราจะเบื่ิอไม่ได้ แต่ต้องเข้าใจในความจริงของมัน เช่นความทุข์กาย ทุกข์ใจหรือความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความผิดหวัง ความเสียใจ ความไม่พอใจ ความเหงา ความรัก ความชังเป็นต้น มันเป็นเรื่องเกิดขึ้นแบบซ้ำซากมากๆ แต่เราก็พอใจที่จะให้มันเกิด ถ้าเราไม่ชอบใจให้มันเกิด มันก็เกิดไม่ได้ แต่ไม่รู้เป็นอย่างไร เราก็ชอบมันอยู่ดี ถ้าเราไม่ชอบจริงๆ เราต้องหาทางสกัดกั้นมันสิ ดูๆแล้ว เราไม่คอยจริงใจกับตัวเองสักเท่าไรดอก อยากได้อย่างหนึ่ง แต่ไปทำอีกอย่างหนึ่ง ใช่หรือไม่ใช่? เช่นอยากได้สุขภาพดีมีความเข้มแข็ง แต่เรากลับทำไปกินอะไรบางอย่างที่ทำลายสุขภาพของตัวเอง ความคิดไม่ดีมีอกุศล เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์อย่างเห็นได้ชัดๆ แต่เราก็ชอบคิดสิ่งที่ไม่ดีเป็นอกุศลใช่หรือไม่ใช่ คิดดูให้ดีๆ เป็นเรื่องตลกและน่าเศร้ามากๆ

ดังนั้น ถ้าหลวงพ่อนำเรื่องความจริงฝ่ายกุศลเก่าๆเดิมๆ มานำเสนอให้พวกได้อ่านได้ศึกษาบ่อยๆ และเรื่องจะซ้ำซากบ้าง ก็คงรับกันได้ เช่นเรื่องความจริงของรูปนามเป็นต้น ตอนต่อนี้หลวงพ่อขอเสนอเรื่อง ภาษาของรูปนามของหลวงพ่อเทียน ให้อ่านกันอีกสักครั้งเนาะ อย่าพึ่งเบื่อกันเลยน่า??????

ภาษารูปนาม

การเห็นถูกต้องหรือสัมมาทิฏฐิในภาษาของหลวงพ่อเทียนคือเห็นว่าทุกสิ่งเป็นเพียงรูปและนาม แต่ในเบื้องต้นเราไม่สามารถเห็นแบบนั้นได้ เพราะเรายังไม่รู้จักรูปนาม การที่เราจะไปเห็นทุกอย่างที่อยู่ข้างหน้าเราเป็นรูปนามได้ เราต้องเห็นตัวเราเองเป็นรูปนามให้ได้ก่อนเช่นขณะนี้เรานั่งอยู่ เรารู้ได้อย่างไรว่า เรานั่ง “ความรู้สึกที่คิดว่าตัวเองมีอยู่” หรือ “ความรู้สึกสัมผัสความจริงที่กำลังปรากฏในขณะนี้” ขณะนี้ เรานั่งมานานประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้ว รู้สึกอย่างไร ระหว่างรู้สึกสบายและไม่สบาย มันรู้สึกสบายขึ้นเรื่อยๆ หรือรู้สึกหนักขาขึ้นเรื่อยๆ ความรู้สึกสบายและไม่สบายทางกายเรียกว่า“รูปนาม” สำหรับความรู้สึกที่เกิดในจิตว่า เราไม่สบายใจ รู้สึกเบื่อ รู้สึกหงุดหงิด และปล่อยจิตคิดไปตามอาการของกายเรียกว่า “นามรูป” แต่ถ้ารู้สึกรู้เห็นอาการทางกาย และจิตไม่เข้าไปเป็นด้วย แต่ทำหน้าที่เป็นผู้รู้อาการเหล่านั้นเฉยๆ เรียกว่านามล้วนๆ หรือสมมุติเรียกว่าสติสมาธิปัญญาก็ได้ ฉะนั้นถ้ามันเกิดที่กายอย่างเดียวมันเป็น “รูปนาม” แต่พอไปเกิดกับใจเรียกว่า“นามรูป” แต่ตัวผู้รู้ทั้งสองส่วนนั้นเรียกว่า“นาม” สติเป็นนาม สมาธิเป็นนาม ปัญญาเป็นนามล้วนๆ สติ สมาธิ ปัญญาไม่ใช่รูปนาม และไม่ใช่นามรูป แต่ว่ามันเป็นนาม มันเป็นผู้รู้นั่นเอง

รูปทุกข์ นามทุกข์

ในขณะที่เราปฏิบัติ เราต้องพยายามเห็นอาการทั้งสามอย่างชัดคือ รูปนาม นามรูป และนามล้วนๆ ให้ชัดๆไว้เสมอ ว่า อาการแบบไหนที่เป็นรูปนาม แบบไหนเป็นนามรูป และแบบไหนที่เรียกว่านามล้วนๆ คือสติ สมาธิปัญญานั้นเองแต่เราจะไปห้ามไม่ให้เกิด อาการไม่สบายทางกาย เช่นปวดขาเป็นต้น ไม่ได้ และห้ามไม่ให้เกิดอาการจิตคิดปรุงแต่ง ไม่ให้มันเบื่อมันเซ็งเป็นต้น ก็ห้ามไม่ได้ เพราะมันเป็นไตรลักษณ์ คือมันเป็นธรรมดาของมันอย่างนั้นทุกรูปทุกนาม เพราะอาการของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันเกิดกับ “รูปนาม” เรียกว่า “รูปทุกข์” ถ้าจิตไปทุกข์กับมันด้วยเรียกว่า “นามทุกข์” นี้เป็นภาษาหลวงพ่อเทียน อาจจะไม่มีในตำรา ธรรมดาธรรมชาติเหล่านี้มีอยู่ตลอดเวลา เราจะรู้ธรรมะ หรือไม่รู้ธรรมะมันก็มี แต่ถ้าเราเป็นผู้รู้จักเรื่องจริงของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จะทำให้เราได้รู้ได้เห็นว่า อะไรเป็นอะไร และเราจะเริ่มเรียนรู้สัจจธรรมของรูปของนามและสามารถพัฒนากำลังของสติ สมาธิ ปัญญาให้รู้เท่าทันการทำงานของกฏไตรลักษณ์ทั้งสามมากขึ้นเรื่อยๆ

แต่เวลาทำงาน ตัวรู้ไม่ใช่มีแต่สติ ในนั้นมีสมาธิปัญญาด้วย แต่ถ้าหากว่ามีสติอย่างเดียว เป็นการรู้ในลักษณะเพ่ง ตั้งใจจดจ้อง ตั้งใจจะให้มันชัด ให้มันรู้มากๆ แสดงว่าเป็นสติที่ไม่ถูก จากสัมมาสติมันจะกลายเป็นมิจฉาสติทันที สัมมาสตินั้นรู้สักแต่ว่ารู้ คือรู้ว่ามันเป็นรูปเป็นนามเฉยๆ แต่ถ้าไปรู้อยากให้มันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ อยากไปดัดแปลงตัวรู้แสดงว่ารู้ไม่เฉยแล้ว

ไตรสิกขาคือฉนวนกันความทุกข์

 ถ้าสมมติเรารู้ว่ารูปเป็นรูปทุกข์นามทุกข์ รูปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แล้วเราบังคับใช้มันไปเรื่อยๆ ปวดก็ช่างมัน เพราะมันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฉันไม่สนใจมัน ไม่ต้องเปลี่ยนก็ได้ เพราะเปลี่ยนแล้วเดี๋ยวมันก็ปวดอีก แล้วบังคับให้มันอยู่ในท่าเดิมเรื่อยๆ ลักษณะนี้ไม่ถูกต้อง เพราะลักษณะของรูปจะต้องเป็นไปตามกฎของมันคือไตรลักษณ์ เราจะบังคับหรือไม่ มันก็ต้องเป็นไปตามนั้น การที่ให้รูปมันแช่อยู่ในกฎของความจริงนานๆ มันทนไม่ได้ ถ้าเราไปฝืนด้วยความอยาก เท่ากับเราไปเบียดเบียนมัน หน้าที่ของเราคือบำบัดทุกข์ในรูป ถ้ามันเป็นทุกข์ก็คอยบำบัดมันไปเรื่อยๆ กฎของอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันจะต้องเข้าไปทำงานในรูปร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้วแต่เรามีทางเลือกให้เราทุกข์ทางเดียว คือทางรูป ทางกาย คนที่ไม่ได้ศึกษาวิปัสสนาเขาจะทุกข์ทั้งกายและใจ  พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบวิธี ที่ไม่ทำให้ความไม่สบายกายทะลุไปถึงใจ และความไม่สบายใจทะลุไปถึงกาย โดยมีฉนวนเข้าไปกัน ตัวฉนวนนี้เรียกว่าตัวรู้ คือให้รู้ว่านี่คือรูปทุกข์ ถ้าทนได้เราก็ทนไป ถ้าทนไม่ได้เราก็แก้ไขมันไปเรื่อยๆ แต่ป้องกันไม่ให้ตัวโรคของรูปมันระบาดไปถึงนาม เรามีหน้าที่แค่นั้น เราต้องมีตัวรู้ที่เกิดจากสติสมาธิปัญญา เรียกว่าไตรสิกขานั่นเอง

Link : https://www.facebook.com/groups/khonphian/permalink/661911050526830/